Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา มิถุนายน 2555
สุขใจในบ้านศตวรรษที่ 16             
 


   
search resources

Interior Design




ฉันยังจำความรู้สึกขณะมองลอดเข้าไปตามบานหน้าต่างทั้งที่ยังไม่ได้เข้าไปในตัวบ้านด้วยซ้ำว่า “บ้านนี้แหละ... ใช่เลย”

Kay Hill เล่าเหตุการณ์ย้อนหลังเมื่อ 12 ปีก่อน เมื่อเธอกับ David สามีคู่ชีวิตได้เห็นกระท่อม Kent หลังนี้เป็นครั้งแรก ตอนนั้นครอบครัวของทั้งคู่มีบ้านอยู่ห่างออกไปเพียง 20 นาทีเท่านั้น แต่ก็ยังตัดสินใจย้ายบ้านเพื่อให้ลูกทั้งสองได้เรียน ที่โรงเรียนใกล้บ้าน

“จริงๆ แล้วบ้านเดิมของเราก็ดีเยี่ยมสมบูรณ์แบบอยู่แล้ว แต่เรามองในระยะยาวว่า การย้ายบ้านหมายถึงได้อยู่บ้านสไตล์คันทรีที่มีแต่เรื่องราวในประวัติศาสตร์และเต็มไปด้วยเอกลักษณ์”

กระท่อมหลังนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานจริงเสียด้วย สร้างขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 16 เริ่มแรกเป็นบ้านโล่งๆ ชั้นเดียว แต่ถูกต่อเติมในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมาจนกลายเป็นบ้านสองชั้นอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม กระท่อมโบราณนี้ยังมีโครงสร้างดั้งเดิมหลงเหลืออยู่มากมาย อาทิ คานไม้ที่โค้งงอตามธรรมชาติ เตาผิงที่มีม้านั่งข้างเตา หน้าต่างที่ใช้ไม้แบ่งหน้าต่างกระจกออกเป็นช่องๆ ตามอย่างโบสถ์ฝรั่ง และพื้นปูด้วยอิฐและแผ่นกระดาน ไม้โอ๊กขนาดใหญ่

เมื่อพิจารณาจากอายุของบ้านแล้วต้องถือว่าน่าทึ่งเป็นที่สุด ที่โครงสร้างยังแข็งแรง แทบไม่จำเป็นต้องบูรณะหรือซ่อมแซมอะไรเลย ดังที่ Kay ยืนยันว่า

“ฉันมีสามีเป็นผู้อำนวยการบริษัทก่อสร้าง แน่นอนว่าเขาพร้อมที่จะลงมือบูรณะซ่อมแซมบ้านได้ตลอดเวลา แต่กับบ้านหลังนี้ เรากลับไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้น เพียงเน้นงานตกแต่งตามแนวทางที่เป็นเอกลักษณ์ของเราเท่านั้น”

ช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา งานหลักของคนทั้งคู่ก็เป็นอย่าง ที่พูดจริงๆ คือปรับปรุงเพื่อดึงบุคลิกที่แท้จริงของบ้านออกมา รวมทั้งเน้นคุณลักษณะเด่นๆ ที่มีอยู่มากมาย

“เป็นบ้านที่มีซอกมุมมากเหลือเกิน ไม่มีอะไรเป็นไปตามหลักสมมาตรหรือมีสัดส่วนตามมาตรฐานสากลเลย แต่มันทำให้บ้านมีเสน่ห์ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และน่าสนใจมาก ฉันชอบจินตนาการว่า ก่อนที่เราจะย้ายมาอยู่ มีคนหลายชั่วอายุเคยอยู่มาก่อน จึงพยายามค้นคว้าหาข้อมูลที่เป็นประวัติของบ้านเพิ่มเติม เพราะนั่นคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้บ้านยุคที่เราเข้ามาอาศัยอยู่มีความพิเศษอย่างยิ่งยวด”

ทั้งคู่หันไปให้ความสำคัญกับการปรับปรุงภายในบ้านมากกว่า

“ห้องครัวดั้งเดิมดูน่าเบื่อสำหรับเรา เราจึงเปลี่ยนใหม่โดยให้บริษัทของสามีทำตู้ไม้โอ๊กใหม่ทั้งชุด และซื้อเตา Aga มาติดตั้งแทนเตาโบราณ”

พวกเขายังปรับปรุงห้องน้ำ ด้วยการเน้นงานตกแต่งและเพิ่มตู้บิลท์อินเข้าไปในทุกจุดที่มีที่ว่าง

ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อน โดยทั้งสองสร้างห้องสวนหลังคาโค้งถัดจากห้องครัวเพิ่มอีกห้องหนึ่ง

“ห้องนี้ใช้เวลาสร้าง 9 เดือน ทุกอย่างราบรื่นดี ยกเว้นต้องต่อสู้กับกองฝุ่นหนาเตอะช่วงเพิ่งสร้างเสร็จ ห้องนี้นอกจากจะทำให้บริเวณบ้านส่วนนี้สว่างขึ้นแล้ว ยังทำให้เราได้ห้องจัดเลี้ยงเพิ่มขึ้นซึ่งเราชอบมาก เพราะคนในครอบครัวและเพื่อนๆ จะมารวมตัวสังสรรค์กันที่ห้อง ส่วนฉันก็ง่วนทำอาหารอยู่ในห้องครัวที่อยู่ติดกัน ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวอะไรเลย เราใฝ่ฝันอยากมีบ้านบรรยากาศอย่างนี้มานานแล้ว คือต้องการมีพื้นที่ที่เชื่อมสวนกับตัวบ้านเข้าด้วยกัน และเป็นพื้นที่ที่ใช้งานได้ตลอดทั้งปี”

พวกเขาทำให้งานออกแบบห้องสวนขั้นตอนสุดท้ายเกิดสมดุลด้วยการติดตั้งกระจกติดเพดานรูปโค้งในห้องครัว และใช้ไม้โอ๊กโทนสีน้ำผึ้งทำเป็นคาน เพื่อให้เกิดสีตัดกันและเข้าชุดกับคานไม้โอ๊กสีเข้มของเก่าที่เป็นของดั้งเดิม และมีอยู่ทั่วทั้งบ้าน ที่สำคัญพวกเขาไม่ลืมติดตั้งเครื่องทำความร้อนฝังไว้ใต้พื้นกระเบื้อง เพื่อให้เท้าอบอุ่นตลอดปี

แม้ว่า Kay จะเป็นชาวลอนดอนโดยกำเนิด แต่เมื่อได้พบสามีผู้เป็นชาวเคนท์ เธอก็รู้ได้ทันทีว่า ชีวิตชนบทเป็นสิ่งที่เธอปรารถนาและยอมรับว่า

“ตอนนี้ฉันไม่ยอมเข้าไปอยู่ในเมืองอีกแล้ว การแสวงหาบ้านในชนบทเป็นสิ่งที่ต้องการจริงๆ และเมื่อได้พบคุณจะรู้ได้ทันทีว่านั่นคือสิ่งที่ใช่ เหมือนกับที่เรารู้สึกตั้งแต่แรกแล้วว่า กระท่อมหลังนี้คือสิ่งที่รอคอย และไม่คิดจะย้ายไปอยู่ที่ไหนอีก”   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us