Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา มิถุนายน 2555
ตำนานวันสารทกับจังหวัดกำแพงเพชร             
โดย ธนิต วิจิตรพันธุ์
 


   
search resources

Entertainment and Leisure




“สารท” คือเทศกาลงานบุญในวันสิ้นเดือน 10 งานบุญวันสารทของไทยปรากฏหลักฐานในหนังสือนางนพมาศว่ามีมาแต่สมัยสุโขทัย โดยศาสนาพราหมณ์เข้ามายังประเทศไทย คนไทยจึงได้รับประเพณีวันสารทมาด้วย

เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีช่วงวันหยุดยาว เพื่อนสนิททำงานอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ชวนให้ไปเที่ยวที่นั่น เพราะเขาต้องคอยดูแลพื้นที่ที่รับผิดชอบให้มีความสงบเรียบร้อย เมื่อไปอยู่ในพื้นที่ทำให้ได้รู้ว่านอกจากความเจริญด้านสาธารณูปโภค ถนนหนทาง ไฟฟ้าสว่างไสว เหมาะเป็นเมืองท่องเที่ยวแล้ว อาหารการกินของฝากที่มีชื่อเสียงของที่นี่ยังมีอีกมากมาย อย่างไก่อบฟางโพธิ์พระยา ที่คนต่างถิ่นกล่าวขวัญ ยิ่งเมื่อได้เข้าไปในตลาดสดโดยเฉพาะในช่วงบ่ายแล้ว มีแผงร้านค้าทำน้ำยากะทิ น้ำยาป่า น้ำพริก ได้อร่อยปากทีเดียว

มีโอกาสไปเดินเล่นที่ตลาดร้อยปีสามชุกเห็นมีร้านค้าขยายไปกว่าแต่ก่อนมากมาย จนข้ามแม่น้ำไปยังฝั่งตรงข้าม มีสินค้าของกิน ของฝาก ของใช้ เลียนแบบโบราณเต็มไปหมด

ริมแม่น้ำยังมีเรือเมล์แดงจอดไว้ให้ชม ซึ่งเมื่อก่อนวิ่งจากสุพรรณบุรีหรือจังหวัดแถบนั้นมาสู่ท่าเตียน ที่ปู่ย่าตายายจะกะเตงหิ้วชะลอมของฝากไปให้ลูกหลาน สิ่งคุ้นตาและยังจดจำได้คือตะกร้าเชี่ยนหมาก นั่งชั้นบนของเรือ นั่งๆ นอนๆ คุยกันไป ตำหมากกินกันไปจนกว่าจะถึงจุดหมาย ที่สะดุดตาคืออาหารการกิน นอกจากเป็ดพะโล้ ข้าวห่อใบบัว ปลาช่อน ปลาสลิดแดดเดียว ขนมหวานต่างๆ แล้วยังมีขนมกระยาสารท แม้จะไม่ใช่เทศกาลสารท ทำให้นึกถึงกล้วยไข่ของกำแพงเพชร ที่รับประทานกับกระยาสารททำให้อร่อยลิ้นขึ้นมาก นึกอยากไปเที่ยวขึ้นมาทันที

จังหวัดกำแพงเพชรมีการจัดงานบุญซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ที่มีชื่อเสียง คือ “งานสารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพงฯ” ที่กล้วยไข่มีชื่อเลื่องลือและให้ผลมากช่วงเดือนกันยายนพอดี

งานบุญวันสารทของไทยปรากฏหลักฐานในหนังสือนางนพมาศว่ามีมาแต่สมัยสุโขทัย โดยศาสนาพราหมณ์ได้เข้ามายังประเทศไทย คนไทยจึงรับประเพณีวันสารทมาด้วย

สารทคือเทศกาลงานบุญในวันสิ้นเดือน 10 โดยการนำพืชพรรณธัญญาหารแรกเก็บเกี่ยวมาเปลี่ยนเป็นข้าวทิพย์ ข้าวมธุปายาส ถวายพระสงฆ์ ซึ่งตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี คือในราวปลายเดือนกันยายนถึงตุลาคม

งานบุญสารทไทยเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษผู้มีพระคุณ โดยคตินิยมที่เชื่อว่าญาติผู้ล่วงลับไปแล้วจะมีโอกาสรับส่วนบุญจากญาติพี่น้องที่ทำบุญไปให้ ทำให้หมดกรรม ได้ไปเกิดและมีความสุข ทั้งยังเป็นการแสดงความเอื้ออารี เอื้อเฟื้อเพื่อนบ้าน เป็นการผูกมิตรไมตรี และแสดงความเคารพผู้ใหญ่

ทั้งยังเป็นการทำจิตใจให้สะอาดหมดจดไม่ตกอยู่ในอำนาจ โลภโมโทสัน ขจัดการตระหนี่ถี่เหนียว ถือเป็นการจรรโลงและบำรุงพระพุทธศาสนาให้มั่นคง และยังมีความเชื่อว่าเป็นการแสดงความกตัญญูต่อพระแม่โพสพ ผีไร่ผีนาที่ดูแลรักษาข้าวกล้าในไร่นา ให้เจริญเติบโตงอกงาม เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม มีอาชีพทำไร่ทำนาเป็นหลัก

ช่วงเดือน 10 ข้าวกล้ากำลังเจริญงอกงามรอการเก็บเกี่ยว เมื่อรวงข้าวสุกจึงมีเวลาร่วมในงานบุญเพื่อการเลี้ยงขอบคุณตอบแทน

พระยาอนุมานราชธนเขียนไว้ในหนังสือ เทศกาลและประเพณีไทย ว่า คำว่า “สารท” เป็นคำอินเดียหมายถึงฤดู เป็นระยะพืชพรรณธัญญาหารและผลไม้เริ่มสุกให้พืชผลเป็นครั้งแรกในฤดู

เป็นฤดูที่ผู้คนรู้สึกยินดีจึงถือเป็นเทศกาลแห่งความรื่นเริง บางท้องถิ่นจะนำพืชผลที่เก็บเกี่ยว ได้ในครั้งแรกไปสังเวยบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือเพื่อเป็นสิริมงคล

นำข้าวปลาอาหารโดยเฉพาะงานนี้ต้องมีตัวเอกคือขนมกระยาสารทไปร่วมทำบุญตักบาตร ที่วัด การตักบาตรจะมีลักษณะต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่นและเรียกชื่อต่างกัน

ภาคกลางเรียก “สารทไทย” ภาคเหนือ คือ “ตานก๋วยสลาก” ภาคอีสานเรียกทำบุญ “ข้าวสาก” และภาคใต้เรียก “ประเพณีชิงเปรต” หรืองานบุญเดือนสิบ

การทำบุญเดือนสิบแม้มีชื่อเรียกต่างกันแต่จุดประสงค์คือการทำบุญกลางปี

ประเพณีวันสารทไทยในภาคกลางนั้นเมื่อใกล้วันสารททุกบ้านจะกวนกระยาสารทเพื่อนำไปใส่บาตร และแจกจ่ายเพื่อนบ้าน ทุกบ้านจะเตรียมข้าวปลาอาหารไปทำบุญที่วัด และถือศีลฟังธรรม

สำหรับบางท้องถิ่นจะทำขนมบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่นแม่พระโพสพ ผีนาผีไร่ เมื่อถวายพระสงฆ์เสร็จก็จะนำไปบูชาตามไร่นา

งานตานก๋วยสลากหรือ “สลากภัต” เป็นชื่องานบุญเดือนสิบของชาวจังหวัดทางภาคเหนือ คำว่า “ก๋วย” แปลว่า ชะลอมหรือตะกร้า

สลากภัตหมายถึงอาหารที่ถวายพระตามสลากนับว่าเป็นเครื่องสังฆทาน ประเพณีตานก๋วยสลากเป็นประเพณีที่สืบทอดมาแต่สมัยพุทธกาล

มีตำนานเล่าว่า มีนางยักษิณีตนหนึ่งมักจะเบียดเบียนผู้คนอยู่เสมอ เมื่อได้ฟังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใส นิสัยโหดร้ายกลับกลายเป็นคนโอบอ้อมอารี ผู้คนซาบซึ้งนางยักษิณีตนนั้นถึงกับนำสิ่งของมาแบ่งบันให้ ด้วยของมีจำนวนมากนางจึงนำสิ่งของเหล่านั้นมาทำเป็นสลากภัตแล้วให้พระสงฆ์ สามเณร จับฉลากด้วยหลักอุปโลกรรม คือสิ่งของมีราคามากน้อยแล้วแต่โชคของผู้ได้รับการถวายแบบจับฉลาก จึงนับเป็นครั้งแรกของประเพณีการทำบุญสลากภัตในพระพุทธศาสนา

ชาวล้านนานิยมปฏิบัติประเพณีตานก๋วยสลากในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคมของทุกปี เพราะเป็นช่วงที่พระสงฆ์จำพรรษาอยู่วัด ชาวนาทำนาเสร็จแล้ว ซึ่งในช่วงนั้นมีผลไม้ออกผลมากและยังเป็นการสงเคราะห์คนยากคนจน จึงนับเป็นการให้สังฆทานที่ได้กุศลแรง

ก่อนวันจัดงานตานก๋วยสลากหนึ่งวันคือวันดาหรือวันสุกดิบ เป็นวันที่ชาวบ้านตระเตรียมข้าวของทั้งของกินของใช้ ทุกบ้านจะมาร่วมทำบุญจัดทานสลาก โดยจะสานตะกร้าหรือชะลอมเพื่อใส่สิ่งของ ก๋วยจะกรุด้วยใบตอง เมื่อรวบปากก๋วยมัดเสร็จจะใช้ไม้ไผ่ที่เหลาเป็นก้านเล็กๆ สำหรับเสียบเงิน กล่องไม้ขีด บุหรี่ เพื่อทำเป็นยอด ก๋วยสลากจะมากน้อยแล้วแต่กำลังฐานะและความศรัทธา

ก๋วยสลากมีอยู่สองลักษณะ คือก๋วยน้อยและก๋วยใหญ่

ก๋วยน้อยสำหรับการถวายทานไปให้กับผู้ที่ล่วงลับ คนที่มีพระคุณ คนที่รัก สัตว์เลี้ยง หรือถวายทานเอาไว้ชาติหน้า

ก๋วยใหญ่จัดทำใหญ่เป็นพิเศษ ถวายเป็นมหากุศลสำหรับบุคคลที่มีฐานะดี มีศรัทธาอันแรงกล้าได้กุศลยิ่งนัก

สลากโชคเป็นสลากของผู้มีอันจะกินต้องการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ผู้ล่วงลับ มักทำเป็นก๋วยใหญ่ นำวัตถุสิ่งของผูกมัดติดต้นสลากและธนบัตร พร้อมตกแต่งให้สวยกว่าสลากธรรมดา

ก่อนนำสลากไปวัดต้องเขียนเส้นสลากเสียก่อน โดยนำใบลานมาตัดเป็นเส้นยาวกว้าง 2-3 นิ้ว จารึกชื่อเจ้าของสลากว่าอุทิศส่วนกุศลให้ใครบ้าง นำก๋วยสลากไปวัดและนำเส้นสลากไปรวมกัน นำเบอร์มาติดของเจ้าภาพแต่ละรายเมื่อเสร็จพิธีกรรม

กระยาสารทเป็นขนมประจำของวันสารทในทุกท้องถิ่นของไทย มีความเชื่อว่าหากไม่ได้ใส่บาตรขนมกระยาสารทในวันบุญนั้นญาติผู้ล่วงลับจะไม่ได้รับส่วนบุญกุศลที่ทำในวันนั้น

ขนมกระยาสารทประกอบด้วยข้าวตอก ข้าวเม่า ถั่ว งา น้ำตาล นำมากวนเข้าด้วยกัน เมื่อสุกแล้วทำเป็นก้อน อาจจะเป็นแผ่นก็ได้ ในการกวนกระยาสารทต้องใช้เวลาและแรงคนเป็นจำนวนมาก

สาระสำคัญของประเพณีไทยนั้นไม่เพียงแค่ทำบุญเท่านั้น ยังเป็นการสร้างความสามัคคีมีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ

ข้าวยาคู ข้าวสาลีที่กำลังท้องฉีกรวงข้าวอ่อนออกมา แล้วนำไปต้มในน้ำนมสด เจือด้วยเนย น้ำผึ้ง และน้ำตาลกรวด

มีตำนานเล่าว่ามีชาวนา 2 คน ผู้พี่คือมหาการ และผู้น้อง คือจุลการ มีพื้นที่นาใหญ่กว้างขวาง เมื่อข้าวออกรวง ผู้น้องเห็นว่าควรนำข้าวมาทำอาหารถวายพระพุทธเจ้าวิปัสสี แต่ผู้พี่ไม่เห็นด้วย น้องชายจึงขอแบ่งไร่นา และนำเมล็ดข้าวในส่วนของตนทำอาหารไปถวายและอธิษฐานขอให้เกิดในบวรพระพุทธศาสนา ซึ่งภายหลังเกิดเป็นพระอัญญาโกณทัญญะ

ข้าวมธุปายาส เป็นข้าวที่หุงเจือด้วยน้ำนม น้ำผึ้ง เชื่อว่าเป็นอาหารวิเศษ ผู้ใดมีวาสนาได้กินแล้วจะมีร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัย อุดมด้วยสติปัญญาและเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตอีกด้วย

นางสุชาดา ลูกสาวเศรษฐีทำขึ้นเพื่อนำไปแก้บน เมื่อได้เห็นพระพุทธเจ้าครั้งเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ประทับใต้ต้นนิโครธ นางเข้าใจว่าพระองค์เป็นเทพยดา จึงนำอาหารนั้นไปถวายพระโพธิสัตว์ พระองค์จึงได้เสวยข้าวมธุปายาสเป็นมื้อสุดท้ายก่อนจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

ขนมในงานบุญสารทอีกอย่างคือข้าวทิพย์ อาหารโอชะที่มีเครื่องปรุงถึง 108 ชนิด โดยหลักๆ จะมี 9 อย่าง คือ น้ำนมข้าว เนย น้ำอ้อย น้ำผึ้ง น้ำตาล นม ถั่ว และข้าวเม่า ในการกวนแต่ละครั้งต้องประกอบพิธีกรรมหลายอย่าง เช่นใช้สาวพรหมจรรย์ในการกวน ฟืนที่ใช้ต้องเป็นไม้ชัยพฤกษ์หรือไม้พุทรา เป็นต้น

ประเพณีการทำบุญของชาวภาคใต้ ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และแรม 15 ค่ำ เดือน 10 มีชื่อเรียกว่าประเพณีทำบุญเดือนสิบ ประเพณีทำบุญวันสารทที่รู้จักกันดีคือประเพณีสารทเดือนสิบของจังหวัดนครศรีธรรมราช

ประเพณีหมรับ (หมับ) แปลว่าสำรับ การยกหมรับและการชิงเปรต การจัดเสบียงอาหารเป็นสำรับถวายพระภิกษุสงฆ์ โดยพระภิกษุสงฆ์จับฉลากแล้วให้ศิษย์เก็บไว้ และนำมาถวายเป็นมื้อๆ

ชิงเปรตเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำบุญ จัดอาหารอีกส่วนหนึ่งไว้ให้เปรต เป็นอาหารที่ชอบเมื่อสมัยยังมีชีวิตและที่ขาดไม่ได้คือขนม 5 อย่าง ซึ่งแต่ละอย่างที่เลือกสรรมาล้วนมีความหมายทั้งสิ้น เช่น ข้าวพอง ความหมายคือ แพฟองล่องลอยพาบรรพบุรุษล่วงข้ามสังสารวัฏ อย่างขนมกงหรือบางครั้งอาจจะเป็นขนมไข่ปลา หมายถึงให้เป็นเครื่องประดับ ขนมลาในความหมายของแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม ขนมดีซ่าให้เป็นเบี้ยไว้ใช้สอย และขนมบ้าให้บรรพบุรุษไว้เล่น เป็นลูกสะบ้าในเทศกาลสงกรานต์

ประเพณีทำบุญตายาย ว่ากันว่าญาติผู้ล่วงลับมาเยี่ยมลูกหลานในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 และกลับในแรม 15 ค่ำ เดือน 10 โดยถือว่าญาติผู้ล่วงลับคือตายาย เมื่อมาก็ทำบุญรับเมื่อกลับก็ทำบุญส่ง

สำหรับในภาคอีสานจะเรียกประเพณีบุญนี้ว่า การทำบุญข้าวสาก

หันมาคุยเรื่องกับแกล้มกับขนมกระยาสารทบ้าง กล้วยไข่เป็นพืชที่สามารถปลูกได้แทบทุกภาคของประเทศไทย เป็นผลไม้ที่มีผู้นิยมบริโภคกันมากเนื่องจากมีรสชาติดี สีสันสวยสะดุดตา มีการส่งขายยังต่างประเทศ ได้รับความนิยมมากในจีนและฮ่องกง

แหล่งที่เหมาะกับการปลูกกล้วยไข่ต้องเป็นพื้นที่ราบ น้ำไม่ท่วมขัง มีแหล่งน้ำธรรมชาติ มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูกาลปลูก ชอบดินร่วนเหนียวหรือร่วนปนทรายระบายน้ำได้ดี อุณหภูมิที่เหมาะกับความเจริญเติบโตของกล้วยไข่อยู่ที่ 15-35 ํC แสงแดดจัด

พันธุ์ของกล้วยไข่

กล้วยไข่สายพันธุ์กำแพงเพชรและกล้วยไข่พันธุ์พระตะบอง กล้วยไข่สายพันธุ์กำแพงเพชรนิยมปลูกกันมาก มีลักษณะกาบใบเป็นสีน้ำตาลหรือช็อกโกแลต ส่วนก้านใบเปิดขยายออก ใบมีสีเหลืองอ่อนไม่มีนวล ก้านเครือมีขนขนาดเล็ก ผิวเปลือกผลบางผลเล็ก เนื้อมีสีเหลือง รสชาติหวาน

ส่วนพันธุ์พระตะบองลักษณะกาบใบจะเป็นสีน้ำตาลปนดำ สีของใบเข้มกว่าสายพันธุ์กำแพงเพชร รสชาติออกหวานอมเปรี้ยว และผลจะมีขนาดใหญ่กว่า

มาว่าเรื่องราวของเมืองกำแพงเพชรกันบ้าง เป็นเมืองโบราณ ในบริเวณลุ่มแม่น้ำปิง เดิมมีชื่อว่า “ชากังราว” ตั้งอยู่ในจังหวัดกำแพงเพชรเช่นเดียวกับเมืองเทพนคร ไตรตรึงษ์ คนที่นครชุม โกสัมพี เมืองแปบ เมืองพาน แสนดอ เมืองรอ พงซังซา และบ้านคลองเมือง

ชากังราวเป็นภาษามอญ คือชา

มาจาก “กยา” แปลว่าตลาด

กัง คือ “กังสดาล” หรือด่าน

ราว เป็นสร้อยคำ เมื่อรวมคำกันแล้วมีความหมายว่า “ตลาดหน้าด่าน”

ชากังราวตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ฝั่งตรงข้ามคือนครชุม ต่อมาได้รวมสองเมืองเป็นกำแพงเพชร หลักฐานแรกสุดคือศิลาจารึกหลักที่ 8 ได้กล่าวถึงเมืองชากังราว ระบุเหตุการณ์ที่พระมหาธรรมราชาลิไทนำชาวเมืองต่างๆ ไปนมัสการพระพุทธบาท เขาสุมนกูฏ มีชื่อเมืองชากังราวและนครชุมอยู่ด้วย

ในฐานะเมืองหน้าด่านของอาณาจักรสุโขทัยในช่วงปลาย เมืองชากังราวมีบทบาทในการสกัดทัพกรุงศรีอยุธยาที่ตีขยายอำนาจขึ้นมา โดยขุนหลวงพระงั่วต้องทรงยกทัพหลวงขึ้นไปตีเมืองชากังราวถึง 3 ครั้ง จึงยกทัพเข้าเมืองได้ ต่อมาชากังราวก็แข็งเมืองอีก ดังนั้นสันนิษฐานกันว่าชากังราวต้องเป็นเมืองที่แข็งแรงยาก ที่ข้าศึกเข้าโจมตี จึงนำไปสู่นามใหม่ว่า “กำแพงเพชร”

กำแพงเพชรขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยาในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ โดยยังคงเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญในการสกัดทัพล้านนา และพม่า

ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่ากำแพงเพชรคือเมืองหน้าด่านของสุโขทัย มีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง “ชากังราว” เป็นเมืองยุทธศาสตร์ มีหลักฐานที่แสดงให้เห็น เช่น กำแพงเมือง คูเมือง ป้อมปราการ วัดโบราณ

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกเรื่องกำแพงเมืองไว้ ว่าเป็นกำแพงเมืองที่เก่าแก่มั่นคง ยังมีความสมบูรณ์มากและเชื่อว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย

กำแพงเพชรเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีความสำคัญมากทางประวัติศาสตร์และมีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่สมัยทวาราวดี พระเจ้าตากสินมหาราชได้เคยมาครองเมืองกำแพงเพชร โดยมีบรรดาศักดิ์ พระยาวชิรปราการ

ปัจจุบันกำแพงเพชรเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ โดยมีโบราณสถานเก่าแก่ที่ก่อสร้างด้วยอิฐศิลาแลง หลายแห่งรวมอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร และได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (Unesco) ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2534

อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรครอบคลุมพื้นที่โบราณสถานทั้งสองฝั่งแม่น้ำปิง ทางเข้าตามถนนสายพรานกระต่าย-กำแพงเพชร หลักกิโลเมตรที่ 360 ประมาณ 5 กิโลเมตร

โบราณสถานฝั่งตะวันออกของแม่น้ำประกอบด้วยกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ ส่วนมากจะเป็นศาสนสถานที่มีศิลปกรรม แบบสุโขทัยและอยุธยาโดยใช้เสาศิลาแลงต้นใหญ่เป็นเสาค้ำอาคาร

วัดพระแก้ว พระอารามหลวงขนาดใหญ่ที่สุด อยู่ใจกลางเมืองในเขตพระราชวังหลวง กำแพงวัดเป็นศิลาแลงทั้งท่อนสูงประมาณเมตรเศษ มีพระเจดีย์องค์ใหญ่ทรงลังกาเป็นประธาน ฐานเป็นสี่เหลี่ยมทำเป็นซุ้มคูหาโดยรอบ

สระมน อยู่ด้านเหนือวัดพระแก้ว เข้าใจว่าบริเวณสระมนนี้ คือบริเวณของพระราชวัง ส่วนปราสาทราชฐานไม่มีเหลือ มีการขุดลอกสระเพื่อตกแต่งบริเวณนี้พบฐานศิลาแลงบางตอนและกระเบื้องมุงหลังคาตกหล่นอยู่

วัดพระธาตุ อยู่ด้านทิศตะวันออก คล้ายแผนผังวัดพระศรี ที่เมืองเก่าสุโขทัย เจดีย์เป็นแบบกำแพงเพชร

วัดพระนอน ล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง ด้านหน้ามีบ่อน้ำสี่เหลี่ยม ห้องอาบน้ำ และศาลาท่าน้ำโบราณ โบสถ์มีเสาศิลาแลงซึ่งตัดมาจากแหล่งกำเนิดทั้งแท่ง ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กว้างยาวด้านละ 1.1 เมตร สูง 6.4 เมตร มีมุขเด็จทั้งฐานหน้าและด้านหลัง มีทางเข้าโบสถ์ 2 ทาง ด้านซ้ายมีซากปูนปั้นรูปสิงห์ มีเสาสลักเป็นรูปเทพพนม

วัดพระยืน มีบ่อน้ำและที่อาบน้ำอยู่หน้าวัด มีมณฑปจัตุรมุข ประดิษฐานพระพุทธรูป 4 ปาง คือ เดิน นั่ง ยืน และนอน โดยรอบทั้งสี่ทิศ ปัจจุบันเหลือเพียงพระยืน เป็นศิลปะสุโขทัยโดยสกุลช่างกำแพงเพชร

วัดสิงห์ สันนิษฐานว่าใช้เวลาสร้างถึง 2 สมัย คือสมัยสุโขทัยและอยุธยา เจดีย์ประธานที่ฐานสี่เหลี่ยมมีซุ้มทั้งสี่ด้าน ด้านหน้าเป็นพระอุโบสถใหญ่ ยกฐานประทักษิณสูง ด้านหน้ามีรูปสิงห์ นาค ประดับ มีพัทธสีมาทั้งแปดทิศ

วัดช้างรอบ เป็นวัดใหญ่อยู่บนเนินสูง พระเจดีย์ใหญ่ทรงลังกาซึ่งยอดหักพังหมดแล้ว มีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน ที่ฐานรายรอบ ด้วยรูปช้างโผล่ผงาดเห็นครึ่งตัว 2 ขาหน้า หันศีรษะออกจากฐาน เป็นช้างทรงเครื่อง 65 เชือก

กำแพงป้องทุ่งเศรษฐี เป็นป้อมโบราณสำหรับป้องกันข้าศึก ทำด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่ริมถนนพหลโยธินช่วงก่อนถึงตัวเมือง

วัดบรมธาตุ อยู่กลางเมืองนครชุม มีเจดีย์ที่เจ้าพระยาลิไท เสด็จมาสถาปนาและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เดิมนั้นเจดีย์ยังเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ศิลปะสุโขทัย ปัจจุบันเป็นเจดีย์แบบพม่าที่เศรษฐีชาวพม่ามาบูรณะไว้เมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว ในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปสัมฤทธิ์สมัยสุโขทัยและอยุธยาหลายองค์

ศาลพระอิศวร เคยเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระอิศวรสัมฤทธิ์ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร โดยองค์ปัจจุบันที่ประดิษฐานในศาลถูกหล่อขึ้นมาใหม่

หลวงพ่ออุโมงค์ วัดสว่างอารมณ์ เป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสนขนาดใหญ่ มีพุทธลักษณะที่งดงาม เป็นหลักฐานสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างกำแพงเพชรกับหัวเมืองฝ่ายเหนือ

เมืองไตรตรึงษ์ ห่างจากกำแพงเพชรไปทางอำเภอคลองลาน ประมาณ 18 กิโลเมตร สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าไชยสิริ กษัตริย์เมืองเชียงราย ซึ่งหนีข้าศึกมาสร้างเมืองนี้ขึ้น

นอกจากนี้กำแพงเพชรยังมีสิ่งที่น่าสนใจให้ได้แวะชมเยี่ยมเยียนอีกมากมาย เช่น แหล่งน้ำมันดิบที่อำเภอลานกระบือ แหล่งน้ำมันสิริกิติ์ที่มีการขุดพบเมื่อเดือนธันวาคม 2524 มีน้ำมันปริมาณมากพอในเชิงพาณิชย์ นับเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ไทยที่มีการผลิตน้ำมันเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ เป็นแหล่งน้ำมันบนบกขนาดใหญ่ที่สุดของไทย

เมืองโบราณที่เก่าแก่อย่างจังหวัดกำแพงเพชรทำให้มีขนบ ธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นหลายอย่างที่สืบทอดกันมา อย่างการทำบุญในวันเพ็ญเดือนสาม วันมาฆบูชา “ประเพณีนบพระเล่นเพลง”

ประเพณีของชาวกำแพงเพชรนี้ได้นำคำในศิลาจารึกนครชุมหลักที่ 3 มาเป็นชื่องาน โดยมีความว่า “ผู้ใดไว้นบ กระทำบูชาพระศรีรัตนมหาธาตุ และพระศรีมหาโพธิ์ไซร้ มีผลอานิสงส์พรั่งเสมอดังได้นบพระผู้เป็นเจ้า...”

คำว่า “นบ” เป็นคำโบราณแปลว่าไหว้ ดังนั้น การนบพระ คือการไหว้พระนั่นเอง

ส่วนคำว่าเล่นเพลงคือการละเล่นสนุกสนานพื้นฐาน โดยมีชายหญิงร่วมร้องรำทำเพลงพื้นบ้านด้วยความสนุกสนานนอกจากได้ทำบุญทำกุศล

ใครใคร่เที่ยวชื่นชมโบราณสถานอันงดงามหรืองานเทศกาลย้อนรอยอดีต หากได้มายังกำแพงเพชรคงไม่ผิดหวัง   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us