|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
“ความโบราณ” จะถูกลดคุณค่าเป็นเพียง “ความเก่า” ทันทีที่ไร้ซึ่งเรื่องราวเชื่อมร้อย “อดีต” กับวัตถุแห่งความทรงจำ แต่กลับมี “มูลค่า” ขึ้นทันที เมื่อทุกอย่างเชื่อมโยงกันเป็นตำนาน ถึงจะเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ก็ตามที
ท่ามกลางความแออัดของรถราบนถนนราชดำเนินกลาง ถนนสายนี้ไม่ได้มีแต่ภาพอดีตความวุ่นวายทางการเมือง แต่ยังอบอวลไปด้วยอดีตทางสังคม ที่สวยงาม เพียงแค่หลบหนีความจอแจบนท้องถนนใหญ่เข้าไปในซอยดำเนินกลางใต้ จนไปหยุดยืนอยู่หน้าบ้านไม้สไตล์โคโลเนียลสีครีมหลังหนึ่ง กลิ่นอายบ้านโบราณเบื้องหน้าบวกกับบรรยากาศเงียบสงบละแวกนั้น อาจทำให้หลายคนเผลอรู้สึกราวกับได้หลุดเข้ากระจกย้อนเข้าไปอยู่อีกภพ
ณ ปัจจุบัน “บ้านนพวงศ์” เป็นโรงแรมบูติกสไตล์บ้านไทยโบราณ ซึ่งเพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนกันยายนในปีที่ผ่านมา
“นพวงศ์” เป็นชื่อราชสกุลซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านพวงศ์ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส หรือพระองค์เจ้าชายนพวงศ์ วรองค์อรรคมหามกุฎ ปรมุตมราโชรส ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 1 ในรัชกาลที่ 4 ประสูติกับเจ้าจอมมารดาน้อย ธิดาของพระอินทรอำไพ (สมเด็จเจ้าฟ้าทัศไภย พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกับกรมหลวงบริจาภักดี ศรีสุดารักษ์) มีบุตรธิดารวม 21 คน หนึ่งในนั้นคือ หม่อมเจ้าถนอม นพวงศ์
หม่อมเจ้าถนอม นพวงศ์ มีบุตรธิดาอีกมากมาย อาทิ หม่อมราชวงศ์ชื่น นพวงศ์ (สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวง วชิรญาณวงศ์) เป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 13 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และหม่อมราชวงศ์กมล นพวงศ์ (พระยาวิเศษ ภักดี) ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองสิงห์บุรี โดยได้สมรสกับคุณหญิงบุญมา วิเศษภักดี มีบุตรธิดา 6 คน หนึ่งในนั้นได้แก่ หม่อม หลวงดิศพงศ์ นพวงศ์ อดีตข้าราชการกรมสรรพสามิต ผู้สร้างและเป็นอดีตเจ้าของบ้านหลังนี้
“กันตศม นพวงศ์ ณ อยุธยา” ทายาทรุ่นหลานเล่าว่า บ้านนพวงศ์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 ช่วงที่เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยวัสดุแรกเริ่มในการก่อสร้างบ้านเกือบทั้งหลัง อาทิ ไม้สัก ไม้ยาง สังกะสี และเหล็ก ล้วนได้มาจากค่ายทหารญี่ปุ่นช่วงที่เข้ามาสร้างฐานทัพในประเทศไทย แปลนบ้านออกแบบโดย “หลวงบุรกรรมโกวิท” 1 ใน 7 คณะผู้ริเริ่มก่อตั้งสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
กาลเวลาผ่านไป บ้านนพวงศ์เริ่มถูกปรับเปลี่ยนไปจากบ้านพักอาศัยของตระกูล ถูกกั้นห้องและปรับเป็นห้องเช่าสำหรับนักเรียน นักศึกษา มานานกว่า 10 ปี ก่อนจะกลายเป็นบ้านเช่ารายเดือนสำหรับพนักงานหรือข้าราชการที่ทำงานอยู่ย่านราชดำเนินหรือใกล้เคียงแถบนี้ โดยสมาชิกที่เป็นลูกหลานอดีตเจ้าของบ้านย้ายไปอยู่บ้านไม้อีกหลัง ซึ่งอยู่ถัดไปทางด้านหลังของบ้านนพวงศ์
กระทั่งตัวบ้านเดิมเริ่มทรุดโทรม “ศิปภา นพวงศ์ ณ อยุธยา” ลูกสาวของ มล.ดิศพงศ์ ในฐานะเจ้าของบ้านคนปัจจุบัน ได้ปรึกษากับลูกชายเพื่อปรับปรุงบ้านเก่าหลังนี้ให้มีคุณค่ามากขึ้นในแง่ความทรงจำของครอบครัว
“พอดีที่สังคมไทยเริ่มมีกระแสการอนุรักษ์ความเป็นไทย เรารู้สึกว่าบ้านหลังนี้มีประวัติและเรื่องราวที่มีคุณค่าก็ควรรักษาเอาไว้ และบ้านหลังนี้ก็มีความทรงจำเกี่ยวกับคุณตาคุณยาย เกี่ยวกับครอบครัวของเรา ก็น่าจะดีที่เราจะเก็บรักษาความทรงจำที่ดีของบ้านหลังนี้ไว้” กันตศมกล่าวในฐานะบุตรชายของศิปภา
ย้อนกลับไปราว 3 ปีก่อน ครอบครัวนพวงศ์เริ่มปรึกษากันเพื่อฟื้นฟู และรักษาอดีตของบ้านไม้หลังเก่าหลังนี้ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ณ เวลานั้น กันตศมยังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี เขาจึงได้รับความไว้วางใจจากครอบครัวในการบูรณะบ้านนพวงศ์หลังเก่า
“เพื่อรักษาเอกลักษณ์ของบ้านไทยโบราณสไตล์โคโลเนียลไว้ในทุกรายละเอียดให้ได้มากที่สุด ผมเลยตัดสินใจทำเองทั้งหมด เริ่มจากค้นคว้าและวิจัยข้อมูลต่างๆ จากตำราบ้าง จากการเยี่ยมชมบ้านสไตล์ขนมปังขิง เพื่อดูรายละเอียดการฉลุไม้ ที่สำคัญคือการเยี่ยมชมพระที่นั่งวิมานเมฆและพระที่นั่งมฤคทายวัน ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจของบ้านนพวงศ์ เมื่อครั้งแรกสร้างเกือบร้อยปีมาแล้ว” กันตศมเล่าจุดเริ่มต้นการทำงานของตน
ใช้เวลารวบรวมข้อมูลร่วมปี จากนั้นกันตศมเริ่มออกแบบและปรับปรุงโดยหัวใจในการปรับปรุงครั้งนี้คือ การรักษาเอกลักษณ์บ้านเดิมให้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด อาทิ พื้นไม้สัก ประตูและหน้าต่างไม้สักยังคงสภาพเหมือนในอดีต ระแนงไม้และช่องแสง ขณะที่ฝาไม้ยางซ้อนเกล็ดของเดิมถูกปรับเป็นฝ้าเพดานเพื่อความเหมาะสมและสวยงาม เป็นต้น
“สิ่งที่ผมอยากนำเสนอในโรงแรมคือ บ้านไทยโบราณที่มีความร่วมสมัย ซึ่งความยากในการปรับปรุงบ้านไทยสไตล์โคโลเนียล สัดส่วนถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด แต่ความยากที่สุดในการปรับปรุงบ้านเก่าให้เป็นโรงแรมก็คือ การรักษาสมดุลระหว่างความเป็นไทยโบราณและความร่วมสมัย” กันตศมใช้เวลาร่วม 2 ปีสำหรับการปรับปรุงบ้านเป็นโรงแรม
ปัจจุบันโรงแรมบ้านนพวงศ์ มีห้องทั้งหมด 7 ห้อง โดยชื่อห้องได้แรงบันดาลใจจากอัญมณีทั้ง 9 ของไทย ทุกห้องรวมทั้งล็อบบี้ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์เก่าของครอบครัวที่ถูกนำมาปรับปรุงซ่อมแซมกลับมาใช้ใหม่ ถึงแม้จะคงกลิ่นอายความเก่าเอาไว้เป็นอย่างดี แต่ที่โรงแรมบ้านนพวงศ์ก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกภายในห้องครบถ้วน รวมถึงมีบริการ Wi-Fi ให้ลูกค้าได้ใช้ฟรี
นอกจากความเป็นบ้านไทยที่มีตำนานของตระกูลนพวงศ์ อีกจุดขายที่กันตศมตั้งใจสร้างให้เป็นคาแรกเตอร์ของโรงแรมบ้านนพวงศ์ นั่นคือการบริการแขกด้วยความอบอุ่น และเป็นกันเองประหนึ่งญาติมิตร อันเป็นธรรมเนียมการต้อนรับแขกแบบคนไทยสมัยก่อน
ทั้งนี้ สนนราคาค่าห้องเริ่มต้นตั้งแต่ 2,000-4,400 บาท สำหรับช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว และเริ่มต้นตั้งแต่ 2,500-4,900 บาท สำหรับฤดูกาลท่องเที่ยว จากการเปิดตัวเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา กันตศมเล่าว่า แขกส่วนใหญ่ร่วม 90% เป็นต่างชาติ
“ความคาดหวังของผม แค่อยากให้แขกได้มานั่งนิ่งๆ มาใช้ชีวิตช้าๆ แล้วค่อยๆ เดินดูรอบๆ บ้าน ค่อยๆ เห็นจิตวิญญาณของบ้านเดิมที่ถูกปรับให้มีความร่วมสมัย อยากให้เขาได้สัมผัสถึงความอบอุ่นที่เกิดขึ้นในบ้านหลังนี้”
กันตศมทิ้งท้ายด้วยความรู้สึกที่ไม่ใช่แค่ในฐานะผู้ออกแบบและปรับปรุง และเจ้าของบ้าน แต่ยังเป็นฐานะทายาทของอดีตเจ้าของบ้านที่มีตำนานมากว่า 80 ปี ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางของ “ถนนราชดำเนิน” ถนนที่ได้ชื่อว่ามีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมเกิดขึ้นมากมาย
|
|
|
|
|