|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ในช่วงเวลาไม่ถึงสิบปี หากมองย้อนกลับไปเราจะเห็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของกล้องถ่ายรูปขนาดจิ๋วที่ปัจจุบันกลายเป็นอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ไปเสียแล้วสำหรับโทรศัพท์มือถือในยุคสื่อสารไร้พรมแดนและ Social Network อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แต่ทราบหรือไม่ครับว่า ในช่วงเวลาสิบปีเดียวกันนี้มีอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วไม่แพ้กัน ซึ่งเทคโนโลยีนั้นก็คือโปรเจ็กเตอร์ขนาดจิ๋วหรือในภาษาอังกฤษนิยมเรียกกันว่า Pico Projector นั่นเอง เพียงช่วงเวลาสิบปี โปรเจ็กเตอร์ได้ถูกพัฒนาจากเดิมที่มีขนาดใหญ่และหนักยิ่งกว่า สมุดโทรศัพท์หน้าเหลือง มาจนเหลือขนาด กลไกฉายภาพที่เล็กจิ๋วประมาณเหรียญสิบบาทเท่านั้น เพียงพอที่จะฝังลงไปในอุปกรณ์พกพาขนาดเล็กที่ขนาดพอๆ กันกับ iPhone 4s รุ่นล่าสุดได้
ความรวดเร็วในการพัฒนาโปรเจ็กเตอร์พกพานี้ได้ดึงดูดความสนใจจากเหล่าผู้ผลิต นักวิจัย ไม่เว้นแม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Sumsung และ Apple โดยในปี 2012 Sumsung ได้เปิดตัว Sumsung Galaxy Beam ซึ่งเป็นสมาร์ทโฟนติดโปรเจ็กเตอร์เครื่องแรกของบริษัทอย่างเป็นทางการแล้ว ในส่วนของบริษัท Apple ขณะนี้มีโปรเจ็กเตอร์มือถือหลายรุ่นจากบริษัทผู้ผลิตโปรเจ็กเตอร์รายต่างๆ ที่รองรับการทำงานแบบ Plug & Play กับอุปกรณ์จำพวก iPhone และ iPad แม้ว่าทางค่าย Apple จะยังไม่มีการ เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใดๆ ของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับโปรเจ็กเตอร์อย่างเป็นทางการ แต่จากรายงานจดสิทธิบัตรของบริษัทกับ US Patent & Trademark Office ชี้ให้เห็นว่า Apple ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเทคโนโลยีน้องใหม่มาแรงนี้ และกำลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการพัฒนาเพื่อหาทางรวมเอาโปรเจ็กเตอร์ขนาดจิ๋วฝังลงไปในอุปกรณ์ยอดฮิตของบริษัทอย่าง iPhone และ iPad เช่นกัน
จากความเคลื่อนไหวของสองค่ายยักษ์ใหญ่นี้ก็คงจะพอทำให้เราเห็นภาพได้ว่าอีกไม่นานเกินรอแน่นอนที่โทรศัพท์มือถือของเราจะไม่ได้มีเพียงแค่กล้องแต่รวมถึงโปรเจ็กเตอร์ ให้ร่วมกันใช้ประโยชน์ด้วย เพื่อตอกย้ำถึงข้อเท็จจริงนี้ ทาง Pacific Media Associates (PMA) ที่เป็นหน่วยงานวิจัยด้านการตลาดที่เชี่ยวชาญในตลาดการซื้อขายโปรเจ็กเตอร์ได้ออกผลการสำรวจที่เชื่อว่ายอดสั่งซื้อโปรเจ็กเตอร์มือถือนี้จะพุ่งจาก 3 ล้านเครื่องในปี 2011 ไปเป็น 58 ล้านเครื่องภายในปี 2015 ไม่เพียงเท่านั้นพวกเขายังกล่าวอีกว่าในปี 2015 เชื่อว่า 40% ของโปรเจ็กเตอร์จิ๋วเหล่านี้จะถูกฝังอยู่ในโทรศัพท์มือถือในขณะที่อีก 13% อยู่ในอุปกรณ์จำพวกแท็บเล็ต
จุดเด่นของโปรเจ็กเตอร์มือถือที่นักวิจัยและพัฒนาทั่วโลกต่างให้ความสนใจคือ สามารถเปลี่ยนพื้นผิวธรรมดาๆ รอบตัวเราให้มาเป็นจอแสดงผลได้ในทุกที่และทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นแค่ผนังหรือเพดานห้อง แม้แต่พื้นผิวแคบๆ บนคอนโซลของรถยนต์ก็ตามต่างสามารถถูกใช้เป็นจอแสดงผลได้หมด ที่พิเศษไปกว่านั้นคือ แม้ว่าโปรเจ็กเตอร์พกพาเหล่านี้จะมีขนาดเล็กนิดเดียว แต่ขนาดของภาพที่ฉายนั้นไม่ได้เล็กตามไปด้วย ด้วยความสามารถของโปรเจ็กเตอร์เราสามารถจะฉายภาพยนตร์ด้วยภาพ ความกว้าง ขนาดเท่ากับโทรทัศน์จอขนาดใหญ่ โดยแชร์กับกลุ่มเพื่อนๆ ได้โดยไม่ต้องมายืนเบียดเสียดสุมหัวกันเพื่อดูภาพจากหน้าจออันเล็กจิ๋วของอุปกรณ์มือถืออีกต่อไป
แน่นอนว่าเพียงแค่การฉายภาพ แบบพกพานี้ไม่เพียงพอที่จะใช้คำว่าโปรเจ็ก เตอร์อัจฉริยะอย่างแน่นอน สิ่งที่นักคิดและนักพัฒนาซอฟต์แวร์ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจคือจะทำอย่างไรให้โปรเจ็กเตอร์ เหล่านี้ทำได้มากกว่าการฉายภาพต่างหาก ในช่วงไม่กี่ปีนี้มีการคิดค้นวิธีใหม่ๆ ในการใช้งานโปรเจ็กเตอร์อัจฉริยะเหล่านี้ในชีวิตประจำวันหลากหลายรูปแบบ ตัวอย่าง เช่น งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตเกียว (University of Tokyo) ประเทศญี่ปุ่น ที่ทำให้โปรเจ็กเตอร์สามารถปรับเปลี่ยนรูปร่างของภาพที่บิดเบี้ยวเนื่องจากการฉายภาพบนพื้นผิวที่ไม่เป็นระนาบเดียวได้อย่าง อัตโนมัติ (ipProjector) เพื่อให้รูปร่าง และขนาดพอดีกันกับพื้นผิวที่ไม่เป็นระนาบ เดียวกัน หรือรวมไปถึงโปรเจ็กเตอร์ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการควบคุมทิศทางการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ โดยการใช้ แสงโปรเจ็กเตอร์สร้างเป็นถนนเพื่อบังคับให้หุ่นยนต์เดินไปตามทางที่ต้องการได้ (CoGame)
งานวิจัยที่น่าสนใจอีกงานหนึ่งจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตส์ (Massachusetts Institute of Technology) ประเทศสหรัฐอเมริกา คือการเปลี่ยนฝ่ามือของเราให้กลายเป็นแป้นโทรศัพท์ดิจิตอลชั่วคราวที่สามารถใช้นิ้วจิ้มกดเพื่อโทรศัพท์ ได้จริง (SixthSense) แม้แต่ทำการสืบค้นข้อมูลเรตติ้งผู้อ่านจากฐานข้อมูล amazon.com ใช้กล้องในการวิเคราะห์หาหนังสือเล่มที่ต้องการในฐานข้อมูลและใช้โปรเจ็กเตอร์ฉายภาพเรตติ้งลงบนปกหนังสือโดยตรง ในด้านศิลปะและการออกแบบ User Interface มีการเสนอให้ใช้แสงจากโปรเจ็ก เตอร์ในการระบายสีและลวดลายลงบนวัตถุ วิธีนี้นอกจากวัตถุนั้นๆ จะไม่เสียหายแล้วยังสามารถเปลี่ยนลวดลายหรือสีสันที่ระบาย ได้โดยง่ายด้วย (Shader Lamps)
นอกจากตัวอย่างการใช้งานที่กล่าวไปแล้ว ในส่วนการใช้ประโยชน์เพื่อความบันเทิงก็ไม่น้อยหน้ากัน มีการคิดค้นพัฒนา Augmented Reality เกมโดยใช้ประโยชน์จากความสามารถของโปรเจ็กเตอร์ที่สามารถซ้อนทับภาพเสมือนลงบนวัตถุจริงได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน ตัวอย่างเกมเหล่านี้เช่น Twinkle ที่ใช้การประมวลผลที่แนบเนียนและรวดเร็วทำให้ตัวการ์ตูนแอนิเมชั่นที่เป็นเพียงข้อมูลดิจิตอลในคอม พิวเตอร์ที่ถูกฉายออกมาด้วยโปรเจ็กเตอร์ สามารถที่จะร้อง “โอ๊ยเจ็บ” ได้ในทันทีที่มันไปชนเข้ากับวัตถุที่เป็นวัตถุจริงๆ ที่วางอยู่รอบตัวเราได้
เห็นไหมครับว่าไอเดียสำหรับการใช้งานโปรเจ็กเตอร์พกพาอัจฉริยะนี้มีมากมาย ตั้งแต่การใช้อำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันไปจนถึงการเล่นพักผ่อนหย่อนใจเลยทีเดียว ด้วยเทคโนโลยีของโปรเจ็กเตอร์พกพาอัจฉริยะนี้จะทำให้ข้อมูลดิจิตอลที่เคยถูกจำกัดไว้อยู่แค่บนหน้าจอของอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์สามารถกลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกแห่งความจริงได้อย่างแนบเนียนจน แทบจะแยกกันไม่ออก ไม่แน่ว่าในอนาคตพวกเราอาจใช้ชีวิตประจำวันอยู่โดยไม่ทันรู้สึกตัวเลยก็ได้ว่ารอบๆ ตัวเรามีสิ่งแปลกปลอมทางดิจิตอลปะปนอยู่ เหตุเพราะมันกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกับสิ่งแวดล้อมจริงๆ ของเราไปจนหมดแล้วด้วยเทคโนโลยีการผสานโลกเสมือนเข้ากับโลกจริงด้วยโปรเจ็ก เตอร์อัจฉริยะนั่นเอง
|
|
|
|
|