Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา มิถุนายน 2555
ภูฏาน เมื่อเข็มนาฬิกากลับมาหมุนในดินแดนที่เวลาหยุดนิ่ง             
โดย ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
 





เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัยรังสิต ให้เดินทางไปราชอาณาจักรภูฏานเนื่องจากทางมหาวิทยาลัยได้รับหนังสือเชิญจากสภาหอการค้าภูฏานให้ไปร่วมงานการศึกษาของภูฏาน นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยยังได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยในประเทศภูฏานและหน่วยราชการต่างๆ ให้เข้าพบ

หลังจากที่ผมได้รับเลือก ยอมรับว่ากังวลพอสมควร แม้จะเคยใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศมานานแต่ก็อดเครียดไม่ได้ เพราะผมไม่มีความรู้เกี่ยวกับราชอาณาจักรภูฏานมากไปกว่าที่เคยอ่านในหนังสือไม่กี่เล่ม และจากนักศึกษาภูฏานที่ผมสอนอยู่ เนื่องจากไปทำงานไม่ใช่ไปเที่ยว จึงต้องเตรียมพร้อมเป็นพิเศษ เริ่มจากให้นักศึกษาภูฏานสอนผมว่าขนบธรรมเนียมตั้งแต่การทักทาย การเจรจา การรับประทานอาหารเป็นอย่างไร

จนกระทั่งไปพบท่านรองอธิการบดี รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ ซึ่งผมนับถือเพื่อขอคำแนะนำเพราะท่านเคยไปภูฏานมาก่อน ท่านอาจารย์เมตตามากขนาดเอาคู่มือเกี่ยวกับประเทศภูฏานมาให้ผมท่อง จึงมีสภาพเหมือนเด็กเตรียมเอ็นทรานซ์อีกครั้ง หลังจากเตรียมตัวพร้อมบ้างไม่พร้อมบ้าง ผมก็เดินทางไปภูฏานโดยมีกำหนดเดินทาง 6 วัน จับพลัดจับผลูกลาย เป็น 7 วัน แต่เป็น 7 วันที่ผมได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ มากมายจนขอเอามาเล่าเป็น 5 ตอนด้วยกัน

การเดินทางไปภูฏานประสบปัญหาตั้งแต่เริ่มออกตัว เนื่องจากเครื่องบินต้องออกตอน 7 โมงเช้า แต่ได้รับโทรศัพท์จากสายการบินดรุกแอร์ว่าเครื่องบินจะดีเลย์ เนื่องจากพายุฝนและหมอกที่ตกหนักในเมืองพาโร ผมไม่ได้คิดอะไรมาก เนื่องจากดีเลย์ก็ดีผมจะได้ตื่นสาย แต่กว่าคณะของผมจะได้ออกเดินทางคือ บ่าย 3 โมงเกือบ บ่าย 4 โมงวันเดียวกัน ส่งผลให้ผมต้องกลับช้าไปอีกหนึ่งวัน

การเดินทางไปเมืองพาโรในภูฏานนั้นต้องผ่านประเทศอินเดียหรือบังกลาเทศ โดยทุกไฟลต์จากกรุงเทพฯ จะเลือกหยุดระหว่างกรุงธากาของบังกลาเทศ เมืองกุวาฮารีในแคว้นอัสสัมของอินเดีย หรือ เมืองบักโดกรา ในเขตดาร์จีลิ่งของอินเดีย การบินลงที่เมืองพาโรนั้นเป็นการบินลงที่ตื่นเต้นที่สุดในชีวิต เพราะเมื่อบินออกจาก เมืองบักโดกราแล้วก็บินขึ้นได้ 20 นาทีก็เปิดล้อเพื่อลงจอด โดยไม่ลดระดับก่อนที่จะตีโค้งทางขวาให้เห็นเมืองพาโร ก่อนตีโค้งทางซ้าย ถ้าผู้โดยสารไม่รัดเข็มขัดคงเห็นคนไทยคนแขกบินได้ก่อนหมุนลำปกติ แล้วลงจอดเลย ผมดูภาพใน Youtube ภายหลังจึงถึงบางอ้อว่า รันเวย์มีภูเขาบังอยู่จึงต้องตีโค้งหนีภูเขาแล้วลงจอด

ที่พาโรผมก็เข้าใจในคำแนะนำของอาจารย์สมชายที่ว่า ทำใจให้สบาย แล้วลืมทุกอย่างในโลกปัจจุบันและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่ภูฏาน เพราะสายการบินดรุกแอร์เป็นไทม์แมชชีนเครื่องใหญ่ที่พาผมมาถึงดินแดนที่เวลาได้หยุดนิ่ง ในเมืองพาโรนั้นเดิมทีเป็นอาณาจักรของตนเองที่ถูกปกครองโดยเพนล็อป หรือเจ้าผู้ปกครอง เพนล็อปแห่งพาโรได้ทำสงครามรวมภูฏาน กับเพนล็อปแห่งตองสา ซึ่งผลปรากฏว่า ตองสาเพนล็อปชนะสงครามและรวบรวมประเทศภูฏานเป็นหนึ่งเดียว เมืองพาโรในปัจจุบันเป็นเมืองใหม่ล้อมรอบป้อมหรือปราสาทของเพนล็อปในอดีต โดยท่าอากาศยานนานาชาติที่พาโรได้สร้างความเจริญเข้าสู่แคว้นพาโรอย่างรวดเร็ว

จุดมุ่งหมายในการเดินทางของผมอยู่ที่กรุงทิมพู อันเป็นนครหลวงของภูฏาน ซึ่งห่างจากพาโร 58 กิโลเมตร แต่ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมงครึ่ง เพราะถนนตลอดทางต้องลัดเลาะตามภูเขาหลายลูกด้วยกัน ใน 7 วันจากนั้นผมจะเดินทางรอบๆ แคว้นทิมพู ทั้งๆ ที่ใจจริงผมอยากเดินทางไปพูนาคาอันเป็นนครหลวงเก่าหรือทางชายแดนตอนใต้เพื่อดูการค้า รวมทั้งเดินไปตามหมู่บ้านต่างๆ ที่อาจารย์สมชายและบรรดานักศึกษาภูฏานเล่าให้ผมฟังว่า ต้องเดินเป็นอาทิตย์ บางแห่งอาจจะต้องเดินถึงเดือนทีเดียวภูฏานเป็นประเทศเล็กแต่เนื่องจากเป็นภูเขาเกือบทั้งประเทศ ทำให้การสร้างถนนเป็นไปอย่างยากลำบาก ชาวภูฏานนั้นมีหน้าตาแตกต่างจากชาวจีน หรือชาวอินเดีย ชาวภูฏานยังนิยมเคี้ยวหมากโดยห่อด้วยใบพลู ทำให้ผมรู้สึกว่าผมได้มาเจอประเทศไทยเมื่อ 100 ปีก่อนที่นี่เอง

อากาศในเมืองทิมพูค่อนข้างจะเบาบางเพราะอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเกือบ 3 พันเมตร ช่วงวันแรกๆ หากเดินเร็วมากๆ จะรู้สึกได้ชัดว่าเหนื่อยง่าย ทั้งๆ ที่อากาศหนาวเย็น

กรุงทิมพูเป็นเมืองที่ผมคิดว่าเวลายังหยุดนิ่ง ยังเป็นเมืองในต้นศตวรรษที่ 20 ที่งดงาม อาคารบ้านเรือนยังเป็นสถาปัตยกรรมของภูฏาน ในขณะที่ทั้งเมืองไม่มีไฟจราจรเลยแม้แต่แห่งเดียว บนถนนหลักจะมีตำรวจมาโบกรถด้วย ท่าที่ไม่สามารถหาได้ที่ไหนในโลก เพราะเป็นการเต้นรำไปโบกรถไป ไม่ได้ดูขึงขังดุดันแบบตำรวจที่อื่นๆ แถม 7 วันในภูฏาน ผมสังเกตว่าตำรวจแต่ละคนจะมีท่าโบกรถของตนเองตั้งแต่โบกทั้งตัว แล้วสเต็ปกลับหลังไปใช้อีกมือโบก หรือการโบกแบบซ้ายสลับขวาเป็นสเต็ป นักท่องเที่ยวหลายชาติอดไม่ได้ที่จะถ่ายรูปหรือวิดีโอตำรวจโบกรถในภูฏาน โดยตำรวจจะยืนในรั้วไม้กลางวงเวียนและโชว์สเต็ปต่างกันไปโดยมีเพื่อนมาคอยเปลี่ยนเวรเต้นโบกรถ

ในตอนหลังผมมีโอกาสได้สนทนากับท่านดาโช (เป็นบรรดาศักดิ์ระดับพระยา หรือเจ้าพระยาในไทย) ท่านเล่าให้ผมฟังว่า ในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ของภูฏาน (พระเจ้าจิกมีทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5) รัฐบาลมีนโยบายนำความเจริญเข้ามาโดยเริ่มติดไฟจราจร ปรากฏว่าประชาชนชาวทิมพูไม่พอใจอย่างมาก และเรียกร้องให้ตำรวจกลับมาโชว์สเต็ปเหมือน เดิมเพราะไฟจราจรขาดสีสัน

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือประชาชนภูฏานยังคงใส่ชุดประจำชาติเรียกว่า โก เป็นเสื้อคลุมแบบยูคาตะของญี่ปุ่น ผู้ชาย จะใส่กระโปรงสั้นและมีถุงเท้ายาวสีดำ ขณะที่ผู้หญิงจะใส่กระโปรงยาวถึงตาตุ่ม โดยข้าราชการจะมีผ้าคลุมสวมที่ไหล่ ซึ่งผ้าคลุมจะบ่งบอกฐานะของบุคคล กล่าวคือประชาชนไม่ต้องใส่ผ้าคลุมยกเว้นแต่พิธีที่เป็นทางการจะสวมผ้าคลุมสีขาว ข้าราชการจะสวมผ้าคลุมตลอดเวลาโดยใช้สีขาว ยกเว้นเชื้อพระวงศ์จะใช้ผ้าคลุมสีแดงหรือสีเหลือง ขุนนางระดับเจ้าพระยา หรือพระยา จะได้รับพระราชทานผ้าคลุมสีแดง ประชาชนจะเรียก ดาโช (คล้ายกับคำว่า เจ้าคุณในอดีต) ส่วนพระเจ้าแผ่นดินและเชื้อพระวงศ์ระดับสูงจะใช้ผ้าคลุมสีเหลือง โดยสังเกตจากฉลองพระองค์ของพระเจ้า จิกมี ตอนที่พระองค์เสด็จมาเยือนประเทศ ไทย

แม้ว่าภูฏานจะมีภาษาประจำชาติเรียกว่า ซองก้า แต่ประชาชนของเขาพูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วเพราะภาษาที่ใช้เรียนใช้สอนในโรงเรียนคือภาษาอังกฤษ โดยภาษาประจำชาติจะมีเรียนแค่วิชาเดียวต่อเทอม โดยชาวภูฏานจะนำคำศัพท์ที่สุภาพของซองก้ามาเติมในภาษาอังกฤษ เช่น การเข้าพบขุนนางชั้นพระยา เขาจะเพิ่มคำว่า ดาโช ในทุกประโยคที่เรียก แทนคำว่า you ส่วนการลงท้ายประโยคจะเติมคำว่า la เข้าไปเหมือนคำว่าครับ ทำให้การเจรจาต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่น เพราะเขาใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ

การรับประทานอาหารในภูฏานดูจะเป็นเรื่องที่น่าหงุดหงิดสำหรับชาวไทยที่ภูฏานเขาถือว่าเรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่ จึงไม่มีการทานจุบจิบแบบบ้านเรา ทั้งกรุงทิมพูมีร้านไอศกรีมเพียงร้านเดียว ร้านเบเกอรี่สองร้าน และร้านพิซซ่าอีกร้านหนึ่ง ที่เหลือการหาของกินเป็นไปได้อย่างยากลำบากมาก เพราะไม่มีร้านอาหารเปิดทั่วไปแบบบ้านเรา เมื่อไปทานอาหารที่ภัตตาคารหรืองานเลี้ยงใดๆ ก็ตาม เขาจะไม่เสิร์ฟอาหาร จะเสิร์ฟแต่เครื่องดื่มแล้วปล่อยให้เราคุยกันเป็นชั่วโมง บางร้านอาจจะมีดนตรีให้ชมเป็นการเรียกน้ำย่อย เขา จะรอจนคุยกันจบแล้วถึงเสิร์ฟอาหาร

เมื่อเสิร์ฟอาหาร หากไม่ใช่ชาวภูฏานที่เคยอยู่เมืองนอกมาก่อน เขาจะก้มหน้าก้มตากิน พอกินเสร็จ ร้านก็ยื่นบิลทันที มีเวลาจับมือขอบคุณแล้วก็สลายการชุมนุมโดยไม่มีวาระยืดเยื้อ ไม่มีรายการกินไปคุยไป ตามด้วยการเรียกของหวานชาวไทยในทิมพูเองจะเข้าใจวัฒนธรรมต่าง ชาติจึงไม่มีปัญหามากนัก ถ้าสังเกตจากโต๊ะชาวภูฏานที่นั่งข้างๆ จะเป็นตามที่ผมเล่าให้ฟัง

สกุลเงินตราของภูฏานเรียกว่า นูทรัม โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนราวๆ 2 บาทต่อ 3 นูทรัม หรือ 1 นูทรัมต่อ 70 สตางค์ โดยประมาณ เงินของภูฏานผูกไว้กับเงินรูปีของอินเดีย ทำให้มีค่าครองชีพที่ถูกกว่าในบ้านเรา อย่างไรก็ตาม เงินนูทรัมไม่สามารถแลกออกไปเป็นเงินตราสกุลต่างๆ ได้อย่างอิสระ เพราะมีไม่กี่ประเทศที่รับแลกเงินนูทรัม ขณะเดียวกันเงินบาทก็ไม่สามารถเอามาแลกได้ที่ประเทศภูฏาน

การเดินทางมาภูฏานจะต้องคิดให้ดีว่า จะเตรียมตัวอย่างไร เงินที่สามารถเอามาแลกเปลี่ยนได้ในภูฏานมี 3 สกุลคือ ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร และรูปีเท่านั้น กฎการแลกเปลี่ยนก็มีปัญหา หากเลือกที่จะใช้ยูโร จได้เปรียบสูงสุดในการแลกกับธนาคารที่ภูฏาน แต่ไม่สามารถเอาไปใช้ในการเข้าประเทศหรือสายการบินได้ หากเลือกดอลลาร์สหรัฐ จะได้เปรียบที่การจ่ายค่าน้ำหนักกระเป๋า จ่ายค่าเข้าประเทศ ค่าโรงแรม การทำธุรกรรมกับราชการหรือสายการบิน หากเอามาแลกที่ธนาคารบอกได้เลยว่าเป็นตัวโง่ เพราะถ้าไม่ได้ถือธนบัตรใบละ 100 ดอลลาร์สหรัฐมา อัตราแลกเปลี่ยนจะเหลือที่ 46 นูทรัมต่อดอลลาร์ ขณะที่อัตราจริงอยู่ที่ 50 นูทรัมต่อดอลลาร์ แม้จะหาทางออกโดยการเอาใบละ 100 มาก็โดนเอาเปรียบที่ 49 นูทรัมอยู่ดี ทางออกที่ดีที่สุดของดอลลาร์สหรัฐคือ แลกตามเคาน์เตอร์โรงแรมกับพนักงาน เพราะเขาให้เรตดีกว่า

ส่วนเงินที่ดีที่สุดที่จะเอามาใช้คือ รูปี แต่ก็มีกฎเหมือนกัน การเอาธนบัตรอินเดียมาใช้ในภูฏาน ห้ามเอาธนบัตรใบละ 500 หรือ 1,000 เข้ามาโดยเด็ดขาด เพราะเขาไม่รับ หากเอาเข้ามาท่านผู้อ่านต้องขอแลกที่ธนาคารซึ่งอาจจะโดนกดอัตราแลกเปลี่ยนได้ที่ 95 รูปีต่อ 100 นูทรัม ส่วนแลกกลับจะโดนอัตราที่ 95 นูทรัมต่อ 100 รูปี ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดคือเอาธนบัตรใบละ 100 รูปีมาเยอะๆ เพราะยังแลกกลับได้ ส่วนเงินบาท บัตรเครดิต หรือบัตร เอทีเอ็ม ลืมได้เลยครับ เนื่องจากเขาแลกแค่สามสกุล อย่าคิดว่าการเอาบัตรพลาตินั่ม บียอนพลาตินั่มมาใช้แล้วจะสบาย เพราะประเทศเขาแทบไม่มีที่ไหน รับเครดิตการ์ด แม้แต่โรงแรมก็ตามหลายแห่งรับแต่เงินสด ส่วนตู้เอทีเอ็ม ทั้งเมืองผมพาเพื่อนอาจารย์ชาวดัตช์ออกค้นหา ปรากฏว่าเดินกันขาลาก กว่าจะเจอสักตู้แถมบางตู้ก็กดไม่ได้อีก ดังนั้น ทางสะดวกคือ แลกรูปีสัก 5,000 รูปี เอาดอลลาร์สหรัฐกันเหนียวมาสัก 300 ดอลลาร์มาถึงก็แลกดอลลาร์สัก 100 ก่อน จากนั้นเมื่อ 100 ดอลลาร์แรกหมดก็ค่อยใช้รูปี เพราะเงินของเขาต้องใช้ให้หมด ถ้าใช้ไม่หมดแลกคืนไม่ได้ หรือแลกคืนยากมากๆ

ถ้ามองจากมุมของนักท่องเที่ยวเมืองทิมพูเป็นเมืองที่เราคิดว่าเวลาได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ เมืองทิมพูประกอบด้วยจตุรัสเล็กๆ กลางเมือง รายล้อมไปด้วยร้านค้าซึ่งเหมือนร้านโชวห่วยของไทยในอดีต การหาสินค้าสักอย่างเป็นเรื่องยาก แค่จะหาครีมโกนหนวดสักกระป๋องยังต้องเดินกันจนขาลาก โรงแรมและภัตตาคารจะตั้งอยู่ในตึกเก่าๆ ประชาชนยังนิยมสวมชุดประจำชาติ ลามะเดินบนถนนก็ได้รับการหลีกทางจากประชาชน อาคารสำนักงานจะเป็นตึก 3-5 ชั้น มีร้านต่างๆ มาตั้งแบบตามใจฉัน ตลาดยังคงมีสภาพเหมือนตลาดสดบ้านเราที่วางผลไม้หรือผักให้คนเลือก ร้านหมากพลูมีอยู่ทั่วไป

อาหารภูฏานประกอบด้วยผักหรือเนื้อซึ่งนำเข้าจากอินเดีย ปรุงกับชีสและพริกสด ชาวภูฏานจะนิยมชีสมาก อาหารเย็นทุกมื้อจะมีชีสผสมกับพริกสดให้ทานเป็นน้ำจิ้ม แทนน้ำปลามะนาวของเรา ชีวิตเป็นไปอย่างเรียบง่าย

หน่วยราชการต่างๆ เป็นอาคารไม้เรียงยาวรายล้อมพระราชวัง โดยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะมีห้องทำงานส่วนตัวที่ไม่มีประตูแบบบ้านเราแต่จะกั้นด้วยผ้าม่าน โดยข้าราชการชั้นผู้น้อยจะเลิกผ้าม่านไปถามเป็นภาษาภูฏาน หากเข้าพบได้ก็จะเปิดม่านให้กว้างเพื่อเดินเข้าไปพบและพูดคุย ทำให้บ้านเมืองเขาแม้จะมีบรรดาศักดิ์อยู่แต่กลับดูเรียบง่ายกว่าประเทศสารขันที่ยกเลิกบรรดาศักดิ์มาได้ 70 ปีแล้ว แต่ใครๆ ก็อยากเป็นท่านกันทั้งนั้น

แม้ว่าภาพภายนอกจะดูสวยงามขนาดไหนก็ตาม ประเทศภูฏานกำลังประสบปัญหา นั่นคือการคืบคลานเข้ามาของความเจริญจากโลกภายนอก เทคโนโลยี ข่าวสาร ปัญหาต่างๆ คืบคลานเข้ามาพร้อมกับความเจริญ ในฉบับต่อไปผมจะเล่าให้ฟังเกี่ยวกับปัญหาในภูฏาน

แม้ว่าภายนอกนาฬิกาของประเทศภูฏานจะหยุดอยู่ที่ 100 ปีก่อน แต่อำนาจของโลกาภิวัตน์ได้ง้างให้เข็มของนาฬิกาเดินออกไปอย่างที่ไม่สามารถที่จะฝืนได้ เริ่มจากการเข้ามาของวัฒนธรรมบอลลีวูดของอินเดียที่มาจากทางใต้ของประเทศ ตามด้วยวัฒนธรรมต่างชาติที่เริ่มเข้ามาสู่ราชอาณาจักรกลางขุนเขาที่งดงามอย่างภูฏาน นอกเมืองทิมพูมีการก่อสร้างกันอย่างเอิกเกริก อาคารบ้านเรือนแบบตะวันตก เริ่มปรากฏให้เห็น

ประเทศภูฏานกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เขาจะก้าวพ้นไปได้อย่างไร ผมจะถือโอกาสเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังในโอกาสต่อไป สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่เราชาวไทยหลงลืมไปนานแล้ว แต่ผมได้ค้นพบที่ภูฏานคือ การผสมผสานความงามแบบภูฏานเข้ากับความเจริญของโลกตะวันตก

ในช่วง 75 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่สมัยรัฐนิยมของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เราเดินหน้าเข้าหาความเจริญ เราทำตัวเป็นชาวตะวันตกกันอย่างไม่หยุดยั้ง เราอาจจะมีบ้านเมืองที่เจริญรุ่งเรือง ตึกระฟ้ามากมาย ชาวไทยแต่งตัวกันสวยงามตามวัฒนธรรมตะวันตก เด็กยุคใหม่หันหน้าเข้าสู่โลกของการแพทย์เพื่อความงาม แต่ความงามหนึ่งที่ผมไม่เห็นว่า รัฐนิยมหรือ โลกาภิวัตน์สามารถให้เราได้คือความงามของจิตใจ ความสวยงามจากเนื้อแท้ข้างใน ความงามจากจิตใจลึกๆ ของเรา การเป็นคนดีจากข้างใน การไม่แบ่งแยกและดูถูกกันเองและให้เกียรติผู้อื่น ความมีน้ำใจ ความจริงใจโดยไม่ต้องใส่หน้ากากเข้าหากัน

หากเราเอาค่าของการมีความสุขและความงามในจิตใจเป็นที่ตั้งเพื่อดูความเจริญของมนุษย์ ต่อให้หมอศัลยกรรมอีกกี่ร้อยกี่พันคนก็ไม่สามารถผ่าตัดให้เกิดความงามนี้ได้ เพราะนั่นคือความงามที่เกิดจากเนื้อแท้ของเราข้างในอย่างแท้จริง   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us