|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ท่ามกลางภัยพิบัติทางธรรมชาติและความปรวนแปรของภูมิอากาศที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในทศวรรษนี้ ชีวิตคนเดินดินอย่างเราก็มีแต่ความไม่แน่นอนและความสับสนสงสัยว่าต้นสายปลายเหตุมันมาจากอะไรกันแน่ และควรจะปรับตัวไปในทิศทางไหน จึงจะอยู่รอดปลอดภัย ควรจะเชื่อนักวิทยาศาสตร์หรือนักโหราศาสตร์ดี
ขณะที่สภาวะเศรษฐกิจและการเมืองกำลังร้อนแรงไปทั่วโลก สภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติก็ร้อนระอุด้วยเช่นกัน ภัยพิบัติรุนแรงที่เกิดขึ้นหลายครั้งได้มีการกล่าวอ้างว่ามีมูลเหตุมาจากภาวะโลกร้อน (Global Warming) บ้าง รังสีที่ปล่อยออกมาจากดวงอาทิตย์ (sunspots, solar winds, solar storms) บ้าง สนามแม่เหล็กโลกเบี่ยงเบนไปบ้าง และดวงจันทร์ที่เลื่อนลอยออกไปจากแรงดึงดูดของโลกบ้าง เราจึงจำเป็นต้องขุดคุ้ยข้อมูลขึ้นมาจากเว็บไซต์แหล่งต่างๆ และประมวลทำความเข้าใจถึงคำกล่าวอ้างต่างๆ ที่แพร่สะพัดอยู่ว่ามีน้ำหนักมากน้อยแค่ไหน
โลกร้อนขึ้น!
เพราะรังสีที่ลุกโพลงจากดวงอาทิตย์ หรือการเผาผลาญเชื้อเพลิงของมนุษย์
IPCC ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติออกมาป่าวประกาศว่า มีหลักฐานยืนยันมากมายว่าโลกร้อนด้วยฝีมือมนุษย์ แต่ก็มีนักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่งเห็นแย้งว่าเหตุที่โลกร้อนขึ้นน่าจะเป็นเพราะรังสีร้อนแรงที่ปล่อยออกมาจากดวงอาทิตย์เสียมากกว่า นักวิชาการกลุ่มหลังนี้ ได้อ้างข้อมูลการสำรวจของยานอวกาศ Ulysses ซึ่งเป็นยานตรวจวัดรังสีดวงอาทิตย์ และสังเกตจุดดับและพายุสุริยะ (sunspots, solar winds) และส่งข้อมูลมายังโลกอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจพบว่า sunspots ที่ผิวของดวงอาทิตย์มีจำนวนเพิ่มขึ้น ในขณะที่อุณหภูมิของโลกก็ร้อนตามไปด้วย ฉะนั้น sunspots เหล่านี้ต้องมีอิทธิพลที่ทำให้โลกของเราร้อนขึ้นเป็นแน่
ปฏิกิริยาการปล่อยรังสีของดวงอาทิตย์ที่นักวิชาการกลุ่มแย้งอ้างถึงนั้น ปรากฏว่ามีขึ้นมีลงเป็นประจำทุกๆ รอบ 11 ปี เป็นปรากฏการณ์ที่เป็นวงจรของธรรมชาติ ในทุกๆ รอบวงจรจะมีช่วงปฏิกิริยารังสีร้อนแรงขึ้นและอ่อนแรงลงสลับกันไป ในคาบปัจจุบัน ช่วงปี 2007-2012 เป็นช่วงที่ปฏิกิริยาการปล่อยรังสีของดวงอาทิตย์กำลังพุ่งแรงสูงสุด เมื่อพ้นระยะนี้ไปแล้ว ดวงอาทิตย์ก็จะลดกำลังลงและมีแนวโน้มว่าต่อจากนี้ไปการปล่อยรังสีของดวงอาทิตย์โดยรวมจะลดลงกว่าแต่ก่อนด้วยซ้ำไป
เมื่อกลับมาดูข้อมูลระยะยาวหน่อยก็พบว่าช่วงปี 1880-2010 รังสีที่ดวงอาทิตย์ ปล่อยออกมาโดยรวม (total solar radiance) สูงขึ้นสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้น ของอุณหภูมิโลกมาจนกระทั่งถึงทศวรรษของปี 1970 หลังจากนั้นกำลังการปล่อยรังสีของดวงอาทิตย์ก็เริ่มลดลง แต่อุณหภูมิของโลกกลับสูงขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปอีก
ข้อมูลดังกล่าวนี้ได้บอกเราว่ายังมีปัจจัยอื่นอีกที่ทำให้โลกร้อนขึ้น จริงอยู่รังสีดวงอาทิตย์อันร้อนแรงมีส่วนทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น หากจะต้องมีอิทธิพลอย่างอื่นอีกที่กระพือให้โลกร้อนขึ้นๆ ด้วยเช่นกัน ทั้งๆ ที่ปริมาณรังสีรวมของดวงอาทิตย์อ่อนแรงลง แต่อุณหภูมิของโลกก็ยังคงสูงขึ้นต่อไป นักวิชาการส่วนใหญ่จึงสรุปกันเป็นเอกฉันท์ว่าปัจจัยที่ส่งผลให้โลกร้อนขึ้นๆ ในทุกวันนี้จะเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์ก่อขึ้นนั่นเองเป็นหลัก สอดคล้องกับงานวิจัยของ IPCC ส่วนรังสีดวงอาทิตย์จะมีผลอยู่บ้างก็เป็นเพียงส่วนเสริมเท่านั้น
ดวงอาทิตย์มีพลังเหนี่ยวนำสนามแม่เหล็กและระบบไฟฟ้าของโลกด้วย
ช้าก่อน นอกจากจะให้รังสีความร้อนแก่โลกแล้ว ดวงอาทิตย์ก็ยังมีอิทธิพลที่สำคัญอื่นๆ อีกอย่างที่เรานึกไม่ถึง ปฏิกิริยาพายุสุริยะ (Solar winds, solar storms) บนดวงอาทิตย์ปล่อยอนุภาคที่มีประจุออกมาเป็นกระแสเหมือนสายน้ำเชี่ยวกราก กระแสประจุอิเล็กตรอนและโปรตรอนที่หลุดจากบรรยากาศของดวงอาทิตย์ดังกล่าวนี้มีพลังเหนี่ยวนำให้เกิดอะไรๆ ที่ไม่น่าเชื่อบนโลกได้ เช่น ทำให้เสาไฟฟ้าพลังสูงเกิดระเบิด ทำให้ระบบสื่อสารคมนาคมล่ม และเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์รวนเร
กระแสพลังงานที่มีประจุจากดวงอาทิตย์นี้จะทำปฏิกิริยากับสนามแม่เหล็กโลก ทำให้การเคลื่อนที่เคลื่อนไหวทั้งภายใน แกนโลกและรอบๆ บรรยากาศโลกปรวนแปรไปได้ มากน้อยแค่ไหนยังไม่มีใครบอก ได้ (หรืออาจจะคะเนได้ แต่เก็บไว้เป็นความลับสูงสุด เพื่อไม่ให้ชาวโลกตื่นตูมกันจนเกินไป) และอาจจะเป็นต้นเหตุของแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงที่เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมานี้ ต่อเนื่องไปถึงการปะทุของภูเขาไฟ ทั้งนี้เพราะสนามแม่เหล็ก โลกมีผลต่อการเคลื่อนไหลของของเหลวภายในแกนกลางโลก ซึ่งจะเพิ่มความดันภายในโลกทำให้เกิดการขยับตัวของเปลือกโลกและการระเบิดของภูเขาไฟ ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เราตรวจจับได้ว่า ขั้วเหนือ ของสนามแม่เหล็กโลกกำลังเบี่ยงเบนจากทางเหนือของประเทศแคนาดาไปยังไซบีเรีย ด้วยอัตราที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะนก ปลาโลมา และเต่าทะเลสามารถสัมผัสถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ส่วนสัตว์ประเภทกวางป่ามักจะนอนพักผ่อนในแนวเหนือใต้ของสนามแม่เหล็ก
ผลจากการที่พายุสุริยะ
มีต่อสนามแม่เหล็กโลก
สนามแม่เหล็กโลกมีบทบาทสำคัญในการปกป้องโลกจากรังสีร้ายแรง (Cosmic rays) ที่ปล่อยมาจากดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ต่างๆ ในระบบสุริยะและเอกภพ ขณะนี้นักดาราศาสตร์ตรวจพบว่าสนามแม่เหล็กของโลกกำลังอ่อนกำลังลง ลดลงประมาณ 10% ของพลังที่เคยมีเมื่อเริ่มค้นพบในปี 1845
ถ้ายังอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ เช่นนี้ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น หากเป็นเช่นนี้ต่อไปในที่สุดสนามแม่เหล็กก็จะล่ม พลิกขั้วกลับ เข็มทิศต่างๆ ก็จะพากันชี้ไปทางทิศใต้แทนที่จะเป็นทิศเหนือ จริงๆ แล้วหากเรา มองโลกย้อนกลับไปหลายแสนกัลป์ เราก็จะพบว่าสนามแม่เหล็กโลกเคยพลิกกลับตัว มาแล้วหลายครั้ง ครั้งหลังสุดเมื่อประมาณ 780,000 ปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า การกลับขั้วของสนามแม่เหล็กครั้งนั้นมิได้ทำให้ชีวิตบนโลกล้มหายตายจากไป แต่ก็มีการปรับตัวครั้งใหญ่
สนามแม่เหล็กของโลกยังมีปฏิสัมพันธ์กับกระแสพลังที่มาจากดวงอาทิตย์ เช่น พายุสุริยะ การลุกโพลงของจุดดับบนดวงอาทิตย์ด้วย พลังดังกล่าวนี้มิใช่แต่จะมีผลต่อระบบไฟฟ้าและคลื่นสื่อสารบนผิวโลกเท่านั้น แต่ยังมีผลลึกลงไปถึงการก่อตัวของสนามแม่เหล็กจากแกนกลางของโลกด้วย
ถึงอย่างไรชีวิตที่อาศัยอยู่บนผิวโลก ก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป แต่จะลำบากยากแค้นแค่ไหนนั้น เราก็ต้องผนึกกำลังต่อสู้กันต่อไป
|
|
|
|
|