|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |

“ทรายกับทะเล” เป็นคำพูดที่ชวนให้นึกถึงภาพบรรยากาศสวยงามโรแมนติก แต่สำหรับคนชุมชนบ้านกลาง ตำบลบางเตย อำเภอเมือง จังหวัดพังงา คือภาพแห่งความทรงจำอันเจ็บปวด เป็นภาพที่คนในชุมชนต้องใช้เวลาเกือบ 20 ปี ลบภาพนั้นทิ้งไป พวกเขาตั้งใจจะไม่ปล่อยให้ภาพนั้นกลับมาเกิดขึ้นอีก
ภาพล่าสุดที่ป่าชุมชนบ้านกลางวันนี้ พื้นทรายบริเวณกว้างที่สุดเป็นเพียงลานพักผ่อนริมทะเลขนาดไม่กี่ตารางเมตร สำหรับให้ชาวชุมชนมาทำกิจกรรมหรือพาลูกหลานมาเล่นหรือพักผ่อนชมวิวในยามแดดร่มลมตกหลังว่างจากกิจการงาน
ขณะที่พื้นที่ส่วนที่เหลือแปรสภาพกลับมาเป็นป่าชายเลนแนวหนาทึบ จากแผ่นดินยื่นไปในทะเลมากกว่า 300 เมตร รวมพื้นที่กว่า 3,100 ไร่ ทำหน้าที่เป็นแนวชายฝั่งชั้นยอดให้กับชุมชน ทั้งการป้องกันภัยพายุ หรือแม้แต่สึนามิที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีก กับการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ แหล่งรายได้ของชุมชนบ้านกลางให้ชุมชนหาเลี้ยงตัวเองได้อย่างอยู่ดีมีสุข ไม่ต้องทิ้งถิ่นไปทำงานรับจ้างให้เกิดภาวะขาดแคลนความอบอุ่นในครอบครัว
“อาชีพหลักของคนในหมู่บ้านก็จับปลา หาปู วันหนึ่งออกไปไม่กี่ชั่วโมงกลับมาได้เงินเกือบ 2 พันบาท ไม่ต้องไป ทำงานที่อื่นได้อยู่กันพร้อมหน้าครอบครัว” แม่บ้านวัย 30 ปีรายหนึ่งเล่าด้วยสีหน้าเปี่ยมสุข
เธอเล่าว่าสมัยที่เธอยังเด็ก สภาพของชุมชนผิดกับตอนนี้ ไม่มีป่าชายเลน เพราะมีนายทุนเข้ามาทำสัมปทานเหมืองแร่ในพื้นที่ป่าชายเลน มองไปทางไหนมีแต่ทรายที่ถูกแยกแร่ออกไปแล้วพ่นเป็นกองดำเลอะไปหมด คนในหมู่บ้านก็มีรายได้จากการเป็นลูกจ้างทำงานในเหมืองแร่ บางรายก็ถึงกับเฟื่องฟู รวมทั้งพ่อของเธอ แต่เมื่อเหมืองแร่เก็บของกลับบ้านก็ทิ้งไว้แต่ทะเลทราย
“เหลือแค่ทะเลทรายจริงๆ อาชีพก็ไม่เหลือ ไม่มีคนจ้างงาน จะออกทะเลก็จับปลาไม่ได้ ไม่มีป่า ปูปลาที่ไหนจะมีที่เติบโต ตอนเด็กๆ จำได้ว่าพ่อยังต้องออก ไปรับเหมาก่อสร้างข้างนอก ไม่ชอบเลย พอกลับมาปลูกป่ากัน เดี๋ยวนี้คนที่นี่กลับมาทำประมงชายฝั่งได้ ไม่ต้องออกไปทำงานที่อื่นเลย เราเองก็ได้อยู่บ้านกับลูก”
ประมงชายฝั่งของชาวบ้านกลางเป็นแบบพึ่งพาตัวเอง วันหนึ่งทำงานไม่กี่ชั่วโมงก็พอเลี้ยงครอบครัว มีต้นทุนมีกำไรพอเหลือเก็บในครัวเรือน เพราะหาเองขายเองถึงมือผู้บริโภค ไม่ต้องพึ่งทุนจากเถ้าแก่แพปลาเหมือนยุคแรก ที่หาปลาก็ยากแล้วแถมยังมีข้อจำกัดว่าต้องส่งสินค้าผ่านแพปลาที่กู้เงินมาเป็นทุนเท่านั้น
ชาวชุมชนบ้านกลางร้อยละ 99 เป็นชาวมุสลิมที่รักธรรมชาติและรักความสงบ เมื่อสมัยที่ชุมชนล่มสลายเพราะป่าชายเลนถูกทำลายจนเหลือศูนย์ ด้วยความที่ไม่มีประสบการณ์ทำงานชุมชนมาก่อน หัวหน้าชุมชนก็ไม่ปฏิเสธที่จะนิมนต์พระสงฆ์นักปฏิบัติจากพื้นที่ใกล้เคียงที่มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาชุมชนเข้ามาแนะนำวิธีการดำเนินงานและแนวคิดในการสร้างจิตอาสาฟื้นฟูชุมชน
“ผมเป็นคนไปเชิญมาเองสมัยแรกๆ เพราะเราไม่มีคนทำเป็นว่าจะเริ่มอย่างไร เราเชิญมาในฐานะผู้ให้ความรู้ ก่อนเชิญก็ชี้แจงให้คนในหมู่บ้านทราบเสียก่อนว่าไม่ได้เป็นการขัดต่อหลักศาสนาใดๆ เหมือนท่านมาเป็นครู” สุรพงษ์ สุมาลี เลขาธิการฯ คณะทำงานป่าชุมชนของชุมชนบ้านกลางกล่าว
ภาพที่เขาเล่ามานี้นับเป็นภาพของการเปิดใจกว้าง ความสามัคคี และการอยู่ร่วมกันได้ภายใต้ความแตกต่างซึ่งหลายๆ ชุมชนสามารถนำไปพิจารณาใช้ได้
ส่วนประวัติความเจ็บปวดก่อนที่ชุมชนบ้านกลางจะได้รับฟื้นฟูเริ่มต้นในยุคพัฒนาเศรษฐกิจของสังคมไทย ในยุคนั้น 80-90% ของคนในชุมชนทำอาชีพประมงชายฝั่ง ถนนในหมู่บ้านก็เป็นแค่ดินลูกรัง เริ่มมีไฟฟ้าใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2523 สมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี
กรมป่าไม้ซึ่งยังมีหน้าที่ดูแลป่าชายเลนในยุคนั้นให้สัมปทานป่าไม้ในพื้นที่บ้านกลาง รวมทั้งป่าชายเลนในพื้นที่จังหวัดพังงาเพื่อเผาไม้โกงกางทำถ่าน ป่าเริ่มร่อยหรอแต่ก็ไม่ถึงกับหมดไป เพราะอย่างน้อยกรมป่าไม้ก็มีกฎในการสัมปทานว่าผู้รับสัมปทานจะต้องปลูกป่าชดเชยตามหลักการจัดการป่าไม้ แต่ก็ไม่ได้ผลมากนัก จะด้วยเพราะขาดหลักวิชาป่าไม้ที่แน่นพอหรือขาดจิตสำนึก ก็ล้วนมีส่วนทั้งสิ้น
“ยุคนั้นเป็นบริษัทจากสิงคโปร์เข้ามาสัมปทานทำถ่านโกงกาง แต่ก็ไม่ได้ทำลายป่ามาก”
สัญญาณร้ายของการทำลายวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมชุมชนขนาดใหญ่มาจากคำว่า “แร่หมื่นล้าน” ตัวการที่พลิกพื้นที่ป่าชายเลนของชาวบ้านกลางให้กลายเป็นทะเลทราย
ยุคนั้นชาวบ้านก็ดีใจกับสถานะทางเศรษฐกิจที่เติบโตไปพร้อมกิจการเหมืองแร่โดยไม่ได้คิดถึงผลกระทบในวันข้างหน้าเช่นกัน
เงื่อนไขการทำเหมืองแร่ยุคนั้นไม่ได้รวมการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลับเป็นอย่างเดิมหลังเลิกกิจการ บริษัทที่เข้ามาดำเนินกิจการเหมืองแร่มีทั้งจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย
ระหว่างปี 2523-2533 นับเป็นช่วงสูงสุดแห่งการทำลายล้าง ภายในเวลา 10 ปี จากป่าชายเลนหนาทึบ อ่าวพังงาแปรสภาพเป็นอ่าวน้ำดำ ป่าชายเลนกลายเป็นทะเลทรายชายฝั่ง เป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านซาบซึ้งกันถ้วนหน้าว่า “แม้แร่หมื่นล้านจะสร้างความรุ่งเรืองสุดขีดให้หมู่บ้าน แต่ก็เป็นตัวทำให้ชุมชนอยู่ในภาวะอ่อนแอที่สุด”
“ชาวบ้านลำบากมาก แต่ปี 2533 ก็เริ่มกลับมาพูดเรื่องการปลูกป่า เพราะเราจะอยู่ในพื้นที่ต่อไปได้ ต้องมีป่า แต่ชาวบ้าน 99% ยังไม่เห็นด้วย กว่าจะเริ่มปลูกได้จริงปี 2535 และปลูกได้แค่ 10 กว่าไร่” สุรพงษ์กล่าว
ยุคเริ่มต้นปลูกป่าเป็นช่วงเดียวกับที่สุรพงษ์เชิญพระนักปฏิบัติมาให้ความรู้ แม้ชาวบ้านส่วนใหญ่จะยังไม่เห็นด้วย ก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ปลูกป่ามาอย่างต่อเนื่อง ปลูกไปเรื่อยๆ จนคนที่ไม่เห็นด้วยเริ่มเห็นด้วยในที่สุด
ภายใน 1 ปี จากปี 2535-2536 มีจำนวนพื้นที่ป่าชายเลนที่ชุมชนช่วยกันฟื้นฟูกลับมาได้ราว 100 ไร่ โดยไม่มีงบจากรัฐบาลสักบาทมาช่วยเหลือ หลังปี 2536 มีทีมนักวิชาการจากญี่ปุ่นนับ 100 คน เข้ามาดูเรื่องปลูกป่าในพื้นที่ ทำให้การฟื้นฟูป่าชายเลนของชุมชนบ้านกลางดังทั่วประเทศ
หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็เริ่มมีหน่วยงานรัฐและเอกชนเข้ามาให้การสนับสนุนด้านต่างๆ เช่น กรมป่าไม้เข้ามา สนับสนุนด้านปลูกป่า การได้รับเลือกให้เป็นป่าชุมชนดีเด่นจากโครงการ “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” ของ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี ผู้นำหลายคนในชุมชนกลายเป็นแกนกลางของเครือข่ายการดูแลรักษาป่าชายเลนในระดับภาคและประเทศจากประสบการณ์ตรงที่เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจนเห็นผล
วันนี้ที่ชุมชนบ้านกลางมีพื้นที่ป่าที่คณะกรรมการป่าชุมชนของชุมชนรับผิดชอบอยู่มากกว่า 3,100 ไร่ และได้รับความ ไว้วางใจให้เป็นแกนหลักในการฟื้นฟูและดูแลพื้นที่ป่าชายเลนของทั้งตำบลรวมกว่า 7 หมื่นไร่ และได้รับความร่วมมือจากชุมชนใกล้เคียงเข้าร่วมเป็นเครือข่ายฟื้นฟูป่าชายเลนอย่างกว้างขวาง
“ที่ชุมชนข้างเคียงยอมร่วมด้วยก็เพราะเห็นจากสิ่งที่เราทำ ป่าก็มี สัตว์น้ำก็มี ชาวบ้านก็มีชีวิตดีขึ้น ตอนเกิดสึนามิคนส่วนใหญ่ก็ได้เรียนรู้ว่าการมีป่าชายเลนช่วยป้องกันอันตรายจากสึนามิได้ด้วย ทุกคนเชื่อแล้วเห็นกับตาว่ามีป่าแล้วดีอย่างไร” ประสาน โนนทอง ประธานป่าชุมชนบ้านกลางกล่าว
นอกจากสึนามิที่เข้ามาช่วยเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอัตราเร่งในการปลูกป่าในเขตตำบลบางเตยที่ชุมชนบ้านกลางสังกัดอยู่ เครือข่ายของ 6 หมู่บ้านจาก 9 หมู่บ้าน ของตำบลที่มีพื้นที่ป่าชายเลนที่เต็มใจเข้าร่วมเป็นเครือข่ายปลูกป่ายังเกิดขึ้นเพราะกลยุทธ์ของผู้นำชุมชนบ้านกลางที่ต้องการให้ชุมชนใกล้เคียงหันมาปลูกป่าด้วย
ประธานป่าชุมชนเล่าว่าเขาใช้วิธีนำเงินทุนที่ชุมชนได้มาจากรางวัลและโครงการต่างๆ นอกเหนือจากที่เก็บสะสมไว้ในธนาคารหมู่บ้านเพื่อดูแลคนในชุมชนแล้ว บางส่วนนำไปเป็นแรงสนับสนุนเบื้องต้นให้กับชุมชนใกล้เคียงในการปลูกป่า พร้อมกับสร้างกิจกรรมให้มีการปลูกป่าร่วมกัน โดยเริ่มขยายเครือข่ายครั้งแรกประมาณปี 2551 ยอมรับว่ากำลังทรัพย์มีส่วนมากที่จะช่วยให้การขยายเครือข่ายเติบโตได้เร็วขึ้น
“เราเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2535 แต่กว่าจะขยายเครือข่ายได้จริงใช้เวลาเกือบ 20 ปี ใช้เทคนิคนี้แหละจัดกิจกรรมให้คนเห็นบ่อยๆ ให้มาดูว่าเราทำแล้วสำเร็จอย่างไร จนเขายอมรับ จนตอนนี้ป่าข้างๆ เริ่มเป็นฝ่ายขอเข้ามาเรียนรู้ที่จะทำกิจกรรมกับเรา จนในที่สุดก็เอาแต่ละป่ามารวมกันช่วยกันดูแล”
ณ วันนี้ไม่เพียงเฉพาะป่าชายเลนที่บ้านกลางเท่านั้นที่เป็นที่รู้จักของกลุ่มเครือข่ายคนรักษ์ป่าทั่วประเทศ แต่พวกเขายังทำให้จังหวัดพังงา มีชื่อเสียงในฐานะจังหวัดที่มีป่าชายเลนมากที่สุดในประเทศไทย ด้วยตัวเลขป่ารวมกันสูงถึง 1.6 แสน ไร่ คิดแล้วมากกว่า 10% ของพื้นที่ป่าชายเลนทั้งประเทศจำนวน 1.2 ล้านไร่
|
|
 |
|
|