|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางบรรยากาศการตั้งโต๊ะเจรจาสันติภาพระดับสหภาพ ครั้งที่ 2 ณ ห้องประชุม บก.ภาคสามเหลี่ยม เมืองเชียงตุง สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ระหว่างสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of Chan State: RCSS) และกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่ (Shan State ARMY: SSA) ซึ่งมี พล.ท.เจ้ายอดศึกในฐานะประธาน RCSS เป็นหัวหน้าคณะกับตัวแทนรัฐบาลพม่า มี พล.อ.โซวิน รอง ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.ทบ. และรองประธานคณะทำงานฝ่ายรัฐบาลพม่าคนที่ 1 เป็นหัวหน้าคณะ
ก่อนที่ผู้นำ RCSS/SSA จะเดินทางต่อจากเชียงตุงไปตามเส้นทาง R3b เข้าหารือร่วมกับเจ้าจายลืน หรือจายเริญ ผู้นำเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ 4 (เมืองลา) บริเวณพรมแดนพม่า-เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลพม่ามาแล้ว 23 ปี ถึงแนวทางความร่วมมือพัฒนาพื้นที่ในอนาคตต่อ
ความเคลื่อนไหวของ พล.ท.เจ้ายอดศึกครั้งนี้นำเสนอผ่านสื่อทั้งไทยเทศ รวมถึงสื่อไทใหญ่และพม่าอย่างครึกโครม เพราะการเจรจาสันติภาพรอบนี้เปิดโอกาสให้คณะสื่อมวลชนจากประเทศต่างๆ ตลอดจนผู้สังเกตการณ์ตามไปด้วยมากถึงประมาณ 60 คน
(อ่าน “สรุปผลการเจรจารอบ 2” ประกอบ)
ในเวลาเดียวกัน วันที่ 21 พฤษภาคม บน “ดอยไตแลง” เทือกเขาแดนลาว พรมแดนพม่ากับอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ฐานที่มั่นใหญ่ของ RCSS/SSA ที่สูงจากน้ำทะเลร่วม 1,500 เมตร กลางหมอกฝนที่โปรยปรายเกือบตลอดทั้งวันได้มีการจัดงาน “วันกองทัพ” ขึ้น เพื่อแสดงแสนยานุภาพทางการทหารของไทใหญ่
วันกองทัพครั้งนี้ถือเป็นการจัดงานวันกองทัพครั้งแรกหลังรัฐบาลพม่าทำสัญญาหยุดยิงกับ SSA และมีการเปิดโต๊ะเจรจาสันติภาพระหว่างกัน โดยการเจรจาครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2555 ที่เมืองตองยี และครั้งที่ 2 ที่เพิ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา ณ เมืองเชียงตุง
พิธีสวนสนามวันกองทัพฯ ปีนี้ซึ่งเป็นปีที่ 54 ของการจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่า เริ่มต้นขึ้นช่วงสายของวันที่ 24 พฤษภาคม ท่ามกลางเม็ดฝนโปรยปรายคละเคล้ากับสายหมอก มีธงแถบแดง เขียว เหลือง มีจันทร์เต็มดวงสีขาวลอยเด่นอยู่กลางผืนธง พลิ้วสะบัดนำหน้า ตามด้วยผืนธงสีแดงสดมีรูปดาบไขว้ปืนสีขาวประดับมุมล่างด้านขวากับดวงตะวันสีขาวเจิดจ้าอยู่มุมตรงกันข้ามกับริ้วขบวนธงสีฟ้า สัญลักษณ์ขององค์กรการเมือง การต่างประเทศ RCSS พร้อมด้วยขบวนทหารไทใหญ่ เดินแถวจากหน้าสภาฯ ผ่านไปตามถนนสายหลักของชุมชนดอยไตแลงที่เปียกลื่นด้วยหยาดฝน
โดยขบวนแถวมุ่งหน้าไปสู่ลานหน้าอนุสาวรีย์เจ้าเสือข่านฟ้า และเจ้ากอนเจิง 2 วีรบุรุษที่ทหารไทใหญ่ยกย่องสดุดี ที่มีลูกเด็กเล็กแดงตลอดจนญาติพี่น้องร่วมเชื้อชาติไทใหญ่ ซึ่งฝ่าสายฝนที่โปรยปรายเป็นระยะๆ ปุยเมฆที่ถูกลมพัดผ่านยอดภูตลอดเวลา และพื้นถนนเปียกลื่น ขึ้นดอยไตแลงมาร่วมชมแสนยานุภาพกองทัพ พร้อมกับให้กำลังใจญาติมิตรที่เข้าร่วมเป็นทหารในกองทัพของพวกเขา
วันนั้น...ขณะที่ พล.ท.เจ้ายอดศึก (ไทใหญ่เรียกทหารชั้นยศตั้งแต่นายพันขึ้นไปเป็น “เจ้า”) ผู้นำของพวกเขาอยู่ระหว่างเดินทางไปเจรจาสันติภาพกับตัวแทนรัฐบาลพม่า และชนกลุ่มน้อยพันธมิตร
งานวันกองทัพยังคงจัดการแสดงแสนยานุภาพกองทัพ-ปลุกขวัญกำลังพล และคนไทใหญ่เช่นทุกปีที่ผ่านมา
มีการจำลองการปฏิบัติการรบของกองกำลังที่รบพุ่งกับทหารพม่า รวมถึงสมมุติเหตุการณ์ทหารไทใหญ่ถูกทหารพม่านุ่งโสร่งจับกุมตัว และทรมานด้วยสารพัดวิธี ก่อนที่จะให้หน่วยจู่โจมของ SSA ออกมาโชว์ศักยภาพในการบุกเข้าช่วยตัวประกันออกมาได้ในที่สุด
การแสดงทั้งหมดมีนายทหารซึ่งทำหน้าที่โฆษกประจำเวทีบรรยายเป็นบทละครภาษาไทใหญ่ บอกเล่าได้อย่างออกรส ให้ผู้เข้าร่วมงานเห็นภาพความทารุณที่เกิดขึ้นกับทหารไทใหญ่ในสนามรบ
ทุกบททุกตอนของการบรรยาย สามารถเรียกเสียงหัวเราะอย่างชอบอกชอบใจจากคนไทใหญ่ที่มาจากทั่วสารทิศเพื่อร่วมงานครั้งนี้
พร้อมกับปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งอุดมการณ์ “ไทใหญ่” ให้กับคนรุ่นลูกรุ่นหลานที่พ่อแม่จูงมือฝ่าฝนมาร่วมงานไปในตัวด้วย
ขณะเดียวกันในยามค่ำคืนระหว่างที่มีการจัดงานวันกองทัพฯ ครั้งนี้ก็ไม่พลาด ที่จะมีการจัดเวทีการแสดงลิเกไทใหญ่หรือจ้าดไตที่ขนนักแสดงเบิกโรงเรียกแขกด้วยเนื้อหาที่กินใจ ทั้งประเด็นการรวมชาติ กู้ชาติ รวมไปถึงการสู้รบกับทหารพม่าในระยะหลายสิบปีที่ผ่านมา จนทำให้ผู้ชมหน้าม่านเป่าปาก โห่ร้อง ตบมือ เสียงลั่นยอดดอยไตแลงที่มีหมอกฝนคลอเคล้า
นี่คือบริบทหนึ่งที่เกิดขึ้นในสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า 1 ในประเทศอาเซียนที่กำลังหลอมรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในปี 2558 ที่จะถึงนี้
สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าไม่ได้มีแต่ไทใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยเท่านั้น แต่ยังคงเต็มไปด้วยชนกลุ่มน้อยหลากหลายชาติพันธุ์ที่ทางหนึ่งกำลังเจรจาสันติภาพกับรัฐบาล แต่อีกทางหนึ่งก็มีกำลังรบอยู่ในมือ อีกทั้งแทบทุกกลุ่มล้วนแล้วแต่ครอบครองพื้นที่ ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรและพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญแทบทั้งสิ้น
เช่น คะฉิ่นครอบครองพื้นที่ยุทธศาสตร์เชื่อมต่อพม่าตอนเหนือกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะเป็น gateway สำคัญจากคุนหมิง-มัณฑะเลย์-เนปิดอ-ย่างกุ้ง เชื่อมกับระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic corridor: EWEC)
ขณะที่ไทใหญ่ที่ครอบครองพื้นที่แถบรัฐฉานตอนใต้กับตะวันออกก็อยู่บนยุทธศาสตร์ระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic corridor: NSEC) เป็นต้น
พ.อ.เจ้าเคอเงิน รองประธาน RCSS คนที่ 3 บอก ผู้จัดการ 360 ํ ว่า 4-5 เดือนที่ RCSS เจรจากับรัฐบาลพม่ามีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ส่วนหนึ่งมองว่า สู้กันมาหลายสิบปีทำให้ประชาชนอยู่อย่างยากลำบาก เจรจากันแล้วก็สบายใจขึ้น ไปมาหาสู่กันได้ง่ายขึ้น แต่อีกส่วนก็ยังไม่ไว้ใจพม่าว่าจะมีความจริงใจมากน้อยแค่ไหน
นับตั้งแต่การเจรจาเกิดขึ้นจนถึงวันนี้ การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมที่ปรากฏให้เห็นบ้างก็คือปัญหาการกดขี่ข่มเหงชาวบ้านไทใหญ่ในรัฐฉานที่เคยได้รับจากทหารพม่าลดลง ขณะที่การปะทะระหว่างทหารทั้ง 2 ฝ่ายแม้จะเกิดขึ้นบ้างแต่ก็ลดลงเช่นกัน
“ภาพรวมแล้ว ผลที่ออกมายังไม่เป็นบวกมากนัก ต้องคุยกันอีก” พ.อ.เจ้าเคอเงินย้ำ
ซึ่งในวงเจรจาครั้งล่าสุด (ครั้งที่ 2) ก็มีความคืบหน้าชัดเจนเพียงเรื่องความร่วมมือในการปราบปรามยาเสพติด ซึ่งไทใหญ่วางเป้าหมายให้ยาเสพติดหมดไปจากพื้นที่รัฐฉานภายใน 3-5 ปีต่อจากนี้
ส่วนเรื่องแนวทางพัฒนาพื้นที่นี้ พ.อ.เจ้าเคอเงินบอกว่ายังคงต้องรอคุยกันในรายละเอียดในการเจรจาครั้งต่อไป
ครั้งนี้ดูเหมือนมีการตกลงกันในเบื้องต้นเท่านั้น ทางพม่าตกลงให้ประชาชนคนไทใหญ่ทำมาหากินในเขตรัฐฉานตอนใต้และตะวันออกได้อย่างเสรีทั้งในด้านเกษตรกรรม ปศุสัตว์ ฯลฯ โดยเฉพาะในเขตชนบท ขณะที่ในเขตเมืองพม่าก็ยังคงควบคุมดูแลอยู่ หากทั้ง 2 ฝ่ายจะเข้าพื้นที่ก็ต้องแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับรู้ก่อน และต้องไม่มีการพกอาวุธเข้าไปด้วย
รองประธาน RCSS คนที่ 3 บอกอีกว่าเฉพาะหน้านี้เราต้องพยายามให้ประชาชนและครอบครัวทหารมีโอกาสทำมาหากินเลี้ยงชีพตนเองได้อย่างอิสระ หลังจากถูกกดขี่มานาน รวมทั้งให้รัฐบาลพม่าเปิดให้มีการเรียนการสอนภาษาถิ่นให้กับลูกหลานของเราด้วย ขณะนี้บนดอยไตแลงมีโรงเรียนที่เปิดสอนอยู่ มีเด็กมากกว่า 800 คน เป็นเด็กกำพร้าอยู่ประมาณ 200 กว่าคน เพราะที่ผ่านมาพม่าห้ามไม่ให้มีการสอนด้วยภาษาถิ่น
ส่วนการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทางนั้น พ.อ.เจ้าเคอเงินบอกว่ายังต้องรอการเจรจากันครั้งต่อไปอีก
“แต่ในหลักการแล้ว พื้นที่ที่เราดูแล เราต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาด้วย” สำหรับ “ที่ยืน” ของ RCSS ในอนาคตนั้น พ.อ.เจ้าเคอเงินบอกว่าในข้อตกลงครั้งล่าสุดข้อที่ 12 ซึ่งบอกไว้ว่าจะมีการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่สมาชิกสภาฯ กองทัพรัฐฉาน ผู้อพยพลี้ภัยสงคราม และประชาชนพลเมืองทั่วไป เป็นจุดเริ่มต้นที่มีการหารือกันที่จะเปิดทางให้สภาฯ เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยการตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา และส่งตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้ง
เพียงแต่ในประเด็นนี้คงต้องพิจารณากันลึกไปถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของพม่าที่ยังมีข้อจำกัด ทำให้ตัวแทนชนกลุ่มน้อยรวมถึงพรรค NLD ของอองซาน ซูจี มีโอกาสได้ที่นั่งในสภาฯ รวมกันเพียง 3-5% จนไม่สามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศได้เท่าที่ควร ก็อาจจะต้องรอจนกว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่เสียก่อน
ขณะที่เป้าหมายใหญ่ การประกาศเอกราชเป็นรัฐอิสระนั้น พ.อ.เจ้าเคอเงินระบุว่า ยังคงดำรงเป้าหมายอยู่ เพียงแต่เป็นเรื่องระยะยาว ต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะหากมุ่งเป้าในประเด็นนี้ โต๊ะเจรจาคงจะล้มเหลว ทำให้สถานการณ์ระหว่างพม่ากับไทใหญ่หวนกลับไปสู่การเผชิญหน้ากันเหมือนระยะที่ผ่านมา
ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลสะเทือนกับเพื่อนบ้านอย่างไทย และ AEC อย่างเลี่ยงไม่พ้น
|
|
|
|
|