|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ประตูโรงงานสุราบางยี่ขัน 2 เปิดต้อนรับ ผู้จัดการ 360 ํ เพื่อเก็บเกี่ยวประวัติศาสตร์การผลิตเหล้าไทยที่มีอายุยาวนานกว่า 70 ปี
แม้ที่นี่ไม่ใช่โรงเหล้าแห่งแรกแต่ถือเป็นมรดกที่ตกทอดจาก “บางยี่ขัน” และปัจจุบันยังคงเป็นโรงงานผลิต “แม่โขง” ออกสู่ตลาดโลก
ขณะที่ “แม่โขง” ขวดแรกผลิตที่โรงงานสุราบางยี่ขัน ปากคลองบางยี่ขัน ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเขตบางกอกน้อย ในเวลานั้นมีเป้าประสงค์เพื่อทดแทนการนำเข้าวิสกี้และบรั่นดีในช่วงกระแสชาตินิยม
ตามข้อมูลประวัติศาสตร์ โรงงานสุราบางยี่ขันแห่งแรกเดินเครื่องจักรผลิตเหล้าตั้งแต่ครั้งเริ่มสร้างกรุงเทพมหานคร ในสมัยนั้นถือเป็นสมบัติของนายอากร ซึ่งได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้ผูกขาดผลิตสุราขาวหรือ “เหล้าโรง” ออกจำหน่ายในกรุงเทพมหานคร
การผลิตดำเนินเรื่อยมาจนถึงยุคที่ประเทศไทยเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส เกิดกรณีพิพาทกัน
หลวงวิจิตรวาทการได้ประพันธ์เพลงปลุกใจคนไทยให้รักชาติและกล้าเข้าสู่สมรภูมิ ชื่อว่า “ข้ามโขงไปสู่แคว้นแดนไทย” และ “โขงสองฝั่งเหมือนฝั่งเดียวกัน” กรมสรรพสามิตจึงตั้งชื่อสุราปรุงพิเศษ 35 ดีกรีที่ผลิตขึ้นใหม่ในปี 2484 ว่า “แม่โขง” นับตั้งแต่นั้นมา
โรงงานบางยี่ขันเปลี่ยนผ่านสังกัดจากกระทรวงการคลังมาขึ้นอยู่กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และเข้าสู่ยุคที่รัฐบาลเปิดให้เอกชนประมูลเช่าโรงงาน เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเมื่อปี 2503
ผู้เช่ารายแรกคือ บริษัท สุรามหาคุณ จำกัด โดยจ่ายอัตราค่าเช่าปีละ 41 ล้านบาท และได้รับการต่อสัญญาอีก 10 ปี ตั้งแต่ปี 2513 อัตราค่าเช่าปีละ 55 ล้านบาทบวกส่วนแบ่งผลกำไรสุทธิอีกร้อยละ 25
โรงงานสุราบางยี่ขัน 2 เกิดขึ้นในช่วงสิ้นสุดสัมปทานปี 2523 เมื่อบริษัท สุรามหาราษฎร จำกัด ของกลุ่มตระกูลเตชะไพบูลย์เข้าร่วมประมูลและชนะได้สิทธิ์เช่า 15 ปี แต่มีเงื่อนไขต้องสร้างโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2 ที่ตำบลบางคูวัด จังหวัดปทุมธานี และยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เนื่องจากความต้องการสุราแม่โขงมีสูงมากจน “บางยี่ขัน 1” ไม่สามารถรองรับได้ ต่อมามีการขยายอายุการเช่าเพิ่มอีก 5 ปี จนถึงปี 2542
ในระหว่างนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ เมื่อเจริญสามารถยึดครองบริษัท สุรามหาราษฎรจากกลุ่มเตชะไพบูลย์ ซึ่งรวมถึงสิทธิ์การเช่าโรงงานสุราบางยี่ขัน 2 ไปโดยปริยาย
1 มกราคม 2543 คณะรัฐมนตรีมีมติเปิดเสรีการผลิตและจำหน่ายสุรา เจริญเปลี่ยนชื่อบริษัทสราญชัย จำกัด เป็นบริษัท สุราบางยี่ขัน จำกัด เข้าประมูลซื้อที่ดินและทรัพย์สินโรงงานสุราบางยี่ขัน 2 ในราคา 8,251 ล้านบาท
ปัจจุบันบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มีเครือข่ายโรงเหล้าทั่วประเทศ จำนวน 18 โรง แบ่งเป็นกลุ่มบริษัทแสงโสม 7 โรง กลุ่มบริษัทสุรากระทิงแดง 6 โรง และกลุ่มบริษัทสุราบางยี่ขันอีก 5 โรง
นุสรณ์ ตั้นพันธ์ ผู้จัดการโรงงานสุราบางยี่ขัน 2 นำ ผู้จัดการ 360 ํ เดินลัดเลาะไล่ไปตามเส้นทางการผลิตเหล้าในอาคารเก่าที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากอดีตมากนัก ยิ่งถ้ามองจากเลนส์กล้องเพื่อจับภาพกว้างแล้ว “บางยี่ขัน 2” ส่งบรรยากาศเก่าแก่อย่างเห็นได้ชัด
เริ่มจาก “แผนกส่า” ซึ่งเป็นส่วนที่นำกากน้ำตาลหรือโมลาสมาหมักจนได้น้ำส่าที่มีคุณภาพ ต่อไปยัง “แผนกกลั่น” ภายในเต็มไปด้วยหอกลั่นขนาดใหญ่ ซึ่งไทยเบฟเวอเรจนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาควบคุมการผลิตให้ได้แอลกอฮอล์ 95 ดีกรี ก่อนจะปรับลดให้เหลือ 35 ดีกรี ส่งไปยัง “แผนกปรุง” ตามสูตรการผลิตเหล้าแต่ละแบรนด์ อย่างตัวเหล้าแม่โขงใหม่กับแม่โขงเก่าต่างกันที่ระยะเวลาการบ่มคือ จากเดิมบ่มเพียง 3-7 ปี ตัวใหม่บ่มนานขึ้นเป็น 8 ปี ส่วนหงส์ทองบ่มประมาณ 3 เดือน
เมื่อปรุงและบ่มจนได้น้ำสีอำพันที่มีรสชาติตรงตามคุณสมบัติของสินค้าแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการบรรจุใส่ขวดและกล่องส่งออกสู่ตลาด เพื่อไปให้ถึงมือผู้บริโภค “บางยี่ขัน 2 ตอนนี้ผลิตสุรา 3 ตัว ปีละ 100 ล้านลิตร เป็นกำลังผลิตของหงส์ทองมากที่สุด ส่วนแม่โขงยังไม่มากและกำลังรอผลจากฝ่ายการตลาด เพราะไลน์การผลิตล่าสุดยังใช้อยู่เพียง 60%”
หากเป็นไปตามแผนการนำ “แม่โขง” กลับมาทำตลาดในไทย ไลน์การผลิตใหม่จะเปิดเดินเครื่องทันที ซึ่งนอกจากกลยุทธ์การตลาดที่เป็นตัวหลักในการรีแบรนด์และสร้างยอดขายแล้ว ไทยเบฟมีโครงการเปิดพิพิธภัณฑ์ “House of Mekhong” บริเวณด้านหน้าโรงงานสุราบางยี่ขัน 2 เพื่อเป็น Visitor Center ให้ผู้สนใจและแขกคนสำคัญระดับประเทศเยี่ยมชมและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมากว่าจะเกิดเป็นสุรา “แม่โขง”
คาดว่า House of Mekhong จะเปิดอย่างเป็นทางการในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า
น่าเสียดายที่วันนั้น เรายังบุกเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ไม่ได้!!
|
|
|
|
|