|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ในบ้านเราทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่น วัยทำงาน หรือวัยผู้ใหญ่ ทุกคนต่างก็ให้ความสนใจในเรื่องความสวยความงาม รวมไปถึงเรื่องน้ำหนักด้วย ถ้าหากคุณผู้อ่านลองสังเกตดูจะเห็นได้ว่าไม่ว่าเราจะไปที่ไหนก็แล้วแต่ เราจะได้เห็นโฆษณาผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักจากสถาบันต่างๆ ที่มีราคาค่าบริการให้เลือกตั้งแต่ราคาหลักพันบาทไปจนถึงหลักแสนบาท ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงผู้หญิงเท่านั้นแต่ยังรวมถึงผู้ชายอีกด้วย
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าพุงน้อยๆ ที่เรามีอยู่นั้นถือว่าปกติหรือเกินกว่ามาตรฐานที่คนทั่วไปเขามีกัน วิธีการที่จะเช็กได้นั้นก็ง่ายมาก เพียง คุณคำนวณหาค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index หรือที่เรียกย่อๆ ว่า BMI) โดยการใช้ค่าน้ำหนักตัว เป็นตัวตั้งแล้วหารด้วยความสูงยกกำลังสอง น้ำหนัก ของคุณจะต้องเป็นหน่วยกิโลกรัม และความสูงจะต้องใช้หน่วยเป็นเมตร เพียงแค่นี้คุณก็จะได้ค่า BMI ถ้าหากคุณได้ตัวเลขตั้งแต่ 25 ขึ้นไป ถือว่าคุณเป็นคนอ้วนแล้ว ถ้าหากเกินกว่า 30 ถือว่าเป็นโรคอ้วนมาก
เช่น ถ้าคุณมีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 65 กิโลกรัม มีความสูงประมาณ 160 เซนติเมตร (BMI = 65 x 1.62) ค่า BMI ของคุณก็จะอยู่ที่ 25.4 ก็จะถือได้ว่าคุณมีน้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐาน
ดังนั้น ถ้าหากคุณได้ลองคำนวณหาค่า BMI ของตัวคุณดูแล้ว และคุณก็เป็นคนหนึ่งที่มีค่า BMI ตั้งแต่ 25 ขึ้นไปก็จะสรุปได้ว่าคุณเป็นคนอ้วน และความอ้วนนี้เองที่อาจจะตัดโอกาสดีๆ ของตัวเอง
การที่คุณเป็นคนอ้วนไม่ได้เป็นเรื่องผิด เพียง แต่รูปร่างที่อวบอ้วนของคุณนั้นอาจจะทำให้คุณเสียโอกาสต่างๆ ในชีวิตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการ สมัครงาน ตามปกติแล้วนายจ้างอาจจะไม่ชอบรับคนอ้วนเข้ามาทำงานในบริษัท ด้วยเหตุผลว่าคนอ้วน อาจจะขยับตัวทำอะไรเชื่องช้า ทำให้ทำงานไม่สะดวก และไม่รวดเร็ว นี่อาจจะเป็นเพียงแค่หนึ่งในข้ออ้างหรือเหตุผลที่ถูกนายจ้างหยิบยกขึ้นมาอธิบายในการปฏิเสธที่จะจ้างคนอ้วนเข้าทำงาน แต่จะมีคนอ้วนสักกี่คนที่จะได้รับคำอธิบาย เพราะนายจ้างส่วนใหญ่จะตัดสินใจตัดโอกาสของคนอ้วนเหล่านี้ตั้งแต่เริ่มพิจารณาจากใบสมัครในการเลือกคนเข้ามาสัมภาษณ์แล้ว
เรื่องการกีดกันคนอ้วนไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นมานานแล้ว เพียงแต่อาจจะไม่มีใครสนใจ หรือใส่ใจในเรื่องนี้มากนัก ดังนั้น ดอกเตอร์เคอร์รี่ โอเบรียน อาจารย์คณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยโมนาส ประเทศออสเตรเลีย จึงตัดสินใจทำวิจัยเพื่อศึกษา ดูว่าในการรับคนเข้าทำงานนายจ้างได้มีการกีดกันคนอ้วนจริงหรือไม่
ดอกเตอร์เคอร์รี่ได้ทำการทดสอบ โดยให้นายจ้างทั้งหมด 102 คน ดูใบสมัครงานที่มีรูปถ่ายของผู้สมัครที่มีทั้งคนอ้วนและคนไม่อ้วนเพื่อเลือกคนที่จะมาเป็นผู้จัดการของบริษัท ซึ่งรีซูเม่ทั้งหมด จะมีแต่ผู้หญิงเท่านั้น ไม่มีผู้ชายเลย เพื่อตัดเรื่องความเหมาะสมในลักษณะงานกับเพศออกไป โดยที่ นายจ้างจะต้องพิจารณาเรื่องเงินเดือนที่ขอ ความเหมาะสมของผู้สมัครที่จะเป็นผู้จัดการ และความน่าจะเป็นไปได้ที่บริษัทจะจ้างบุคคลนี้เข้ามาทำงาน
ผลการวิจัยในครั้งนี้พบว่าผู้หญิงที่มีรูปร่างอ้วนส่วนใหญ่มักจะไม่ได้รับเลือกให้เข้าไปทำงาน เพราะไม่ว่าจะพิจารณาในเรื่องการขอเงินเดือน ความ เป็นผู้นำ และความเป็นไปได้ที่บริษัทจะจ้างบุคคลนี้ มาทำงาน ข้อพิจารณาเหล่านี้ล้วนเป็นผลเสียต่อคนอ้วนทั้งนั้น ไม่ว่าจะพิจารณาในเรื่องใดนายจ้างจะพิจารณาและให้ความสำคัญกับรูปร่างมาเป็นอันดับแรกและยังอาจเชื่อว่าความอ้วนนั้นอาจเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ทำให้คนอ้วนมีโอกาสประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้น้อยกว่า ยิ่งถ้านายจ้างเป็นคนที่ให้ความสำคัญและใส่ใจในรูปร่างของตนแล้วยิ่งมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะกีดกันคนอ้วนไม่ให้ได้งาน
การกีดกันคนรูปร่างอ้วนในสถานที่ทำงานนั้นอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่น่าสนใจ คือไม่มีรัฐบาลประเทศไหนสนใจแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ แม้กระทั่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งเสริมให้คนมีความเท่าเทียมกันในสังคมก็ยังไม่ให้ความสนใจเรื่องการเลือกปฏิบัติต่อคนอ้วนในการเข้าทำงาน
ประเทศสหรัฐอเมริกา จากทั้งหมด 50 รัฐ มีเพียงแค่รัฐเดียวคือ รัฐมิชิแกน ไม่อนุญาตให้นายจ้างปฏิเสธคนที่มีรูปร่างอ้วนเข้าทำงาน ถึงแม้ว่านายจ้างจะมีเหตุผลที่ดีอย่างไรก็ตาม ขณะที่ รัฐอื่นๆ นายจ้างมีสิทธิ์เต็มที่ในการปฏิเสธที่จะรับลูกจ้างที่มีรูปร่างอ้วนหรือมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ในกรณีที่การรับลูกจ้างคนนั้นอาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อบริษัทได้
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากคุณเป็นเจ้าของฟิตเนส และมีผู้หญิงที่มีรูปร่างอ้วนมารับสมัครเป็นพนักงานต้อนรับ เจ้าของบริษัทหรือนายจ้าง มีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธไม่ให้งานกับผู้หญิงคนนี้ได้ เพราะอาจจะทำให้บริษัทมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดี เพราะพนักงานต้อนรับมีน้ำหนักที่เกินมาตรฐาน ซึ่งดูแล้วไม่เหมาะสมกับการให้บริการฟิตเนสที่เน้นให้มาออกกำลังกายและมีรูปร่างที่ดี
อย่างรัฐเทกซัส เมื่อสิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา โรงพยาบาลเทกซัสตัดสินใจไม่จ้างพนักงานที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ในการรับสมัครงานระบุว่าจะพิจารณา เฉพาะใบสมัครที่ผู้สมัครมีค่า BMI ไม่เกิน 35 เท่านั้น หมายความว่าถ้าคุณมีความสูงประมาณ 160 เซนติเมตร มีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 90 กิโลกรัม เท่ากับคุณมีค่า BMI อยู่ที่ 35.2 คุณจะไม่ได้รับการพิจารณาในการสมัครงานครั้งนี้
ศูนย์สุขภาพสำหรับประชาชนที่เมืองวิกตอเรียในรัฐเทกซัส ระบุว่าไม่ต้องการลูกจ้างที่มีค่า BMI เกิน 35 โดยให้เหตุผลว่าทางศูนย์สุขภาพต้องการลูกจ้างที่มีภาพลักษณ์เหมาะสมกับอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพ ดูแลผู้ป่วยที่ควรจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้ป่วยในเรื่องการดูแลสุขภาพแบบมืออาชีพ
แน่นอนว่าการที่โรงพยาบาลเทกซัสและศูนย์สุขภาพออกมาประกาศเช่นนี้ไม่ถือเป็นการผิดกฎหมายใดๆ เพราะถือว่าเป็นอำนาจอันชอบธรรมของคนเป็นนายจ้างที่จะมีนโยบายรับสมัครพนักงานและคัดเลือกพนักงานที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจของตนเอง
นอกจากนี้สำนักข่าวรอยเตอร์ยังมีการรายงานเพิ่มเติมว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้นายจ้างส่วนใหญ่ไม่อยาก จ้างคนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานเพราะคนอ้วนส่วนใหญ่จะขอลางานมากกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน จากการสำรวจพบว่าค่าเฉลี่ยที่คนอ้วนจะขอลาป่วยอยู่ที่ประมาณ 6 วันต่อปี และเคยมีผู้หญิงที่มีรูปร่างอ้วนที่ทำสถิติขอลาหยุดไว้สูงที่สุดที่ประมาณ 10 วันหรือมากกว่านั้น ซึ่งการขอลาหยุดบ่อยๆ นั้นจะทำให้ บริษัทสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก ถ้าหากว่าบริษัทจ้าง คนอ้วนเข้ามาทำงานและมีการขอลาหยุดเพิ่มจากปกติประมาณ 6 วันต่อปี ก็จะทำให้บริษัทสูญเสียรายได้ ประมาณ 6.4 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
นอกจากบริษัทจะสูญเสียรายได้จากการลาหยุดมากกว่าปกติของคนอ้วนแล้ว บริษัทยังอาจจะต้องเสียค่าประกันสุขภาพของพนักงานสูงขึ้นอีกด้วย เพราะคนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานอาจเจ็บไข้ได้ป่วยมากกว่าคนที่มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ ทำให้ค่าประกันสุขภาพมีราคาแพงขึ้นเป็นเท่าตัวสำหรับคนอ้วน
ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าค่ารักษาพยาบาล ที่อเมริกานั้นแพงมาก ดังนั้นถ้าหากคุณเป็นลูกจ้างหรือพนักงานในอเมริกาส่วนใหญ่จะต้องมีประกันค่ารักษาพยาบาล โดยนายจ้างและลูกจ้างจะแบ่งจ่ายค่าประกัน สุขภาพคนละครึ่ง ซึ่งค่าประกันสุขภาพนี้ก็คล้ายๆ กับประกันสังคมในบ้านเรา เพียงแต่ของบ้านเรานอกจากนายจ้างกับลูกจ้างจะต้องจ่ายแล้ว รัฐบาลจะช่วยจ่ายให้ อีกส่วนหนึ่ง
ถ้าลูกจ้างเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาบริษัทประกันสุขภาพ ก็จะดูแลค่าใช้จ่ายเกือบทั้งหมดให้ แต่ถ้าหากลูกจ้างเป็นคนอ้วน ค่าประกันสุขภาพตรงนี้ก็อาจจะมีราคาสูงมากกว่าปกติ เพราะคนอ้วนอาจมีโอกาสเจ็บป่วยได้สูงกว่าคนทั่วไป ดังนั้นค่าประกันจึงมีราคาสูงตามไปด้วย
ในการปฏิรูปกฎหมายสุขภาพในอเมริกาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว กฎหมายก็ยังอนุญาตให้นายจ้างสามารถเก็บเงินจากลูกจ้างที่อ้วนได้ 30-50% สำหรับค่าประกันสุขภาพถ้าหากลูกจ้างที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานปฏิเสธที่จะเข้าร่วมโครงการสุขภาพดีของแต่ละบริษัท นี่หมายความว่าถ้าหากคุณเป็นคนผอมคุณไม่ต้องกังวลใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าคุณเป็นคนอ้วนและคุณปฏิเสธที่จะเข้าโครงการสุขภาพดีของบริษัท คุณจะต้องจ่ายค่าประกันสุขภาพที่แพงมากขึ้น เพราะบริษัทจะจ่ายเท่าเดิมสำหรับค่าประกันสุขภาพ แต่คุณที่เป็นลูกจ้างจะต้องจ่ายเงินค่าส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นสำหรับค่าประกันสุขภาพ
คำถามที่จะเกิดขึ้นก็คือ โครงการสุขภาพดีคืออะไร แล้วจะเข้าร่วมได้อย่างไรเพื่อที่ลูกจ้างจะได้ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มสำหรับค่าประกันสุขภาพ
โครงการสุขภาพดีคือโครงการของรัฐบาลอเมริกาที่ต้องการให้แต่ละบริษัทรณรงค์ให้เกิดสภาพ แวดล้อมที่ดีในการทำงาน และสุขภาพที่ดีของนายจ้างและลูกจ้าง โดยทำให้บริษัทเป็นเขตปลอดบุหรี่ สนับสนุนให้ลูกจ้างกินอาหารที่มีประโยชน์และ จัดกิจกรรมที่เน้นการออกกำลังกายเพื่อให้ทุกคนในบริษัทมีสุขภาพดีและไม่อ้วน ซึ่งบริษัทใดก็ตามในอเมริกาที่เข้าร่วมโครงการนี้ แสดงให้เห็นว่า ลูกจ้าง ในบริษัทมีน้ำหนักตัวที่ลดลง สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ก็สามารถนำผลตรงนี้ไปขอลดหย่อนการจ่ายภาษี ได้ การเข้าร่วมสำหรับลูกจ้างก็ง่ายมากคือ ลูกจ้างจะต้องให้ความร่วมมือกับทุกกิจกรรมของบริษัทแสดงให้เห็นว่าน้ำหนักตัวลดลงและสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ เพื่อแสดงว่าคุณมีสุขภาพที่ดีขึ้น
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่การที่นายจ้างจะต้อง สูญเสียรายได้จากวันหยุดที่เพิ่มขึ้นหรือจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าปกติในการจ่ายเงินค่าประกันสุขภาพให้คนอ้วน เรื่องเหล่านี้ล้วนแต่เป็นค่าใช้จ่ายของนายจ้าง จึงอาจจะไม่เป็นที่น่าแปลกใจนักถ้าหากนายจ้างจะยกเหตุผลเหล่านี้ขึ้นมาปฏิเสธการจ้างงานคนที่มีรูปร่างอ้วน
แม้ว่าในบ้านเราจะยังไม่มีบริษัทไหนออกมา บอกว่าไม่พิจารณาคนอ้วนที่มาสมัครงาน แต่คงจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า ถ้าหากคุณรู้ตัวว่าคุณเป็นคนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานและเริ่มหันมาใส่ใจในสุขภาพของคุณด้วยการออกกำลังกายและรับประทานแต่ของ ที่มีประโยชน์ ไม่เพียงแต่คุณสามารถลดน้ำหนักตัวลงได้ แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอีกด้วย
และแน่นอนว่าเมื่อคุณมีน้ำหนักที่ตรงตามมาตรฐานและมีสุขภาพดี คงไม่มีนายจ้างที่ไหนที่จะกล้าปฏิเสธไม่รับคุณเข้าทำงาน
|
|
|
|
|