ครั้งหนึ่งก่อนหน้าที่จะมี IBM PC เกิดขึ้นในตลาดคอมพิวเตอร์บุคคล แอปเปิลเคยเป็นเครื่องที่ครองตำแหน่งยอดขายสูงสุดในตลาด
แต่ก็ต้องพลาดท่าเสียทีให้กับ IBM PC ไปในที่สุด
แถมเครื่องรุ่นใหม่ของแอปเปิลใช้ชื่อว่า “Lisa” (ตั้งตามชื่อลูกสาวของ สตีฟ
จ๊อบ-ประธานบริษัทแอปเปิล) ก็ยังมีอันให้ต้องม้วนเสื่อกลับบ้านในเวลาอันรวดเร็ว
เพราะไม่เป็นที่ยอมรับของผู้ใช้ เมื่อเป็นเช่นนี้ แอปเปิลจึงออกจะกลัดกลุ้มเอามากๆ
และคิดเสมอว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถแปรเปลี่ยนความกลัดกลุ้มนี้ให้เป็นความน่ายินดีขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
แอปเปิลเพียรพยายามศึกษาตลาดคอมพิวเตอร์บุคคล ตลอดจนข้อเด่นของเครื่องคู่แข่ง
โดยเฉพาะ IBM PC อยู่นาน แล้วในที่สุดทีมผู้เชี่ยวชาญทั้งด้าน Hardware และ
Software ของแอปเปิลก็พบช่องโหว่ในตลาดเข้ารูเบ้อเร่อ
แอปเปิลค้นพบว่าก่อนปี 1984 นั้นมีคนจำนวนไม่มากนักที่ใช้คอมพิวเตอร์
(แม้จะว่ากันว่ามากแล้วก็ตาม) เหตุผลก็เพราะพวกเขายังไม่รู้จักวิธีใช้เครื่อง
และก็มีคนเพียงหยิบมือที่คิดจะเรียนรู้วิธีใช้มัน และการเรียนรู้วิธีใช้มัน
ก็เป็นการเรียนที่ต้องเข้าไปนั่งฟังเสียงร้องของท้องในห้องสัมมนา นั่งหลับไปกับหนังสือคอมพิวเตอร์ที่อ่านค้างอยู่และประสาทหลอนตลอดคืน
เพื่อท่องจำคำสั่งที่ยุ่งยากในอันที่จะเข้าใจคอมพิวเตอร์ว่า มันทำงานได้อย่างไร
จากจุดนี้เองที่คณะวิศวกรหัวใสของแอปเปิลในเมืองคิวเปอร์ติโน รัฐแคลิฟอร์เนีย
ค้นพบความคิดที่แจ๋วเอามากๆ ได้อย่างหนึ่งคือ เมื่อคอมพิวเตอร์มันได้ชื่อว่าเป็นเครื่องที่ชาญฉลาด
ก็แล้วไฉนจึงไม่สอนให้มันรู้จักคน แทนที่คนจะต้องเป็นฝ่ายทำความรู้จักคอมพิวเตอร์อยู่ข้างเดียว
นับแต่นั้น คณะวิศวกรกลุ่มนี้ก็ได้เริ่มทำงานกันอย่างหามรุ่งหามค่ำไม่เว้นวันหยุดราชการ
เพื่อสอนเจ้าซิลิกอนชิปตัวเล็กๆ ให้รู้จักคน สอนให้รู้ว่าคนนั้นทำผิดพลาดได้อย่างไร
และเขาจะเปลี่ยนใจเป็นอย่างอื่นได้มากแค่ไหน สอนให้รู้ว่าคนเขาเก็บข้อมูลในรูปแบบใด
เป็นแฟ้มที่อ้างอิงได้อย่างไร แม้กระทั่งการเก็บหมายเลขโทรศัพท์เก่าๆ ในชีวิตของคนเราจะต้องทำงานอะไรและอีโหลกโขลกเขลกกับเวลาว่างที่เหลืออย่างไร
ก็สอนมันให้รู้ทั้งหมด
แอปเปิลคุยว่า นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของวงการคอมพิวเตอร์ที่ควรจะต้องบันทึกไว้
เมื่อวิศวกรด้าน Hardware พูดคุยกับวิศวกรด้าน Software อย่างจริงจังด้วยสุ้มเสียงที่น่าฟัง และในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็สามารถบรรลุจุดหมายร่วมกันได้
เพื่อที่จะสร้างคอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถมากที่สุด เคลื่อนย้ายได้สะดวกที่สุด
ปรับเข้ากับการใช้งานง่ายที่สุดแถมยังเก่งกาจสารพัด ทั้งนี้ด้วยราคาย่อมเยาที่สุดเท่าที่คนจะหาซื้อได้
ผลิตผลที่ออกมานี้เป็น Personal คอมพิวเตอร์หรือคอมพิวเตอร์ส่วนตัวที่เป็นส่วนตัวจริงๆ
และแอปเปิลก็เรียกมันว่า “Macintosh” Macintosh ถูกสร้างขึ้นมาบนสมมุติฐานง่ายๆ
ว่า ถ้าเครื่องคอมพิวเตอร์มันสามารถใช้งานได้โดยไม่ยากแล้ว มันก็จะต้องเป็นเครื่องที่มีประโยชน์มากที่สุด
ดังนั้น Macintosh จึงพยายามสร้างรูปแบบที่ง่ายแก่การจดจำ ด้วยการแสดงภาพให้เห็นแล้วรู้ทันทีว่าเป็นอะไร
เช่น ภาพแฟ้มเอกสาร ที่หนีบกระดาษ หรือแม้กระทั่ง ถังขยะสำหรับโยนของไม่ใช้แล้วทิ้ง
แอปเปิลบอกว่า เขาได้พัฒนา Macintosh ขึ้นมาเพื่อให้มันเป็นธรรมชาติมากที่สุด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเครื่องชี้ที่เรียกว่า “Mouse” (มีรูปร่างเป็นกล่องเล็กๆ
คล้ายหนูจริงๆ ) เพิ่มเข้าไปเป็นพิเศษกว่าเครื่องยี่ห้ออื่นๆ ในตลาดMouseถูกสร้างขึ้นให้เหมาะกับมือผู้ใช้
และถ้าผู้ใช้เลื่อนมันไปรอบๆ โต๊ะ ตัวชี้ (Pointer) ในจอภาพก็จะเคลื่อนไปในทำนองเดียวกัน
การจะบอกให้ Macintosh รู้ว่าผู้ใช้ต้องการอะไรก็เพียงเลื่อน Mouseไปเรื่อยๆ
จนกว่า Pointer จะอยู่ตรงกับรูปภาพหรือคำสั่งที่ผู้ใช้ต้องการให้เครื่องทำงาน
จากนั้นก็กดปุ่มซึ่งอยู่บน Mouseเครื่องมันก็พร้อมที่จะทำงานตามความต้องการต่อไป
ไม่ว่าจะสั่งให้มันเปิดแฟ้มทบทวนกระดาษจดบันทึก หรืออ่านบันทึกนั้นๆ ใช้เครื่องคิดเลขด้วยก็ได้
แม้ว่าคุณจะทำงานกับตัวเลข ตัวอักษรหรือรูปภาพ Macintosh ทำงานในทำนองเดียวกันแบบง่ายๆ
หรือพูดอีกอย่างหนึ่ง เมื่อคุณเรียนรู้ที่จะใช้ Macintosh คุณก็จะสามารถรู้ได้ทั้งหมดในทันทีเหมือนกัน”
แอปเปิลคุยทับ
พร้อมกันนั้นก็ถือโอกาสคุยข่มเครื่อง Personal คอมพิวเตอร์ยี่ห้ออื่นๆ
ด้วยว่า “ถ้า Macintosh จะเป็นเครื่องที่ใช้ง่ายที่สุดแล้ว นั่นก็คงเป็นเพราะเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นเก่าๆ
ทั้งหลายถูกสร้างขึ้นให้มันใช้ยากไปเอง...
Macintosh ได้ถูกสร้างขึ้นสำหรับคนเกือบทุกประเภทที่วุ่นวายอยู่กับข่าวสารข้อมูล
ไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดการ การจำหน่าย การรวบรวมเก็บเป็นแฟ้มและงานอื่นๆ
อีกมากมาย ซึ่งมีทั้งที่เป็นตัวอักษร ตัวเลข และรูปภาพ ในการเข้าช่วยเหลืองานของ
Macintosh จะมีแพ็กเกจต่างๆ ให้เลือกอย่างเหลือเฟือ ไม่ว่าจะเป็นการทำรายงานหรือการออกแบบสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ
นอกจากนั้นก็ยังมีภาษาที่สามารถเขียนเป็นโปรแกรมตามความประสงค์ของผู้ใช้ได้
เช่น Macintosh Basic และ Macintosh Pascal เพราะฉะนั้นจึงค่อนข้างจะเหมาะกับบรรดานิสิตนักศึกษาเป็นพิเศษ
(ในสหรัฐฯ ราคาขายให้นักศึกษาตกเครื่องละ 20,000 บาท ขณะที่คนทั่วไปจะต้องซื้อในราคา
40,000 บาท)
ส่วนด้านนักธุรกิจก็เหมาะอีกเช่นกัน เพราะ Macintosh มีแพ็กเกจสำหรับนักธุรกิจให้เลือกมากมาย
อาทิ Macwrite, Macproject, Macterminal, Macdraw, Macpaint, Data Base Manager,
Business Graphics และสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ที่จะนำ Macintosh ไปใช้ ก็จะมีประโยชน์ในแง่ที่มันสามารถต่อพ่วงได้กับเครื่องเมนเฟรมและเครื่องมินิ
เช่น เครื่องยี่ห้อ DEC VT 100, VT 52 และเครื่องของ IBM
แอปเปิลสรุปว่า ในปี 1977 แอปเปิล ทู เป็นเรื่อง PC 8 บิท รุ่นแรกที่สร้างความฮือฮาให้กับวงการคอมพิวเตอร์
หลังจากนั้นในปี 1981 ก็เป็นยุคของเครื่อง IBM PC ซึ่งเป็นเครื่อง 16 บิท
และในปี 1984 นี้ ก็จะเป็นยุคที่สามของวิวัฒนาการด้าน PC และก็เป็นยุคของเครื่อง
32 บิท อย่าง Macintosh แอปเปิลมีความหวังอย่างค่อนข้างจะเปี่ยมล้นกับ Macintosh
และแอปเปิลก็ไม่ได้แสดงตัวปิดบังว่า เบื้องหลังการสร้าง Macintosh ขึ้นมานี้
ส่วนหนึ่งก็เพราะต้องการเหยียบ IBM PC โดยเฉพาะ ตรงกันข้ามแอปเปิลกลับลงมือโฆษณาเปรียบเทียบความสามารถระหว่าง
Macintosh กับ IBM PC อย่างเปิดเผยถึงลูกถึงคน
เฉพาะในนิตยสารชั้นนำเกือบทุกฉบับของโลกนั้น แอปเปิลจะลงโฆษณาด้วยกระดาษเนื้อดีพิมพ์สี่สีสวยสดจำนวนถึง
20 หน้าเต็มๆ บรรยายถึงสรรพคุณของเครื่อง Macintosh วิธีการใช้ และเป็นการเปรียบเทียบความสามารถกับเครื่อง
IBM PC เสียหลายหน้า แอปเปิลบอกว่า ในการทำงานนั้น Macintosh ต่างจาก IBM
PC อย่างน้อยก็ 5 แบบด้วยกัน.. แล้วก็ยกตัวอย่างเรื่องการทำงานด้าน Word
Processing
เครื่อง PC ทั่วไปจะใช้ระบบสลับตัวอักษรและใช้แป้นคำสั่งตามลำดับก่อนหลัง
ซึ่งนั่นรวมทั้งเครื่อง IBM PC ด้วย สำหรับ Macintosh จะไม่เป็นเช่นนั้น
โปรแกรม Macwrite สามารถทำงานตามที่ผู้ใช้ต้องการเพียงแต่ผู้ใช้กดปุ่มที่
MOUSEเท่านั้น Macwrite จะสลับตัวอักษรปรับเปลี่ยนขนาดและแบบของตัวอักษรได้ทันที
โดยผู้ใช้สามารถจัดทำเอกสารเหมือนกับว่าได้พิมพ์จากเครื่องพิมพ์ดีดโดยตรง
ด้านตัวอักษรภาษาต่างๆ นอกจากภาษาอังกฤษแล้ว Macintosh ก็ยังมีสัญลักษณ์ทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ให้เลือกใช้ถึง
217 ตัว นอกจากนี้ยังมีความสามารถรวมข้อความเข้ากับรูปกราฟ ช่วยให้ผู้ใช้ทำรายงานที่ประกอบด้วย
คำบรรยาย ตาราง แผนผังและกราฟได้ทันที เมื่อเปิดเครื่อง IBM PC เพื่อจะดูว่าผู้ใช้ได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว
บนจอจะเป็นรายการของสิ่งที่ได้ทำไปแล้ว แต่สำหรับ Macintosh จะแสดงทุกอย่างที่ผู้ใช้ได้ทำผ่านมาเหมือนกับสิ่งที่วางบนโต๊ะทำงาน
ผู้ใช้เพียงแต่เลือกว่าจะทำอะไรก่อนหลังโดยกดปุ่ม “MOUSEเท่านั้น”
ส่วนงานประเภท Spread Sheet แอปเปิลบอกว่า “Macintosh จะแสดงให้เห็นเหมือนกับกระดาษบัญชีทั่วไป
พร้อมทั้งรูปเครื่องคิดเลขที่สามารถนำมาคำนวณได้ ผิดกับ IBM PC ที่ไม่แสดงเส้นบรรทัดและเส้นแบ่งคอลัมน์ให้เห็น
ด้าน Microsoft Multiplan ของ Macintosh นั้น เคอร์เซอร์จะถูกแทนที่ด้วยปุ่มของ
MOUSEตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ใช้ต้องการขยายคอลัมน์ในบัญชี สำหรับ IBM PC ผู้ใช้ต้องใช้คำสั่งถึง
4 คำสั่ง แต่ใน Macintosh จะสามารถทำได้เพียงกดปุ่มที่ “MOUSE” เท่านั้น
และ Microsoft ยังมีการแสดงกราฟตามแบบที่ผู้ใช้ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นรูปแท่ง
รูปทรงกลม ให้มีความเข้มมากหรือน้อยอย่างไร Macintosh สามารถแปลงตัวเลขต่างๆ
ที่เข้าใจยากหรือไม่มีใครเข้าใจเป็นรูปกราฟที่เข้าใจได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้
Macintosh ยังสามารถดัดแปลงตัวเองเป็น Terminal ถ่ายทอดข้อมูลจากเครื่องเมนเฟรมหรือมินิคอมพิวเตอร์ได้อีกด้วย...
ขณะนี้ Macintosh เริ่มมีผู้สั่งเข้ามาขายในบ้านเราบ้างแล้ว ซึ่งราคาก็อยู่ระหว่าง
8 หมื่นบาทถึง 1 แสน 2 หมื่นบาท แต่ดูเหมือนงานการตลาดจะยังเป็นรองผู้ขาย
IBM PC อยู่หลายขุม แม้ว่าในสหรัฐฯ กำลังเป็นเครื่องดังเอามากๆ ก็ตาม