ในทุกๆ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการประมูลจัดทำสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ครั้งนี้
หัวใจจริงๆ ก็เห็นจะได้แก่การให้ส่วนแบ่งรายได้จากค่าโฆษณาในสมุดหน้าเหลืองแก่องค์การโทรศัพท์
ซึ่งผู้เข้าแข่งขันทุกกลุ่มจะต้องจัดทำเป็นข้อเสนอยื่นเข้าไปให้คณะกรรมการฯ
พิจารณา
เพราะองค์การโทรศัพท์และตัวประธาน คือพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ก็ได้ประกาศชัดเจนว่า
"กลุ่มใดเสนอผลประโยชน์สูงสุดก็จะต้องเลือกกลุ่มนั้นเป็นผู้ชนะ"
ฉะนั้นถ้ายึดหลักดังกล่าวนี้เป็นแนวทางในการตัดสินชี้ขาด ประเด็นอื่นๆ
ก็คงเป็นปัญหารองจะให้ความสนใจบ้างก็ในแง่ประกอบการตัดสินใจเพื่อให้ได้ผู้เหมาะสมและมีความพร้อมอย่างแท้จริงเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ช่วงที่ดูน่าระทึกใจที่สุดจึงเป็นช่วงการหงายหน้าไพ่ออกมา
ทีละใบว่าใครเสนอผลตอบแทนสูงหรือต่ำกว่ากันแค่ไหน ซึ่งผลก็ปรากฏว่า..
กลุ่มบริษัทเยนเนราลเทเลโฟนไดเรคทอรี่ เสนอให้ส่วนแบ่งรายได้ระหว่างปี 2529
ถึงปี 2532 รวม 4 ปี เท่ากับ 28 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และปีที่ 5 คือ ปี 2533
ให้ส่วนแบ่งรายได้เท่ากับ 28.5 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้เยนเนราลเทเลโฟนไดเรคทอรี่จะรับประกันรายได้ขั้นต่ำให้ปีละ 80 ล้านบาทตลอด
5 ปี หรือพูดง่ายๆ ว่าองค์การโทรศัพท์จะต้องได้ผลประโยชน์ตอนแทนแน่ๆ อย่างน้อย
400 ล้านบาท ถ้ามอบสิทธิการจัดทำสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ให้กับเยนเนราลเทเลโฟนไดเรคทอรี่เจ้าเก่า
กลุ่มบริษัทสยามเทเลโฟนไดเรคทอรี่
ระหว่างปี 2529 ถึงปี 2530 เสนอให้ส่วนแบ่งรายได้เท่ากับ 30 เปอร์เซ็นต์
ระหว่างปี 2531 ถึงปี 2532 ให้ส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 31 เปอร์เซ็นต์
และในปี 2533 อันเป็นปีที่ 5 ก็จะให้ส่วนแบ่งเท่ากับ 32 เปอร์เซ็นต์
โดยประกันรายได้ขั้นต่ำ 100 ล้านบาทเฉพาะปีแรกคือปี 2529 ส่วนอีก 4 ปีที่เหลือ
ในข้อเสนอไม่ได้ระบุว่าจะประกันรายได้ขั้นต่ำให้ต่อไป
การสรุปว่ากลุ่มสยามเทเลโฟนไดเรคทอรี่เสนอผลตอบแทนขั้นต่ำให้องค์การโทรศัพท์
500 ล้านบาทใน 5 ปี ก็คงสรุปเช่นนั้นไม่ได้
สำหรับข้อเสนอของกลุ่มแรกและกลุ่มที่สองถ้านำมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็คงต้องบอกว่ากลุ่มสยามเทเลโฟนไดเรคทอรี่เฉือนกลุ่มเยนเนราลเทเล
โฟนไดเรคทอรี่อย่างสูสีมาก คือผลตอบแทนในปี 2529 และปี 2530 กลุ่มสยามเทเลโฟนไดเรคทอรี่เสนอสูงกว่าเยนเนราลเทเลโฟนไดเรคทอรี่เท่ากับ
2 เปอร์เซ็นต์
ปี 2531 และปี 2532 สูงกว่ากัน 3 เปอร์เซ็นต์
และปี 2533 เฉือนห่างออกไปเป็น 3.5 เปอร์เซ็นต์
ว่ากันว่าผลตอบแทนที่ต่างกันไม่มากเช่นนี้กลุ่มสยามเทเลโฟนไดเรคทอรี่ถึงกับนั่งอมยิ้มลึกๆ
ส่วนกลุ่มเยนเนราลเทเลโฟนไดเรคทอรี่ก็ต้องเที่ยวตรวจสอบกันให้วุ่นว่ามัน
เป็นเรื่อง "บังเอิญ" หรือเกิดรายการ "คมเฉือนคม" บวกกับ
"เกลือเป็นหนอน" อย่างใดอย่างหนึ่งกันแน่
ซึ่งถึงแม้จะได้ข้อสรุปก็คงไม่มีฝ่ายใดอยากพูดถึงอยู่ดี เนื่องจากไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอของสยามเทเลโฟนไดเรคทอรี่หรือเยนเนราลเทเลโฟนไดเรคทอรี่
ก็ล้วนแล้วแต่ห่างไกลจากขอเสนอของกลุ่มที่ 3 คือเอทีแอนด์ทีมากนัก
กลุ่มเอทีแอนด์อี อินเตอร์เนชั่นเนล อิ๊งค์
เอทีแอนด์ทีเข้ามาด้วยมาดที่แปลกแหวกแนว เสนอส่วนแบ่งรายได้แก่องค์การโทรศัพท์เป็น
2 ระยะ คือระยะ 5 ปีแรกระหว่างปี 2529 ถึง 2533 และผนวกด้วยระยะที่สองระหว่างปีที่
6 ถึงปีที่ 10 หรือปี 2534 ถึงปี 2538 พร้อมสรรพ
ในปี 2529 เอทีแอนด์ทีเสนอให้ส่วนแบ่งเท่ากับ 40 เปอร์เซ็นต์ รับประกันรายได้ขั้นต่ำแก่องค์การโทรศัพท์
147 ล้านบาท
ปี 2530 เสนอให้ส่วนแบ่ง 41 เปอร์เซ็นต์ ประกันรายได้ขั้นต่ำ 209 ล้านบาท
ปี 2531 ส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นเป็น 42 เปอร์เซ็นต์ ประกันรายได้ขั้นต่ำ 297
ล้านบาท
ปี 2532 ส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นอีกเป็น 43 เปอร์เซ็นต์ ประกันรายได้ขั้นต่ำ
426 ล้านบาท
ปี 2533 เสนอให้ส่วนแบ่งเป็น 45 เปอร์เซ็นต์ ประกันรายได้ขั้นต่ำ 594 ล้านบาท
เพราะฉะนั้นในข้อเสนอระยะแรก 5 ปี เอทีแอนด์ทีจึงให้ข้อเสนอที่ประกันรายได้ขั้นต่ำ
รวมเป็นเงิน 1,673 ล้านบาท ส่วนข้อเสนอระยะที่สองมีดังนี้
ปี 2534 เสนอให้ส่วนแบ่ง 46 เปอร์เซ็นต์ ประกันรายได้ขั้นต่ำ 759 ล้านบาท
ปี 2535-ปี 2538 เสนอให้ส่วนแบ่ง 47 เปอร์เซ็นต์รวด แต่ประกันรายได้ขั้นต่ำต่างกันออกไปคือ
ปี 2535 ประกันว่าองค์การโทรศัพท์จะต้องได้รับส่วนแบ่งไม่ต่ำกว่า 990 ล้านบาท
ปี 2536 เท่ากับ 1,291 ล้านบาท
ปี 2537 เท่ากับ 1,684 ล้านบาท
และปี 2538 เท่ากับ 2,169 ล้านบาท
รวมแล้วภายใน 10 ปี ระหว่างปี 2529 ถึงปี 2538 เอทีแอนด์ทีเสนอ รายได้ขั้นต่ำแก่องค์การโทรศัพท์เป็นเงิน
8,566 ล้านบาท
เมื่อหงายไพ่ครบหมดทุกใบแล้ว เอทีแอนด์ทีก็เข้าป้ายเป็นที่หนึ่ง ด้วยข้อเสนอที่ให้ผลประโยชน์สูงกว่าสองกลุ่มแรกกว่า
200 เปอร์เซ็นต์ (เฉพาะช่วง 5 ปี) ไปตามระเบียบ