บริษัทเยนเนราลเทเลโฟนไดเรคทอรี่ หรือจีทีดีซี (GTDC) เข้ามาจับมือเซ็นสัญญาเป็นผู้จัดทำสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย
(ทศท.) เมื่อราวๆ ปลายปี 2510
จีทีดีซี ออกจะเก่งและเฮงเอามากๆ เพราะเมื่อเข้ามาก็ตรงแน่วสร้างความสัมพันธ์กับจำรูญ
วัชราภัย ทันที
จำรูญในขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ ทศท. เขาเริ่มเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี
2510 ซึ่งเป็นปีแรกที่จีทีดีซีเซ็นสัญญากับ ทศท. สัญญาฉบับนี้มีอายุสิ้นสุดปี
2519 ผลตอบแทนปีละ 20 เปอร์เซ็นต์รวด ไม่ขึ้นและก็ไม่ลด (หากมีรายได้จากการโฆษณาเข้ามาแล้ว)
และจำรูญก็เป็น ผอ.ทศท. เกือบจะคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่นั่งในตำแหน่งอย่างมั่นคงและยาวนานที่สุด
ซึ่งก็ทำให้สัญญาระหว่างจีทีดีซีกับ ทศท. มั่นคงตามไปด้วย
จำรูญพ้นตำแหน่งไปเมื่อปี 2517 ก่อนหน้าสัญญาที่เขาเซ็นไว้กับจีทีดีซีจะสิ้นสุดลง
2 ปี
ครั้นแล้วเรื่องที่ใครคาดคิดก็เกิดขึ้นในวินาทีสุดท้าย ก่อนจำรูญจะต้องอำลา
ทศท.
การต่อสัญญาก่อนกำหนดระหว่าง ทศท.กับจีทีดีซี ได้ถูกกระทำขึ้นเป็นงานสั่งลาของ
จำรูญ วัชราภัย
สัญญาฉบับที่สองนี้ มีอายุยืนยาวจากปี 2517 ไปถึงปี 2528 หรืออีก10 ปีโดยอัตโนมัติ!
ช่วงปี 2517 อาจจะเป็นช่วงที่บ้านเมืองกำลังคุกรุ่นอยู่กับปัญหาการเมือง
จากขั้วความคิดที่แตกต่างกันของคน อันเป็นผลสะท้อนจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม
2516 นอกจากปัญหาเศรษฐกิจ
ปัญหาเสถียรภาพของรัฐบาลก็วิกฤตอย่างหนัก
การต่อสัญญาระหว่าง ทศท.กับจีทีดีซี ถ้านำไปเปรียบเทียบกับเรื่องอื่นๆ
ในช่วงนั้นก็คงเป็นแค่ปัญหาเล็กๆ ที่ใครก็ไม่อยากไปใส่ใจรายละเอียด ทุกอย่างจึงดูสะดวกอย่างยิ่ง
หลังจากยุคของจำรูญ วัชราภัย ตำแหน่ง ผอ.ทศท. ก็เป็นเสมือนตำแหน่งอาถรรพ์
ที่ใครเข้ามาแล้วก็มักมีอันให้ต้องออกไปในเวลารวดเร็ว เรียกว่าใครอยู่ได้ครบปีนี่ก็ไม่ใช่คนธรรมดาแล้ว
บุญชู เพียรพานิช เข้ามารับตำแหน่งต่อจากจำรูญ วัชราภัย เมื่อปี 2518
และก็พ้นตำแหน่งในปี 2522 ก็นับว่านานหน่อย
พันเอกพักตร์ พุกกะคุปต์ รับตำแหน่งปี 2522 และก็พ้นจากตำแหน่ง ในปี 2523
ผอ.ทศท. คนต่อมาคือ พลโทแสวง จามรจันทร์ รับตำแหน่งปี 2523 พ้นตำแหน่งปี
2524
ม.ร.ว. สุตพันธ์ ทวีวงศ์ เข้ามาปี 2524 และก็ต้องออกไปแบบสายฟ้าแลบในปี
2525
จากนั้นเป็นยุคของพลตำรวจตรีสุชาติ เผือกสกนธ์ ปี 2525 อยู่ได้ไม่ครบปี
ปี 2525 ถึงปี 2527 พลตรีสมบัติ คามัษเฐียร และปี 2527 ถึงปัจจุบันนี้ก็เป็นยุคของพลตรีประทีป
ชัยปานี ผอ.ทศท. คนล่าสุด
ทุกยุคหลังจากจำรูญ วัชราภัย จะมีก็เพียงบุญชู เพียรพานิช และพลตรีสมบัติ
อามัษเฐียร เท่านั้นที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผอ.ทศท. จริงๆ นอกนั้นจะเป็นตำแหน่งรักษาการทั้งหมด
เมื่อตำแหน่งผอ.ทศท. มีแต่ผู้ที่มาแล้วก็ต้องจากไปในเวลาอันรวดเร็วเช่นนี้
ถ้าจะเป็นข้อดีสำหรับจีทีดีซี ก็เห็นจะเป็นว่า ไม่มีใครมีเวลาพอที่จะหยิบสัญญาระหว่างจีทีดีซีกับ
ทศท. มาพินิจพิเคราะห์อย่างละเอียดว่าควรจะแก้ไขหรือไม่อย่างไร
เพราะเรื่องอย่างนี้ถ้าดีก็ดีไป แต่ถ้าวุ่นขึ้นมาก็กระเทือนถึงเสถียรภาพ
ในตำแหน่งอีกนั่นแหละ
ในทำนองเดียวกัน ถ้ามันจะเป็นข้อไม่ดีบ้างก็เห็นจะเป็นตรงที่ ก็จะไม่มี
ผอ.ทศท. คนไหนกล้าต่อสัญญาให้จีทีดีซีเหมือนกับที่ ผอ.ทศท. อย่าง จำรุญ วัชราภัย
เคยทำ
เหตุผล-ก็อย่างเดียวกันอีก คือ ถ้าดีก็ดีไป แต่ถ้าวุ่น...ก็คงจะวุ่นเอามากๆ