|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ความพยายามของเครือเอสซีจีในการขยับตัวจากบริษัทสินค้าคอมมอดิตี้ ไปสู่การเป็นผู้ผลิตสินค้ามีดีไซน์และนวัตกรรม (HVP) อาจเห็นได้ทุกปีในงานสถาปนิก แต่ความพยายามในการแสดงบทบาท “Trend Setter” อย่างจริงจังของเครือเอสซีจี ดูจะเห็นได้ชัดเจนมากจากบูธของคอตโต้ในงานสถาปนิกปีนี้
ภายในบูธของเครือเอสซีจีที่ผนึกเอาหลายแบรนด์สินค้าวัสดุก่อสร้างของเครือ ทั้ง 5 แบรนด์ ได้แก่ ตราช้าง, Cotto, SCG Heim, Windsor และ Home Solution เข้าไว้ด้วยกัน บนแนวคิด “SCG Living Showcase” ความโดดเด่นของบูธเอสซีจีสำหรับงานสถาปนิก’55 คงอยู่ที่ความพร้อมใจของทั้ง 5 แบรนด์ ในการนำเสนอเทรนด์ดีไซน์ที่อยู่อาศัยตามไลฟ์สไตล์คนไทยในยุคนี้ อันเป็นผลจากการศึกษาและทำเวิร์กชอปร่วมกันของทีมดีไซเนอร์ ทีมการตลาด ทีมนักวิจัยของเครือ รวมทั้ง “คอตโต้” และของตราช้าง
“เราใช้เวลาร่วม 2 ปี จึงสามารถสรุปพฤติกรรมคนไทยออกมาเป็นไลฟ์สไตล์ 5 ประเภท ที่เครือเอสซีจีและ “คอตโต้” จะใช้เป็นแนวทางในการออกแบบสินค้าสำหรับปีนี้และปีหน้า ในการดีไซน์สินค้าออกมาตอบสนองเทรนด์ไลฟ์สไตล์ทั้ง 5 เทรนด์” ธนนิตย์ รัตนเนนย์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เซรามิคอุตสาหกรรมไทย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องคอตโต้ อธิบายพร้อมนำชมบูธ “คอตโต้”
เริ่มต้นเพื่อเป็นการโปรโมต “เทรนด์ไลฟ์สไตล์” ที่ “คอตโต้” มีส่วนกำหนด ก่อนเข้าชมภายในบูธ “คอตโต้” ผู้ชมจะได้เล่นเกมค้นหาไลฟ์สไตล์ของตัวเองผ่านโค้ดตัวอักษร เมื่อไปยืนตรงจุดที่กำหนด ภาพจำลองของห้องที่ถูกตกแต่งด้วยกระเบื้อง สุขภัณฑ์ และก๊อกน้ำ ที่มีดีไซน์ตอบสนองไลฟ์สไตล์ตามที่ผู้นั้นเลือกจะปรากฏบนหน้าจอ
ด้านในบูธ ผู้ชมจะได้สัมผัสกับการจำลองบรรยากาศและอารมณ์ของห้องต่างๆ ที่ตกแต่งตามไลฟ์สไตล์แต่ละเทรนด์ เริ่มต้นจาก “Retreat” ซึ่งธนนิตย์อธิบายว่า เป็นไลฟ์สไตล์ของคนที่ชอบความเป็นธรรมชาติ ชอบมีพื้นที่ส่วนตัว ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันก็มีความหรูหราประณีต
ห้องแรกจำลองบรรยากาศเป็นห้องน้ำสุดหรู มีซีรีส์ของกระเบื้องลายไม้เป็นพระเอก โดยไฮไลต์ในห้องนี้ และดูจะเป็นไฮไลต์ของคอตโต้ สำหรับงานสถาปนิกปีนี้คือ Foresto Series หรือ “กระเบื้อง 2 หน้า” ซึ่งเป็นกระเบื้องที่ได้รับแรงบันดาลใจจากลายไม้ สามารถเลือกใช้งานได้ทั้งสองหน้า โดยด้านหนึ่งเป็นผิวสัมผัสเปลือกไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ราวกับอยู่ในป่า ส่วนอีกด้านเป็นลายและผิวสัมผัสของเนื้อไม้
“กระเบื้องตัวนี้เราทำมาเป็นตัวโชว์ เพราะสินค้าตัวนี้อาจขายยาก ต้องใช้เวลาให้ตลาดได้เรียนรู้ โดยเริ่มแรกต้องขายผ่านกลุ่มโรงแรมและรีสอร์ต แต่คอตโต้ก็ต้องทำขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นว่าความสามารถในการผลิตของเราระดับไหน เพราะในการผลิตกระเบื้องตัวนี้ นอกจากต้องใช้ Double Plate แล้ว เรายังมีเทคนิคในการพลิกโมลด์ ซึ่งควบคุมได้ยาก”
ความเหมือนจริงของลายเปลือกไม้และลายเนื้อไม้ของ Foresto ที่ทำให้ผู้ชมหลายคนอดไม่ได้ที่จะเดินไปสัมผัสกระเบื้อง ผู้จัดการหนุ่มยอมรับว่า ความสามารถในการผลิตกระเบื้องที่มีลุคเหมือนไม้จริงนี้ เป็นผลมาจากการที่คอตโต้เปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีล่าสุดอย่าง Digital Printing จากประเทศอิตาลี สนนราคา 40 ล้านบาท
คอตโต้นับเป็นผู้ผลิตกระเบื้องเซรามิกรายแรกของประเทศไทยที่ซื้อเครื่องพิมพ์สีดิจิตอลนี้เข้ามาใช้ ตั้งแต่ปี 2010 เนื่องจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ทำให้การส่งออกไปตลาดอเมริกาของคอตโต้ได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันค่าเงินที่แข็งขึ้นก็ทำให้การนำเข้าเครื่องจักรถูกลง ซึ่งธนนิตย์มองว่า เทคโนโลยีนี้ถือเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญของดีไซน์กระเบื้องคอตโต้
จากกระเบื้องลายหินแบบ 2 มิติที่มีความเหมือนหินเพียงเรื่องของสีและลวดลาย เครื่องจักรใหม่นี้จะสามารถดีไซน์กระเบื้องลายหินให้มีนูนสูงนูนต่ำและผิวสัมผัสที่คล้ายหินจริงได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยความสามารถของดีไซเนอร์ในการประยุกต์ ใช้เครื่องจักรและเพิ่มเติม “เอกลักษณ์” ลงไปในดีไซน์
“เราไม่ได้หยุดที่การนำเครื่องจักรเข้ามาใช้ เราเรียนรู้และปรับมาเยอะจนเกิด know-how ในการใส่ “effect” ลงไปบนกระเบื้อง เช่น ความรู้สึกสากเวลาเหยียบหินหรือการใส่ glitter ลงไปบนกระเบื้องลายหินทรายเพื่อให้เกิดแสงแวววาวคล้ายแก้วเหมือนหินทรายจริง เหล่านี้คือสิ่งที่ดีไซเนอร์ต้องใช้ความสามารถในการประยุกต์ให้เหมาะกับเครื่องจักร”
ห้องที่สองเป็นห้องนั่งเล่นที่สะท้อนไลฟ์สไตล์แบบ Harmonious เป็นลักษณะของครอบครัวใหญ่ที่อยู่กันหลายรุ่น พื้นที่ส่วนกลางจึงไม่มีความเป็นเอกลักษณ์ของใครคนหนึ่งแต่เน้นดีไซน์แบบกลางๆ ที่ทุกคนสามารถเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ได้ โดยเน้นสีขาวสีเบจ ที่ให้ความอบอุ่น กระเบื้องที่ใช้เป็น Rug Series ที่ลุคและผิวสัมผัสคล้ายพรม
ถัดไปเป็นห้องครัวตกแต่งตามไลฟ์สไตล์ Dynamique ที่สะท้อนวิถีชีวิตของกลุ่ม Gen X ชอบดีไซน์ที่มีสีสันสดใส ชอบความสนุกสนาน ขณะเดียวกันชอบความหรูหรา กระเบื้องในห้องนี้เป็นกลุ่ม Graphic Series ซึ่งมีให้เลือกทั้งแบบกระเบื้องชิ้นเล็กหลากสีสัน และกระเบื้องปริ้นต์ลายกราฟิกหรือปริ้นต์ภาพเหมือนที่มีสีสดไม่แพ้รูปถ่าย
ต่อมาเป็นห้องแต่งตัวที่ตกแต่งอย่างกิ๊บเก๋แปลกตา แต่ก็ดูลึกลับซับซ้อน สะท้อนไลฟ์สไตล์ Paradox ซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์ของกลุ่มคนสองบุคลิกที่มีโลกส่วนตัวสูง มีความซับซ้อน ชอบสีสันแรงๆ โดยกระเบื้องสำหรับคนกลุ่มนี้ ได้แก่ Agate และ Agatona Series ซึ่งเป็นกระเบื้องที่เลียนแบบหินที่มีสีสันฉูดฉาดและมีลายซ้อนเป็นชั้นๆ
ห้องสุดท้ายเป็นห้องครัวสะท้อนไลฟ์สไตล์แบบ SmartChic ซึ่งเป็นกลุ่มคนใน Gen Y และ Gen Z ที่นิยมความเรียบหรู มีเสน่ห์ ดูแปลกใหม่ล้ำเทรนด์ โดยกระเบื้องที่ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ ได้แก่ Curva Series ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากลักษณะของไม้ดัดผสมกับลายหิน โดยเพิ่มความน่าสนใจด้วยเทคนิค Glow in the dark (เรืองแสง)
ภายในห้องนี้ยังมีกระเบื้องอีกชุดที่มีความน่าสนใจมาก ได้แก่ Cotto Marmo Granito หรือกระเบื้องลายหินอ่อน อันเกิดจากนวัตกรรมการผลิตในการฝังลวดลายของริ้วหิน แทรกลงไปในเนื้อกระเบื้องตลอดทั้งแผ่น เสมือนการจำลองภาพการทับถมของสินแร่ หินอ่อนที่ต้องใช้เวลานานเป็นพันปีกว่าจะได้ริ้วหินอ่อนที่สวยงาม แต่ด้วยเทคโนโลยีนี้ คอตโต้สามารถผลิตกระเบื้องหินอ่อนลวดลายลักษณะนี้ แต่มีคุณสมบัติแข็งแกร่งเท่าหินแกรนิตได้ภายในหนึ่งวัน
“Marmo Granito เป็นเทคโนโลยีที่คอตโต้พัฒนาขึ้นมาเอง ถือเป็นผู้ผลิตรายแรกของโลก ซึ่งเราได้จดสิทธิบัตรแล้ว และที่น่าภูมิใจก็คือ กระเบื้องตัวนี้ได้รับเลือกให้ไปโชว์ในงาน Milan Design Week ที่เพิ่งผ่านมา ซึ่งมีบริษัทไทยน้อยมากที่เคยได้รับเลือกจาก เจ้าภาพให้ไปโชว์”
ธนนิตย์อธิบายถึงเส้นทางที่คอตโต้พัฒนาตัวเองเป็นเจ้าของเทคโนโลยีว่า เป็นแผนที่ที่กรรมการผู้จัดการใหญ่คนปัจจุบันได้วางไว้ตั้งแต่ยุควิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งครั้งนั้นธุรกิจกระเบื้องเซรามิกคอตโต้กำลังย่ำแย่ “กานต์” ระบุว่ามีเพียง 2 ยุทธศาสตร์ที่จะทำให้ธุรกิจนี้รอด คือการเปลี่ยนตัวเองเป็นสินค้าแฟชั่น และการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีให้ได้
นอกจากกระเบื้องที่จำลองภายห้อง 5 สไตล์ ยังมีกระเบื้องกลุ่ม Kitty Series จับกลุ่ม แฟนคลับคิตตี้ที่มีตั้งแต่เด็กหญิงจนถึงสาวใหญ่ โดยคอตโต้ได้สิทธิ์จากซาริโอในการผลิตกระเบื้องลายการ์ตูนตัวนี้เพียงรายเดียวในประเทศไทย
แม้จะต้องรอเวลาอีกสักพักเพื่อพิสูจน์ความเชื่อของธนนิตย์ที่ว่า การสร้างเทคโนโลยี ขึ้นเอง และการซื้อเทคโนโลยีล่าสุดเข้ามาเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า รวมถึงความพยายามของเครือในการเป็นผู้กำหนดเทรนด์ (Trend Setter) น่าจะมีส่วนช่วยให้สัดส่วนรายได้จากสินค้า High Value Product (HVP) ของคอตโต้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และน่าจะทำให้สัดส่วนรายได้จาก HVP ของคอตโต้ถึงเป้า 50% ได้ภายในปี 2015 ตามกำหนดการของเครือ
ที่แน่ๆ ในงานสถาปนิกปีนี้ การรวมพลังในการจัดแสดงของสินค้า “คอตโต้” ทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ กระเบื้องเซรามิก, สุขภัณฑ์ และก๊อกน้ำ ตามการกำหนด “เทรนด์ไลฟ์สไตล์” ของเครือในวันนี้ สามารถดึงดูดความสนใจและเรียกเสียงรัวชัตเตอร์จากผู้ชมมากมายทีเดียว
|
|
|
|
|