Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา พฤษภาคม 2555
สวางคนิเวศ “เฟรชชี่” อีกครั้งแม้วัยใกล้ฝั่ง             
โดย สุภัทธา สุขชู
 


   
www resources

โฮมเพจ สภากาชาดไทย
โฮมเพจ สวางคนิเวศ

   
search resources

สภากาชาดไทย
Social
Condominium
สวางคนิเวศ




“ไม้ใกล้ฝั่ง” แม้จะเป็นคำที่ฟังดูเสียดแทงใจผู้สูงวัย แต่ก็เป็นคำที่สะท้อนนัยของความชราภาพได้ในหลายมิติ แต่คงไม่ใช่ภาพของชีวิตบั้นปลาย ณ “สวางคนิเวศ” ดินแดนที่ดูเหมือนว่า “ไม้ใกล้ฝั่ง” จะได้กลับมามีไลฟ์สไตล์เยี่ยงคนหนุ่มสาวอีกครั้ง

6 โมงเช้าของทุกวัน “ณรงค์ ศรีวิเชียร” เดินออกจากคอนโดที่พักไปยังชายทะเลบางปู เดินออกกำลังกายรับลมทะเลบริเวณนั้น 45 นาที จึงกลับมาอาบน้ำ ทานอาหารเช้า ติดตามข่าวสารทางทีวี โดยเฉพาะข่าวธุรกิจ และข่าวหุ้น ขณะรอเวลาตลาดหุ้นเปิดเพื่อเทรดหุ้นตัวที่หมายปอง

นอกจากเอกสารเกี่ยวกับหุ้นตัวต่างๆ กล่องจดหมายของณรงค์เต็มไปด้วยโปรโมชั่นของบัตรเครดิตและโบรชัวร์แหล่งท่องเที่ยว เพราะหนึ่ง ในไลฟ์สไตล์ของณรงค์และภรรยา คือการชอปปิ้งและการท่องเที่ยว

ถ้าวันไหนไม่มีทริปท่องเที่ยว หรือไม่ใช่วันที่ต้องออกไปวางบิลเก็บค่าเช่าบ้านและคอนโดในกรุงเทพฯ หลังจากที่ณรงค์จัดการพอร์ตการเงินเสร็จสรรพ และศรีภรรยาจัดการงานบ้านเสร็จสิ้น ในระหว่างวันทั้งคู่มักใช้เวลาหมดไปกับการพูดคุย วางแผนท่องเที่ยว และแผนทำบุญหรือทำประโยชน์เพื่อสังคม กับเพื่อนร่วมคอนโด ณ ศาลา “รวมใจ 555” ที่ผู้อยู่อาศัยที่นี่รวบรวมเงินกันสร้างขึ้นเอง

นอกจากกิจกรรมท่องเที่ยวที่เป็นความชื่นชอบของชาวคอนโดแห่งนี้ สมาชิกที่นี่ยังนิยมจัดปาร์ตี้คาราโอเกะ พร้อมเปิดฟลอร์เต้นรำในบทเพลงสุนทราภรณ์อย่างน้อยเดือนละครั้ง

ดูผิวเผิน ไลฟ์สไตล์ของณรงค์และมาลีอาจดูไม่ต่างจากวิถีชีวิตคนหนุ่มสาวทุกวันนี้ ที่นิยมอยู่คอนโด ชอบทำงานอิสระ รักการท่องเที่ยว กระหายการเข้าสังคม และปลีกตัวเป็นจิตอาสาบ้างในบางคราว สำหรับคนวัยใกล้ 70 ปี วิถีชีวิตเช่นนี้คงเป็นภาพที่สังคมไทยไม่คุ้นชิน แต่ถือเป็นภาพคุ้นตาใน “สวางคนิเวศ” คอนโดผู้สูงอายุของสภากาชาดไทย

สวางคนิเวศเป็นโครงการที่สภากาชาดไทยสร้างถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชน มายุ 40 พรรษา เป็นอาคารพักอาศัยสูง 8 ชั้น มีห้องพัก 168 ห้อง ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีชื่อว่า “สวางคนิวาส” เนื้อที่กว่า 130 ไร่ ติดชายทะเลบางปู ซึ่ง “เจ้าสัว อื้อ จื่อ เหลียง” มอบให้สภากาชาดไทย เมื่อปี 2505

สวางคนิวาส ตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิทสายเก่า ติดกับวัดอโศการาม ภายในประกอบด้วยสถานีกาชาด 5 และศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูโดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โซนกลางเป็นส่วนของที่พักอาศัย หรือ “สวางคนิเวศ” ถัดไปเป็นสุสานท่านอื้อ จื่อ เหลียง และครอบครัว และโรงเรียนเด็กเล็กในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ด้านในสุดติดชายทะเลบางปู

“โครงการสวางคนิเวศเกิดขึ้นกว่า 14 ปีมาแล้ว ด้วยวิสัยทัศน์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่ทรงเล็งเห็นว่าสังคมไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีกไม่กี่ปี ในฐานะองค์อุปนายิกาสภากาชาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ด้อยโอกาส เด็ก และผู้สูงอายุ จึงทรงมอบหมายให้คณะกรรมการฯ ไปศึกษาแนวทางพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เพราะทรงเล็งเห็นว่าหากไม่ทำการศึกษาไว้ก่อน สังคมไทยอาจตั้งรับไม่ทัน” พญ.นาฏ ฟองสมุทร กรรมการบริหารสวางคนิเวศ เกริ่น

จาก “รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยปี 2552” ของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยระบุว่า ขนาดและสัดส่วนประชากรไทยอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2552 ถือเป็นปีที่สังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มขั้น เพราะสัดส่วนผู้สูงอายุไทยมีมากกว่า 10% ของประชากรทั้งหมด คาดการณ์ว่า ไม่เกิน 20 ปี สัดส่วนผู้สูงอายุไทยอาจสูงถึง 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด

“สวางคนิเวศ” (สะ-วาง-คะ-นิ-เวด) เป็นนามพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มีความหมายว่า “สถานที่อยู่อาศัยที่มีความสุขเหมือนสวรรค์” วัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็น “ที่พักอาศัยคุณภาพ” สำหรับผู้สูงอายุ และเป็นโครงการที่พักอาศัยต้นแบบที่เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุ รวมถึงเป็น Research & Training Center ให้กับหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนที่ต้องการมาศึกษาและทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องของผู้สูงอายุโดยเฉพาะ

ในการออกแบบคอนโดผู้สูงอายุ สภากาชาด ไทยได้ รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ หัวหน้าหน่วยวิจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุและผู้พิการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ออกแบบให้ โดยหัวใจสำคัญของที่พักผู้สูงวัย คือ การถ่ายเทอากาศ แสงธรรมชาติที่ทั่วถึง และความปลอดภัย

ภายในห้องพัก ปลั๊กไฟและสวิตช์ไฟจะอยู่สูงจากพื้น 90 ซม. เพื่อหลีกเลี่ยงการก้ม วัสดุทำพื้นต้องไม่ลื่น ไม่มีพื้นที่ต่างระดับ ไม่มีธรณีประตู เพื่อป้องกันการสะดุด ประตูเป็นบานเลื่อนกว้าง 90 ซม. เพื่อให้เข้า-ออกได้สะดวก ห้องน้ำปูด้วยกระเบื้องชนิดไม่ลื่น มีที่นั่งอาบน้ำ มีราวจับที่อ่างล้างหน้าและโถส้วม เพื่อช่วยในการทรงตัว ที่สำคัญคือ “ปุ่มฉุกเฉิน” ที่หัวเตียงและห้องน้ำไว้ใช้ขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินขณะอยู่ในห้อง

คล้ายคอนโดทั่วไปที่มีพื้นที่ส่วนกลางอย่างฟิตเนส ร้านสระผม บริการตู้ซักอบผ้า สนามหญ้า และศาลาริมน้ำ แต่ที่สวางคนิเวศยังมีพื้นที่เต้นรำ ห้องประชุม ห้องอาหารที่ควบคุมปริมาณน้ำมันและไร้ผงชูรส ห้องคอมพิวเตอร์ที่กำลังจะมี iPad ให้เล่นฟรี มีสัญญาณ wi-fi ให้บริการถึงห้องพัก มีเวทีสันทนาการ และอีกไม่นานก็จะมีห้องเต้นรำ และสระว่ายน้ำสำหรับผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น (มาพร้อมโครงการเฟส 2)

ยิ่งกว่านั้น ที่นี่ยังมีคลินิกนอกเวลากายภาพบำบัด ซึ่งจะมีนักกายภาพบำบัดจากโรงพยาบาลจุฬาฯ มาประจำทุกวัน ตั้งแต่ 15.00 น. และมีห้องพยาบาลที่มีพยาบาลสถานีกาชาดมาอยู่เวร ตั้งแต่ 16.00-19.00 น. ห้องสวดมนต์ และทางลาดจากชั้น 8 ลงมาถึงชั้นล่างไว้สำหรับรถเข็นและเตียงผู้ป่วย

นอกจากนั้น ในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่จะมีระบบส่งต่อผู้สูงอายุจากสวางคนิเวศ ไปยังหน่วยแพทย์ในเครือสภากาชาดไทย โดยมีกองทุนรักษาพยาบาลฉุกเฉินที่ผู้สูงอายุที่นี่จัดตั้งกันเอง เพื่อให้สมาชิกได้นำไปใช้เมื่อมีเหตุจำเป็นที่ต้องเข้าโรงพยาบาลเอกชน หลังจากหายป่วยจึงค่อยนำเงินกลับมาคืนกองทุน

ไม่เพียงห้องพักดีไซน์พิเศษและบริการทางการแพทย์ คุณหมอนาฏมองว่า อีกสิ่งที่มีความสำคัญสำหรับผู้สูงอายุ คือ กิจกรรม โดยเฉพาะการท่องเที่ยว โดยตลอด 10 กว่าปี สวางคนิเวศได้จัดทริปทั้งในประเทศและต่างประเทศให้สมาชิกไปแล้วกว่า 100 ทริป เฉลี่ยเดือนละครั้ง โดยทุกทริปจะมีเจ้าหน้าที่และพยาบาลไปด้วย

“การท่องเที่ยวเป็นวิถีชีวิตของผู้สูงอายุ สอดคล้องกับข้อมูลทางการแพทย์ที่ระบุว่า ผู้สูงอายุที่ขาดการกระตุ้นหรือขาดสิ่งเร้า สมองก็เสื่อม ร่างกายก็ทรุด ซึ่งเป็นปัญหาที่มักพบในผู้สูงอายุที่ถูกทิ้งให้อยู่บ้านคนเดียว แต่สำหรับผู้สูงอายุที่นี่ ไม่มีคำว่าเหงา เพราะมีทั้งเพื่อนร่วมวัย มีทั้งอาสาสมัคร และมีกิจกรรมตลอด”

ปัจจุบันชาวสวางคนิเวศมีอายุตั้งแต่ 55-90 ปีขึ้นไป เป็นเพศหญิงกว่า 70% ส่วนใหญ่เคยเป็นครูอาจารย์ และข้าราชการมาก่อน โดย 70% มีสถานภาพโสด 10% เป็นคู่ สามีภรรยาที่ไม่มีบุตร อีก 10% เป็นม่าย ส่วนที่เหลือมีบุตรแต่ต้องการชีวิตอิสระ ไม่อยาก เป็นภาระและวุ่นวายกับลูกหลาน

“เราไม่ได้ถูกลูกหลานทิ้ง แต่ทิ้งลูกหลานมาต่างหาก บางคนมีลูกๆ อยากให้กลับ แต่พ่อแม่ไม่ยอมกลับเพราะอยู่ที่นี่ สบาย ไม่ต้องกลับไปเป็นคนใช้ถาวรคอยเลี้ยงหลาน บางคนเคยต้องเสียเงินจ้างคน มาทำความสะอาดและอยู่เป็นเพื่อนเดือนละ 6,000 บาท พอขายบ้านมาอยู่ที่นี่ เสียค่าส่วนกลางแค่ 2,500 บาท ไม่ต้องจ้างใครมาเป็นเพื่อน เพราะมีพี่น้องวัยเดียวกันกว่า 100 คน” ในฐานะ “พ่อบ้าน” ณรงค์จึงรู้เรื่องราวของเพื่อนร่วมคอนโดเป็นอย่างดี

ในวัย 69 ปี และ 68 ปี ณรงค์และมาลีกลายเป็นคุณลุงคุณป้า บางครั้งก็เป็นคุณตาคุณยายของผู้ร่วมคอนโดที่อื่น แต่ที่สวางคนิเวศ ทั้งคู่กลาย “น้อง” เพราะ สมาชิกที่นี่อายุเฉลี่ย 72 ปี นานๆ ทีที่มีสมาชิกใหม่ ทั้งคู่จึงกลายเป็น “พี่”

ถึงจะเยาว์ด้วยวัยวุฒิ แต่ด้วยประสบการณ์พักอาศัยร่วม 7 ปี ทำให้ณรงค์ได้รับเลือกตั้งจากผู้อาศัยส่วนใหญ่ให้เป็น “ประธานกรรมการผู้สูงอายุอาคารสวางคนิเวศ” มีหน้าที่ประสานงานกับสภากาชาดไทย เพื่อปรับปรุงความเป็นอยู่ของสมาชิกที่นี่

ณรงค์เคยรับราชการอยู่ฝ่ายปกครอง ส่วนมาลีเป็นอดีตอาจารย์โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พญาไท เพราะไม่มีลูก ทั้งคู่ตัดสินใจย้ายออกจากบ้านขนาด 5 ห้องที่สร้างเผื่อมีลูก เนื่องจากเหนื่อยกับการทำความสะอาดบ้านหลังใหญ่ จากนั้นจึงย้ายไปอยู่คอนโดหรูกลางกรุงเทพฯ แต่กลับพบว่า ในเวลากลางวันทั้งชั้นเหลือเพียงผู้สูงอายุสองคน นอกจากความเงียบเหงา พวกเขาเกรงว่าหากเป็นอะไรไปจะไม่มีใครมาดูแล ทั้งคู่จึงมองหาที่อยู่ใหม่ที่ตอบโจทย์ชีวิตบั้นปลายได้ดีกว่า

“อ่านเจอว่ามีคอนโดผู้สูงอายุ แล้วพอดีหมอนาฏก็เป็นลูกศิษย์ก็เลยไว้ใจ คนแก่เวลาจะเลือกอะไรมันต้องอยู่ที่ความไว้ใจ เพราะเราคงไม่สามารถไปต่อสู้กับใครได้อีกแล้ว พอมาอยู่ที่นี่ เราก็รู้สึกปลอดภัยขึ้น เพราะมี รปภ. มีเจ้าหน้าที่ และมีพยาบาลคอยดูแล ตลอด 24 ชม. เราพยายามทำทุกอย่างให้เหมือนบ้าน เว้นก็แต่จำนวนห้องที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ที่เหลือเพียงห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องครัว และห้องน้ำ”

จากความสำเร็จของเฟสแรกทำให้มีผู้สูงวัยรอคิวเข้าพักกว่า 600 คน ณรงค์เชื่อว่า หลังจากตนได้ถวายรายงานนี้แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เมื่อครั้งที่พระองค์ท่านเสด็จเยี่ยมสวางคนิเวศเป็นการส่วนพระองค์ อานิสงส์ครั้งนั้นทำให้เกิด “สวางคนิเวศ เฟส 2” รวมถึงข่าวดีที่ว่าอาจจะมี 7-11 มาเปิดที่นี่เร็วๆ นี้

สวางคนิเวศ เฟส 2 ประกอบด้วยอาคาร 6 ชั้น 8 อาคาร แบ่งเป็นอาคาร 4 ห้องต่อชั้น และ 8 ห้องต่อชั้น ออกแบบให้เหมาะกับกลุ่มพี่น้องหรือกลุ่มเพื่อนฝูงที่จะได้พากันมาจองยกชั้น ราวกับได้ย้อนไปสมัยอยู่หอเดียวกันช่วงเรียนหรือเริ่มต้นทำงาน โดยในเฟส 2 มีทั้งหมด 300 ห้อง พื้นที่ใช้สอยราว 40-42 ตร.ม. ราคา 850,000 บาทขึ้นไป

สำหรับสภากาชาดไทย ผู้เข้าพักที่สวางคนิเวศจะได้ทำบุญใหญ่ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกคือ “ค่าห้อง” ถือเป็นการบริจาคเงิน เพราะผู้อาศัยจะไม่ได้โฉนดและไม่มีสิทธิ์นำไปขายต่อ แต่จะได้รับสิทธิ์เข้าพักในโครงการไปตลอดชีวิต โดยจะพักกับสามี/ภรรยา หรือพี่น้องท้องเดียวกันก็ได้ หลังจากเสียชีวิต สิทธิ์ในห้องพักจะกลับเป็นของสภากาชาดไทยอีกครั้ง เพื่อนำไปจัดสรรให้กับคนอื่น ซึ่งถือเป็นการบริจาคครั้งสุดท้าย

“ผู้สูงอายุที่นี่จะอยู่กันแบบมีมรณานุสติ รู้ว่าได้มาอยู่ที่นี่ในช่วงท้ายของชีวิต รู้ว่าอย่าไปยึดติดว่าได้เป็นเจ้าของไหม รู้ว่าเมื่อจากไปก็ต้องละสิ่งที่เคยใช้ เพื่อเป็นประโยชน์กับคนอื่น ที่ผ่านมา มีผู้อาศัยเสียชีวิตไปแล้ว 20 กว่าคน”

ไม่เพียงมีเงินก้อน ผู้ที่มีสิทธิ์จะได้เข้าพักอาศัยที่นี่ยังต้องคุณสมบัติสำคัญคือ มีสัญชาติไทย และอายุ 55 ปีขึ้นไป โดยในวันแรกที่เข้าพัก ผู้นั้นต้องสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และสามารถจ่าย “ค่าดำรงชีพ” ตนเองได้ตลอดชีวิต อันได้แก่ ค่าส่วนกลาง 2,500 บาท/เดือน ค่าสาธารณูปโภคตามที่ใช้จริง ค่าใช้จ่ายส่วนตัว อาทิ ค่าอาหาร ค่าจ้างซักรีด บริการทางการแพทย์ ค่าใช้จ่ายในกิจกรรมบางประเภท เช่น ท่องเที่ยว ทำบุญ ฯลฯ

พ่อบ้านณรงค์แนะนำว่า ผู้ที่จะมาอยู่ที่นี่ควรมีรายได้ขั้นต่ำเดือนละ 15,000 บาท จึงจะสามารถใช้ชีวิตที่นี่โดย “มีอิสระ และพึ่งพาตัวเอง” อย่างแท้จริง

“ที่นี่เป็นคอนโดผู้สูงอายุที่ตอบโจทย์ผู้มีฐานะปานกลางขึ้นไป ไม่ใช่บ้านบางแค เพราะที่นี่ทุกคนสงเคราะห์ตัวเอง อยู่ได้ด้วยตัวเอง เราอยู่ได้โดยไม่มีปัญหา เพราะส่วนใหญ่ มีบำนาญ หรือเงินฝากธนาคาร คือพวกเราส่วนใหญ่วางแผนการใช้ชีวิตในบั้นปลายกันมาก่อนแล้ว”

หมอนาฏย้ำว่า ขณะที่สังคมไทยมีผู้สูงอายุกลุ่มหนึ่งที่จำเป็นต้องได้รับการสงเคราะห์ แต่ก็มีอีกกลุ่มที่ “แข็งแรง” พอที่จะทำให้โครงการอย่างสวางคนิเวศดำเนินได้เอง โดยกาชาดไทยเป็นเพียงผู้ช่วยบริหารจัดการให้เกิดโครงการที่จะช่วยส่งเสริมให้คนชรากลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

ทั้งนี้ การก่อสร้างสวางคนิเวศ เฟส 2 จะแล้วเสร็จภายในปลายปีนี้และเริ่มเข้าอยู่ ได้ตั้งแต่ต้นปีหน้า โดยได้ LPN เป็นจิตอาสาเข้ามาช่วยดูแลการก่อสร้าง การตลาด และการขาย ให้กับเฟสนี้ โดยขณะนี้เหลือห้องว่างอีกไม่ถึง 80 ห้อง

ภายหลังที่ทั้ง 2 เฟส มีผู้อยู่อาศัยครบถ้วน คุณหมอนาฏเชื่อว่า จำนวนยูนิตที่มาก เกือบ 500 ห้อง ไม่เพียงจะทำให้การบริหารจัดการเกิดความคุ้มค่าตามหลัก “Economy of Scale” ยังเพิ่มอำนาจต่อรองกับส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆ ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุของที่นี่และของไทย เช่น “สถานีรถไฟฟ้าสวางคนิวาส” ที่ผู้สูงวัยกลุ่มนี้สามารถไปต่อรองจนได้ย้ายจุดสร้างสถานีจากบริเวณวิทยุการบินมาอยู่ที่นี่

“องค์ความรู้ทั้งหมดในสวางคนิเวศ เป็นสิ่งที่สภากาชาดไทยต้องการทำให้เห็นว่า ผู้สูงอายุไทยควรจะได้รับการบริการหรือดูแลอย่างไร เพื่อให้คนกลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและไม่เป็นภาระแก่ลูกหลานหรือสังคม เรายินดีให้ภาครัฐและเอกชนมาเรียนรู้แล้วเอาไปพัฒนาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น เพื่อที่ผู้สูงอายุไทยจะได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”

คำกล่าวทิ้งท้ายของกรรมการบริหารสวางคนิเวศ ดูจะสอดคล้องกับความคิดของชาวสวางคนิเวศ และดูจะเป็นความหวังของ “ไม้ใกล้ฝั่ง” หลายคนที่ตั้งตารอสินค้าบริการแบบนี้มาตลอดชีวิตช่วงบั้นปลาย   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us