|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
วันนี้ผมจะพาผู้อ่านมาคุยเรื่องอภิมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยจากนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology)
คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าในปลายศตวรรษที่ 20 นวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการสร้างอภิมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยมหาศาลตั้งแต่หลักหมื่นล้านบาทไปจนถึงหลักล้านล้านบาท ไม่ว่าจะเป็น Bill Gates แห่งบริษัทไมโครซอฟท์ (Microsoft Corporation) ไปสู่ Steve Jobs แห่งบริษัทแอปเปิล (Apple Inc.) แม้แต่ David Filo แห่ง บริษัทยาฮู! (Yahoo! Inc.) ไปจนถึง Larry Page แห่งบริษัทกูเกิล (Google Inc.) เรียกว่าแต่ละคนรวยแบบไม่เกรงใจกันเลยทีเดียว
เมื่อผ่านเข้ามาถึงยุคต้นศตวรรษที่ 21 นวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศยิ่งเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้มากยิ่งขึ้น ในโลกยุคสมัยใหม่เราเริ่มเห็นนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น เครือข่ายสังคม (Social Network) ที่หลายคนรู้จักกันดี เช่น เฟซบุ๊ก (Facebook) ถือเป็นบริการเครือข่ายสังคมที่มีคนใช้มากที่สุด โดยมีจำนวนสมาชิกทั้งหมดเกือบ 600 ล้านคนทั่วโลก ประมาณ 1 ใน 10 ของประชากรทั้งโลก โดยเป็นสมาชิกจากประเทศไทยรวมเกือบ 7 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 10 ของประชากรไทยทั้งประเทศ หมายความว่าคนในโลก 10 คน จะต้องมีคนใช้ Facebook สัก 1 คน ซึ่งนับรวมทุกเพศทุกวัย รวมคนสูงอายุและเยาวชนด้วย ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากทีเดียว ทำให้ เจ้าของหรือผู้ก่อตั้งบริษัท Facebook, Inc. ที่ชื่อว่า Mark Zuckerberg กลายเป็นอภิมหาเศรษฐีที่อายุน้อยที่สุดในโลก โดยมีเงินกว่า 17.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือมากกว่า 5 แสนล้านบาท ด้วยวัยเพียง 27 ปีเท่านั้น เรียกว่ารวยไม่รู้จะเรียกว่ารวยอย่างไรเลยจริงๆ
ใครจะเชื่อว่าจากวันเปิดตัว Facebook เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2547 จนถึงวันนี้ เพียงแค่ 8 ปีก็เปลี่ยนจากคนธรรมดามาเป็นอภิมหาเศรษฐีแสนล้านได้อย่างรวดเร็ว
ผมเชื่อว่าหลายท่านอาจจะรู้จัก Facebook กันบ้างแล้ว วันนี้ผมจะพาคุณผู้อ่านมารู้จักเครือข่ายสังคมอีกตัวหนึ่ง คือ กรี (GREE) โดย GREE มีประวัติที่น่าสนใจไม่แพ้ประวัติของ Facebook เลยทีเดียว คนไทยอาจยังไม่คุ้นเคยกับ GREE ดีแต่ในประเทศญี่ปุ่น GREE, Inc. ถือเป็นบริษัทที่โด่งดังอย่างมาก GREE เป็นบริการเครือข่ายสังคมที่มีคนใช้มากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น บริษัท GREE, Inc. เริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2547 เพียงแค่ 8 ปีเท่านั้น GREE เติบโตอย่างรวดเร็วโดยถือเป็นบริษัท ที่มีการเติบโตรวดเร็วมากที่สุดของประเทศ ญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ ด้วยเวลาเพียง 8 ปีภายหลังจากก่อตั้ง ทำให้ผู้ก่อตั้ง GREE ที่ชื่อว่า Yoshikazu Tanaka กลายเป็นอภิมหาเศรษฐีที่สร้างเองที่อายุน้อยที่สุดอันดับ 2 ของโลก (World’s Second-Youngest Self-Made Billionaire) รองจาก Mark Zuckerberg จาก Facebook
ในปี พ.ศ.2555 มีการประเมินเม็ดเงินของ Yoshikazu Tanaka ว่ามีมากถึง 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่าแสนล้านบาท สำนักข่าว CNN ขนานนาม Yoshikazu Tanaka ว่าเป็น Mark Zucker-berg แห่งประเทศญี่ปุ่นเลยทีเดียว โดยเขาเริ่มพัฒนา GREE ขึ้นมาเมื่อตอนที่เขาอายุ เพียงแค่ 26 ปีเท่านั้น
GREE เริ่มเปิดตัวจากการเป็นบริการเครือข่ายสังคม จนเริ่มมาพัฒนาเกมบนเครือข่ายสังคม (Social Game) จนไปถึงการพัฒนาเกมต่อไปบนโทรศัพท์มือถือ เช่น เกม Tsuri-suta ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Fishing Star ที่ถือเป็นเกมบนเครือข่ายสังคมบนโทรศัพท์มือถือเกมแรกของโลก (World-first Mobile Social Game) จนไปถึงการทำให้ GREE รองรับบนเครื่อง Smartphone ต่างๆ ด้วยความนิยมอย่างมาก ทำให้ปัจจุบันคนใช้ GREE มากกว่า 120 ล้านคนแล้ว ซึ่งก็คือมากเทียบเท่ากับจำนวนประชากรญี่ปุ่นทั้งประเทศเลยทีเดียว
โดยที่ชื่อคำว่า GREE มีที่ไปที่มาที่น่าสนใจทีเดียว คำว่า GREE มาจากการเลือกคำมาจากชื่อของทฤษฎี Six DeGREEs of Separation หรือที่อาจแปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่า ทฤษฎีหกสัมพันธ์ หลักการของทฤษฎีหกสัมพันธ์นี้ก็คือว่า ถ้าเราจะเดินทางไปหาเพื่อนเราโดยผ่านสะพานที่เรียกว่าความสัมพันธ์ เราจะต้องข้ามสะพานที่ว่านี้มากที่สุดไม่เกิน 6 ครั้ง ซึ่งหมายถึงว่าคนบนโลกนี้ทุกคนมีความสัมพันธ์ต่อกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยนำมาเชื่อมโยงผ่านคนอื่นมาเป็นทอดๆ ซึ่งคนบนโลกนี้ที่มีกว่า 7 พันล้านคน ล้วนแต่มีความสัมพันธ์ต่อกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น ผู้คนที่เดินตามห้างสรรพสินค้า ถ้าเราลองเลือกมาสักคน และลองไล่ลำดับความสัมพันธ์กันเป็นทอดๆ แล้วจะตกใจว่าจะต้องมีสักอย่างที่จะวนมาหาตัวเรา Yoshikazu Tanaka เลยตัดสินใจนำเอาชื่อนี้มาตั้งเป็นชื่อบริการเครือข่ายสังคมของเขาที่ชื่อว่า GREE
พูดถึงคนก่อตั้ง GREE จริงๆ แล้วมีด้วยกันสองคน คนแรกก็คือ Yoshikazu Tanaka และคนที่ก่อตั้งร่วมอีกคนหนึ่งชื่อว่า Kotaro Yamagishi โดยบริษัทนี้มี Chief Financial Officer หรือผู้บริหารสูงสุดด้านการเงินของบริษัทคือ Naoki Aoyagi ผมขอเสริมเป็นเกร็ดเพิ่มไปนิดครับ ว่า Kotaro Yamagishi และ Naoki Aoyagi สองคนนี้เรียนจบจากมหาวิทยาลัย เคโอ (Keio University) เป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น และเป็นมหาวิทยาลัยที่ผมจบปริญญาเอกมานั่นเองครับ ก็ขอพูดถึงนิดนึงครับในฐานะที่เขาเป็นรุ่นพี่ผมที่มหาวิทยาลัย
ผมอยากให้คุณผู้อ่านได้ลองมองหลักการสร้างเศรษฐกิจหรือเม็ดเงินจากบริษัทต่างๆ ที่ผมกล่าวมาข้างต้นพวกนี้หน่อยนะครับ ผมขอเรียกหลักการสร้างเศรษฐกิจอย่างนี้ว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) กล่าวคือเป็นการสร้างหรือขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยอาศัยแนวความคิดจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การใช้องค์ความรู้ การศึกษา เทคโนโลยีสารสนเทศ นวัตกรรมสมัยใหม่เป็นการสร้างมูลค่าที่เกิดจากความคิดของคนโดยแท้ ไม่ได้มาจากการได้สัมปทาน หรือการทุจริตคอร์รัปชั่นหรือตัดไม้ทำลายป่า แต่มาจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์อย่างแท้จริง และทุกคนสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นใคร อายุเท่าไร เชื้อชาติอะไร สีผิวใด ตราบเท่าที่สามารถเข้าถึงโอกาส องค์ความรู้ เทคโนโลยีสารสนเทศ นวัตกรรมผสมผสานกับจินตนาการ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เราก็สามารถเป็นอย่างเขาได้ นี่แหละครับคือโลกยุคศตวรรษที่ 21 อย่างแท้จริง ที่เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโอกาสที่มีอย่างมหาศาลในยุคแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศ
ผมสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย บางครั้งก็เห็นเด็กนักศึกษาในภาควิชา ICT จับกลุ่ม 3-4 คน ตั้งบริษัทเล็กๆ ขึ้นมา แล้วพอติดปัญหาหรือเจอปัญหาต่างๆ ก็มาขอคำแนะนำกับผม ผมชื่นชมนะครับ แม้ว่าการเริ่มนั้นอาจจะล้มเหลวก็ตาม แต่ผมจะให้กำลังใจเด็กนักศึกษาตลอด แม้วันนี้อาจจะยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ผมเชื่อนะครับว่าถ้าไม่มีการเริ่มต้น ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็ไม่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ในโลกของเรา ผมยังเชื่อว่าวันหนึ่งเด็กในมหาวิทยาลัยรังสิตที่ผมสอน จะมีโอกาสได้เป็น Mark Zuckerberg แห่งประเทศไทยได้ มีโอกาสเป็น Yoshikazu Tanaka แม้แต่มีโอกาสได้เป็น Steve Jobs ได้ ทุกอย่างไม่มีอะไรไกลเกินฝันครับ เพียงแต่เราพร้อมจะปรับเปลี่ยนตัวเราให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้ดีเท่าไหร่เท่านั้นเอง
วันนี้ผมพาคุณผู้อ่านมาคุยกันเรื่องอภิมหาเศรษฐี เลยอยากจะคุยต่อในมิติของมุมมองที่เรามีต่ออภิมหาเศรษฐีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภายในประเทศไทยหรือต่างประเทศก็ตาม ผมอยากให้มองอย่างนี้ครับว่าในโลกยุคใหม่นี้ คนบางกลุ่มอาจรู้สึกไม่ดีต่อกลุ่มคนเศรษฐีกลุ่มต่างๆ แต่ผมกลับมองในมุมที่แตกต่างกันครับ แทนที่เราจะรู้สึกอิจฉาที่เขามีเงินมหาศาล เราควรจะสนับสนุนคนที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ประสบความสำเร็จมาจากหลักการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพราะผมเชื่อนะครับว่าโลกเรากำลังเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศที่เรียกว่า Non-zero-sum games สุดท้ายแล้วคนรวยจะกลับมาสร้างงานให้ชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง การที่คนรวยรวยขึ้นมาไม่จำเป็นต้องเป็นการรวยมาจากการเอาเปรียบคนจน แต่ในทางตรงกันข้าม กลับเป็นการส่งเสริมให้คนจนได้มีงานทำ ได้มีการเข้าถึงโอกาสมากขึ้น เพราะฉะนั้นเวลาที่เราเห็นคนมีเงินมากกว่าเรา เราไม่มีความจำเป็นต้องไปริษยาเขาเลย แต่ในทางตรงกันข้ามเราควรจะชื่นชมเขาว่าเขาจะมาช่วยให้เราได้มีโอกาสมากขึ้น
ขณะเดียวกันผมก็ยังเชื่อนะครับว่า คนรวยควรจะมีความรับผิดชอบต่อสังคม ที่สูงกว่าคนปกติ โดยส่วนตัวผมสนับสนุนให้มีการขึ้นภาษีคนรวยมากๆ ที่เรียกว่าอภิมหาเศรษฐีให้สูงขึ้นไปอีกมากกว่า 37% ไม่ใช่เพราะผมรู้สึกอิจฉาเขา แต่ผมเชื่อว่าเงินภาษีที่เขาเสียเพิ่มมากขึ้น เป็นการเปิดให้ชนชั้นล่างได้เข้าถึงโอกาสมากขึ้น เช่น อาจจะได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาขั้นต่ำมากขึ้น พอเขามีโอกาสในการศึกษามากขึ้น ทำให้เขามีโอกาสในการพัฒนาตัวเอง พัฒนาจินตนาการของตัวเองมากขึ้น สร้างเขาให้เป็น Bill Gates ของประเทศไทยขึ้นมา เพราะสุดท้ายแล้วคนรวยก็ไม่สามารถอยู่อย่างเป็นสุขได้ ถ้าเพื่อนร่วมชาติของเขาทั้งหมดเป็นคนจน เขาก็ต้องอยู่อย่างระมัดระวัง ไม่รู้ว่าวันใดจะโดนโจรเข้ามาขโมยหรือเข้ามาปล้น ก็จะเป็นสังคมที่ไม่น่าอยู่ สังคมที่น่าอยู่คือสังคมที่มีการแบ่งปันความช่วยเหลือ แบ่งปันความรับผิดชอบซึ่งกันและกัน ภาษาอังกฤษเรียกว่า Shared Responsibility ผมก็อยากให้สังคมไทยเราได้เป็นอย่างนั้นครับ เรามาทำให้สังคมไทยเราเป็นสังคม Shared Responsibility กันเถอะครับ
|
|
|
|
|