|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
บรรยากาศการรวมตัวของนักธุรกิจเคเบิลทีวีท้องถิ่น ค่ายแกรมมี่ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และนักธุรกิจจากหลายแขนงเกือบ 100 ชีวิต แถลงข่าวร่วมทุนสร้างโมเดลธุรกิจเคเบิลทีวี ด้วยเงินลงทุนกว่า 2 หมื่นล้าน
เมื่อต้นเดือนเมษายน ที่ชั้น 14 โรงแรม St. Regis ถนนราชดำริ ได้มีการแถลงข่าวความร่วมมือระหว่าง 3 ฝ่าย วิชัย ทองแตง ในฐานะนักลงทุน วัชร วัชรพล ผู้บริหารหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และสุรพล ซีประเสริฐ ประธานกรรมการบริษัท เคเบิ้ลไทยโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ CTH เพื่อพัฒนาเคเบิลท้องถิ่นให้มาเป็นผู้เล่นรายใหญ่ของประเทศไทย
ที่มาของการร่วมทุนในครั้งนี้เกิดจาก บริษัท เคเบิลไทยโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีสมาชิกผู้ให้บริการเคเบิลท้องถิ่นทั่วประเทศกว่า 200 ราย ไม่มีเงินทุนเพียงพอ ในการซื้อเนื้อหาในต่างประเทศ โดยเฉพาะการแข่งขันกีฬาฟุตบอลพรีเมียร์ลีก มูลค่า 3-4 พันล้านบาท ทำให้ที่ผ่านมารายการดังกล่าวจะถูกผู้เล่นรายใหญ่ซื้อไป โดยเฉพาะธุรกิจของกลุ่มบริษัททรู ผู้ให้บริการเคเบิลทีวี และโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีซีพีเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง
ดังนั้น การอยู่รอดของบริษัทในอนาคตจะต้องเปิดโอกาสให้นักลงทุนหน้าใหม่ โดยเฉพาะรายใหญ่ๆ เข้ามา เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองธุรกิจ รวมไปถึงสร้างฐานการผลิตคอนเทนต์ขนาดใหญ่ได้
วิชิต เอื้ออารีวรกุล เลขาอุปนายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย เล่าให้ผู้จัดการ 360 ํ ฟังว่า อุปสรรคดังกล่าวทำให้สุรพล ประธานกรรมการบริษัทซีทีเอช ชักชวนวิชัย ทองแตง ในฐานะหลานเขย (วิชัย ทองแตง แต่งงานกับหลานสาวของสุรพล) เข้ามาช่วยเหลือในครั้งนี้
วิชัย ทองแตง เป็นนักลงทุนที่ในวงการธุรกิจรู้จักเขาเป็นอย่างดี เขามีอาชีพเป็นทั้งทนาย นักลงทุน และผู้บริหาร ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ประสิทธิ์พัฒนา จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารโรงพยาบาลพญาไท และโรงพยาบาลเปาโล เมมโมเรียล นอกจากนั้นยังเคยเป็นทนายความให้กับทักษิณ ชินวัตร ในคดีซุกหุ้นเมื่อปี 2544
ความเชี่ยวชาญทั้งด้านกฎหมายและลงทุน ทำให้วิชัยส่งทีมงานเข้ามาศึกษาธุรกิจเคเบิลอย่างจริงจัง มองเห็นว่ามีอนาคตแต่ต้องใช้เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาทในระยะเวลา 5 ปี
เงินลงทุนจำนวนมหาศาลทำให้วิชัย ทองแตงและหุ้นส่วนอีก 2 ราย ออกมาประกาศความร่วมมืออย่างเอิกเกริกเพื่อหาพันธมิตรรายใหม่เข้ามาร่วมลงทุนในครั้งนี้ หลังจากที่วิชัยลงทุน 250 ล้านบาท เท่ากับกลุ่มไทยรัฐ ส่วนบริษัทซีทีเอช ลงทุน 300 ล้านบาท
เงินทุนจำนวน 800 ล้านบาทในช่วงเริ่มต้นยังถือว่าห่างไกลจากแผนธุรกิจที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะใช้เงินทุนก้อนใหญ่กว่า 2 หมื่นล้านบาท การเปิดตัวอย่างเอิกเกริก และชักชวนไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการค่ายแกรมมี่ และนักธุรกิจอื่นๆ มาร่วมงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุน ซึ่งถือว่าได้รับความสนใจไม่น้อย
โดยเฉพาะไพบูลย์ ค่ายแกรมมี่ แสดงความสนใจอย่างมากในธุรกิจดังกล่าว และคาดว่าจะส่งให้ที่ปรึกษาทางด้านการเงิน ธนาคารธนชาต ศึกษาโครงการโดยละเอียด คาดว่าจะสรุปได้ภายใน 2 เดือน
“หลังจากเปิดตัวความร่วมมือการให้บริการเคเบิลทีวี ผมคิดว่าช่วงนี้คุณวิชัย ทองแตงเนื้อหอมมาก เพราะมีคนมาติดต่ออยู่เรื่อย” วิชิต เลขาอุปนายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยกล่าว
อย่างไรก็ดี เงินทุน และแผนธุรกิจที่เปิดเผยกันในวันแถลงข่าว ยังเป็นการรวมตัวแบบหลวมๆ ที่รอพันธมิตรรายใหม่เข้ามา
สำหรับแผนธุรกิจในครั้งนี้มีการมองว่าธุรกิจเคเบิลทีวีมีแนวโน้มจะเติบโตมากขึ้น จากปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเคเบิลทีวี 4 ล้านครัวเรือน ส่วนบริการดาวเทียม 8 ล้านครัวเรือน
จากการศึกษาภาพรวมธุรกิจทำให้เชื่อว่าบริการผ่านดาวเทียมจะลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะผู้ใช้บริการจานดาวเทียมใหญ่สีดำ เพราะสัญญาณไม่ชัดเจน เกิดจอดำบ่อย ทำให้มีการประเมินว่าธุรกิจจานดาวเทียมจะอยู่ไม่เกิน 30 ปี นับจากนี้ไป
ในทางตรงกันข้ามธุรกิจเคเบิลทีวีจะเติบโตตามเทคโนโลยี โดยเฉพาะสามารถรองรับการสื่อสาร 2 ทาง ระหว่างผู้ประกอบการและผู้ชมรายการ
เป้าหมายการรวมกลุ่มนอกเหนือจากเพิ่มจำนวนสมาชิกเป็น 7 ล้านครัวเรือนภายใน 2 ปี จะมีการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจเพื่อสร้างโครงข่ายใหม่ เรียกว่า Triple Play คือ Single Network Single Platform และ Single Brand
Single Network หมายถึงการเชื่อมโยงโครงข่ายของผู้ให้บริการทุกรายที่เป็นสมาชิกของบริษัทให้อยู่ภายใต้เครือข่ายเดียวกัน จากปัจจุบันผู้ให้บริการเคเบิลท้องถิ่นจะมีสถานีห้องส่งเป็นของตัวเองในรูปแบบแยกกันให้บริการ
Single Platform คือการกำหนดมาตรฐานช่องให้บริการอยู่ในรูปแบบเดียวกัน ที่ผ่านมาการรับชมรายการเดียวกัน แต่ลูกค้าอยู่คนละจังหวัดจะรับชมช่องแตกต่างกัน เช่น ช่องกีฬา บางจังหวัดอยู่ในช่อง 12 หรือบางจังหวัดอยู่ในช่อง 30 แต่เมื่อปรับปรุงระบบ ช่องรายการจะเหมือนกันไม่ว่าจะอยู่จังหวัดใด
Single Brand หมายถึงสร้างแบรนด์เดียวทั่วประเทศ จากปัจจุบันมีแบรนด์หลากหลาย ผลดีทำให้สามารถกำหนดค่าโฆษณาให้มีมาตรฐาน
การเชื่อมโยงโครงข่ายเคเบิลทีวีเป็นบริการตามสาย จึงทำให้บริษัทมีแผนนำเทคโนโลยี internet protocol (IP) ที่จะทำให้เครือข่ายระบบอินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อกันได้ เพื่อรองรับการบริโภคสื่อในยุคดิจิทัล
แนวคิดดังกล่าวเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้กลุ่มไทยรัฐมองเห็นโอกาสที่จะนำเนื้อหาข่าวสารผ่านบริการเคเบิลทีวี และในอนาคตไปปรากฏอยู่ในอุปกรณ์ปลายทางหลายรูปแบบโดยไม่จำกัด นอกเหนือจากโทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์
โมเดลธุรกิจใหม่ดังกล่าวทำให้บริษัทซีทีเอช มีแผนใช้เงินลงทุนในปีนี้จำนวน 5 พันล้านบาท และจะเห็นภาพในภาคปฏิบัติใน 4-5 เดือนข้างหน้า
“ผมเห็นอนาคตธุรกิจเคเบิลทีวี ผมเป็นนักลงทุนมองเห็น แต่ต้องมีความมุ่งมั่นแท้จริง” วิชัย ทองแตงกล่าว
ปรากฏการณ์การรวมตัวกันของเคเบิลทีวีท้องถิ่นที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนรายใหญ่เข้ามาร่วมทุน เป้าประสงค์เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด และเป็นการปรับตัวรองรับเทคโนโลยีใหม่ แต่ทุนก้อนใหญ่กว่า 2 หมื่นล้านบาท และโมเดลธุรกิจใหม่ ยังถือว่าเป็นก้าวแรกของการเริ่มต้นเท่านั้น
|
|
|
|
|