|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |

พูดกันจังว่าฝายมีชีวิต วลีนี้เป็นแค่คำเก๋ๆ ที่ดึงความสนใจหรือเป็นเรื่องจริง วันนี้มีบทพิสูจน์จากฝาย สิ่งซึ่งไม่ถาวร สร้างจากไม้ไผ่ ก้อนหิน และกองดิน เจอฝน เจอน้ำไหลผ่านก็ผุพังไปตามเวลา แต่การผุพังของฝาย ให้ความชุ่มชื้น ให้กำเนิดป่ารุ่นใหม่ และรวมหยดน้ำเป็นสายไหลไปให้ประโยชน์กับแปลงไร่นาของชาวบ้าน
วันนี้ฝายที่บ้านสามขาเปลี่ยนสถานะจากเดิมที่เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาภัยแล้ง ไฟป่า พัฒนามาเป็น Profit Center ตัวใหม่ให้กับคนในหมู่บ้าน เพราะจากการสร้างฝายและดูแลป่าในพื้นที่อย่าง ต่อเนื่องด้วยกฎชุมชนแบบเข้มข้นว่า ไม่ว่า ไม้จะตายเองหรือถูกทำให้ตายก็ไม่สามารถขนย้ายออกจากป่าของหมู่บ้านได้ ทำให้น้ำท่าบริบูรณ์ ปริมาณน้ำสะสมในอ่างเก็บน้ำของหมู่บ้านมีเหลือเพียงพอใช้งานตลอดทั้งปี จนนำไปสู่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ
โรงไฟฟ้าพลังน้ำติ๊บปาละสาขา ชื่อที่ได้มาจากอดีตทหารเอกที่ร่วมกอบกู้เมือง ลำปางสมัยที่พม่ายึดครอง เป็นตำนานวีรบุรุษของบ้านสามขาที่ชาวบ้านสามขายึด เป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพียง 19.7 กิโลวัตต์ ผลิตไฟฟ้าได้อย่างน้อย 4-8 เดือนในหนึ่งปี
แม้จะเป็นเพียงโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก แต่โรงไฟฟ้าแห่งนี้ก็เป็นความภูมิใจของทั้งหมู่บ้านและผู้เกี่ยวข้อง ในฐานะโรงไฟฟ้าแห่งแรกของประเทศที่มีชุมชนเป็นเจ้าของ และเกิดขึ้นด้วยการผลักดันจากภายในชุมชนเอง
บ้านสามขา อ.แม่ทะ จ.ลำปาง จัดเป็นหมู่บ้านต้นแบบที่เริ่มต้นพลิกฟื้นสภาพป่าต้นน้ำของหมู่บ้านที่เคยแห้งแล้งให้กลับมามีชีวิตสดใสเหมือนในอดีต โดยเริ่มต้นใช้ฝายเป็นเครื่องมือดูแลฟื้นฟูและรักษาป่า ภายใต้ความรู้สึกเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งของชาวบ้านในตอนแรก ก่อนจะแปรเปลี่ยนเป็นศรัทธา หลังจากที่หมู่บ้านมีน้ำเหลือกินเหลือใช้จากป่าต้นน้ำที่กลับมาได้จริงเพราะฝาย และพัฒนาไปจนถึงการสร้างโรงไฟฟ้า
ที่สำคัญ น้ำทำให้ป่า ท้องไร่ ท้องนา กลับกลายมาเป็นแหล่งพึ่งพิงของชีวิตให้กลับมาตั้งหลักได้อีกครั้ง หลังจากเคยสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ทั้งดิน น้ำ และป่าไปเกือบหมด
ผู้ใหญ่บุญเรือน เฒ่าคำ แห่งบ้านสามขา ฉายภาพอดีตให้ฟังว่า ป่าไม้ในความดูแลของบ้านสามขามีอยู่ประมาณเกือบ 8,000 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าสนเขา ในอดีตมีปัญหาทำไร่เลื่อนลอย จนพื้นที่ป่าถูกภาครัฐให้สัมปทานกับนายทุน
เมื่อป่าหมดก็แห้งแล้ง ปี 2523 หมู่บ้านทำเรื่องเสนอของบสร้างอ่างเก็บน้ำ ได้งบมาในปี 2527 ชาวบ้านดีใจว่าจะมีน้ำ เหลือใช้ แต่อยู่ได้ 10 กว่าปีก็เจอกับภัยแล้ง พร้อมกับวิกฤตฟองสบู่ที่เกิดขึ้นในปี 2540 น้ำแห้งถึงก้นอ่างจนดินแตกระแหง เพราะไม่มีต้นทุนน้ำจากป่าต้นน้ำไหลลงอ่างให้เก็บสะสม ขณะที่ชาวบ้านเองก็เป็นหนี้สินถ้วนหน้า
“ปี 2540 รัฐบาลประกาศเอ็นพีแอล ที่บ้านสามขาก็ทันสมัยประกาศหนี้เสียด้วย แถมเจอธรรมชาติลงโทษอีก สภาพบ้านสามขาตอนนั้นแตกระแหงแห้งแล้ง ไม่ดูแลป่า ปล่อยให้ไฟไหม้ป่าทุกปี ฝายก็ไม่ได้ทำ ชาวบ้านสบายไม่ต้องทำนาเพราะปลูกไปก็ไม่ได้ข้าว น้ำประปาเปิดใช้ 4 วันก็หมดถัง ช่วงเดือนเมษายนลูกหลานกลับจากกรุงเทพฯ แทบไม่พอใช้ ปัญหาของเราทั้งนั้น สุดท้ายเราก็ต้องลุกขึ้นมาจัดการ” ผู้ใหญ่บุญเรือนเล่าประสบการณ์แร้นแค้นในอดีต
ปี 2544 พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นบุคคลแรกที่ยื่นมือเข้ามาในพื้นที่บ้านสามขา ภายใต้การดำเนินงานของเอสซีจี หรือ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย ในรูปแบบของการนำความรู้มาหยิบยื่นให้ พาไปศึกษาดูการแก้ปัญหาป่าต้นน้ำและภัยแล้งที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีการใช้ฝายเป็นเครื่องมือหลักในการฟื้นฟูพื้นที่ป่า ร่วมกับแนวการปลูกป่า 3 อย่าง ให้ประโยชน์ 4 อย่าง ใช้ไม้สร้างบ้าน เป็นพลังงาน เป็นแหล่งอาหารและยาสมุนไพร รวมทั้งเป็นแหล่งอนุรักษ์ดินและต้นน้ำ
“หมู่บ้านเราก็ไปเรียนรู้ ลองกลับมาทำ เริ่มพัฒนาจากที่ศึกษาดูงานมา พยายามแสวงหาหาแนวทางอนุรักษ์ สมัยก่อนเริ่มรักษาป่าได้ แต่ก็ยังมีไม้ตายทุกปีเพราะมีคนไปทำให้ตาย ตอนนี้เราปิดเลย ไม้เป็นไม้ตายก็เอาออกไม่ได้ เว้นแต่ไม้ในโซนหัวไร่ปลายนาที่อนุโลมให้ใช้ได้กรณีจะสร้างบ้าน ถ้าในโซนที่กันไว้เป็นป่าต้นน้ำ ลำธาร ระเบียบหมู่บ้านเราห้ามตัดทำลายเป็นเด็ดขาด” ผู้ใหญ่บุญเรือนเล่าถึงมาตรการของหมู่บ้านที่กำหนดใช้ควบคู่ไปกับการเรียนรู้
ทุกปีคนในหมู่บ้านทำฝายอย่างต่อเนื่อง บางคนเริ่มเข้าใจถึงขั้นรักและรู้สึกเป็นเจ้าของฝาย ขนาดไฟไหม้ป่าบางครั้งถึงกับวิ่งไปป้องกันฝายก่อน ใครที่ยังไม่เข้าใจก็ได้เรียนรู้
ผลลัพธ์ที่ทุกคนได้คือน้ำกินน้ำใช้และความสมบูรณ์ของทรัพยากรในหมู่บ้าน จากน้ำไม่พอใช้ในอดีต วันนี้ในหมู่บ้านมีน้ำประปาภูเขาใช้ทุกหลังคาเรือนโดยเสียค่าบริการเดือนละ 5 บาท มีน้ำดื่มติ๊บปาละสาขา ที่มีเครื่องหมาย อ.ย. จำหน่ายขวดละ 1 บาท และเป็นรายได้ที่ปันผลให้กับชุมชนทุกปี มีกองทุนหมู่บ้านจากวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มออมทรัพย์รูปแบบต่างๆ ที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนวิธีคิดให้หันมาเก็บออมตั้งแต่แรกเกิดเพื่อเป็นหลักประกันในชีวิต และกำกับการใช้จ่ายด้วยบัญชีครัวเรือน
จากที่เคยสำรวจว่าทั้งหมู่บ้านมีหนี้สินอยู่ 22 ล้านบาท ตอนนี้กองทุนสัจจะออมทรัพย์ของหมู่บ้านมีเงินออม 12 ล้านบาท โดยมีหลักเกณฑ์ว่าต่อให้คนเป็นหนี้ก็ต้องมีเงินออม
การเปลี่ยนแปลงของบ้านสามขา จากทำนาปลูกข้าวไม่ได้กิน ขาดแคลนน้ำ ตอนนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด ปฏิทินการเกษตรและระบบการออมของบ้านสามขา ค่อยๆ สร้างความมั่นคงให้ชาวบ้านในชุมชน ซึ่งเป็นการต่อยอดจากความมั่นคงทางทรัพยากรที่ชาวบ้านช่วยกันทำให้ฟื้นคืนกลับมา โดยเฉพาะ “น้ำ” ดังพระราชดำรัส ของในหลวงที่ว่า “น้ำคือชีวิต” คำง่ายๆ ที่มีคนค่อยๆ ลึกซึ้งเพิ่มขึ้นจากประสบการณ์ของตัวเอง
ปฏิทินการเกษตรของบ้านสามขา เดือนมกราคม ชาวบ้านจะเริ่มปลูกถั่วลิสง หอมแดง กระเทียม เพื่อเก็บเกี่ยวประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมตามชนิดของพืชที่ปลูก จากนั้นเว้นช่วงให้ดินพัก เดือนมิถุนายนเริ่มลงต้นกล้าทำนา เข้าเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมก็เก็บเกี่ยว บางแปลง อาจปลูกพืชผักอินทรีย์หมุนเวียนในนาข้าวช่วงฤดูแล้ง กิจกรรมหมุนเวียนเพียงเท่านี้ก็พอบริโภคตลอดทั้งปี
“ที่บ้านสามขา เราทำนาปีละครั้ง ห้ามใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง ใครใช้จะไม่ปล่อยน้ำเข้านา น้ำใช้เพื่อเกษตรฟรี ผลเรื่องสิ่งแวดล้อมมันกว้าง แต่เราเริ่มต้นจากเรื่องเล็กๆ ทำฝายดูแลไฟป่า จนสิ่งแวดล้อมและป่าฟื้นขึ้นมา มีรายได้มากมายจากป่า” ผู้ใหญ่บุญเรือนยืนยัน เขาแจกแจงรายละเอียดผลประโยชน์ที่ชาวบ้านได้จากป่าให้ฟังว่า
ถ้าเก็บข้อมูลดีๆ จะเห็นว่าชุมชนมีรายได้เข้าหมู่บ้านนับล้าน ไม่ว่าจากการขายเห็ด ขายผักหวานมดแดง หนอนรถด่วน โดยเฉพาะน้ำผึ้งที่เก็บได้จากป่า ที่รวบรวมได้ในปี 2554 ที่ผ่านมาก็มีมูลค่ามากกว่าแสนบาท
“ถ้าสิ่งแวดล้อมไม่ดี เป็นหนี้เป็นสินมันเครียดทุกวัน เครียดกับปวดหัวลงกระเพาะ ปวดท้อง ต้องแก้ให้ตรงจุดซึ่งมีเทคนิคหลายอย่าง ที่บ้านสามขาเราก็ค่อยๆ ทำ โดยเฉพาะเรื่องการ เกษตรทุกวันนี้บ้านผม จากปลูกข้าวห้ามใช้สารเคมีต่อยอดไปถึงการพัฒนาพันธุ์ข้าว ปลูกข้าว ที่ใช้น้ำน้อยที่สุด กิจกรรมเหล่านี้มันก็โยงต่อกันมา ปัญหาทุกปัญหา ถ้าไม่ระเบิดจากข้างในนี่แก้ยาก เพราะฉะนั้นบางเรื่องต้องใช้เวลา จะทำให้ยั่งยืนก็ต้องให้คนมีจิตสำนึกจริงๆ แล้วระเบิดจาก ข้างใน”
นอกเหนือจากรายได้จากการเกษตร และป่าชุมชน สมาชิกในหมู่บ้านสามารถมีรายได้จากกลุ่มออมทรัพย์หรือกลุ่มต่างๆ ที่เป็นสมาชิก กรณีของกลุ่มออมทรัพย์จะปันผลทุกเดือนตุลาคม กำไรที่ได้จะหักออก ก่อน 3% เป็นค่าประกันความเสี่ยงของกลุ่ม ที่เหลือ 50% แบ่งให้สมาชิก อีก 50% เก็บ ไว้เป็นค่าสวัสดิการสังคมของหมู่บ้าน เช่น ดูแลผู้สูงอายุ ค่ารักษาพยาบาล เงินขวัญถุงสำหรับสมาชิกใหม่ของหมู่บ้าน เป็นต้น
ปราโมทย์ เตชะสุพัฒน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ซิเมนต์ องค์กรที่น้อมนำพระราชดำรัส “น้ำคือชีวิต” มาต่อยอดสู่กิจกรรมซีเอสอาร์ภายใต้ชื่อโครงการ “เอสซีจีรักษ์น้ำเพื่ออนาคต” กล่าวถึงความสำเร็จของบ้านสามขาว่า เป็นหมู่บ้านที่ต่อยอดความสำเร็จจากฝายไปสู่การพัฒนา เป็นวิสาหกิจชุมชนในรูปแบบโรงไฟฟ้าอย่างน่าชื่นชม และเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นโดยชาวบ้านเอง
บ้านสามขาเป็นหนึ่งในเครือข่ายพันธมิตรสร้างฝายของเอสซีจี ซึ่งมีจำนวนฝายที่สร้างมาถึงปี 2555 นี้แล้วมากกว่า 30,000 ฝาย และมีแผนจะสร้างให้ครบ 50,000 ฝาย เพื่อฉลอง 100 ปีของบริษัทในปี 2556 เฉพาะที่บ้านสาขามีจำนวนฝายมากกว่า 8,000 ฝาย เฉลี่ยแล้วพื้นที่ป่า 1 ไร่ มีฝายอย่างน้อย 1 ตัว
บ้านสามขาและเอสซีจีต่างเริ่มต้นจากการศึกษาตัวอย่างจากศูนย์พัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ พร้อมๆ กัน ศูนย์ศึกษาที่ให้แนวคิดเรื่องต้นทางเป็นป่าไม้ ปลายทาง เป็นประมง ระหว่างทางเป็นเกษตร ซึ่งบ้าน สามขานำไปใช้ได้อย่างเห็นผล
“สิ่งที่ผมเห็นคือ รูปแบบที่บ้านสาม ขาทำ เป็นผลที่เกิดจากเศรษฐกิจที่มีน้ำเป็น ต้นทาง ให้ผลผลิตเพียงพอต่อการบริโภค ทำเกษตรได้แม้ในฤดูแล้ง ชุมชนมีรายได้ดี ยิ่งกว่านั้นมีการพูดคุยกันมากขึ้น เข้าใจและช่วยเหลือกัน ร่วมกันทำและด้านสิ่งแวด ล้อมก็ดี กลายเป็นรากฐานเศรษฐกิจของสังคมที่มีดินน้ำป่าสิ่งแวดล้อมที่ดี เอสซีจี หวังว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้ได้เรียนรู้และรู้แนวทางการจัดการน้ำอย่างถูกต้องตามแนวพระราชดำริ เห็นความสำคัญของน้ำเพื่อทุกคนจะได้ช่วยกันดูแลให้อยู่กับทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน” ปราโมทย์กล่าว
การพัฒนาของบ้านสามขา เป็นผลจากการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ แต่สำหรับเอสซีจีซึ่งเข้าไปเป็นกลไกผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ปฏิบัตินั้น ปราโมทย์เล่าว่า เอสซีจีมีการวางแนวทาง ไว้ตั้งแต่ต้นในการดำเนินโครงการไว้ 2 แนวทาง คือ
หนึ่ง-เริ่มจากเน้นขยายผลการสร้างฝายในแนวกว้าง ให้เกิดความแพร่หลายในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งยังมีพื้นที่ที่ต้องการฟื้นฟูป่าอีกมาก และเอสซีจีไม่สามารถทำได้สำเร็จโดยลำพัง จึงต้องขยายแนวคิดการสร้างฝายสู่เครือข่ายและองค์กรอื่นๆ ในแนวกว้าง
สอง-ในแนวลึก คือเป้าหมายการมุ่งพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของชุมชนจากการสร้างฝาย หรือเป็นกระบวนการ “สร้างฝายในใจคน”
“เราพบว่า ในแง่ซอฟต์ไซด์ การทำฝายทำให้เกิดการเรียนรู้แบบเปิดใจกว้าง จะเห็นว่าเวลาทำฝายเราจะพบว่ามันไม่มีแบบอย่างโดยเฉพาะเจาะจงว่าที่ใช้ได้ต้อง เป็นแบบนี้ๆ เท่านั้น ทุกอย่างต้องปรับไปตามพื้นที่และวัสดุที่อยู่ในบริเวณนั้น เพราะฉะนั้นหลังเรียนรู้ เมื่อนำไปปฏิบัติต่างพื้นที่ ต่างความคิด ต่างการกระทำ ชุมชนหนึ่งเมื่อพัฒนาจนเข้มแข็งก็จะเกิดการพัฒนาในแนวลึกที่ต่างกันไป”
ยกตัวอย่าง เหมือนกับที่บ้านสามขามุ่งมั่นสร้างฝายจนพัฒนาไปสู่การมีโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ เพราะมองเห็นว่าปริมาณน้ำที่ไหลจากอ่างเก็บน้ำในที่สูงสู่ไร่นาเกิดพลังงานธรรมชาติที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ เป็นผลพลอยได้ที่สร้างรายได้และความภูมิใจให้กับชุมชน และแน่นอนว่าจะเป็นกำลังใจให้ชุมชนมุ่งมั่นพัฒนาและดูแลสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้นต่อไปอีก
ขณะที่หมู่บ้านอื่นๆ ในเครือข่ายทำฝายก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงตามกันมา จากด้านชีวิตความเป็นอยู่ สภาพแวด ล้อม ผลที่ได้ในการทำเกษตร บางพื้นที่เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้นพัฒนาจนเป็นเมือง เกิดปริมาณขยะสะสม ก็เริ่มหันมาจัดการคัดแยกขยะ สร้างโรงงานขยะชุมชนที่กลายเป็นแหล่งรายได้ และอาจจะพัฒนาไปสู่การผลิตไฟฟ้าในอีกรูปแบบหนึ่งในอนาคต เช่นกรณีของบ้านสาสมหก หนึ่งในเครือข่ายฝายอีกหมู่บ้านหนึ่ง
“นี่คือตัวอย่างในแนวลึกที่เรามุ่งพัฒนา วิสาหกิจชุมชนที่เกิดขึ้นจะนำรายได้ กลับมาสู่ชุมชน เป็นโซเชียลเอ็นเตอร์ไพร์ซ ที่จะทำให้เกิดชุมชนเข้มแข็ง มีศักดิ์ศรีไม่ต้องคอยพึ่งคนอื่น และนำไปสู่ความยั่งยืนที่เกิดจากความสามารถในการใช้ความคิดต่อยอดโดยชุมชน การมีผลิตผลของชุมชนที่เข้มแข็ง เป็นเรื่องที่น่าชื่นใจมากจากการพัฒนา และเป็นสิ่งที่เอสซีจีเห็นแล้วภูมิใจ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนด้านแนวคิดเริ่มต้น”
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้โครงการโรงไฟฟ้าของบ้านสามขาเกิดขึ้นได้เร็ว เอสซีจีให้เงินยืมจำนวน 1.6 ล้านบาทในการก่อตั้ง ซึ่งกองทุนที่รับหน้าที่ดูแลของบ้านสามขา จะนำรายได้กำไรจากการขายไฟให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตคืนให้กับเอสซีจีในอนาคตตามจำนวนที่ยืมไปโดยไม่เสียดอกเบี้ย
แนวทางของเอสซีจีที่ปราโมทย์กล่าวมานั้น ได้รับการยืนยันที่สอดคล้องกันจากผู้ใหญ่บุญเรือน ที่กล้าพูดยืนยันอย่างเต็มปากเต็มคำว่า สิ่งที่ชุมชนได้รับหลายประการล้วนเริ่มต้นมาจากการทำฝาย และฝายไม่ได้ให้แค่ประโยชน์ทางธรรมชาติ แต่ฝายยังสร้างความเป็นคนให้กับคนสร้างฝาย
“ฝายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทุกคนว่ามันง่าย แค่เก็บหินมาใส่ก็เรียบร้อย แต่ลึกๆ มันไม่ใช่แบบที่เราคิด ถ้าสังเกตดีๆ ทำฝายไม่ได้ฝายนะ บางกลุ่มรวมกันมา มาทำฝายด้วยกัน ไม่เคยรู้จักกัน แต่พอกิจกรรมฝายขับเคลื่อนปุ๊บ เกิดความเป็นพี่เป็นน้อง ความเอื้ออาทรช่วยเหลือ มีความสามัคคีความรักเป็นกลุ่มเป็นก้อนเกิดขึ้น ฝายก็เสร็จเร็ว แล้วพอทำสำเร็จก็เกิดพลังขึ้นในใจ นอกจากฝายที่จะส่งให้ป่าสมบูรณ์ ยังส่งผลสะท้อนจากใจคนที่จะนำไปสู่การคิดและเปลี่ยนแปลงในสิ่งดีๆ ตามมาอีกมาก” ผู้ใหญ่บุญเรือนสรุป
ที่แน่ๆ เมื่อความสมบูรณ์ของป่ามาบวกกับความคิดดีๆ ของคนสร้างฝาย ย่อมนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ยิ่งขึ้นในท้ายที่สุดได้อีกด้วย
|
|
 |
|
|