Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2527








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2527
สงครามชิงสมุด "หน้าเหลือง"             
 


   
search resources

เอทีแอนด์ที
สว่าง เลาหทัย
Telecommunications




เอทีแอนด์ที (AT&T-American Telephone and Telegraph Corp.) เป็นกลุ่มธุรกิจที่ยิ่งใหญ่อย่างมากกลุ่มหนึ่ง

จีทีดีซี (GTDC-General Telephone Directory Company) ก็เป็นกลุ่มที่เรียกได้ว่าไม่เล็ก

ส่วนสยามเทเลโฟนไดเรคทอรี่ แม้ชื่ออาจจะยังฟังไม่คุ้นหูเท่าไร

แต่เมื่อมีกลุ่มเจ้าของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐหนุนอยู่เต็มตัว ก็คงเป็นกลุ่มที่ใครยากจะดูแคลนหรือก้าวข้ามไปได้ง่ายๆ เหมือนกัน แล้วอะไรจะเกิดขึ้น? เมื่อผู้ยิ่งใหญ่ที่ดูจะไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันทั้ง 3 กลุ่มนี้กำลังทุ่มตัวเข้าทำสงครามห้ำหั่นกันเต็มเหยียด เพื่อช่วงชิงลิขสิทธิ์การเป็นผู้จัดทำสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.)

โดยมีศักดิ์ศรีและผลตอบแทนเป็นพันล้านบาทเป็นเดิมพัน

“มันเป็นการเปิดประมูลครั้งสำคัญครั้งหนึ่งที่ต้องยอมรับกันตรงๆ ว่า ทศท. หนักใจมาก ทศท. เปิดประมูลเรื่องอื่นๆ มาแล้วเป็นร้อยเป็นพันเรื่อง จะมีก็เรื่องสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์นี่แหละที่ตึงมือจริงๆ ดูสิ...มีแต่ระดับพี่เบิ้มที่เสนอตัวเข้ามา ต่างฝ่ายต่างก็ถือหน้าไพ่หน้าใหญ่ๆ ด้วยกันทั้งนั้น” เจ้าหน้าที่ระดับบริหารขององค์การโทรศัพท์ซึ่งขอให้ช่วยปกปิดชื่อกล่าวเปิดใจกับ “ผู้จัดการ”

สมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์เริ่มมีการจัดพิมพ์เป็นฉบับแรกเมื่อต้นปี 2511 หรือประมาณ 17 ปีที่แล้ว โดยบริษัทอเมริกันจดทะเบียนในมลรัฐเดลาแวร์ ชื่อ “เยนเนราล เทเลโฟน ไดเร็คตอรี่” หรือ จีทีดีซี (GTDC) เป็นผู้ได้ลิขสิทธิ์ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน

จีทีดีซีเซ็นสัญญากับองค์การโทรศัพท์ฯ ทั้งหมด 2 ฉบับ ฉบับแรกทำขึ้นเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2510 ไปสิ้นสุดเอาวันที่ 31 มีนาคม 2519 ผู้ลงนามฝ่ายองค์การโทรศัพท์ชื่อ จรูญ วัชราภัย ผู้อำนวยการในขณะนั้น ส่วนผู้ลงนามฝ่ายจีทีดีซี คือ Donald Francis Briggs กรรมการผู้จัดการ

พื้นฐานแห่งการตกลงตามสัญญาฉบับแรก จีทีดีซีจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายต่างๆ อันสืบเนื่องจากการรวบรวม การจัดพิมพ์ ไปจนถึงการส่งมอบสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ให้แก่ผู้เช่าทั้งหลาย และจีทีดีซีมีสิทธิหารายได้จากการโฆษณาในสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์เป็นค่าตอบแทน โดยรายได้ส่วนที่เกิดขึ้นจีทีดีซีสัญญาว่าจะแบ่งให้องค์การโทรศัพท์ 20 เปอร์เซ็นต์ทุกๆ ปี

“ในสัญญาใช้คำว่า...อัตราเปอร์เซ็นต์ของรายได้ที่เรียกเก็บได้และจะต้องจ่ายให้องค์การโทรศัพท์ทุกครั้งที่พิมพ์ ยี่สิบเปอร์เซ็นต์...ก็หมายความว่าถ้ามีรายได้เข้ามาก็แบ่งให้ แต่ถ้ายังไม่มีรายได้ก็ไม่ต้องแบ่ง ระยะแรกๆ องค์การโทรศัพท์ก็ยังไม่ได้ผลประโยชน์อะไร เพราะการโฆษณายังไม่เข้ามา เพิ่งมาเริ่มมีรายได้บ้างก็ตอนหลังๆ อันนี้ก็น่าเห็นใจจีทีดีซีเขาเหมือนกัน กว่าที่ตลาดโฆษณาในสมุดหน้าเหลืองจะบูมขึ้นมาได้ เขาก็ต้องลงทุนไปไม่น้อย...” คนวงในคนหนึ่งเล่าให้ฟัง

ต่อมาเมื่อต้นปี 2517 ก่อนหน้าที่สัญญาระหว่าง จีทีดีซีกับองค์การโทรศัพท์ จะสิ้นสุดลง 2 ปีก็มีเหตุการณ์บางอย่าง (อ่านจากล้อมกรอบ) มีผลทำให้ต้องมีการเซ็นสัญญากันอีกเป็นครั้งที่ 2

สัญญาฉบับที่ 2 เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2517 ไปสิ้นสุดจนถึงการจัดพิมพ์สมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ประจำปี 2528 หรือที่กำลังจะได้เห็นกันอีกไม่นานวันนี่แหละ

“พูดกันง่ายๆ มันก็เป็นการต่อสัญญาล่วงหน้า 2 ปี เพื่อให้จีทีดีซี สามารถทำธุรกิจไปได้อีก 10 ปี นั่นเอง” คนในวงการคนเดิมสรุป

สัญญาที่เซ็นกันครั้งที่ 2 นี้มีเนื้อหาคล้ายๆ กับสัญญาฉบับแรก จะมีต่างออกไปบ้างก็คือ เรื่องการแบ่งรายได้สุทธิที่เก็บได้จากการโฆษณาให้แก่องค์การโทรศัพท์โดยทั้งสองฝ่ายตกลงกันอย่างแน่ชัดว่า

ปี 2517 ส่วนแบ่งรายได้ที่จะต้องให้องค์การโทรศัพท์เท่ากับ 21 เปอร์เซ็นต์

ปี 2518ส่วนแบ่งรายได้ที่จะต้องให้องค์การโทรศัพท์เท่ากับ 21 เปอร์เซ็นต์

ปี 2519 ส่วนแบ่งรายได้ที่จะต้องให้องค์การโทรศัพท์เท่ากับ 21 เปอร์เซ็นต์

ปี 2520ส่วนแบ่งรายได้ที่จะต้องให้องค์การโทรศัพท์เท่ากับ 22 เปอร์เซ็นต์

ปี 2521 ส่วนแบ่งรายได้ที่จะต้องให้องค์การโทรศัพท์เท่ากับ 22 เปอร์เซ็นต์

ปี 2522ส่วนแบ่งรายได้ที่จะต้องให้องค์การโทรศัพท์เท่ากับ 23 เปอร์เซ็นต์

ปี 2523ส่วนแบ่งรายได้ที่จะต้องให้องค์การโทรศัพท์เท่ากับ 23 เปอร์เซ็นต์

ปี 2524 ส่วนแบ่งรายได้ที่จะต้องให้องค์การโทรศัพท์เท่ากับ 24 เปอร์เซ็นต์

ปี 2525ส่วนแบ่งรายได้ที่จะต้องให้องค์การโทรศัพท์เท่ากับ 24 เปอร์เซ็นต์

ปี 2526 ส่วนแบ่งรายได้ที่จะต้องให้องค์การโทรศัพท์เท่ากับ 25 เปอร์เซ็นต์

ปี 2527ส่วนแบ่งรายได้ที่จะต้องให้องค์การโทรศัพท์เท่ากับ 25 เปอร์เซ็นต์

ปี 2528 ส่วนแบ่งรายได้ที่จะต้องให้องค์การโทรศัพท์เท่ากับ 25 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้คำว่า “รายได้สุทธิจากการโฆษณาในสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์” หมายถึงจำนวนเงินที่เก็บได้จริงทั้งหมดจากรายการโฆษณาที่ปรากฏในสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ โดยหักค่าธรรมเนียมทางกฎหมาย ค่าธรรมเนียมที่จำเป็นในการเรียกเก็บรายได้จากการโฆษณาและหักค่านายหน้า (คอมมิชชั่น) ในการขายโฆษณาเรียบร้อยแล้วซึ่งสำหรับค่านายหน้าขายโฆษณานั้นจะหักได้ไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ของราคาค่าลงโฆษณา

“ก็ออกจะเป็นการให้ส่วนแบ่งรายได้กับองค์การโทรศัพท์ที่ต่ำเกินไป ยิ่งในช่วงเซ็นสัญญาครั้งที่สองนี้ รายได้จากหน้าเหลืองเริ่มเข้ามามากแล้ว

เพราะฉะนั้นใครจะมาเดินเรื่องให้มีการต่อสัญญาก็คงยาก โดยเฉพาะเมื่อประธานองค์การโทรศัพท์คือ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก พูดออกมาแล้วว่า จะต้องเปิดประมูลหาผู้ที่สามารถให้ผลประโยชน์สูงสุดแก่องค์การโทรศัพท์...” แหล่งข่าวรายหนึ่งบอก

เมื่อไม่มีใครกล้าหาญพอที่จะต่อสัญญาให้จีทีดีซี


การประมูลชิงความเป็นเจ้ายุทธจักรสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ก็เปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2527 โดยก่อนหน้านั้น 1 เดือนเต็มๆ องค์การโทรศัพท์ก็ได้เปิดขายเอกสารการประมูลไปให้แก่เอกชนผู้สนใจจำนวนทั้งสิ้น 16 ราย

ปรากฏว่าจากจำนวน 16 รายนี้ก็มีผู้กล้าหลุดเหลือเข้าถึงวันยื่นซองเพียง 4 ราย

1. กลุ่มบริษัท เยนเนราลเทเลโฟน ไดเรคทอรี่ (ร่วมกับโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิช)

2. กลุ่มบริษัท สยามเทเลโฟนไดเรคทอรี่ (กลุ่มไทยรัฐร่วมกับศูนย์การพิมพ์พลชัย)

3. กลุ่มบริษัท เอทีแอนด์ที อินเตอร์เนชั่นแนล อิ๊งค์

4. บริษัท เอทีทีไอ ไทยมีเดีย

ทั้งนี้องค์การโทรศัพท์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาตัดสินไว้ 5 คน ประกอบด้วย เสนาะ ธีวรากร, วิฑู รักษ์วนิชพงศ์, สืบสาย ทรงสุรเวช, มานิตย์ ทวีลาภ และ วิสูตร ศิริวาร โดย เสนาะ ธีวรากร ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายธุรการเป็นประธานฯ

คณะกรรมการทั้ง 5 เมื่อประชุมนัดแรกก็ได้มีมติไม่รับพิจารณาซองประมูลของบริษัท เอทีทีไอ ไทยมีเดีย ด้วยเหตุผลว่า เอทีทีไอ ไทยมีเดีย เข้าประมูลโดยไม่ได้ซื้อซองและเอกสารการประมูลให้ถูกต้องตามขั้นตอนเสียก่อน

จึงมีเพียง 3 กลุ่มที่จะต้องพิจารณาหาผู้เหมาะสมกันต่อไป

“สำหรับรายที่ตกไปก็คือ เอทีทีไอ ไทยมีเดีย เขาก็คงไม่ได้วิตกอะไรมาก เพราะจริงๆ แล้วเขาก็เป็นหนึ่งในกลุ่มเอทีแอนด์ทีอยู่แล้ว ตัวข้อเสนอที่ยื่นเข้าไปก็เหมือนกับของเอทีแอนด์ทีทั้งกระบิ” ผู้อยู่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์เล่าให้ฟัง

เอทีทีไอ ไทยมีเดีย เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเอทีแอนด์ทีกับบริษัทศรีกรุงวัฒนาของสว่าง เลาหทัย-นักธุรกิจใหญ่ผู้กำลังมาแรง ไม่ว่าจะหันไปจับงานด้านไหน เพราะฉะนั้นกลุ่มบริษัทเอทีแอนด์ที ซึ่งมีเอทีทีไอ ไทยมีเดีย รวมอยู่ด้วยก็คงพอจะพูดได้ว่าเป็นกลุ่มที่ประกอบด้วยตัวเอทีแอนด์ที และกลุ่มของสว่าง เลาหทัย ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบจับมือกันระหว่าง 2 กลุ่มนี้


ก็คงเปรียบได้กับการติดปีกเสือที่ทั้งดุร้ายและแข็งแกร่งอยู่แล้วให้มีฤทธิ์เดชมากขึ้น เอทีแอนด์ที เป็นบริษัทที่มีประสบการณ์และความชำนิชำนาญด้านการจัดทำสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์เรียกได้ว่า ไม่น้อยหน้าใครในโลกนี้ (แม้จะเป็นเพียงกิจการแขนงหนึ่งของกลุ่มเอทีแอนด์ที) และด้วยการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านการรวบรวมและนำเสนอรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ผ่านสื่อชนิดอื่นๆ นอกเหนือจากการตีพิมพ์เป็นรูปเล่มอย่างที่รู้จักกัน ก็ได้ทำให้เอทีแอนด์ที เข้าไปมีส่วนแบ่งในตลาดต่างๆ ทั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ

“ไม่ต้องดูมากหรอก เอาแค่ในเมืองไทย ร้อยวันพันปี เยนเนราล เทเลโฟน ไดเรคทอรี่ ไม่เคยออกซัพพลีเมนท์บอกเล่าถึงตัวเองและบุญคุณที่ทำไว้กับสังคมไทยเลย แต่พอรู้ว่าจะต้องมีการเปิดประมูลและต้องเจอกับ เอทีแอนด์ที เท่านั้นแหละ รีบจัดซัพพลีเมนท์ออกมาทวงบุญคุณกันทันที...” แหล่งข่าวคนหนึ่งตั้งข้อสังเกต

เอทีแอนด์ที เข้าประมูลอย่างค่อนข้างจะสุขุมเอามากๆ คือ ได้มีการส่งทีมผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐฯ เข้ามาสำรวจข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับธุรกิจการจัดพิมพ์และหาโฆษณาในสมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์ก่อนล่วงหน้าจำนวนกว่า 10 คน ดังนั้นข้อเสนอการให้ผลตอบแทนแม้จะห่างไกลคนละเรื่องกับข้อเสนอของ เยนเนราล เทเลโฟน ไดเรคทอรี่ และสยามเทเลโฟนไดเร็คทอรี่ (รายละเอียดของข้อเสนอโปรดอ่านในล้อมกรอบ) ซึ่งสำหรับบางคนก็มองว่า “มันสูงเกินกว่าที่จะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ” นั้น ฝ่ายผู้เสนออย่างเอทีแอนด์ทีก็คงต้องเถียงหัวชนฝา

“เขาสำรวจอย่างมืออาชีพแล้วว่า เขาทำได้และสามารถให้ผลตอบแทนเป็นพันล้านบาทในขณะที่อีก 2 กลุ่ม ให้ได้เพียง 400-500 ล้านบาท ใน 5 ปี แทนที่จะมองกันว่า เขาจะเสนอตัวเลขที่สูงเกินความจริง ทำไมไม่มองกันบ้างว่า อีก 2 กลุ่มนั้นเสนอผลประโยชน์ที่ต่ำเกินไป...” คนในองค์การโทรศัพท์พูดกัน

คงจะเป็นความจริงอย่างที่สว่าง เลาหทัยซึ่งมีส่วนร่วมในกลุ่มเอทีแอนด์ที เป็นนักธุรกิจคนหนึ่งที่มีคอนเน็กชั่นถึงตัวพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ประธานองค์การโทรศัพท์ และด้วยเงื่อนไขประการนี้ก็คงจะมีส่วนให้เอทีแอนด์ทีตัดสินใจเลือกผู้ร่วมทุนฝ่ายไทยเป็นกลุ่มของ สว่าง เลาหทัยอยู่บ้าง

แต่ถ้าผลตอบแทนที่เอทีแอนด์ทีเสนอให้องค์การโทรศัพท์ก็ไม่ได้สูงสุดกว่าทุกๆ กลุ่มแล้ว คอนเน็กชั่นที่ใครจะมีอยู่กับใครก็คงช่วยให้เอทีแอนด์ทีเข้าป้ายเป็นกลุ่มที่ 1 ของการพิจารณาตัดสินไม่ได้เป็นแน่

เช่นเดียวกัน..การที่พลเอกอาทิตย์ กำลังเอกจะประกาศเป็นแนวทางสำหรับการตัดสินว่า “ใครให้ผลประโยชน์สูงสุด จะต้องตัดสินให้ผู้นั้นชนะ...” แล้วสรุปว่า เป็นการวางแนวเพื่อเข้าข้างเอทีแอนด์ที ก็คงจะสรุปเช่นนั้นไม่ได้ เนื่องจากสิ่งที่พลเอกอาทิตย์ประกาศนั้น ได้กระทำขึ้นก่อนหน้าที่จะมีการเปิดซองประมูล

ว่าไปแล้วศึกครั้งนี้ก็คงจะมีอะไรคล้ายๆ กับการประมูลเหล้าแม่โขง ซึ่งกลุ่มเตชะไพบูลย์ เสนอให้ผลประโยชน์เป็นค่าตอบแทนแก่กรมโรงงานอุตสาหกรรมสูงกว่ากลุ่มเถลิง เหล่าจินดา และมีการโจมตีกันอย่างกว้างขวางว่าพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเอนเอียงเข้าข้างกลุ่มเตชะไพบูลย์

“ตอนนั้นก็พูดกันว่า ผลตอบแทนของกลุ่มเตชะไพบูลย์สูงเกินกว่าที่จะทำได้ แต่จริงๆ เป็นอย่างไรก็คงเป็นเรื่องที่พิสูจน์ไปแล้ว...” แหล่งข่าวรายหนึ่งเปรียบเทียบให้ฟัง

เมื่อข้อเสนอในเรื่องผลตอบแทนปรากฏออกมาว่า เอทีแอนด์ทีเสนอสูงเป็นอันดับ 1 กลุ่มสยามเทเลโฟนไดเรคทอรี่มาเป็นอันดับที่ 2 และเจ้าเก่าตลอด 17 ปีที่ผ่านมาอย่างเยนเนราล เทเลโฟนไดเรคทอรี่ มาเป็นอันดับ 3 การประมูลครั้งนี้ก็น่าจะปิดฉากลงด้วยการตัดสินใจให้ เอทีแอนด์ทีเป็นผู้ชนะสามารถเข้าไปเซ็นสัญญากับองค์การโทรศัพท์ต่อไป

แต่คณะกรรมการก็สรุปกันว่า เอทีแอนด์ทียังมีปัญหาไม่เหมาะสมอยู่อย่างน้อยก็ 3 ประการคือ

1. ข้อเสนอที่จะให้บริษัท เอทีทีไอ มีเดีย เป็นผู้เซ็นสัญญาแทน เอทีแอนด์ที

2. เอทีแอนด์ทียังไม่มีสำนักงานในประเทศไทยและยังไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจจากกระทรวงพาณิชย์

3. การยื่นข้อเสนอส่วนแบ่งรายได้โดยองค์การโทรศัพท์ต้องรับภาระภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องที่ (รวม 3.3 เปอร์เซ็นต์) ผิดวิสัยที่เคยทำกันมา

จากช่วงโหว่ของเอทีแอนด์ทีเช่นนี้เองคณะกรรมการทั้ง 5 คน ก็มีความเห็นต่างๆ กันออกไป

เสนาะ ธีวรากร กับวิสูตร ศิริวาร มีความเห็นว่า ไม่ควรพิจารณาข้อเสนอของเอทีแอนด์ที เพราะผิดเงื่อนไขหลายข้อ และเสนอว่าควรพิจารณาข้อเสนอของเยนเนราลเทเลโฟน ไดเรคทอรี่ ซึ่งแม้ว่าจะเสนอผลตอบแทนต่ำสุดแต่ก็เสนอเงื่อนไขอื่นๆ พร้อมกว่าทุกกลุ่ม

“ฝ่ายนี้เมื่อไม่เอาเอทีแอนด์ที แทนที่จะพิจารณาสยามเทเลโฟนไดเรคทอรี่ เขากลับบอกว่า กลุ่มสยามเทเลโฟนฯ เป็นกลุ่มที่ไม่มีประสบการณ์ ผลงานที่นำมาแสดงคือ สมุดไดเรคตอรี่รวมกิจการค้าขายของคนไทยในสหรัฐฯ ก็งั้นๆ ไม่ได้บ่งบอกถึงความชำนาญงานด้านนี้ นอกจากนั้นก็ยังไม่ได้ระบุชัดเจนในเรื่องการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ จะบอกก็เพียงว่า จะใช้ระบบวิดีโอเท็กซ์เหมือนกับกลุ่มเอทีแอนด์ที แต่จะเป็นระบบวิดีโอเท็กซ์ของใคร กลุ่มนี้จะระบุชัดเจนอีกทีหลังเซ็นสัญญา คือก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2528...” ผู้ที่ทราบเรื่องเล่าเบื้องหลัง

อย่างไรก็ตาม มีกรรมการ 2 คนที่ค้านว่า ถ้าไม่เอาเอทีแอนด์ทีก็ควรเอากลุ่มสยามเทเลโฟนไดเรคทอรี่ กรรมการ 2 คนนี้คือ มานิตย์ ทวีลาภ กับ วิฑู รักษ์วนิชพงศ์

ส่วนกรรมการอีกคนคือ สืบสาย ทรงสุรเวช นั้นไม่ได้แสดงความเห็นระบุลงไปชัดเจน

เมื่อเสียงหนุนสยามเทเลโฟนไดเรคทอรี่และเยนเนราลเทเลโฟนไดเรคทอรี่ก้ำกึ่งกัน ก็ได้มีการแสดงความเห็นว่า น่าจะมีหนังสือไปถึงกลุ่มเอทีแอนด์ทีเพื่อให้ทบทวนข้อเสนอบางข้อเสียใหม่ เพราะมิฉะนั้นการเลือกกลุ่มที่ไม่ได้เสนอผลตอบแทนสูงสุด โดยไม่มีเหตุผลที่หนักแน่นมาหักล้าง เรื่องก็อาจจะถูกโยนกลับมาจากผู้ใหญ่ระดับสูงก็เป็นได้

ในการประชุมของคณะกรรมการเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการจึงได้มีหนังสือขอให้กลุ่มเอทีแอนด์ที ไขข้อข้องใจจำนวน 8 ข้อให้หายสงสัย คือ...

1. เอทีแอนด์ที จะต้องเป็นผู้ลงนามในสัญญาด้วยตนเอง จะให้เอทีทีไอ ไทยมีเดีย ไม่ได้

2. ยืนยันว่าจะให้รายได้ตามที่เสนอมา ไม่ว่าองค์การโทรศัพท์จะขยายการติดตั้งคู่สายเพิ่มหรือไม่ในอนาคต

3.ให้รับภาระภาษีการค้าและภาษีบำรุงท้องที่แทนองค์การโทรศัพท์

4. ยืนยันส่วนแบ่งรายได้ในอัตราที่เสนอชุดที่ 2 (ระยะเวลา 10 ปี) แม้ว่ารายได้จริงๆ
จะต่ำกว่าที่เอทีแอนด์ทีประมาณการไว้ในอนาคต

5. ยืนยันการส่งเงินส่วนแบ่งรายได้ขั้นต่ำรวม 5 ปี จำนวน 1,672 ล้านบาท

6. ชี้แจงรายละเอียดการจัดการโรงพิมพ์ พร้อมทั้งแผนงานในด้านการพิมพ์ให้ ทศท.

7. ให้ยอมรับและปฏิบัติตามเงื่อนไขการประกวดราคาทุกๆ ประการ

8. ให้ส่งหลักฐานของการขออนุญาตการประกอบธุรกิจการพิมพ์และการโฆษณาจากกระทรวงพาณิชย์มาให้ ทศท.

เมื่อแรกที่มีการยื่นข้อข้องใจทั้ง 8 ข้อ ไปให้เอทีแอนด์ที นั้นก็ดูเหมือนจะเชื่อๆ กันว่า เอทีแอนด์ทีไม่มีทางที่จะตอบรับกลับมาได้ทั้งหมด

โอกาสของกลุ่มเยนเนราลเทเลโฟนไดเรคทอรี่ และกลุ่มสยามเทเลโฟนไดเรคทอรี่ จึงพูดกันว่าน่าจะมีมากขึ้น

“กลุ่มสยามเทเลโฟนฯ นั้นน่ะเขาไม่สู้กระตือรือร้นมาก เพราะเขาคิดว่า ถ้าได้ก็ดี แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ในส่วนลึกๆ เขาเชื่อว่าเขาจะไม่ได้ด้วยซ้ำไป แต่สำหรับเยนเนราลเทเลโฟนไดเรคทอรี่ เขาฮึดสู้มาโดยตลอด เมื่อเอทีแอนด์ทีเจอปัญหาแบบนี้เขาจึงพยายามออกแรงลุ้นมากขึ้น...” แหล่งข่าวที่อยู่วงในบอกกับ “ผู้จัดการ”

แต่ในที่สุดเรื่องที่ใครบางคนไม่อยากให้เป็นไปก็เป็นไปขึ้นจนได้!

วันที่ 1 ตุลาคม 2527 ภายหลังจากที่เอทีแอนด์ทีนำปัญหาทั้ง 8 ข้อไปขบคิดเรียบร้อยแล้ว ก็ได้ตอบยืนยันยินดีปฏิบัติตามข้อข้องใจของคณะกรรมการทุกข้ออย่างปราศจากเงื่อนไข

นักสังเกตการณ์หลายคนซึ่งติดตามเรื่องการเปิดประมูลครั้งนี้มาตลอดตั้งแต่ต้น เชื่อกันว่าอย่างไรเสียคณะกรรมการฯ ก็คงจะต้องโยนเรื่องทั้งหมดไปให้พลตรีประทีป ชัยปานี ผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์เป็นผู้ชี้ขาดอีกชั้น

และก็เป็นไปได้อย่างมากที่ผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์อาจจะต้องขอให้คณะกรรมการองค์การโทรศัพท์เป็นผู้ตัดสินขั้นสุดท้าย

เอทีแอนด์ทีอาจจะยังอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบทุกๆ กลุ่ม เพราะผลตอบแทนที่จะให้องค์การโทรศัพท์นั้นสูงกว่ากันลิบลับ ส่วนข้อจำกัดอื่นๆ ก็สามารถจัดการแก้ไขได้ครบถ้วน การจะยกกลุ่มอื่นมาแทนเอทีแอนด์ที จึงออกจะเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงต่อคำครหาเป็นที่สุด

แต่ให้ตายเถอะ...แม้แต่ เอทีแอนด์ทีเองก็คงไม่กล้าเชื่อมั่นในฐานะเต็งหนึ่งของตนได้อย่างเต็มเปี่ยมเป็นแน่...

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us