|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
“Humanising Financial Service Across Asia” สโลแกนบนหน้าจอเว็บไซต์ของเมย์แบงก์ ตอกย้ำให้เห็นยุทธศาสตร์อย่างชัดเจนในการเข้าสู่ตลาดการเงินอาเซียนและสามารถยึดพื้นที่ให้บริการใน 8 ประเทศ เหลือเพียงพม่าและลาวเท่านั้น
ปัจจุบันเมย์แบงก์เป็นแบงก์อันดับ 1 ในประเทศมาเลเซีย มีสินทรัพย์ 14,300 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นแบงก์อันดับ 4 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเป็นรองก็แต่เพียงแบงก์สิงคโปร์เท่านั้น
เมย์แบงก์เป็นสถาบันการเงินที่มีอายุ 52 ปี มีผู้ถือหุ้นหลักรายใหญ่ 2 ราย คือ AmanahRaya Trustees Berhad ถือร้อยละ 46.79 และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน (Employees Provident Fund Board) ถือร้อยละ 11.05
รูปแบบการให้บริการของเมย์แบงก์ มีแนวคิดคล้ายกับแบงก์ใหญ่ในประเทศ ไทย คือให้บริการการเงินครบวงจร (Universal Banking) ให้กับลูกค้าระดับองค์กรและธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) รวมถึงลูกค้าบุคคลทั่วไป โดยมีบริการเงินฝาก สินเชื่อ เป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุน (Investment Bank: IB) และการให้บริการการเงินในรูปแบบของศาสนาอิสลาม
เครือข่ายบริการด้านการเงินของเมย์แบงก์ขยายครอบคลุม 17 ประเทศทั่วโลก และมีสาขาทั้งหมด 2,200 แห่ง มีลูกค้า 22 ล้านราย
แม้เมย์แบงก์จะให้บริการการเงินไปทั่วโลก แต่เป้าหมายในทศวรรษนี้คือมุ่งตรงเข้าสู่ถนนอาเซียน ที่ใครๆ มักจะกล่าวถึงเสมอว่า “ยุคทองของอาเซียน” ซึ่งเป็นวลีที่พูดถึงในช่วง 1-2 ปีนี้
ขณะที่เมย์แบงก์อาจจะเห็นโอกาสก่อนคำพูดเหล่านี้จะเกิดขึ้น สิ่งที่ยืนยันวิสัยทัศน์ ก็คือ การเปิดให้บริการการเงินและมีสาขาใน 8 ประเทศ คือ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน เวียดนาม เขมร และฟิลิปปินส์
ส่วนอีก 2 ประเทศ คือ พม่ากับลาว อยู่ระหว่างกระบวนการจัดตั้งสาขาต่อไป โดยเฉพาะลาว อยู่ระหว่างการยื่นเรื่องขอตั้งสาขา ส่วนพม่ามีแผนจะตั้งสำนักงานตัวแทน และรอจนกว่ารัฐบาลพม่าจะเปิดให้บริการการเงินอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง
ดาโต๊ะ ศรี อับดุล วาฮิด โอมาร์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารเมย์แบงก์ ได้แสดงวิสัยทัศน์ของแบงก์ เข้าร่วมแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ หลังจากตัดสินใจซื้อ บล.กิมเอ็ง เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด
ซีอีโอ เมย์แบงก์กำหนดเป้าหมายไว้ว่า ในปี 2015 (พ.ศ.2558) ธนาคารจะต้องเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน ตะวันออกกลาง จีน และอินเดีย พร้อมคาดหวังรายได้จากต่างประเทศร้อยละ 40 จากปัจจุบันมีรายได้ร้อยละ 27 โดยจะเริ่มขยับให้เป็นร้อยละ 30 ก่อนเป็นลำดับแรก
การขับเคลื่อนและรุกตลาดอาเซียนของเมย์แบงก์ โดยใช้ส่วนของธุรกิจด้านวาณิชธนกิจ (Investment Banking) นำร่อง รวมไปถึงธุรกิจบริหารหลักทรัพย์
การใช้ 2 ธุรกิจนี้บุกตลาดอาเซียน ทำให้เมย์แบงก์คาดหมายไว้ว่าในปี 2015 ธุรกิจด้านวาณิชธนกิจต้องเป็นอันดับ 5 และเป็นอันดับ 1 ในการเป็นผู้ให้บริการหลักทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันประเทศที่ครองอันดับหนึ่งในธุรกิจหลักทรัพย์ คือประเทศไทยและฟิลิปปินส์
ดาโต๊ะ ศรี อับดุล วาฮิด โอมาร์ กล่าวว่ากลยุทธ์ในการขยายธุรกิจในต่างประเทศ คือ Synergy และกุญแจที่ทำให้ประสบความสำเร็จคือการจัดตั้งสถาบันการเงินในแต่ละประเทศ และการเป็นผู้ให้บริการวาณิชธนกิจ (IB)
การเติบโตของเมย์แบงก์ในธุรกิจต่างประเทศ จะใช้ทุกโอกาสของตลาดเงินและตลาดทุนที่เปิดกว้าง ตั้งแต่ร่วมทุนและการเข้าไปซื้อกิจการเหมือนดังเช่น การเข้าซื้อกิจการของกิมเอ็ง โฮลดิ้ง ในประเทศสิงคโปร์ จำนวน 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ครอบครองหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์
การเข้าซื้อกิจการดังกล่าวทำให้ บล.กิมเอ็งในประเทศไทยกลายเป็นของเมย์แบงก์ ไปโดยอัตโนมัติ รวมถึงประเทศอื่นๆ
จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ ทำให้ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ประกาศครองความเป็นแชมป์อันดับ 1 ไปอีก 10 ปีข้างหน้า จากเดิมที่เป็นอันดับหนึ่งอยู่แล้วเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา และมีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 12
เห็นได้ว่ากลยุทธ์การเข้าซื้อกิจการกิมเอ็ง เป็นการต่อยอดธุรกิจเพื่อขยายให้เติบโต เพราะกิมเอ็งที่ให้บริการในอาเซียนและภูมิภาคอื่นๆ นั้น ค่อนข้างเป็นบริษัทที่ได้รับความนิยมจากลูกค้าอยู่แล้ว ทำให้การต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์
เป้าหมายของเมย์แบงก์ในตลาดประเทศไทย ไม่ได้คาดหวังเป็นเพียงผู้นำด้านบริการวาณิชธนกิจเพียงอย่างเดียว แต่ธนาคารกำลังรอคอยโอกาสและจังหวะเพื่อจัดตั้งธนาคารขึ้นภายในประเทศ ส่วนรูปแบบการเข้ามายังไม่แน่ชัด เพราะหากจะรอให้มีการเปิดเสรีด้านการเงินที่เปิดให้จัดตั้งสถาบันการเงินได้นั้นจะต้องรอไปอีก 8 ปี (พ.ศ.2563) เพราะข้อตกลงของทั้ง 10 ประเทศยังไม่ชัดเจน
แม้กฎเกณฑ์ที่มีข้อจำกัดการเปิดเสรีด้านการเงินในแต่ละประเทศจะเป็นส่วนหนึ่งของอุปสรรคในการขยายธุรกิจ แต่เมย์แบงก์ก็ไม่ได้ละเลย เพียงแต่ได้มองก้าวข้ามไปเพื่อไปสู่จุดหมายที่ได้ตั้งเป้าเอาไว้
วิสัยทัศน์ของเมย์แบงก์จะกำหนดเป็นแผนธุรกิจเชิงรุกมากกว่าการตั้งรับ และในปี 2558 ดูเหมือนว่าธนาคารไม่ได้ต้องการเป็นผู้นำในตลาด AEC เท่านั้น ทว่า หากมองยุทธศาสตร์ตามภูมิศาสตร์ เมย์แบงก์ได้ขยายไปในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลางไปแล้ว
การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของเมย์แบงก์ในธุรกิจต่างประเทศและอาเซียน แม้จะยังไม่สามารถสร้างรายได้เทียบเคียงในประเทศมาเลเซีย แม้แต่ดาโต๊ะ ศรี อับดุล วาฮิด โอมาร์ ซีอีโอ จะปฏิเสธว่าในระยะยาวก็จะยังไม่เกิดขึ้นก็ตาม
แต่ด้วยจำนวนประชากรในอาเซียน 600 ล้านคน ตลาดที่รวมตัวเป็นหนึ่งเดียว รวมไปถึงประชากรของจีน 1,300 ล้าน และของอินเดียกว่าพันล้านคน อาจเป็นตลาดที่สร้างมูลค่าให้กับเมย์แบงก์ในอนาคตข้างหน้าอย่างแน่นอน
|
|
|
|
|