|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
การเดินทางของผู้บริหารเมย์แบงก์ สถาบันการเงินอันดับหนึ่งของมาเลเซีย เข้ามาแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในประเทศไทย หลังจากซื้อบริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าการเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนของสถาบันการเงินในกลุ่มประเทศอาเซียนทวีความเข้มข้นมากขึ้น
เมย์แบงก์ไม่ใช่สถาบันการเงินแห่งแรกที่เห็นโอกาสในการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ที่เปิดให้มีการเปิดเสรีการค้าและบริการในภูมิภาคนี้
หากแต่เชื่อว่ากลุ่มสถาบันการเงินใน 10 ประเทศที่รวมตัวกัน ต่างก็เริ่มเห็นโอกาสของการเปิดเสรีในครั้งนี้ ทว่าโอกาสที่มองเห็นต้องขึ้นอยู่กับการผลักดันนโยบายระดับประเทศ วิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่จะต้องมองผ่านทะลุปัญหาหรืออุปสรรค และกำหนดแผนออกมาเป็นเชิงยุทธศาสตร์
เหมือนดั่งเช่นในปัจจุบัน การเจรจาการเปิดการค้าเสรีในอาเซียนจะทยอยเปิด โดยเฉพาะด้านภาคการค้าที่กำหนดกรอบเวลาชัดเจน 2015 (ปี 2558) แต่ในส่วนภาคบริการ โดยเฉพาะการเปิดเสรีด้านการเงินยังไม่สัมฤทธิผลเท่าที่ควร และข้อตกลงให้มีการยืดหยุ่นไปถึงปี 2020 (2563)
หากมองตามระเบียบกฎการเจรจาค้าเสรีภาคบริการ การเงินอย่างตรงไปตรงมา จะเห็นว่าธนาคารแห่งชาติของ 10 ประเทศยังต้องการปกป้องสิทธิในส่วนนี้ เพราะถือว่าสถาบันการเงินเป็นแกนกลางสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ในขณะที่การเปิดเสรีการเงินถูกปิดบังไว้ แต่ในทางตรงกันข้ามกลุ่มประเทศในอาเซียน และสถาบันการเงินระดับโลก ไม่ได้ละเลยที่จะมองหาโอกาสด้านอื่นๆ ให้เข้าไปลงทุนในประเทศนั้นๆ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สถาบันการเงินระดับโลก หรือแม้แต่ในระดับภูมิภาคอาเซียน ต่างก็มีการขยับอยู่ตลอดเวลา อาทิ ธนาคาร HSBC และ Citi Bank ค่อนข้างเห็นชัดสามารถเข้าไปลงทุนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก และครอบคลุมอาเซียน ส่วนธนาคารในภูมิภาคอาเซียนที่มีการเคลื่อนย้ายการลงทุนเป็นรายแรกๆ เช่น ธนาคารยูโอบี ธนาคารดีบีเอส และ ธนาคารโอซีบีซี ซึ่งธนาคารทั้ง 3 แห่ง ล้วนมาจากสิงคโปร์
และธนาคารจากประเทศมาเลเซีย กำลังเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เริ่มเคลื่อนไหวมากขึ้นและมากขึ้น โดยเฉพาะธนาคารซีไอเอ็มบี และธนาคารเมย์ แบงก์
การเคลื่อนไหวของสถาบันการเงินในสิงคโปร์และมาเลเซียในประเทศไทย น่าจะเป็นกรณีศึกษาอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงยุทธศาสตร์การทำธุรกิจของสถาบันการเงินเหล่านี้ โดยเฉพาะการใช้ยุทธวิธีเข้าซื้อกิจการ
ดีบีเอส แบงก์เข้าซื้อกิจการธนาคารไทยทนุ ในปี 2541 ส่วนธนาคารยูโอบีซื้อกิจการธนาคารรัตนสิน ธนาคารซีไอเอ็มบี ซื้อกิจการธนาคารไทยธนาคาร และเมื่อต้นปี 2555 เมย์แบงก์ ซื้อกิจการ บล.กิมเอ็ง และเปลี่ยนชื่อเป็น บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด
ยุทธศาสตร์เข้าซื้อกิจการทำให้แบงก์สิงคโปร์และมาเลเซีย ล้วนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กุมอำนาจการบริหารเบ็ดเสร็จ ท้ายที่สุดกลายเป็นเครือข่ายหนึ่งของสิงคโปร์และมาเลเซียไปโดยปริยาย
การเข้าซื้อกิจการธนาคารไทยของทั้ง 2 ประเทศ เปิดโอกาสให้สามารถบริการทางด้านการเงินแทบจะเรียกได้ว่าเทียบเท่ากับธนาคารพาณิชย์ไทย
การเข้าไปเปิดให้บริการทางด้านการเงินของสิงคโปร์ และมาเลเซีย ในกลุ่มประเทศภูมิภาคอาเซียน ใช้โอกาสและจังหวะที่เหมาะสมอยู่เสมอ แม้แต่กลุ่มประเทศอาเซียนอีก 4 แห่งที่เรียกว่า CLMV เข้ามาร่วมล่าสุด เช่น เขมร ลาว พม่า และเวียดนาม ทั้งสองประเทศก็มิได้ละเลยแต่อย่างใด
ในทางกลับกัน เมื่อหันมามองยุทธศาสตร์ของสถาบันการเงินไทยในอาเซียน จะพบว่ามีโมเดลธุรกิจแตกต่างจากสิงคโปร์และมาเลเซีย
ธนาคารที่ประกาศชัดเจนจะรุกไปอาเซียนมี 2 แห่ง คือธนาคารกรุงเทพและธนาคารกสิกรไทย มีทั้งสาขาและพันธมิตร ในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ แม้จะเปิดบริการด้านการเงินใน 3 ประเทศ มีสาขาในลาว หรือก่อตั้ง ธนาคารกัมพูชาพาณิชย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ถือหุ้น 100% (ธนาคารในเครือ) รวมทั้งร่วมทุนก่อตั้งธนาคารวีนาสยาม มีสัดส่วนการถือหุ้น Vietnam Bank for Agricultural and Rural Development ถือร้อยละ 34 กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ กรุ๊ป และธนาคารไทยพาณิชย์ถือรายละร้อยละ 33 แต่นโยบายของแบงก์ก็ยังไม่ชัดเจนในการทำธุรกิจในอาเซียนมากนัก
ส่วนแผนธุรกิจของธนาคารกรุงเทพและธนาคารกสิกรไทย มีความเหมือนกันคือ การเข้าไปรุกตลาดอาเซียนก็เพื่อติดตามลูกค้า ส่วนความแตกต่างกันคือ ธนาคารกรุงเทพจะเข้าไปตั้งสาขาและตั้งสำนักงานตัวแทน ในขณะที่ธนาคารกสิกรไทยมีโมเดลธุรกิจหลักคือร่วมมือกับสถาบันการเงินท้องถิ่น เพื่อดูแลลูกค้าของแต่ละประเทศที่ข้ามไปลงทุน
ในขณะที่แผนธุรกิจของสถาบันการเงินของมาเลเซียมีนโยบายให้ธนาคารรายเล็กๆ รวมตัวกันให้เป็นธนาคารขนาดใหญ่ และเปิดให้กองทุนต่างๆ เข้ามาถือหุ้นและร่วมผลักดันให้สถาบันการเงินให้ออกไปขยายธุรกิจในต่างประเทศ
มีแนวโน้มว่า แม้จะไม่มีการเปิดเสรีในเร็วๆ นี้ แต่สถาบันการเงินของฟิลิปปินส์หรืออินโดนีเซีย จะเริ่มเก่งมากขึ้น ถ้าหากสถาบันการเงินประเทศไทยไม่ปรับตัวและอ่อนแอจะสร้างความได้เปรียบให้กับสถาบันการเงินที่เข้ามาแข่งภายในประเทศ รวมถึงการแข่งขันในระดับภูมิภาคอาเซียน
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิแอดไวเซอร์ จำกัด กล่าวกับนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ว่า การบุกตลาดอาเซียนของสถาบันการเงินไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศมาเลเซียหรือสิงคโปร์ ค่อนข้างล้าหลัง เนื่องจากมุ่งเน้นทำตลาดในประเทศและพึงพอใจกับผลประกอบการ และกำไรในปัจจุบัน
ในมุมมองของ ดร.เศรษฐพุฒิมองว่า การเปิดเสรีการเงินจะเปิดในส่วนของตลาดทุนมากกว่า เช่น บริษัทหลักทรัพย์ ส่วนสถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคาร จะยังไม่เปิดเนื่องจากธนาคารชาติแต่ละประเทศยังกีดกันเพราะมองว่าบริการด้านการเงินเป็นเรื่องของการแข่งขันของคู่แข่งมากกว่าเป็นการเปิดเสรี
อย่างไรก็ดี การเปิดเสรีด้านหลักทรัพย์ เริ่มมีความคืบหน้ามากขึ้น หลังจากการประชุมผู้บริหารระดับสูงของตลาด หลักทรัพย์อาเซียนครั้งที่ 16 ณ ประเทศสิงคโปร์ เมื่อปลายเดือนเมษายน มีข้อตกลงร่วมกันของตลาดหลักทรัพย์ 7 แห่ง 6 ประเทศ คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย รวมถึงตลาดหลักทรัพย์ 2 แห่งของเวียดนาม ได้แก่ ฮานอย และโฮจิมินห์
โดยให้มีการดำเนินการจัดทำ โครงการเชื่อมโยงการซื้อขายหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์อาเซียน (ASEAN Trading Link) มีมาเลเซีย และสิงคโปร์นำร่องเป็นคู่แรก เริ่มเปิดซื้อขายในเดือนมิถุนายนนี้ ส่วนตลาดหลักทรัพย์ไทยจะเชื่อมโยงการซื้อขายในเดือนสิงหาคมนี้
แมกนัส บอคเกอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ กล่าวในนามผู้แทนของตลาดหลักทรัพย์อาเซียนว่า ความร่วมมือของสมาชิกในตลาดหลักทรัพย์อาเซียนที่จะเปิดโครงการ ASEAN Trading Link นี้ ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญซึ่งจะนำไปสู่การขจัดอุปสรรคของการซื้อขายหลักทรัพย์ระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน การเชื่อมโยงการซื้อขายนี้ จะทำให้นักลงทุนในภูมิภาคอาเซียนได้รับความสะดวกในการเข้าถึงทางเลือกการลงทุนที่กว้างขึ้น และสามารถได้ประโยชน์จากการเติบโตของภูมิภาคนี้ ตลาดหลักทรัพย์ทั้ง 3 แห่งที่เข้าร่วม ASEAN Trading Link ในระยะแรกนี้ มีมูลค่าหลักทรัพย์ราคาตลาดรวมคิดเป็น 2 ใน 3 ของมูลค่ารวม 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ของตลาดหลักทรัพย์อาเซียนทั้ง 7 แห่ง
การร่วมมือของตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียน ถือว่าเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่ง แต่สถานการณ์โดยรวมการเจรจาการเปิดเสรีด้านการเงินใน AEC มีการประชุมอย่างต่อเนื่อง สำหรับประเทศไทย มีคณะทำงาน 3 กลุ่ม คือ 1. คณะทำงานเปิดเสรีตลาดทุน (Capital Liberalization) 2. คณะทำงานภาคบริการ การเงิน (Financial Service Liberalization) และ 3. คณะทำงานนโยบายชำระเงิน (Capital Market Development) อยู่ในส่วนของตลาดทุนและตลาดหลักทรัพย์
ในส่วนของภาคการเงินจะยังไม่เปิดเสรีในปี 2015 แต่จะยืดระยะเวลาออกไปเปิดในปี 2020 ส่วนในปี 2015 จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปิดเสรีการค้าเป็นหลักที่เจรจาสืบเนื่องมาหลายปี
เหตุผลในการยืดการเปิดเสรีการเงินออกไปอีก 5 ปีนั้น เพราะการเจรจายังไม่มีรายละเอียดลงแนวลึก โดยเฉพาะข้อกำหนดที่เรียกว่า Qualified ASEAN Bank: QAB คือการกำหนดคุณสมบัติของสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างอ่อนไหว เนื่องจากต้องการปกป้องผลประโยชน์ให้กับสถาบันการเงินใน 10 ประเทศ โดยไม่ต้องการให้สถาบันการเงินนอกประเทศมาสวมสิทธิของ AEC
เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เปิดเสรีทางด้านการเงิน และกำหนดกรอบของ QAB ได้แล้ว ภาพของสถาบันการเงินใน 10 ประเทศ สามารถเข้าไปตั้งธนาคารพาณิชย์ได้เฉกเช่นเดียวกับแบงก์ท้องถิ่น
แม้ว่ากฎระเบียบต่างๆ ของสถาบันการเงินอยู่ในขั้นตอนการเจรจา แต่ดูเหมือนว่าสถาบันการเงินจากสิงคโปร์ และมาเลเซียจะช่วงชิงโอกาสด้วยการวางรากฐานไม่ว่าจะเข้าไปซื้อกิจการ ตั้งสาขา หรือตั้งสำนักงานตัวแทน รวมทั้งร่วมทุนในกลุ่มประเทศอาเซียนมานานพอสมควร
หากเปรียบเทียบขนาดสินทรัพย์ ยิ่งแสดงให้เห็นชัดว่าธนาคารพาณิชย์ไทยมีขนาดเล็กกว่าสิงคโปร์ 3.6 เท่า และเล็กกว่ามาเลเซีย 1.7 เท่า ดังนั้น AEC จะสร้างโอกาสให้ธนาคารไทยได้มากน้อยเพียงใด
นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ จึงเลือกวาระดังกล่าว เพื่อนำเสนอให้เห็นยุทธศาสตร์ของ 4 ธนาคารใน 2 ประเทศ คือ เมย์แบงก์ ธนาคารซีไอเอ็มบี ประเทศมาเลเซีย และธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ประเทศไทย มีมิติในการมองตลาด AEC อย่างไร
|
|
|
|
|