|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ในหลายๆ บทความที่ผ่านมา ผู้เขียนได้หยิบยกเรื่องราวของความรุนแรงในความครอบครัวมาพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย การบังคับขืนใจภรรยาให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย แม้กระทั่งการใช้คำพูดที่หยาบคายก็ล้วนแต่เป็นเรื่องของความรุนแรง ในครอบครัว และมีผู้หญิงตกเป็นเหยื่อทั้งนั้น
เรื่องความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องที่รัฐบาลในประเทศส่วนใหญ่ได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการผ่านกฎหมายคุ้มครอง ให้ตำรวจเข้าจับกุมผู้ที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงได้ โดยที่ไม่สนใจว่าจะเป็นบิดาหรือสามี หรืออย่างในบางประเทศทางรัฐบาลก็จะจัดหาอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยรอบบ้านไม่ให้ผู้ที่ใช้ความรุนแรงกลับ เข้ามาในบ้านได้อีก แต่วิธีการแก้ไขเหล่านี้ก็ยังไม่เพียงพอต่อการป้องกันความรุนแรงในครอบครัว
รัฐบาลอังกฤษจึงมีการประกาศทดลองใช้แผนนำร่องกฎหมายแคลร์ (Clare’s law) เมื่อเดือน มีนาคมที่ผ่านมา กฎหมายนี้จะมีการทดลองใช้เป็นระยะ 1 ปีใน 4 พื้นที่คือ Wiltshire, Gwent, Greater Manchester และ Nottinghamshire ซึ่งกฎหมายนี้จะอนุญาตให้คนที่เป็นแฟนกันเข้าไปสอบถามข้อมูล ของอีกฝ่ายจากตำรวจว่า แฟนของตัวเองนั้นเคยมีประวัติเป็นคนใช้ความรุนแรงในครอบครัวหรือไม่ หรือเป็นคนที่เคยถูกจับเพราะใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง หรือไม่
เหตุผลหลักๆ ที่ประเทศอังกฤษเริ่มทดลองใช้กฎหมายฉบับนี้เพราะเมื่อปี 2552 มีผู้หญิงคนหนึ่ง เธอชื่อว่าแคลร์ วูดส์ (Clare Wood) ถูกฆ่าตาย จากอดีตแฟนของเธอที่ชื่อว่า จอร์จ แอปเปิลตัน (George Appleton) ด้วยการรัดคอให้เธอตายและ เผาศพทิ้ง เพียงเพราะว่าเธอขอเลิกกับเขา และเธอไม่อยากถูกทำร้ายร่างกายอีกต่อไป จึงทำให้จอร์จเกิดความไม่พอใจและตัดสินใจฆ่าแคลร์ทิ้ง หลังจาก นั้นจอร์จก็ตัดสินใจผูกคอตาย
เรื่องที่เกิดขึ้นทำให้ไมเคิล บราวน์ (Michael Brown) ซึ่งเป็นพ่อของแคลร์และเป็นอดีตนายตำรวจ รู้สึกว่าเรื่องร้ายๆ เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าหากว่า แคลร์รับรู้เรื่องราวในอดีตของจอร์จจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตอนที่เธอเข้าไปแจ้งความเรื่องถูกทำร้ายร่างกายจากจอร์จว่า แฟนของเธอที่ชื่อว่าจอร์จนั้นมีประวัติการทำร้ายร่างกายอดีตแฟนของเขามาก่อนและยังเคยมีคดีลักพาตัวแฟนเก่าด้วย ถึงแม้ว่าแคลร์จะไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายครั้งว่าเธอถูกทำร้ายร่างกายจากจอร์จ และเขาก็ยังคอยตามรังควานเธอ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้บอกประวัติของจอร์จ หรือเตือนให้เธอระวังจอร์จเลยแม้แต่น้อย
สาเหตุการเสียชีวิตของแคลร์ทำให้ไมเคิลเชื่อว่า ถ้าหากผู้หญิงได้รับรู้ถึงอดีตของคนรักว่าเคยใช้ความรุนแรงมาก่อนหรือไม่ เหมือนลูกสาวของตนก็จะทำให้ผู้หญิงมีความระมัดระวังตัวมากขึ้น และไม่ต้องมาพบจุดจบของชีวิตด้วยการถูกคนที่เป็นแฟนกันฆ่าตาย
ส่วนตัวของไมเคิลก็รู้สึกผิดที่ไม่ได้เตือนลูกสาวเกี่ยวกับจอร์จ เพราะตอนที่แคลร์พาจอร์จ มาแนะนำให้รู้จักว่า พูดคุยถูกคอกันในเฟซบุ๊กและตัดสินใจที่จะคบหาเป็นแฟนกัน ตอนที่ไมเคิลเห็นจอร์จครั้งแรกนั้นเขารู้สึกว่าผู้ชายคนนี้ไม่ธรรมดา และดูน่ากลัว เพียงแต่เห็นว่าเป็นคนที่ลูกรัก จึงคอยดูอยู่ห่างๆ และแคลร์ก็ไม่เคยบอกไมเคิลเลยว่าเธอถูกทำร้ายร่างกาย ทำให้กว่าไมเคิลจะรู้เรื่องทุกอย่างก็สายเกินไป และเขายังรู้สึกว่าถ้าหากได้กล่าวเตือนบุตรสาวบ้างก็อาจจะไม่มีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น
จากเหตุการณ์การเสียชีวิตของลูกสาวในวันนั้น ทำให้ไมเคิลตัดสินใจที่จะรณรงค์ให้คนอังกฤษหันมาให้ความสนใจเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงมากขึ้นและตำรวจก็ควรจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้นเช่นกัน เพราะทุกวันนี้ในประเทศอังกฤษมีผู้หญิง ถูกทำร้ายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไมเคิลเชื่อว่า ถ้าหากแคลร์รู้ว่าคนรักของเธอมีอดีตอย่างไร และเจ้าหน้าที่ ตำรวจให้ความสนใจในเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงมากขึ้นแคลร์ก็คงจะยังมีชีวิตอยู่ เพราะก่อนที่จอร์จจะทำร้ายเธอถึงแก่ชีวิต แคลร์ได้โทรไปขอความช่วย เหลือจากตำรวจ แต่ตำรวจมาถึงที่เกิดเหตุก็ช้าเกินไปจึงไม่สามารถช่วยเธอไว้ได้ทัน
ปัจจุบันในประเทศอังกฤษจะมีผู้หญิงอย่างน้อย 2 คนต่อสัปดาห์ที่ถูกแฟนเก่าฆ่าตายและเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควรต่อการช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกทำร้ายเมื่อได้รับแจ้ง ทำให้หลายๆ คนเริ่มหันมาเพ่งเล็งเจ้าหน้าที่ตำรวจเช่นกันว่า ควรจะให้ความสำคัญในการช่วยเหลือผู้หญิงเหล่านี้ทันทีที่ได้รับโทรศัพท์
ดังนั้น ทางรัฐบาลอังกฤษจึงตัดสินใจเริ่มทดลองใช้แผนนำร่องการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงในประเทศ (The Domestic Violence Disclosure Scheme (DVDS) หรือเรียกสั้นๆ ว่า กฎหมายแคลร์ (Clare’s Law) ด้วยการอนุญาตให้ตำรวจเปิดเผยประวัติของคนที่เป็นแฟนกันว่าเคยมีประวัติในการใช้ความรุนแรงมาก่อนหรือไม่ ในการทดลองใช้ในครั้งนี้ไม่ได้ระบุว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องเปิดเผยข้อมูลในทุกกรณี แต่ให้ตำรวจพิจารณา ถึงความเหมาะสมเป็นกรณีๆ ไปว่า ผู้หญิงที่เข้ามา สอบถามข้อมูลเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงหรือไม่ที่จะโดนทำร้าย หรือถ้าหากบอกข้อมูลเหล่านี้ไปแล้วก็จะสามารถป้องกันการเกิดอาชญากรรมได้ และกฎหมายนี้ยังไม่อนุญาตให้ตำรวจเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ให้กับญาติพี่น้อง หรือเพื่อนของฝ่ายหญิงที่มาสอบถามข้อมูลเป็นอันขาด
เจนนิเฟอร์ ลีมมิ่ง (Jennifer Leeming) ซึ่ง เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำงานในด้านการตรวจสอบสาเหตุการตายอย่างผิดปกติได้ออกมาสนับสนุน รัฐบาลในครั้งนี้ และเชื่อว่าผู้หญิงทุกคนควรมีสิทธิ์ที่จะได้รับรู้ว่า แฟนของเธอนั้นเคยมีประวัติในเรื่องความรุนแรงมาก่อนหรือไม่ เพื่อที่จะได้ระมัดระวัง ตัวเองมากขึ้นและสามารถป้องกันการเกิดอาชญา-กรรมได้
รัฐมนตรีมหาดไทย เทเรซ่า เมย์ (Theresa May) เชื่อว่า การทดลองใช้กฎหมายแคลร์ในครั้งนี้จะช่วยป้องกันการเกิดโศกนาฏกรรมแบบครั้งนี้ ไม่ให้เกิดขึ้นอีก และกฎหมายแคลร์จะเป็นตัวช่วยยืนยันว่าการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้เป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมาย
กฎหมายแคลร์ฟังดูแล้วก็น่าจะเป็นกฎหมาย อีกหนึ่งฉบับในอนาคตที่น่าจะช่วยให้ความรุนแรงต่อผู้หญิงลดลง
แต่ก็ใช่ว่าทุกหน่วยงานและทุกองค์กรจะสนับสนุนกฎหมายแคลร์ หลายองค์กรและหน่วยงาน ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงได้ออกมาให้ความเห็นว่า กฎหมายแคลร์เป็นเพียงแค่การป้องกันไม่ให้มีเหตุการณ์อย่างกรณีของแคลร์เกิดขึ้นมาอีก แต่ไม่ช่วยให้ความ รุนแรงต่อผู้หญิงในสังคมลดลง เพราะกฎหมายแคลร์ ฉบับนี้ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับกฎหมายที่ใช้อยู่ในประเทศ อังกฤษปัจจุบันที่อนุญาตให้พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถ ไปสอบถามข้อมูลของแฟน หรือเพื่อนของบุตรหลาน ที่ดูแล้วอาจจะเป็นผู้กระทำผิดทางเพศหรือใช้ความ รุนแรงกับเด็กได้จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับบุตรหลานได้
ทางหน่วยงานและองค์กรเหล่านี้เห็นพ้องต้องกันว่า รัฐบาลอังกฤษน่าจะหันมาสนใจในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจในคดีที่เกี่ยวกับเรื่อง ความรุนแรงต่อผู้หญิงมากกว่าการเปิดเผยข้อมูล เพราะตำรวจมีความสำคัญในการให้ความช่วยเหลือ ผู้หญิงและดำเนินคดีต่อผู้ใช้ความรุนแรง ดังนั้นรัฐบาลน่าจะกดดันให้ตำรวจรีบช่วยเหลือผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง รีบเร่งดำเนินการในการดำเนินคดีต่อผู้ที่ใช้ความรุนแรง และควรจะมีมาตรการในการลงโทษอย่างเด็ดขาดต่อผู้ที่ใช้ความรุนแรงเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้บุคคลเหล่านี้กลับมาใช้ความรุนแรงอีกในอนาคต
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งเหตุเกี่ยวกับความรุนแรงต่อผู้หญิงเข้ามาก็ควรจะรีบไปช่วยเหลือให้เร็วที่สุดและไม่ควรใช้เวลาเกิน 10 นาที หรือถ้าหากว่ามีผู้หญิงเข้ามาแจ้งความที่โรงพักว่าถูกทำร้ายร่างกาย ก็ควรที่จะส่งสายตรวจให้ไปตรวจบริเวณนั้นให้บ่อยมากขึ้น
เมื่อลองมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย มีผู้หญิงเป็นจำนวนมากเช่นกันที่มักจะถูกทำร้ายจากคนใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็นบิดา สามี หรือคนที่เป็นแฟน กัน กฎหมายแคลร์ดูแล้วคงยังไม่เหมาะกับประเทศไทยในการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่บ้านเราควรจะทำเหมือนกับประเทศอังกฤษคือ รัฐบาลควรจะให้ความสนใจในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ตำรวจ เพราะเมื่อมีการมาแจ้งเหตุเรื่องของความรุนแรงต่อผู้หญิง เจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนใหญ่มักจะมองว่าเป็นเรื่องผัวๆ เมียๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็น คนนอกจึงไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยว หรืออาจจะมองว่า มาแจ้งความเรื่องทำร้ายร่างกายเดี๋ยวก็มีการถอนแจ้ง ความ เพราะพอสามีภรรยาตกลงกันได้ก็ไม่อยากให้เป็นเรื่องราวใหญ่โต เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมักจะไม่สนใจคดีความเรื่องความรุนแรงสักเท่าไหร่
ปัจจุบันบ้านเรามีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวที่มีการประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งมอบอำนาจให้กับเจ้าหน้าตำรวจเข้าไปช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกทำร้ายได้ จากปี 2550 จนถึงปัจจุบันก็ 5 ปีแล้วที่ประเทศไทย ประกาศใช้กฎหมายนี้ แต่ตำรวจในบ้านเราบางส่วน กลับไม่รู้เรื่องนี้ด้วยซ้ำไป และถึงรู้ในบางครั้งก็ไม่อยากเข้าไปยุ่งกับเรื่องผัวๆ เมียๆ อยู่ดี
รัฐบาลไทยจึงควรที่จะหันมาให้ความสนใจและเริ่มกดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเช่นกัน ถ้าหากจะต้องรอให้เกิดกรณีเหมือนกับแคลร์ในประเทศอังกฤษซะก่อน ก็คงจะเป็นการสายไปที่จะหันมาแก้ไข
หากรัฐบาลไทยเริ่มแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงตั้งแต่วันนี้ คงจะมีผู้หญิงเป็นจำนวนมากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถช่วยชีวิตพวกเธอไว้ได้จากการตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง
|
|
|
|
|