Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา พฤษภาคม 2555
ผืนผ้าใหม่จากส่าหรีเก่า             
โดย ติฟาฮา มุกตาร์
 


   
search resources

Garment, Textile and Fashion




ทุกวันนี้เว้นจากคนยากจน คนเรายังใส่เสื้อผ้าจนเก่าขาดหรือไม่ แล้วบรรดาเสื้อผ้าที่ไม่ใช้ เราถ่ายเทไปไหน การบริจาคอาจเป็นทางออกที่ฟังดูดี แต่ชาวอินเดียบางพื้นที่มีคำตอบที่สร้างสรรค์กว่านั้น เขาใช้ผ้าเก่า โดยเฉพาะส่าหรีมาทอและปักเป็นผืนผ้าใหม่ ถือเป็นการ upcycling แบบภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ใช้วัตถุดิบและพลังงานในการผลิตใหม่น้อยมาก อันเป็นสิ่งที่โลกร้อนๆ ใบนี้กำลังต้องการ

ส่าหรีถือเป็นเครื่องแต่งกายคลาสสิกที่ขับเสน่ห์ความเป็นผู้หญิงได้ดีเยี่ยม เทียบได้กับกี่เพ้าและกิโมโน ทั้งยังเป็นที่นิยมใช้ในชีวิตประจำวันของผู้หญิง จำนวนมากในแถบเอเชียใต้ ซึ่งสไตล์ก็แตกต่างกันไป ในแต่ละภูมิภาค หลากหลายในเนื้อผ้า ลวดลายและ ราคา จากผืนละร้อยรูปีจนถึงเรือนแสน การใส่ก็มีวิธีนุ่งห่มพันแตกต่างกันไปถึงร่วม 80 แบบ ส่าหรี เป็นผ้าที่ทอขึ้นตามขนาดมาตรฐาน ไม่ขึ้นกับความอ้วนหรือส่วนสูงของคนใส่ ปกติกว้างราว 42-49 นิ้ว และยาวระหว่าง 5.5-9 หลา อาจเป็นธรรมชาติของส่าหรีที่เป็นผ้าผืนยาว เมื่อเก่าหรือเลิกใช้ก็สามารถปรับไปทำประโยชน์ได้มากมาย กระนั้นก็มีชาวบ้านบางพื้นที่นำส่าหรีเก่ามาใช้ในลักษณะที่มากไปกว่า reuse หรือ recycling หากเป็นการสร้าง สรรค์ผืนผ้าใหม่ที่ประณีตงดงาม ไม่ด้อยกว่าผ้าผืนเดิม ดังตัวอย่างของผ้าทอ Khesh และผ้าปัก Kantha ของชาวบ้านในแถบเบงกอลตะวันตก

เคศเป็นเทคนิคการทอผ้าที่เส้นยืน เป็นด้ายใหม่ และเส้นพุ่งเป็นแถบผ้าเล็กๆ ได้จากการฉีกส่าหรีเก่าตามทางยาว แพร่ หลายในหมู่ช่างทอเขตเบียภูมิ รัฐเบงกอล ตะวันตก กล่าวกันว่าเทคนิคนี้ริเริ่มที่ Silpa Sadan แผนกฝึกวิชาชีพของมหาวิทยาลัยวิศว-ภารติ วิทยา- เขตศรีนิเกตัน ก่อตั้งโดยนักคิดและกวี รพินทรนาถ ฐากูร ในช่วงทศวรรษ 1920

ส่าหรีเก่าที่นำมาใช้ทอ ส่วนใหญ่มาจากพ่อค้า คนกลางที่ตระเวนรับซื้อผ้าเก่าตามหมู่บ้าน นำมาซัก และขายต่อให้กับช่างทอ บางครั้งก็เป็นการรับจ้างทอ โดยคนจ้างรวบรวมส่าหรีเก่ามาให้ทอเป็นผ้าคลุมเตียง หรือพรม ปกติผ้าคลุมเตียงเดี่ยวจะใช้ส่าหรีเก่าราว 6 ผืน ส่วนเตียงคู่ใช้ราว 10 ผืน การเตรียมเส้นด้ายนั้น เริ่มจากการฉีกส่าหรีตามขวางเป็นห้าหรือหกส่วน แล้วนำแต่ละส่วนมาฉีกตามยาวเป็นเส้นเล็กๆ นำ ไปแขวนไว้ใกล้มือสำหรับทอ ระหว่างการทอช่างทอ จะหยิบเส้นส่าหรีมาใช้เป็นเส้นพุ่งโดยการสุ่ม ทำให้สีและลายเดิมของส่าหรีเหลื่อมเคลื่อนไปมา อันเป็นเสน่ห์ของผ้าทอเคศ

ช่างทอนิยมใช้ส่าหรีเก่าที่เป็นผ้าฝ้ายมากกว่า ผ้าใยสังเคราะห์ ทั้งที่ส่าหรีใยสังเคราะห์เก่าหาซื้อได้ง่ายกว่า เพราะชาวบ้านนิยมใช้กันมากขึ้น เนื่อง จากราคาถูกและสีสันฉูดฉาด เหตุผลง่ายๆ ก็คือผ้าฝ้ายฉีกเป็นเส้นเล็กๆ ได้ง่าย แต่ผ้าใยสังเคราะห์มักต้องใช้กรรไกรตัดทำให้เสียเวลาเป็นหลายเท่าตัว และน่าสนใจว่าช่างทอแทบร้อยทั้งร้อยเป็นผู้ชาย ส่วนงานฉีกส่าหรีเพื่อเตรียมด้ายสำหรับทอนั้น มักเป็นงานของแม่บ้านหรือภรรยาช่างทอนั่นเอง

แต่เดิมการทอเคศมักจำกัดอยู่แต่การทอผ้าคลุมเตียง พรมขนาดย่อมแบบที่ใช้งานแทนเสื่อ และย่าม การทอมักใช้เทคนิคของเคศแบบเดียวไปตลอด ทั้งผืน ต่อมาในปี 2003 เมื่อผลิตภัณฑ์ผ้าและงานออกแบบยี่ห้อ Abakash เปิดเวิร์กชอป และร้านค้าปลีกที่ศานตินิเกตันในเขตเบียภูมิ มีการปรับเทคนิค การทอเคศ นำไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายขึ้น ตัวอย่างเช่น การทอเป็นผืนยาวสำหรับตัดขายเป็นหลาหรือนำไปใช้ตัดเย็บผลิตภัณฑ์อื่นอย่างปลอกหมอน กระเป๋า ผ้ารองจาน ฯลฯ การทอด้วยเทคนิคเคศเฉพาะบางส่วน ของผืนผ้าผนวกกับการใช้ด้ายยืนที่บางกว่าการทอเคศทั่วไป ทำให้ผ้ามีน้ำหนักเบาขึ้นสามารถนำไปใช้ตัดเย็บผ้าม่าน ผ้าคลุมไหล่ และเสื้อผ้า นอกจากนี้ยังมีการทอส่าหรีโดยใช้เคศมาประดับตกแต่งชายส่าหรีที่เรียกว่า pallu

งานผ้าอีกชนิดที่โดดเด่นในแถบเบงกอลคือกอน์ธะ (Kantha) ศิลปะผ้าปักที่มีกำเนิดจากการนำผ้าเก่าหรือเศษผ้าในครัวเรือน มาเย็บซ้อนกันและต่อเป็นผืนใหม่เพื่อใช้งาน ผ้าเก่าส่วนใหญ่มาจากส่าหรีและโดตี (ผ้านุ่ง ผู้ชาย) ส่วนด้ายที่ใช้ปักมักเลาะมาจากเชิงส่าหรีเก่านั่นเอง

การเย็บกอน์ธะมักซ้อนผ้าเก่า 3-6 ชั้น ขึ้นอยู่กับ เนื้อผ้าและของใช้ที่ต้องการ ขั้นแรกจะเป็นการเนาทั้งผืน แล้วจึงวาดลวดลายและลง มือปัก เมื่อเสร็จงานปักพื้นที่ ว่างที่เหลือจะถูกเย็บตรึง (Quilting) ด้วยการเดินด้าย ฝีเข็มถี่ ฝีเข็มอันเป็นเอกลักษณ์ของกอน์ธะคือการเดินด้ายให้ช่องว่างห่างกว่าตัวฝีเข็มเล็กน้อย และฝีเข็มในแถวถัดมาจะอยู่ในแนวเดียวกัน ไม่ใช่สับหว่าง แนวฝีเข็มจะไล่ล้อเส้นโค้งเว้าของลายปักเกิดเป็นริ้วคลื่น ซึ่งการเย็บตรึงและลาย ปักเดิมแล้วทำหน้าที่เป็นตัวยึดและสร้างความแข็งแรงคงทนให้กับผ้าผืนใหม่ ในกรณีของผ้าห่ม การเย็บตรึงยังสร้างช่องดักอากาศเล็กๆ ช่วยทำให้ผ้านั้นอุ่น

ผ้าปักกอน์ธะนี้เดิมผู้หญิง เบงกาลีนิยมทำขึ้นใช้ในครัวเรือน ไม่ใช่เพื่อการซื้อขาย ทั้งในหมู่หญิงฮินดูและมุสลิมโดยไม่จำกัด วรรณะอย่างงานฝีมือชนิดอื่น เช่น ทำเป็นผ้าห่ม ผ้าคลุมเตียง ผ้าเช็ดหน้า ปลอกหมอน ผ้าใช้ห่อหนังสือหรือของมีค่า ซองสี่เหลี่ยมมีเชือกมัดสำหรับเก็บของใช้ส่วนตัว ที่นิยมกันมากคือผ้าอ้อม ผ้าปูที่นอน และผ้าห่ม สำหรับเด็กอ่อน เพราะความนุ่มของเนื้อผ้าเก่าและการระบายอากาศคือคุณสมบัติเด่นของกอน์ธะ

ลวดลายที่ปักมีที่มาหลากหลาย เช่น เรื่องราวจากมหากาพย์ไปจนถึงนิทานพื้นบ้าน ภาพจากเทศกาลและงานรื่นเริง สิ่งละอันพันละน้อยจากโลกรอบตัวของผู้หญิง อย่างกระจก หวี ตลับแป้ง ต่างหู กำไล ฯลฯ เสริมด้วยลวดลายโบราณที่สืบทอดกันมา อย่างรูปดอกบัวร้อยกลีบ สวัสดิกะ กัลก้า ซึ่งเป็นลายปักคล้ายลายลูกน้ำ และอัลปานาลวดลายที่หญิง ชาวบ้านอินเดียนิยมเขียนบนพื้นหน้าประตูบ้าน ในขณะที่ลายปักของหญิงฮินดูอาจมีรูปคนและสิงสารา สัตว์ ผ้าปักของหญิงมุสลิมจะไม่มีรูปเหล่านี้ และมักเป็นลวดลายเรขาคณิต ดอกไม้ และต้นไม้

ทุกวันนี้ ผ้ากอน์ธะกลายเป็นงานฝีมือที่ขึ้นชื่อ ของเบงกอล ทำให้มีการประยุกต์ลายและสไตล์การ ปักมาใช้เพิ่มสีสันและมูลค่ากับงานผ้าอื่นๆ โดยไม่ใช้ ผ้าเก่าและซ้อนผ้าเช่นกอน์ธะแบบดั้งเดิม เช่น ใช้ปัก ส่าหรี ผ้าคลุมไหล่ ปลอกหมอน แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ มักขาดเสน่ห์ เพราะกอน์ธะดั้งเดิมเป็นงานมือของหญิงชาวบ้านที่ไม่เคยเรียนวาดรูปหรือออกแบบ เส้นสายจึงไม่เหมือนจริง แต่อิสระมีจินตนาการเหมือนศิลปะเด็ก มีเรื่องราวและบุคลิกเฉพาะตัว ส่วนผลิตภัณฑ์ที่วางขายในท้องตลาดมักประณีตแพรวพราวในการเล่นสีและลวดลาย

แม้ว่าการทำกอน์ธะแบบปักลวดลายไว้ใช้ในครัวเรือนจะลดลงอย่างฮวบฮาบ แต่ชาวเบงกาลีโดยเฉพาะในชนบทก็ยังนิยมนำส่าหรีเก่ามาเย็บซ้อนเป็นผ้าอ้อมและผ้าห่มสำหรับเด็ก สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ความบางกร่อนของผ้าเก่านั้นเองคือคุณสมบัติที่ผ้าผืนใหม่ต้องการ   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us