อุปมารูปลักษณ์ของคนญี่ปุ่นเมื่อ 50 ปีก่อนที่เคยดูแคระแกร็นแตกต่างกับเด็กญี่ปุ่นรุ่นใหม่ที่สมส่วนสูงใหญ่เกินเกณฑ์เฉลี่ยของชาวเอเชีย ในทำนองเดียวกัน Tokyo Tower เมื่อ 54 ปีก่อนที่เคยแลดูขาดอัตลักษณ์นั้น ปัจจุบัน Tokyo Sky Tree หอคอยแห่งใหม่ซึ่งสูงที่สุดในโลกตั้งตระหง่านเป็นสง่าราศีก็คงเป็นอีกหนึ่งประจักษ์พยานที่บ่งบอกพัฒนาการไม่หยุดยั้งของญี่ปุ่นได้อย่างไร้ข้อกังขา
ต้นกล้าของแนวคิดที่เจริญงอกงามขึ้นเป็น Tokyo Sky Tree เกิดขึ้นในปลายปี 2003 จากกลุ่มบริษัทผู้ประกอบการวิทยุโทรทัศน์ 6 แห่งนำโดย NHK ร่วมกับ Nippon Television Network Corporation, Tokyo Broadcasting System, Fuji Television Network, TV Asahi, TV Tokyo ที่ขานรับกฎหมายวิทยุกระจายเสียงและวิทยุ โทรทัศน์ฉบับแก้ไขลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2001* ซึ่งปรับจูนอุตสาหกรรมการแพร่ภาพโทรทัศน์ของญี่ปุ่น สู่ทิศทางใหม่ให้ทันยุคสังคมสารสนเทศโดยกระจายสัญญาญคลื่นความถี่ดิจิตอลแทนที่ระบบอะนาล็อกภายใน 10 ปีนับแต่วันเริ่มประกาศใช้กฎหมาย
ผลการพิจารณาเลือกสรรแปลงปลูกสร้าง Tokyo Sky Tree ที่มีความเหมาะสมคือพื้นที่ตะวันออกของมหานครโตเกียวระหว่างแม่น้ำ Sumida และแม่น้ำ Ara อันเป็นผืนดินของบริษัทรถไฟเอกชน Tobu Railway ซึ่งไม่มีกลุ่มตึกระฟ้าหนาแน่นบดบัง การส่งสัญญาณเหมือนอย่างทางฝั่งตะวันตกตั้งแต่ Ikebukuro, Shinjuku, Shibuya เรื่อยลงไปทางใต้จนถึง Shinagawa
อาณาบริเวณโดยรอบเป็นย่านชุมชนเมืองเก่า ที่มีความร่ำรวยทางวัฒนธรรมมาแต่สมัยเอโดะ (ค.ศ.1603-1868) ปัจจุบันเป็นทำเลทองอยู่ระหว่างจุดเชื่อมต่อของรถไฟ 4 สาย ได้แก่ East Tobu Sky Tree Line (ชื่อเดิม Isesaki Line), Keisei Oshiage Line, Subway Hanzomon Line และ Subway Asakusa Line ใกล้วัด Asakusa แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของโตเกียว อีกทั้งสามารถดินทางสู่สนามบิน Haneda และ Narita ได้สะดวกรวดเร็ว
แม้ว่าชื่อของ Tobu Railway ได้ระบุชัดเจนว่าประกอบกิจการรถไฟก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงประการ หนึ่งที่น่าสนใจก็คือ บริษัทเอกชนแห่งนี้ยังดำเนินกิจการค้าปลีก ท่องเที่ยว คมนาคม อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น การผันตัวเข้ามามีบทบาทสำคัญในฐานะเจ้าของที่ดินผืนนี้อาศัยประสบการณ์จากธุรกิจในเครือ ที่มีอยู่เดิมต่อเติมธุรกิจใหม่โดยเป็นผู้ถือหุ้นหลักของบริษัท Tobu Tokyo Sky Tree ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลรับผิดชอบโครงการนี้โดยตรง
วิสัยทัศน์ของการสร้าง Tokyo Sky Tree ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่หอคอยส่งสัญญาณวิทยุและโทรทัศน์ที่สูงเสียดฟ้าเพียงลำพังหากเชื่อมโยงเข้ากับยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ดินใจกลางเมืองหลวงให้เกิดอรรถประโยชน์สูงสุดพร้อมเติมความสดใสให้กับชุมชนเมืองเก่า Asakusa และ Mukojima ที่ขนาบอยู่ภายใต้โครงการแฝดที่ใช้ชื่อว่า “Rising East Project” สรรค์สร้างย่านธุรกิจและสันทนาการแห่งใหม่บนเนื้อที่รวม 36,900 ตารางเมตร นอกจากนี้ทำเลทาง “ทิศตะวันออก” ของเมืองหลวงก็แฝงความหมายเชิงสัญลักษณ์ของ “อาทิตย์อุทัย” ด้วย อีกประการหนึ่ง
หากมองเพียงผิวเผินอาจดูเหมือนหอคอยธรรมดาที่พบเห็นได้ดาษดื่นทั่วไป แต่หากมองอย่างพินิจพิเคราะห์จะพบว่า Tokyo Sky Tree มีรายละเอียดที่ Nikken Sekkei ซึ่งเป็นบริษัทเดียวกับที่เคยออกแบบ Tokyo Tower เมื่อครึ่งศตวรรตก่อน พยายามนำเสนอความก้าวล้ำทางสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่ซ้ำใคร
นอกเหนือไปจากสถิติสูงที่สุดในโลกแล้วรูปทรงของหอคอยที่ปรากฏต่อสายตาจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียวทั้งนี้ขึ้นกับตำแหน่งของจุดชมซึ่งได้รับแรงบันดาลใจการออกแบบมาจากดาบญี่ปุ่นที่มีผลต่อรูปแบบการถักทอโครงเหล็กฐานทรงสามเหลี่ยมด้านเท่าที่ปรับเปลี่ยนไปทีละน้อยจนกลายเป็นวงกลม ที่ความสูงตั้งแต่ 300 เมตรขึ้นไป ด้วยเทคนิคนี้เส้นขอบในแนวดิ่งที่เกิดขึ้นจึงดูกลมกลืนแต่แท้จริงแล้วแตกต่างไปตามมุมที่มองมาในลักษณะเดียวกับขอบของดาบซามูไรอันคมกริบ
ยิ่งไปกว่านั้นความสูงของหอคอยได้รับการปรับเพิ่มเป็น 634 เมตร เพื่อให้พ้องเสียงกับคำว่า “Musashi” ในภาษาญี่ปุ่น (mu=6, sa=3, shi=4) ซึ่งเป็นชื่อเดิมของบริเวณนี้ในยุคก่อนสมัยเอโดะ
กระนั้นก็ตามในช่วงปี 2005 ยังไม่มีหอคอยใดในโลกที่สูงเกิน 600 เมตร อีกทั้งกำหนดสร้างในประเทศที่มีอุบัติการณ์แผ่นดินไหวบ่อยครั้ง ดังนั้น Tokyo Sky Tree ถือว่าเป็นโครงการที่ท้าทายอย่างยิ่ง
ภาพจำลอง Computer Graphic เผยรายละเอียดขององค์ประกอบและมาตรการรักษาความปลอดภัยของ Tokyo Sky Tree นั้นอ้างอิงมาจากข้อมูลทิศทางและความเร็วของกระแสลมที่ความสูง 634 เมตรซึ่งบันทึกด้วยเครื่อง Radiosonde พร้อมกับผลสำรวจโครงสร้างทางธรณีวิทยาลึกลงไป 3 กิโลเมตรก่อนเริ่มก่อสร้างในเดือนกรกฎาคม 2008 โดย Obayashi Corporation บริษัทรับเหมาหนึ่งในห้าที่ได้ชื่อว่าดีที่สุดของญี่ปุ่น
ฐานสามเหลี่ยมของหอคอยมีลักษณะเช่นเดียว กับขาตั้งกล้องสามขาบนเสาเข็มที่ถอดแบบจากกลไก การยึดดินคล้ายรากของต้นไม้ใหญ่ซึ่งตอกลึกลงไป 50 เมตร เสริมด้วยกำแพงใต้ดินที่เชื่อมต่อรากทั้งสามเข้าด้วยกันนั้นสามารถเพิ่มพื้นที่ผิวยึดเกาะได้เป็นทวีคูณซึ่งเอื้ออำนวยให้ Tokyo Sky Tree มีฐาน ที่แคบด้วยอัตราส่วนแนวตั้งต่อแนวนอนสูงถึง 9:1 แต่มั่นคงแข็งแรงตลอดเวลาทั้งในยามมีพายุไต้ฝุ่นหรือเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง
เสาเข็มถูกเชื่อมต่อเป็นเนื้อเดียวกับท่อเหล็กบนดินขนาดยักษ์เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.3 เมตร ความ หนา 10 เซนติเมตร ซึ่งเป็นผลผลิตจากความก้าวหน้าของอุตสาห-กรรมเหล็กกล้าญี่ปุ่นที่มีความทนทานกว่าปกติ 2 เท่าโดยทำมุมทะแยงสามเหลี่ยมตามกฎเรขา คณิตสานต่อขึ้นไปเหนือ ท้องฟ้ากว่า 600 เมตรลักษณะเช่นนี้ช่วยลดการเกิดสนิมพร้อมทั้งเสริมความแข็งแกร่งของ โครงสร้างหอคอยด้วยเทคโนโลยีระดับเดียวกับ ที่ใช้สร้างสะพานข้ามทะเลหรือแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเล
ในขณะเดียวกันโทนสีขาวนวลซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของญี่ปุ่นเรียกว่า Aijiro ที่นำมาพ่นเคลือบเหล็ก กล้านั้นเป็นสีคุณภาพสูง ที่ทนทานต่อปฏิกิริยาออกซิเดชั่นและการกัดเซาะซึ่งนอกจากจะยืดอายุการใช้งานแล้วยังช่วยประหยัดค่าบำรุงรักษาได้พร้อมกัน
สำหรับนักท่องเที่ยวแล้วสิ่งเย้ายวนใจยิ่งว่าการชม Tokyo Sky Tree จากภายนอกคงอยู่ที่ทัศนียภาพมหานครโตเกียว 360 ํ ทั้ง 2 ระดับสามารถโดยสารลิฟต์ Toshiba ในอาคารใจกลางหอคอย จำนวน 4 ตัว ซึ่งเคลื่อนที่ 600 เมตรต่อนาทีครองสถิติความเร็วสูงสุดในญี่ปุ่นในขณะนี้ ลิฟต์แต่ละตัวบรรทุกผู้โดยสารได้ 40 คนขึ้นไปยังหอชมวิวสูง 350 เมตรซึ่งสูงกว่ายอดของ Tokyo tower และลิฟต์อีก 2 ตัวขึ้นสู่หอชมวิวชั้นบนซึ่งสามารถเดินวนรอบเป็นเกลียวขึ้นไปได้อีกจากระดับความสูง 450 เมตร
อาคารกลางหอคอยซึ่งสร้างแยกส่วนกับโครงเหล็กมีพื้นฐานมาจากเสาหลักใจกลางเจดีย์ 5 ชั้นของวัด Horyu Gakumon ในจังหวัด Nara เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านเมื่อพันกว่าปีก่อนและเป็นหนึ่งในสิ่งปลูกสร้างไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกขึ้นทะเบียน เป็นมรดกโลกเมื่อ ค.ศ.1993
ความลับที่ซ่อนอยู่ภายในสถาปัตยกรรมเจดีย์ 5 ชั้นของญี่ปุ่นอันสวยงามคือ กลไกลดความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่ประยุกต์มาใช้ในโครงสร้างทรงกระบอกของอาคารซึ่งมีอุปกรณ์บรรเทาแรงสั่นสะเทือนติดตั้งอยู่ด้านบน เรียกว่า Added Mass Control Mechanism
ระบบรักษาความปลอดภัยของหอคอยแห่งนี้ ผ่านการทดสอบก่อนกำหนดส่งมอบเพียงไม่กี่สัปดาห์ โดยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2011** Tokyo Sky Tree ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใดขณะที่ยอดเสาอากาศของ Tokyo Tower โค้งงอ กระนั้นก็ดีผลกระทบจากแผ่นดินไหวคราวนั้นส่งผล ให้ Tokyo Sky Tree สร้างเสร็จล่าช้ากว่ากำหนด
ในที่สุด Tokyo Sky Tree สร้างเสร็จสมบูรณ์ ด้วยงบประมาณก่อสร้าง 5 หมื่นล้านเยนเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ปีนี้ และพร้อมเปิดให้เข้าชมในวันที่ 22 พฤษภาคม 2012 โดยประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลมาจากทั่วโลกในปีแรก 25 ล้านคน ซึ่งมากกว่าสถิติที่โตเกียวดิสนีย์แลนด์เคยบันทึกไว้ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดราว 8.8 หมื่นล้านเยน
Tokyo Sky Tree ที่ปรากฏตัวสูงเทียมฟ้านี้นอกจากจะทำหน้าที่กระจายคลื่นสัญญาณวิทยุและโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลที่สืบทอดบทบาทจาก Tokyo Tower แล้วยังมีนัยแห่งสายสัมพันธ์ระหว่างคนญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามโลกที่สืบสานถึงคนญี่ปุ่นในศตวรรษใหม่ด้วยแลนด์มาร์คใหม่และสัญลักษณ์ใหม่ของทั้งมหานครโตเกียวและประเทศญี่ปุ่นไปพร้อมกัน
อ่านเพิ่มเติม
* นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ คอลัมน์ Japan Walker เรื่อง “Digital Boardcasting” ฉบับกรกฎาคม 2554
** นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ คอลัมน์ Japan Walker เรื่อง “Superb Rescuable Nippon” ฉบับเมษายน 2554
|