"การลดค่าเงินบาทครั้งนี้เป็นการยอมรับความจริงของรัฐบาลว่าได้ดำเนินงานผิดพลาดมาตลอด"
ประเทศไทยได้ประกาศเทียบค่าเงินบาทกับเงินตราต่างประเทศครั้งแรกในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อปี 2399 เงิน1 ปอนด์ของอังกฤษเท่ากับ 1.66 บาทของไทย และก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงเรื่อย
มาจนกระทั่งประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศเมื่อปี
2492 จึงมีพันธะที่จะต้องกำหนด "ค่าเสมอภาค" ของเงินบาทเทียบเป็นน้ำหนักทองคำ
แต่ฐานะทางการเงินสำรองระหว่างประเทศยังไม่มั่นคงพอ จึงยังไม่ได้กำหนดค่าเสมอภาคของเงินบาทในทันทีที่เข้าเป็นสมาชิกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ
ประเทศไทยประกาศค่าเสมอภาคเงินบาทเทียบกับทองคำเมื่อปี 2506 ซึ่งเทียบเท่ากับ
20.80 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
เหตุที่ประเทศไทยต้องนำเงินบาทเข้าไปผูกพันเทียบค่ากับเงินดอลลาร์เพียงสกุลเดียว
โดยไม่ผูกพันเทียบค่ากับเงินสกุลที่สำคัญๆ เพราะในระหว่างที่รัฐบาลสหรัฐฯ
ยินยอมให้รัฐบาลประเทศอื่นนำเงินดอลลาร์ 35 เหรียญไปแลกเป็นทองคำได้ 1 ทรอยออนด์
ประเทศอื่นๆ จึงนิยมถือเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินทุนสำรองเพราะมีผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยต่างหาก
หากเก็บทองคำเป็นทุนสำรองนอกจากไม่มีผลประโยชน์แล้วยังเสียค่าใช้จ่ายเก็บรักษาอีกด้วย
และเดี๋ยวนี้ก็แลกไม่ได้แล้ว เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศงดรับแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์เป็นทองคำตั้งแต่วันที่
15 สิงหาคม 2514 เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐมีค่าลดลงอย่างมาก
การประกาศงดรับแลกเงินดอลลาร์เป็นทองคำเท่ากับเป็นการปล่อยให้ค่าของเงินดอลลาร์ลอยตัวนั่นเอง
และเป็นการยอมรับว่าค่าของเงินดอลลาร์ได้ตกลงไป คือไม่สามารถแลกเป็นทองคำได้เท่าเดิมอีกแล้ว
แต่สหรัฐฯ ก็ไม่ยอมประกาศลดค่าของเงิน และเรายังคงยึดถืออัตรา 20.80 บาทต่อ
1 ดอลลาร์อยู่อย่างเดิม ซึ่งก็เท่ากับว่าเงินบาทของเราลดค่าไปพร้อมๆ กับดอลลาร์
ตอนปลายปี 2514 ประเทศที่สำคัญต่างๆ ได้ประชุมตกลงกันประกาศขึ้นค่าเงินของตนเมื่อเทียบกับดอลลาร์
7.66% มีผลเท่ากับว่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีค่าลดลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ
และทองคำไปโดยพฤตินัย เงินบาทของไทยก็มีค่าลดลงไปด้วยเช่นเดียวกัน
รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศยอมรับการลดค่าของเงินดอลลาร์เมื่อกลางปี 2515 ว่าทองคำ
1 ทรอยออนด์เทียบค่าเงินดอลลาร์ 38 เหรียญก็เท่ากับว่า ค่าของเงินดอลลาร์ลดลง
7.89%
แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ยอมรับแลกเงินดอลลาร์เป็นทองคำในอัตราที่ประกาศใหม่นี้
ซึ่งก็หมายความว่าเงินดอลลาร์มิได้มีค่าจริงๆ ที่จะแลกกับทองคำได้ตามที่ประกาศ
คือนับตั้งแต่วันที่15 สิงหาคม 2514 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ปล่อยให้ค่าของเงินดอลลาร์ลอยตัว
ไม่สามารถนำมาแลกเปลี่ยนเป็นทองคำจริงๆ ได้
การประกาศเทียบค่ากับทองคำจึงเป็นการแสดงค่าที่สมมุติขึ้น แต่จะนำมาแลกจริงไม่ได้
เมื่อสหรัฐฯ ประกาศลดค่าเงินดอลลาร์เทียบกับทองคำแล้ว ประเทศไทยก็ประกาศลดค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับทองคำลง
7.89% เท่ากับที่สหรัฐฯ ประกาศ ซึ่งก็เท่ากับเป็นการลดค่าเงินบาทแต่ประชาชนก็ไม่รู้
เพราะเงิน 20.80 บาท ไทยยังแลกกับเงินดอลลาร์ได้ 1 เหรียญเท่าเดิม
หลังจากนั้นสหรัฐฯ ได้ประกาศลดค่าเงินดอลลาร์อีก 10% เทียบกับทองคำเป็นครั้งที่
2 ในปี 2516 คือประกาศว่าทองคำ 1 ทรอยออนด์เทียบค่าเงินดอลลาร์ได้ 42.22
เหรียญ
ประเทศไทยก็ประกาศลดค่าเงินบาทเทียบกับทองคำลง 10% เช่นเดียวกัน อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับดอลลาร์จึงยังอยู่ที่
20.80 บาทเท่าเดิม ซึ่งคนไทยก็เลยไม่รู้สึกว่ามีการลดค่าเงินบาทอีก ทำให้ประชาชนก็เลยเข้าใจว่าค่าของเงินบาทมีเสถียรภาพเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ใช่ไหม
ซึ่งความจริงค่าของเงินบาทไม่มีเสถียรภาพเลย เพราะค่าของเงินบาทลดลงตามเงินดอลลาร์ตลอดมา
แต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว
ที่เงินบาทมีค่าลดลงเรื่อยๆ เพราะเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศไทยเอง เราใช้จ่ายเกินตัวกันทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาล
คือ มีการใช้จ่ายซื้อของจากต่างประเทศเข้ามามากกว่าที่เราส่งออกไปขายได้
เรียกตามภาษาเศรษฐศาสตร์ว่า ขาดดุลการค้า ถ้าเรียกกันอย่างภาษาชาวบ้านฟังกันง่ายๆ
ก็คือ ค้าขายขาดทุนนั่นเอง จะเห็นได้จากปี 2515 ประเทศไทยขาดดุลการค้า 8 พันกว่าล้านและได้ขาดดุลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เป็นลำดับถึงปี 2523 เราขาดดุลการค้าถึง 5 หมื่น 7 พันล้านบาท แต่เมืองไทยยังโชคดีที่มีดุลค่าบริการบริจาคได้เงินตราต่างประเทศเข้ามาชดเชยได้บ้าง
ค่าบริการบริจาคในที่นี้หมายรวมถึงเงินตราต่างประเทศที่ชาวต่างประเทศนำมาใช้ในประเทศไทย
เงินที่คนไทยทำงานในต่างประเทศแล้วส่งเงินกลับมา เงินที่รัฐบาลประเทศอื่นหรือองค์การระหว่างประเทศบริจาคช่วยเหลือประเทศไทย
ฯลฯ
ส่วนการที่คนไทยไปเที่ยวหรือนำเงินไปใช้จ่ายต่างประเทศก็ทำให้ประเทศไทยเสียดุลบริการด้วย
แต่ส่วนที่เราเสียเงินตราต่างประเทศไปยังน้อยกว่าที่เราได้เงินตราต่างประเทศเข้ามา
ทำให้ได้รับเงินตราต่างประเทศ ในส่วนที่ค่าบริการบริจาคเกินดุลเข้ามาช่วยได้บ้าง
แต่ก็ไม่สามารถชดเชยการขาดดุลการค้าที่สูงมาก จึงทำให้ประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลบัญชีเดินสะพัดที่ประเทศไทยขาดนี้
ก็หมายถึงส่วนที่ขาดดุลการค้าหักด้วยส่วนที่เกินดุลค่าบริการบริจาค
ในปี 2515 ประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณ 1 พันล้านบาท และได้ขาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
จนถึงปี 2522 และ 2523 ประเทศไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึงปีละกว่า 4 หมื่น
2 พันล้านบาท แต่เราก็มีเงินทุนที่ชาวต่างประเทศเข้ามาลงทุนและกู้ยืมทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาลเข้ามาชดเชยทำให้ขาดดุลชำระเงินแต่น้อย
หรือดุลชำระเงินเกินดุลได้บ้างในบางปี สรุปง่ายๆ ก็คือ ประเทศไทยทั้งภาครัฐบาลและเอกชนใช้จ่ายเกินตัว
ต้องกู้ยืมเงินจากต่างประเทศเข้ามาใช้โดยชำระดอกเบี้ยเขาไปบ้าง ชำระเงินต้นคืนไปบ้างแต่ก็เป็นยอดกู้ยืมสุทธิที่เพิ่มขึ้นทุกๆ
ปี ฐานะทางการเงินโดยส่วนรวมจึงเสื่อมทรามลงเป็นลำดับ และนี่คือสาเหตุที่ทำให้ค่าของเงินบาทลดลง!
สาเหตุที่ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์ไม่เปลี่ยนแปลงในระหว่างนั้นก็เพราะเหตุเศรษฐกิจของอเมริกาในช่วงระยะเวลานั้นก็เสื่อมทรามลงเช่นเดียวกับประเทศไทย
เงินไทยกับเงินอเมริกันจึงยังเทียบค่ากันได้เท่าเดิม แต่ได้ลดลงอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับเงินในสกุลสำคัญอื่นๆ
แต่เราถือเอาเงินอเมริกันมาเปรียบเทียบเพียงสกุลเดียว คนไทยก็เลยไม่รู้สึก
รัฐบาลก็ยังคุยโตอยู่ได้ตลอดเวลาว่าค่าของเงินบาทมั่นคงมาก
ประเทศไทยจึงต้องประกาศลดค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์เมื่อปี 2524
จาก 21 บาทเป็น 23 บาท และความจริงประเทศไทยได้พยายามที่จะให้เงินบาทมีค่าลอยตัวตั้งแต่ปลายปี
2521 โดยทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ได้เริ่มใช้วิธีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแบบใหม่
โดยยินยอมให้ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 30 ธนาคารเข้ามาร่วมกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนประจำวันแทน
วิธีที่ให้ทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นผู้กำหนดแต่ฝ่ายเดียวดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา
ระบบนี้ใช้มาได้ประมาณ 2 ปีเศษ ค่าของเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐมีความผันผวนน้อยมาก
เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศไทยและของสหรัฐฯ ได้เสื่อมทรามลงพอๆ กันดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
แต่พอในปี 2523 เรแกนสามารถเอาชนะคาร์เตอร์ และได้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ
สามารถแก้ไขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ให้กลับฟื้นคืนตัวได้อย่างรวดเร็ว
เมืองไทยก็มีการเปลี่ยนรัฐบาลในช่วงใกล้เคียงกัน รัฐบาลอเมริกันยุคคาร์เตอร์ตรงกับรัฐบาลไทยมีพลเอกเกรียงศักดิ์
ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเองเสียด้วย
มีบุญชู โรจนเสถียรเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้โดยพฤตินัย ต่อมาเมื่อประเทศไทยเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีเป็นพลเอกเปรม
ติณสูลานนท์ บูญชู โรจนเสถียรได้เข้ามารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ
มี ดร. อำนวย วีรวรรณเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามใจ ขำภโตเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
เมื่อเกิดกรณีเทเล็กซ์อัปยศและน้ำตาลขมจึงมีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรี สมหมาย
ฮุนตระกูลจึงได้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต่อจาก ดร. อำนวย
วีรวรรณ เมื่อปี 2524 ฝีมือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นอย่างไรก็รู้ๆ กันอยู่แล้ว
เมื่อประธานาธิบดีเรแกนแก้ไขภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาฟื้นตัวเร็วเกินไป
ของไทยเราแก้กันแบบช้าๆ ได้พร้าสองเล่มงาม ก็เลยตามเขาไม่ทัน เงินดอลลาร์มีค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเงินในสกุลที่สำคัญอื่นๆ
ไทยเราพยายามรักษาค่าเปรียบเทียบระหว่างเงินบาทกับเงินดอลลาร์เอาไว้อย่างเหนียวแน่น
แทนที่เราจะยอมรับว่าแก้เศรษฐกิจไม่ได้ก็กลับไปโทษว่าเงินดอลลาร์ทำให้เงินบาทมีค่าสูงกว่าความเป็นจริง
ประเทศไทยได้ใช้วิธีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแบบใหม่เพื่อให้เงินบาทมีค่าลอยตัวหรือยืดหยุ่นได้มากขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี
2521 แต่ก็ไม่ได้ปล่อยให้ลอยตัวจริงอย่างที่ตั้งใจจะทำ ในปี 2522 และปี 2523
ซึ่งเป็นสมัยของคาร์เตอร์ ค่าของเงินบาทและเงินดอลลาร์ลดลงพอๆ กัน ตามฝีมือของผู้บริหาร
ซึ่งมีฝีมือใกล้เคียงกันในด้านไม่เอาไหน การเทียบค่าระหว่างเงินบาทกับเงินดอลลาร์ก็ยังมีความมั่นคงดีอยู่
คือ มีความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนน้อยมาก แต่พอย่างเข้าปี 2524 เศรษฐกิจของอเมริกาฟื้นตัว
เพราะฝีมือของเรแกน ผู้บริหารของไทยไม่มีฝีมืออย่างเรแกน แต่ก็หยิ่งในศักดิ์ศรีพยายามที่จะรักษาอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับดอลลาร์อเมริกันเอาไว้ให้ได้
และเมื่อเราปล่อยค่าเงินบาทลอยตัวแล้วก็ไม่ทราบว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลหรือนักการคลังผู้มีฝีมือคนใดเป็นผู้สั่งการ
ทำให้ทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเข้าแทรกแซง เพื่อรักษาอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินดอลลาร์ไว้ไม่ให้เกิน
21 บาท ทุนรักษาระดับฯ จึงได้พยายามขายเงินดอลลาร์ออกเพื่อตรึงอัตราแลกเปลี่ยนไว้
แต่ในที่สุดก็รักษาไว้ไม่ได้ ซึ่งก็หมายความว่าผู้บริหารในขณะนั้นมิได้ปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวตามนโยบายที่ได้วางไว้
เพราะถ้าปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวจริงๆ อัตราแลกเปลี่ยนก็จะค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นไปตามกลไกของตลาดที่แท้จริงแต่ทุนรักษาระดับฯ
ได้เข้าแทรกแซงเพื่อตรึงอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้มากเกินไป เมื่อรักษาไว้ไม่ได้ก็ต้องประกาศลดค่าเงินบาทจาก
21 บาท เป็น 23 บาทต่อ 1 ดอลลาร์
ซึ่งการประกาศลดค่าเงินบาทในปี 2524 นั้นเป็นความผิดของใครก็ยังไม่ถนัดนัก
เพราะประเทศไทยขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นติดต่อกันมาตั้ง
10 กว่าปี เมื่อหนี้สินต่างประเทศพอกพูนขึ้น ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศลดต่ำลงจนมีผลกระทบกระเทือนต่อค่าของเงินบาท
ย่อมทำให้ค่าของเงินบาทลดลงเรื่อยๆ ทั้งนี้ก็เป็นไปตามกลไกของตลาด จะมีข้อผิดพลาดที่น่าตำหนิอยู่บ้างก็ตรงที่เราปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวตั้งแต่ปลายปี
2521 แล้วทุนรักษาระดับฯ เข้าแทรกแซงมากเกินไปเพื่อตรึงอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้
ใครเป็นผู้สั่งการหรือเป็นผู้รับผิดชอบนโยบายการเงินการคลังในขณะนั้นก็น่าจะเป็นผู้ถูกตำหนิ?
ถ้าการเลือกตั้งของอเมริกาครั้งนั้น คาร์เตอร์เกิดชนะเรแกนได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัยหนึ่ง
การลดค่าเงินบาทในปี 2524 ก็อาจจะไม่มีเช่นกัน เพราะเท่าที่คาร์เตอร์บริหารมา
4 ปี เศรษฐกิจของอเมริกาก็ทรุดลงเรื่อยๆ ฝีมือผู้บริหารของไทยขณะนั้นพอฟัดพอเหวี่ยงกัน
อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างบาทกับดอลลาร์จึงไม่น่าเปลี่ยนแปลง คือ ค่าของเงินบาทลดลงพอกันก็ยังพอคบกันเป็นเพื่อนต่อไปได้
อาจจะพูดได้ว่าประธานาธิบดีเรแกนก็มีส่วนรับผิดชอบในการลดค่าเงินบาทเมื่อปี
2524 ด้วย หรือพูดตามสำนวนสามก๊กแต่เพียงว่า "ฟ้าให้บุญชูหรือสมหมายมาเกิด
ไฉนให้เรแกนมาเกิดด้วยเล่า" เท่านั้นเอง สาเหตุจริงๆ ที่ต้องลดค่าเงินบาทในปี
2524 นอกจากเรื่องขาดดุลการค้า ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด เพิ่มขึ้นติดต่อกันมาเป็นเวลานานดังได้กล่าวมาแล้ว
ยังมีสาเหตุการผันผวนในตลาดการเงินของโลก อันเนื่องมาจากการแก้ไขเศรษฐกิจของเรแกนได้ทำให้อัตราดอกเบื้ยของเงินกู้ยืม
ซึ่งเป็นเงินเหรียญอเมริกันถีบตัวสูงขึ้นเป็นลำดับ ในบางขณะสูงขึ้นกว่า 20%
ประเทศไทยมิได้ปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว คือมีการกำหนดเพดานชั้นสูงของอัตราดอกเบี้ยไว้
ทำให้มีการส่งเงินไปใช้หนี้เงินตราต่างประเทศจำนวนมากและไม่มีการกู้ยืมรายใหม่ที่เป็นเงินตราต่างประเทศเข้ามา
ทุนสำรองที่เป็นเงินตราต่างประเทศของทุนรักษาระดับฯ จึงลดลงอย่างรวดเร็วถึงขั้นที่จะเป็นอันตรายแก่เสถียรภาพเงินบาทและระบบเศรษฐกิจของประเทศชาติเป็นส่วนมากก็ทำให้จำต้องประกาศลดค่าเงินบาท
ทั้งๆ ที่ไม่อยากจะทำแต่จะไม่ทำก็ไม่ได้เพราะทุนสำรองเป็นเงินตราต่างประเทศของเราในขณะนั้นร่อยหรอเต็มที
การประกาศลดค่าเงินบาท เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2524 เป็นดอลลาร์ละ 23 บาท
จำได้ว่ารัฐบาลได้ออกชี้แจงทั้งโทรทัศน์และสื่อมวลชนสาขาอื่นๆ ว่าเป็นการใช้มาตรการทางการเงิน
เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติในระยะยาว อาจจะมีผลเสียบ้างแต่ผลดีก็จะตกแก่ชาวไร่ชาวนา
ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ สรุปแล้วแถลงการณ์ของรัฐบาลในขณะนั้นก็คล้ายๆ กับที่กำลังแถลงอยู่ในขณะนี้
จะมีข้อแตกต่างกันอยู่ก็ตรงที่การประกาศลดค่าเงินบาทเมื่อปี 2524 ได้ยกเลิกการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราประจำวันที่เรียกว่า
เดลี่ฟิกซิ่ง (Daily Fixing) เปลี่ยนมาใช้อัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์ละ 23 บาท
เพียงอัตราเดียว และรัฐบาลให้คำมั่นยืนยันว่าจะรักษาอัตรานี้ไว้ไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยนเป็นการลดค่าเงินบาทอีก
แต่การประกาศลดค่าเงินบาทครั้งนี้เป็นของสมหมายในรัฐบาลเปรม 4 ถือว่าไม่ใช่รัฐบาลเดียวกัน
นอกจากนั้นการลดค่าเงินบาทเมื่อปี 2524 ดร.ไพจิตร เอื้อทวีกุล เป็นแพะรับบาปลาออกไปแล้ว
การลดค่าเงินบาทเป็นดอลลาร์ละ 27 บาทในครั้งนี้ มีการแถลงการณ์ออกมาว่าได้เปลี่ยนวิธีการกำหนดอัตราค่าเงินบาทใหม่
คือจะปล่อยให้มีค่าลอยตัวนั้นหมายความว่าในวันที่ 5 พฤศจิกายน จะเริ่มซื้อขายกันในราคากลาง
เหรียญละ 27 บาท เป็นวันแรก ส่วนในวันต่อๆ ไปให้ขึ้นหรือลงจาก 27 บาท ไปได้ตามกำลังซื้อและกำลังขาย
หมายความว่า ถอยหลังกลับไปใช้วิธีกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนประจำวันที่เริ่มใช้เมื่อปลายปี
2521 แล้วมายกเลิกเมื่อลดค่าเงินบาทลง 2 บาทเมื่อกลางปี 2524 อีก ซึ่งพอจะจับประเด็นได้ว่ามีข้อแตกต่างในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่สำคัญก็คือ
เมื่อปี 2521 ยินยอมให้ธนาคารพาณิชย์ 30 ธนาคารเข้ามามีบทบาทในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนกับทุนรักษาระดับฯ
ด้วย แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ทุนรักษาระดับฯ จะเป็นผู้พิจารณากำลังซื้อและกำลังขาย
แล้วกำหนดราคากลางของแต่ละวันเพียงฝ่ายเดียว
การเปลี่ยนวิธีกำหนดอัตราครั้งใหม่นี้จะทำให้เงินบาทมีค่าลอยตัวได้จริงหรือไม่นั้น
ก็แล้วแต่นโยบายของรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจสั่งการว่าจะเข้าแทรกแซงตลาดผ่านทุนรักษาระดับฯ
มากน้อยเพียงใด ถ้าเข้าแทรกแซงมากจนอัตราแลกเปลี่ยนมิได้แสดงค่าของเงินบาทตามค่าที่แท้จริง
ดังเช่นกรณีตรึงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ไม่เกิน 21 บาท เหมือนก่อนที่จะมีการประกาศลดค่าเมื่อปี
2524 ค่าของเงินบาทก็จะไม่มีค่าลอยตัวสมดังความมุ่งหมายที่ได้วางนโยบายไว้
และถ้าไม่มีการเข้าแทรกแซงจนเกินสมควร ซึ่งทำให้อัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ผิดไปจากความเป็นจริง
เมื่อได้ใช้วิธีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนประจำวันตั้งแต่ปลายปี 2521 เป็นต้นมา
แล้วก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดค่าของเงินบาทใหม่ ดังที่เกิดขึ้นในปี
2524 และในครั้งนี้ ด้วยเพราะเมื่อเราปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวมีค่าแลกเปลี่ยนกับเงินสกุลอื่นตามอัตราที่เป็นจริงตามธรรมชาติโดยเข้าแทรกแซงแต่น้อย
เฉพาะในกรณีเมื่อเกิดการผันผวนเปลี่ยนแปลงมากเท่าที่จำเป็นก็ไม่ต้องมาประกาศปรับอัตราให้ลดค่าหรือเพิ่มค่ากันอีก
เมื่อมีการเปลี่ยนวิธีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนใหม่โดยมุ่งหมายที่จะให้ค่าเงินบาทลอยตัว
ดังเช่นที่ประกาศในครั้งนี้แล้ว ถ้าไม่มีผู้สั่งการให้ทุนรักษาระดับฯ เข้าแทรกแซงจนเกินสมควร
ค่าของเงินบาทลอยตัวได้จริงๆ ก็คือค่าที่แท้จริงของตัวมันเองจะมาอ้างเหตุว่ามีค่าสูงหรือต่ำเกินความเป็นจริงแล้วประกาศเพิ่มค่าหรือลดค่าเงินบาทอีกไม่ได้
ตามที่มีผู้อ้างว่าการปรับค่าเงินบาทครั้งนี้เป็นการลดค่าเงินบาทมากเกินไป
ทำความเดือดร้อนเสียหายจนเกินกว่าที่จะรับได้ จึงต้องการให้ค่าของเงินบาทกลับไปอยู่ที่
23 บาท ตามเดิมนั้น ถ้าจะทำจริงๆ ก็ทำได้ โดยใช้ทุนรักษาระดับเข้าแทรกแซงยืนขายเงินดอลลาร์ในราคา
23 บาท ไม่จำกัดจำนวนอัตราแลกเปลี่ยนก็จะอยู่ที่ 23 บาท โดยไม่ต้องประกาศเปลี่ยนแปลง
ปัญหาที่เกิดขึ้นจะอยู่ตรงที่ว่าเมื่อทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่มีอยู่หมดไปก็ต้องไปกู้ยืมมาสำหรับใช้ตรึงอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อกู้เขามากๆ
ก็คงจะไม่มีใครให้กู้ ในที่สุดก็ต้องยอมปล่อยให้เงินบาทลดค่าอยู่ดี
ข้อผิดพลาดในการลดค่าเงินนั้นอยู่ตรงที่ไปตรึงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ 21
บาท ในครั้งแรกและ 23 บาท ในครั้งนี้นานเกินไป ทำให้เกิดความเสียหายตรงที่ก่อนลดค่าเงินบาท
ผู้ส่งสินค้าออกได้รับเงินบาทน้อยกว่าความเป็นจริง อันมีผลกระทบไปถึงราคาสินค้าเกษตรของชาวไร่ชาวนา
ส่วนผู้สั่งสินค้าเข้าจ่ายเงินบาทน้อยลง ผู้บริโภคจ่ายเงินค่าสินค้าที่สั่งจากต่างประเทศน้อยกว่าความเป็นจริง
ทำให้ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยส่งผลกระทบให้เกิดการขาดดุลการค้า ดุลบัญชีเงินสะพัดและดุลการชำระเงิน
ทำให้เสถียรภาพเงินตราของเราไม่มั่นคงดังได้ปรากฏความเสียหายเห็นชัดอยู่แล้ว
ส่วนการลดค่าเงินบาทในครั้งนี้จะแก้ปัญหาขาดดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด
และดุลการชำระเงินดังที่รัฐบาลแถลงออกมาได้หรือไม่นั้น จะต้องมีมาตรการอื่นๆ
ทั้งด้านการเงิน การคลัง การตลาดอย่างอื่นๆ เข้ามาประกอบมาก คือต้องมีมาตรการแก้ไขปัญหาขาดดุลต่างๆ
รวมไปถึงดุลงบประมาณของรัฐบาลด้วย
ส่วนที่รัฐบาลแถลงว่าการลดค่าเงินบาทครั้งที่จะเกิดผลดีแก่เศรษฐกิจของประเทศในอนาคตที่ยาวนานออกไปนั้น
ไม่น่าเป็นอย่างนั้นเพราะการลดค่าเงินบาทเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้นๆ
เท่านั้น เพราะการลดค่าเงินบาทเมื่อปี 2524 เหตุที่เราต้องลดค่าเงินบาทในปี
2524 ก็เพราะว่าเราขาดดุลการค้าสูงขึ้นเป็นลำดับคือในปี 2522 ขาดดุลการค้า
47,000 ล้านบาท ปี 2523 เพิ่มเป็น 57,000 ล้านบาท ปี 2524 ปีที่ทนไม่ไหวจนต้องลดค่าเงินบาทนั้น
เราขาดดุลการค้าถึง 65,000 ล้านบาท เมื่อเราลดค่าเงินบาทใหม่ๆ คนทั่วไปก็ยังมีความรู้สึกว่าสินค้าต่างประเทศแพง
ก็บริโภคสินค้าจากต่างประเทศน้อยลง ทำให้การสั่งสินค้าเข้าลดน้อยลง ในปี
2525 เราจึงขาดดุลการค้าเพียง 36,000 ล้านบาท แต่ก็ขาดดุลน้อยลงได้เพียงปีเดียว
พอถึงปี 2526 ประชาชนเกิดความเคยชินกับราคาสินค้าใหม่ก็หันกลับไปบริโภคเกินตัวกันอีก
ทำให้ต้องขาดดุลการค้าในปี 2526 ถึง 90,000 กว่าล้านบาท เป็นการพิสูจน์ว่า
การลดค่าเงินบาทเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาระยะสั้น บรรเทาความเสียหายได้ชั่วคราวเท่านั้น
เปรียบได้กับคนเป็นโรคกระเพาะอาหารเรื้อรังแล้วไปซื้อยาแก้ปวดมากิน ก็สามารถระงับความเจ็บปวดลงได้ชั่วคราว
พอหมดฤทธิ์ยาแก้ปวดก็ต้องทรมานจากโรคกระเพาะอาหารเรื้อรังต่อไปใหม่ การจะรักษาให้หายขาดนั้นต้องรักษาที่สาเหตุ
วางยารักษาโรคโดยเฉพาะหลายๆ ขนาน ถ้าจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อให้หายก็ต้องทำ
หมอที่รักษาต้องเป็นหมอเชี่ยวชาญเฉพาะโรค ไม่ใช่หมอกลางบ้านให้แต่ยาแก้ปวดกิน
คือต้องรักษากันที่สาเหตุดังที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ ตัวคนไข้เองก็ต้องร่วมมือด้วย
คือไม่บริโภคเกินตัวอีกต่อไป
การลดค่าเงินครั้งนี้ ก็ล้วนแต่กระทำโดยผู้มีฝีมือที่เคยเห็นฝีมือกันมาหลายครั้งแล้ว
ตั้งแต่ลดค่าเงินบาทปี 2524 ก็ออกแถลงการณ์กันว่าดีได้ผลดังที่มุ่งหมาย แต่พอปี
2526 กลับขาดดุลเพิ่มเป็น 9 หมื่นกว่าล้าน ควรจะลดค่าเงินบาทเสียตั้งแต่ตอนนั้น
กลับคุยว่าเศรษฐกิจยังดีอยู่ ค่าของเงินบาทก็ยังมั่นคง และได้ใช้มาตรการอื่นๆ
เข้าช่วย เช่น การจำกัดสินเชื่อ 18% การจำกัดวงเงินที่เปิดเครดิตการสั่งสินค้าจากต่างประเทศไม่ให้เกินกว่าปี
2526 การบังคับให้ผู้ส่งสินค้าออกต้องนำเงินตราต่างประเทศออกขายล่วงหน้าก็ไม่ได้ผลสมดังความมุ่งหมาย
ในที่สุดก็ต้องประกาศลดค่าเงินบาทซึ่งเป็นการกินยาแก้ปวดระงับอาการไว้ชั่วคราว
ทั้งๆ ที่ได้ประกาศยืนยันหนักแน่นกันไว้ไม่รู้กี่ครั้งกี่หนว่าจะไม่มีการลดค่าเงินบาทในปีนี้