ในประเทศไทยตลาดจัดประชุมสัมมนา (Meeting, Incentive, Convention, Exhibition) หรือเรียกสั้นๆ ว่า “MICE” เติบโตเร็วมากจากจำนวนผู้เดินทางมาประชุมสัมมนาประมาณ 380,000 คนในปี 2003 เพิ่มเป็น 860,000 ในปี 2007 ก่อนจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์และปัจจุบัน ก็ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาได้ดังคาดหมาย โดยในปี 2008-2010 มีจำนวนผู้เดินทางมาสำหรับการประชุมสัมมนาเพียงปีละ 730,000-740,000 คน คาดว่าปีนี้จะสร้างรายได้ให้กับประเทศกว่า 60,000 กว่าล้านบาท
นอกจากนี้ผลของการขยายตัวของอุตสาหกรรมดังกล่าว จะมีส่วนผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อรองรับการจัดงานประชุมและแสดงสินค้า ที่สำคัญจะเป็นการยกระดับบุคลากรของไทยให้มีความเป็นมืออาชีพ สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
“ปัจจุบันภาพรวมของค่าใช้จ่ายเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่เป็น MICE กับคนทั่วไป MICE จะสูงกว่า 20% พัทยามีตัวเลขนักท่องเที่ยวทั่วไปใช้ 3,000 บาท/คน/วัน แต่ถ้าเป็น MICE จะสูงขึ้นได้ถึง 4,000 บาท/คน/วัน หรือเพิ่มขึ้นถึง 30%ได้” อรรคพล สรสุชาติ ขณะเป็นผู้อำนวยการสำนักงาน สสปน. (สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ) เล่าให้ฟังในงานสุดท้ายของเขา ที่เปิดแถลงข่าว “D-MICE@Pattaya” ซึ่งเป็น applications ใหม่ในสมาร์ทโฟน ใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมกลยุทธเพื่อ MICE
D-MICE@Pattaya ถือเป็นต้นแบบ Domestic MICE Cities หรือเมืองไมซ์แห่งแรกของ สสปน.ที่มีโมเดลธุรกิจเมืองแห่ง ไมซ์ วางโครงสร้างทำงานเป็นสามประสาน คือ สสปน.-เมืองพัทยา-ภาคเอกชนที่จะส่งเสริมให้พัทยาเป็น Destination ของตลาดการ ประชุมสัมมนาที่โดดเด่นด้าน Festival Beach และ Sport Event ควบคู่กับกิจกรรมส่งเสริมอีก 6 Theme ได้แก่ Adventure/History&Culture/Experiential/Green/CSR/Luxury
“เราเริ่มร่วมงานกับ สสปน.ตั้งแต่เมื่อสามปีที่แล้ว ปัจจุบันพัฒนามาก จากการขอองค์ความรู้จนกระทั่งเซ็น MOU เรื่องการที่ พัทยาเป็นเมืองแห่ง MICE ก็มีการส่งเสริมด้านการตลาด และออก ทำ event ล่าสุดเป็น D-MICE@Pattaya เป็นโมเดลทางธุรกิจอุตสาหกรรมการประชุมแห่งแรกที่เป็นรูปธรรมในการส่งเสริมด้าน การตลาดการประชุม” อิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยาเล่า
D-MICE Cites ในไทยที่ สสปน.มองเห็นว่ามีศักยภาพการ แข่งขันของเมืองอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเป็น International Cities มีอยู่ 4 เมืองคือ กรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่ และภูเก็ต ที่สามารถรองรับการจัดประชุมสัมมนาและนิทรรศการใหญ่ระดับชาติได้ เช่น ที่พัทยา มีสถานที่ประชุมใหญ่ ศูนย์การประชุมโรงแรม แอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน (6,912 ตร.ม.), ศูนย์กีฬาแห่งชาติตะวันออก (5,000 ตร.ม.) และศูนย์การประชุม PEACH ที่โรงแรม รอยัลคลิฟ พัทยา (1,300 ตร.ม.) ที่มีระดับคุณภาพการบริหารจัดการและบริการแบบมืออาชีพ
ล่าสุด ประเทศไทยได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมใหญ่ Rotary World Peace Symposium จากโรตารีสากลเป็นครั้งแรก หลังจากไทยชนะคู่แข่งอย่างมาเลเซียและออสเตรเลียได้ งานนี้จัดระหว่างวันที่ 6-9 พฤษภาคมนี้ที่อิมแพค เมือง ทองธานี ภายใต้สโลแกน The Land of a Thousand Smiles จำนวนผู้เข้าร่วมประชุมไม่ต่ำกว่า 30,000 กว่าคน คาด ว่าจะนำรายได้เข้าประเทศ กว่า 3,000 ล้านบาท
“การประชุมโรตารีสากลครั้งนี้ ถือว่าเป็นการ show case สำคัญที่แสดงให้ เห็นถึงศักยภาพของไทยในการเป็นเจ้าภาพงานมหกรรม โลก World Expo 2020 ได้อีกด้วย” นี่คือเป้าหมายแท้ จริงที่อรรคพลพยายามอย่างยิ่งที่จะทำทุกวิถีทางที่จะให้ประเทศไทยได้รับสิทธิ์เป็นเจ้าภาพจัดงาน World Expo 2020 ให้ได้
ฝันได้ไกล แต่ไปไม่ถึงสำหรับอรรคพล สรสุชาติ เพราะเมื่อสิ้นเดือนมีนาคม เขาพ้นจากตำแหน่งผู้อำนวย การ สสปน.ที่บริหารมานานถึง 2 ปี 5 เดือน ถึงกระนั้นอรรคพลก็ยังทิ้งท้ายถึงการสรรหาผู้อำนวยการคนใหม่ไว้ว่า ต้องมีคุณสมบัติ 3 ประการสำคัญคือ ต้องเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรอย่าง สสปน.ที่ทันสมัยและอิสระ, ต้องสามารถร่วมงานกับเอกชนได้ และสามารถเชื่อมโยงสร้างเครือข่ายในต่างประเทศ
|