|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เพลงชาติของใคร ใครก็รักและเคารพ หากจะเคารพมากเกินไปเหมือนยุคที่ปลุกกระแสรักชาติ เปิดเพลงชาติเช้าเย็นตามท้องถนน แล้วคนขับรถต้องลงมายืนเคารพนี่ รู้สึกว่าเกินพอดี ขอผู้นำประเทศอย่ามี “เลือดบ้า” อย่างนั้นอีก และรักชาติ จนน้ำลายไหล ก็ไม่อยากเจอเช่นกัน
จำไม่ได้ว่าร้องเพลงชาติเป็น ได้อย่างไร คลับคล้ายคลับคลาว่าครูสอนนักเรียนตัวจิ๋วให้ร้อง พอแปดนาฬิกา ได้เวลาเคารพธงชาติ นักเรียนเข้าแถวหน้าเสาธง เสียงเพลงชาติดังขรม ที่โรงเรียนอัมพรไพศาล หากร้องไม่ดีต้องร้องใหม่ คนที่จะทำให้ล่มคือ ผู้ร้องนำ ซึ่งมีเสียงต่ำ พอขึ้นเสียงต่ำ นักเรียนอื่นๆ “ต่ำ” หายไปเลย หากพอต้นเสียงขึ้นเสียงสูง ต้นเสียงร้องต่อไม่ได้เพราะเสียงต่ำเกินไป เป็นความไม่พอดี นักเรียนที่ได้ชักธงขึ้นเสาจะรู้สึกโก้มาก มักจะเป็นนักเรียนชั้นสูงสุดซึ่งจะปฏิบัติหน้าที่จนจบการศึกษา
ชาวไทยร้องเพลงชาติเป็นทั่วหน้าจากการร้องทุกเช้าก่อนเข้าเรียน จึงไม่เข้าใจว่า ทำไมชาวฝรั่งเศสจำนวนมากร้อง เพลงชาติไม่เป็น ยิ่งพวกนักกีฬาทีมชาติสีผิวร้องไม่ได้เอาเสียเลย เป็นความขายหน้า ของฝรั่งเศส จนกลายเป็น “วาระแห่งชาติ” รัฐบาลฝรั่งเศสจึงมีคำสั่งให้โรงเรียนสอนนักเรียนร้องเพลงชาติ คาดหวังว่าชาวฝรั่งเศสในอนาคตจะร้องเพลงชาติได้
ประเทศเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศส กำลังถูกคนในปกครองของตนในอดีตครอบครอง นั่นเป็นความคิดของตนเอง เมื่อเห็นจำนวนคนที่ไม่ใช่ฝรั่งเศสแท้หนาตาตามท้องถนน ไม่ว่าจะเป็นชาวแอฟริกาเหนือที่เรียกว่า มาเกรบ (Maghreb) อันประกอบด้วยแอลจีเรีย โมร็อกโกและตูนิเซีย ซึ่งชาวไทยมักเรียกว่า “พวกแขก” นอกจากนั้นยังมีพวกผิวดำหลายชาติหลายเผ่าพันธุ์ คนเหล่านี้มุ่งสู่ฝรั่งเศสเพื่อชีวิตที่ดีกว่า แม้จะอยู่อย่างยาก เข็ญก็ตาม ชนเหล่านี้กำลังสร้างปัญหาให้ฝรั่งเศส ด้วยว่าฝรั่งเศสยึดมั่นหลักสิทธิมนุษยชน อนุญาตให้ครอบครัวของผู้มาตั้งรกรากเดินทางมาสมทบได้ ลูกหลานของคนเหล่านี้จำนวนไม่น้อยไม่ยอมเรียนหนังสือ ไม่ยอมทำงาน ก่อเรื่องวิวาทวุ่นวายอยู่เนืองๆ ด้วยไม่รู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของฝรั่งเศส ชาวฝรั่งเศสก็ตั้งข้อรังเกียจ ว่าเป็นผู้ก่อเรื่องวุ่นวาย ใครจะรับเข้าทำงานต้องคิดหนักหน่อย จนรัฐบาลต้องหันมาพิจารณาว่าทำไมคนเหล่านี้ไม่รู้สึกว่าตนเป็น “ฝรั่งเศส” ถือเป็นความล้มเหลวของภาครัฐ
ในการแข่งฟุตบอลระหว่างฝรั่งเศสและแอลจีเรียที่สตาด เดอ ฟรองซ์ (Stade de France) ในปี 2001 แฟนบอลสีผิวต่างเป่าปากโห่ฮาเมื่อเพลงชาติฝรั่งเศสดังขึ้น ทำให้การแข่งขันต้องยกเลิกกลางคัน นับแต่นั้นเมื่อมีการแข่งฟุตบอลกับโมร็อกโกและตูนิเซีย มีการเป่าปากแบบเดียวกัน แม้แต่ระหว่างการแข่งชิงแชมป์ฝรั่งเศส แฟนบอลทีม Sporting Club de Bastia ก็เป่าปากเช่นกัน ฌาคส์ ชีรัก (Jacques Chirac) ซึ่งเป็นประธานาธิบดีในขณะนั้นบอยคอตด้วย การไม่มอบถ้วยรางวัล แล้วก็เช่นเดียวกัน กลายเป็น “วาระแห่งชาติ” อีกประเด็นหนึ่งมีการออกกฎหมายลงโทษผู้ไม่เคารพเพลงชาติ
La Marseillaise เป็นชื่อเพลงชาติฝรั่งเศส รู้จักเพลงนี้เมื่อได้ชมการถ่ายทอด ฟุตบอลประเพณีระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะใช้บรรเลงในการเดินแห่ขบวนต่างๆของสองมหาวิทยาลัย ฟังดูคึกคักดี แถมเป็นเพลงเชียร์อีกด้วย ต่อเมื่อเลือกเรียนภาษาฝรั่งเศสในมหาวิทยาลัย จึงได้ทราบว่า ทำนองติ๊ดชึ่งเพลงหนึ่งคือเพลงชาติฝรั่งเศสนั่นเอง อาจารย์นำเนื้อร้องเพลง La Marseillaise มาสอนนิสิต จึงร้องได้นับแต่นั้น
La Marseillaise แต่เดิมชื่อ Chant de guerre pour l’armee du Rhin- เพลงออกศึกของกองทัพแห่งแม่น้ำไรน์ ซึ่งนายทหารเมืองสตราสบูรก์ (Strasbourg) ชื่อโคล้ด โจเซฟ รูเจต์ เดอ ลิส์ล (Claude Joseph Rouget de Lisle) เป็นผู้แต่งในโอกาสที่ฝรั่งเศสประกาศสงครามกับออสเตรียในปี 1792 เป็นเพลงปลุกใจทหาร ต่อมาอาสาสมัครชาวเมืองมาร์แซย (Marseille) นำไปร้องระหว่างการเดินทางสู่กรุงปารีส ชาวปารีสจึงเรียกเพลงนี้ว่า La Marseillaise และกลายเป็นเพลงชาติในปี 1795 แต่ยกเลิกไปอยู่ช่วงหนึ่ง La Marseillaise กลับมาเป็นเพลงชาติอีกทีใน ปี 1879 ส่วนวันชาติถือวันที่ราษฎรบุกยึด คุกบาสตีล (Bastille) เพื่อปลดปล่อยนักโทษ การเมือง คือวันที่ 14 กรกฎาคม 1789
La Marseillaise เคยได้รับการเรียบเรียงใหม่จากนักแต่งเพลงระดับโลก คือ แบร์ลิโอซ (Berlioz) สำหรับการร้องของนักร้องโซปราโนและคณะประสานเสียง ฟรานซ์ ลิสต์ (Franz Liszt) เรียบเรียงสำหรับบรรเลงด้วยเปียโน
เนื้อร้องของ La Marseillaise น่ากลัวมาก ปลุกใจให้ลุกขึ้นมาถืออาวุธ เข่นฆ่าศัตรูเลือดสาดกระจุยกระจาย เนื้อร้องมีหลายท่อน หากที่นำมาร้องอย่างเป็น ทางการสั้นนิดเดียว มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าสมควรหรือไม่ที่จะร้องเพลงชาติที่ปลุกให้ประชาชนลุกขึ้นฆ่าศัตรูในการแข่งกีฬาระหว่างประเทศประเภทต่างๆ หรือกิจกรรมด้านวัฒนธรรม หรือการประชุมระหว่างประเทศ หรือแม้แต่การฉลองวันชาติก็ดูไม่เข้ากับกาลเทศะ ในอดีตเคยมีการเสนอให้เปลี่ยนเนื้อร้อง โดยใช้เนื้อร้อง ของอัลฟงส์ เดอ ลามาร์ตีน (Alphonse de Lamartine) วิกตอร์ อูโก (Victor Hugo) หรือแซร์จ แกงสบูรก์ (Serge Gainsbourg) หากก็ไม่มีการตอบรับจากภาครัฐ
ล่าสุดเอเตียน โกดิโนต์ (Etienne Godinot) แห่งสถาบันการวิจัยหาข้อยุติที่ไม่รุนแรงแก่ความขัดแย้ง-Institut de recherche sur la resolution non-violente des conflits ได้เสนอว่าน่าจะมีการแต่งเนื้อร้องใหม่ โดยรัฐเป็นผู้จัดประกวด หรือเชิญกวี นักวิชาการ และนักการเมืองมาประชุมเพื่อแต่งเนื้อร้องใหม่ โดยให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน เช่น ส่งเสริมประชาธิปไตยและเสรีภาพต่อสู้กับความยากจน มุ่งสู่อนาคตที่ดีกว่า
การสอนให้เด็กๆ ร้องเพลง La Marseillaise อาจต้องเผชิญกับการตั้งคำถามของเด็กที่ยังไร้เดียงสาว่า “ครูขาทำไมเพลงชาติน่ากลัวจัง”
|
|
|
|
|