Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา เมษายน 2555
ราชธานีแห่งที่ 2 ของอาณาจักรอยุธยา             
โดย ธนิต วิจิตรพันธุ์
 


   
search resources

Entertainment and Leisure




“ลพบุรี” เมืองโบราณที่มีผู้คนอาศัยอยู่มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นศูนย์กลางความเจริญของทวาราวดี ขอม อู่ทอง กรุงศรีอยุธยา เรื่อยมาจนสมัยรัตนโกสินทร์

ทุกๆ ปีต้องเดินทางไปลพบุรีเพื่อทำบุญเนื่องในวันคล้าย วันเกิดมารดา และต้องเลยไปไหว้อัฐิบิดากับปู่ย่าตายายเป็นประจำ ไหนๆ ก็ไปแล้ว ถือโอกาสพาเที่ยวและไปรู้จักจังหวัดนี้กันเลย

ลพบุรีเป็นเมืองแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ต่อเนื่องยาวนานมากว่า 3,000 ปี ตั้งแต่สมัยทวาราวดี พุทธศตวรรษที่ 11-16 ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของมอญและขอม

จนกระทั่งต้นพุทธศตวรรษที่ 19 คนไทยจึงเริ่มมีอำนาจขึ้นในดินแดนแถบนี้ ในสมัยพระเจ้าอู่ทอง กษัตริย์แห่งกรุงศรี อยุธยา ลพบุรีมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง โปรดฯ ให้โอรสองค์ใหญ่ เสด็จมาครองเมืองนี้เมื่อ พ.ศ.1893 และยังโปรดฯ ให้สร้างป้อม ขุดคู สร้างกำแพงเมืองอย่างมั่นคง

เมื่อพระราเมศวรเสด็จกลับอยุธยาเพื่อขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ.1931 เมืองนี้จึงลดความสำคัญลง

จนกระทั่ง พ.ศ.2199 สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทะนุ บำรุงเมืองนี้ขึ้นอีก สาเหตุจากการคุกคามของชนชาติฮอลันดาที่มาติดต่อค้าขาย ไม่สู้ปลอดภัยจากข้าศึกหากเกิดสงคราม จึงได้สร้างราชธานีที่ 2 ขึ้น ณ เมืองนี้ ซึ่งมีลักษณะทางยุทธศาสตร์ เหมาะสม โดยได้รับความช่วยเหลือจากช่างชาวฝรั่งเศสและชาวอิตาเลียน ได้สร้างพระราชวังป้อมปราการเป็นแนวป้องกันอย่างแข็งแรง และประทับอยู่ลพบุรีเป็นส่วนใหญ่

ในสมัยพระเพทราชาได้ย้ายหน่วยราชการทั้งหมดกลับกรุงศรี อยุธยา จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่ง กรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดฯ ให้บูรณะเมือง ซ่อมกำแพงป้อม ประตูพระราชวังที่ทรุดโทรม และสร้างพระที่นั่งพิมานมงกุฎขึ้นในพระราชวัง เป็นที่ประทับ และพระราชทานนามว่า พระนารายณ์ราชนิเวศน์

ละโว้ “ลาวปุระ” เป็นเมืองโบราณที่มีผู้คนอาศัยอยู่มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นศูนย์กลางความเจริญของทวาราวดี ขอม อู่ทอง กรุงศรีอยุธยา เรื่อยมาจนสมัยรัตนโกสินทร์

ลพบุรี เมืองของพระลพตามพระนามพระโอรสของพระรามในมหากาพย์รามายณะ

ลพบุรีมีโบราณสถาน โบราณวัตถุ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง มีศิลปวัฒนธรรมอันเป็นมรดกล้ำค่า และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ มากมาย

พระนารายณ์ราชนิเวศน์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2209 เพื่อใช้เป็นที่ประทับ พระราชฐานชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน กำแพงพระราชวังก่ออิฐถือปูนมีใบเสมาเรียงรายบนสันกำแพง มีซุ้มประตู 11 ประตู ทางเข้าเป็นประตูทรงจตุรมุข ช่อง ทางเข้าโค้งแหลมทรงจั่ว ซุ้มประตูแต่งลายกระจังปูนปั้นวิวัฒนาการมาจากดอกบัว ซุ้มประตูและกำแพงพระราชฐานชั้นกลางและชั้นในมีช่องเล็กๆ เจาะเป็นรูปโค้งแหลม คล้ายบัวเรียงเป็นแถวสำหรับวางตะเกียง 2,000 ช่อง

พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาประสาท เป็นศิลปกรรมไทยและฝรั่งเศสผสม ผสานกัน ท้องพระโรงมียอดแหลมทรงมณฑป ตรงกลางท้องพระโรงมีสิงหบัญชร เป็นที่เสด็จออกเพื่อทรงมีพระราชปฏิสันถาร กับผู้เข้าเฝ้า

ประตูและหน้าต่างด้านหน้าทำเป็นโค้งแหลม ส่วนตัวมณฑปซึ่งอยู่ด้านหลังทำประตู หน้าต่างเป็นซุ้มแบบไทย คือ ซุ้มเรือนแก้ว ฐานสิงห์

พระที่นั่งจันทรพิศาล สร้างขึ้นเมื่อปี 2208 เป็นที่ประทับซึ่งสร้างทับบนรากฐานเดิมของพระที่นั่งที่พระราเมศวรทรงสร้างขึ้นเมื่อครั้งเสด็จมาครองเมืองลพบุรี

พระที่นั่งองค์นี้สร้างแบบสถาปัตยกรรมไทยแท้ ด้านหน้ามีมุขเด็จ ภายหลังใช้พระที่นั่งองค์นี้เป็นที่ออกขุนนาง ปัจจุบันใช้เป็นที่แสดงเรื่องราวพระราชประวัติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และงานประณีตศิลป์สมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์

พระที่นั่งสุทธาสวรรค์ เป็นที่ประทับส่วนพระองค์อยู่ในพระราชฐานชั้นใน ในพระราชอุทยานที่ร่มรื่น ทรงปลูกพรรณไม้ต่างๆด้วยพระองค์เอง หลังคาพระที่นั่งมุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลืองที่มุมทั้งสี่ มีสระน้ำใหญ่เป็นที่สรงสนานของพระเจ้าแผ่นดิน

ตึกพระเจ้าเหา ตั้งอยู่ทางด้านใต้ของพระราชฐานชั้นนอก เป็นตึกรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกพื้นสูง รูปทรงไทย ฐานก่อด้วยศิลาแลง แล้วจึงก่ออิฐขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง แสดงให้เห็นสถาปัตยกรรมสมัยสมเด็จพระนารายณ์อย่างชัดเจน

ปัจจุบันเหลือเพียงผนังประตูหน้าต่างทำเป็นซุ้มเรือนแก้วฐานสิงห์ สันนิษฐานว่าเป็นหอพระประจำพระราชวัง

พระเจ้าเหาหรือหาว ภาษาไทยโบราณหมายถึงท้องฟ้า ตึกรับรองแขกเมือง อยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอก ใกล้กับหมู่ตึกสิบสอง ท้องพระคลัง เป็นสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศสอยู่กลางอุทยาน แบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมจตุรัส รอบตึกมีคูน้ำล้อมรอบ ภายในคูน้ำมีน้ำพุเรียงราย 20 แห่ง

ด้านหน้าตึกเลี้ยงรับรองมีรากฐานเป็นอิฐ แสดงให้เห็นว่าตึกหลังเล็กๆ คงจะเป็นโรงมหรสพ แสดงให้แขกเมืองได้ชมภายหลังงานเลี้ยง

พระคลังศุภรัตน์ หรือหมู่ตึกสิบสองท้องพระคลัง สร้างขึ้นด้วยอิฐเป็นสองแถวยาวเรียงชิดติดกันจำนวน 12 หลัง ค่อนข้างทึบ มีถนนผ่ากลาง สันนิษฐานว่าเป็นคลังเก็บสินค้าหรือสิ่งของเพื่อใช้ในราชการ โรงข้าหลวงตั้งเรียงรายเป็นแถวชิดริมกำแพงพระราชอุทยานชั้นนอกด้านในสุด

ถังเก็บน้ำประปา “อ่างเก็บน้ำ” ก่อด้วยอิฐเป็นกำแพงสูงหนาเป็นพิเศษ ตรงพื้นมีท่อดินเผาฝังอยู่เพื่อจ่ายน้ำไปใช้ตามพระที่นั่งและตึกต่างๆ โดยท่อดินเผาจากทะเลชุบศรและอ่างซับเหล็ก

อ่างเก็บน้ำซับเหล็กเป็นอ่างเก็บน้ำธรรมชาติ สมเด็จพระนารายณ์โปรดฯ ให้ช่างชาวฝรั่งเศสและอิตาเลียนวางท่อส่งน้ำจากอ่างซับเหล็กนำไปใช้ในเขตพระราชฐาน

ปี พ.ศ.2497 จอมพล ป.พิบูลสงคราม สร้างเขื่อนดินกั้นน้ำเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในการ เกษตร อ่างเก็บน้ำซับเหล็กมีเนื้อที่ประมาณ 1,760 ไร่

จังหวัดลพบุรีได้ปรับปรุงอ่างซับเหล็ก ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยที่ถนนรอบอ่างเก็บน้ำปลูกต้นไม้และสร้างศาลาพักร้อน

หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2406 เพื่อเป็นที่ประทับ ประกอบด้วยพระที่นั่ง 4 องค์ คือ พระที่นั่งพิมานมงกุฎ ใช้เป็นที่ประทับ พระที่นั่งวิสุทธิวินิจฉัย เป็นท้องพระโรงออกว่าราชการแผ่นดิน พระที่นั่งไชยศาสตราการ เป็นที่เก็บอาวุธ พระแสง พระที่นั่งอักษรศาสตราคม ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานให้เป็นศาลากลางจังหวัด หมู่ตึกพระประเทียบ ตั้งอยู่หลังพระที่นั่งมงกุฎพิมาน

เขตพระราชฐานฝ่ายใน ประกอบด้วยตึกชั้นเดียว 2 หลังก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น 8 หลัง เรียงรายกัน เป็นที่พักของข้าราชการฝ่าย ในที่ตามเสด็จ เมื่อครั้งเสด็จประพาสลพบุรี

พระที่นั่งเย็น (พระที่นั่งไกรสรสีหราช) เป็นพระที่นั่งที่สมเด็จ พระนารายณ์มหาราชโปรดฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อทรงสำราญพระราชอิริยาบถ มีน้ำล้อมรอบอยู่กลางทะเลชุบศร ณ พระที่นั่งแห่งนี้ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงส่องกล้องทอดพระเนตรจันทรุปราคา เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2228 ซึ่งถือว่าเป็นการศึกษาดาราศาสตร์ครั้งแรกในประเทศไทยด้วย

ถนนท่าขุนนาง เริ่มต้นที่วัดเชิงท่าจนกระทั่งทางลงท่าน้ำ ตลาดท่าขุนนาง ซึ่งปัจจุบันดูเงียบเหงา บรรดาบ้านและห้องแถวร้อยกว่าปีทรุดโทรมไปตามเวลา มิได้มีการปรุงแต่ง ทิ้งร้าง ตกทอดสู่รุ่นลูกหลานต่อมา บ้างยังค้าขาย บ้างอยู่อาศัย

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ท่าขุนนางนี้คึกคักไปด้วยผู้คน ด้วยเป็นทางขึ้นสู่พระราชวัง เหล่าบรรดาขุนนางราชทูตจากต่างแดนต้องใช้ท่าน้ำหัวตลาดนี้ไปสู่พระราชวัง ท่าน้ำและถนนนี้มากด้วยเรื่องราว เปลี่ยนเป็นชุมชน มีทั้งยุคที่เฟื่องฟูและซบเซาตามจังหวะ และกาลเวลาของมัน

ส่วนประวัติของตำบลทะเลชุบศร เป็นที่ลุ่มขนาดใหญ่ เดิมมีน้ำขังเป็นบริเวณกว้างจนคล้ายกับทะเล เหตุที่เรียกทะเลชุบศรมีความเชื่อว่าพระรามได้ใช้ชุบพระแสงศรในแหล่งน้ำนี้

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้นำน้ำจากทะเลชุบศรไปใช้ในตัวเมือง โดยสร้างคันดินกักน้ำด้านตะวันตก บริเวณมุมคันดิน ทำประตูเป็นช่องระบายน้ำ “ปากจั่น” น้ำถูกบังคับให้ไหลออกทางประตูน้ำ จากนั้นน้ำจะถูกส่งด้วยท่อน้ำดินเผาเข้าไปใช้ในตัวเมือง จึงนับว่าเป็นระบบประปาที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย

ไม่ว่าจะเป็นชาวเมืองลพบุรีหรือชาวไทยจากทั่วประเทศ จะต้องไปกราบไหว้สักการะเทวสถาน “ศาลพระกาฬ” ซึ่งตั้งตระหง่าน อยู่ทางตะวันออกของเส้นทางรถไฟ เป็นสถาปัตยกรรมขอมอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 ลักษณะเป็นองค์ปรางค์เดี่ยวขนาดใหญ่ มีมุขยื่น ด้านหน้า ปรากฏซากบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ด้าน ประกอบเป็นผังจักรวาลวิทยาที่มีเขาพระสุเมรเป็นแกนกลาง

อดีตกาลชาวเมืองเรียก “ศาลสูง” เป็นที่ประดิษฐานเทวรูป เจ้าพ่อพระกาฬทำจากศิลาทราย ศิลปะลพบุรี มีร่องรอยพระกร 4 ข้อ ปรากฏอยู่ คล้ายเป็นเทวรูปพระวิษณุหรือพระโพธิสัตว์ในคติมหายาน ที่เผยแพร่เข้ามายังละโว้ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ปัจจุบันองค์เรือนธาตุปรางค์ประธานเดิมปรักหักพังเกือบหมด แต่บนทับหลัง สลักเป็นรูป “วิษณุอนันตศายินปัทมะนาถ” “นารายณ์บรรทมสินธุ์” ทำจากศิลาทราย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 และยังพบจารึกอีกหลาย หลัก ส่วนใหญ่เป็นอักษรขอม

เทวสถานแห่งนี้คงจะได้รับการปฏิสังขรณ์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีการบูรณะขึ้นใหม่ใน พ.ศ.2494 โดยสร้างทับฐานเดิม และรอบๆ ศาลพระกาฬจะมีฝูงลิงอยู่อาศัยเป็นลูกศิษย์เจ้าพ่อพระกาฬเป็นจำนวนมาก

เจ้าพ่อพระกาฬถือว่าเป็นเทพอารักษ์ประจำเมือง ในคัมภีร์และจารึกโบราณปรากฏนาม “องค์พระกาฬไชยศรี” เป็นเทพที่ปกป้อง รักษาบ้านเมือง เช่นเดียวกับพระเสื้อเมือง พระทรงเมือง เป็นผู้ทรงฤทธานุภาพสามารถให้คุณให้โทษและเป็นเทพเจ้าแห่งความตาย

การไปสักการบูชาองค์เจ้าพ่อพระกาฬ จึงถือเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ทำให้แคล้วคลาดอันตรายจากศัตรูทั้งปวง

มาเยือนลพบุรีครั้งใดทำให้นึกถึงสมัยยังวัยละอ่อนอยู่ทุกครั้ง โดยเฉพาะในช่วงคืนพระจันทร์เต็มดวง วันเพ็ญเดือนสิบสอง ประเพณีวัฒนธรรมของลพบุรีในเทศกาลลอยกระทงน่ารักน่าจดจำมาก

ช่วงนั้นเป็นหน้าน้ำหลาก บ้านคุณยายจะอยู่เลยตลาดท่าโพธิ์ วัดมณีชลขันธ์ ตรงเชิงสะพานสอง ตำบลพรหมศาสตร์ เมื่อก่อนบริเวณนี้ยังไม่ได้ทำประตูกันน้ำ ทำให้หน้าน้ำหลากน้ำท่วมทุกปีแต่น้ำใสสะอาดมาก หมู่ปลาแหวกว่าย แม้น้ำท่วมถึงคอยังมองเห็น พื้นดินขาวสะอาด ริมสะพานแห่งนี้ ผู้คนนิยมมาลอยกระทง ชาวบ้าน แถวนั้นจะประดิษฐ์กระทงจากต้นกล้วยมาขายกันอย่างสนุกสนาน แต่ถ้าไปลอยกระทงที่วงเวียนสระแก้วก็จะสนุกไปอีกแบบ

วงเวียนสระแก้ว ภาษาทางการคือ วงเวียนศรีสุริโยทัย เป็น วงเวียนที่มีสิ่งก่อสร้างคล้ายเทียนตั้งอยู่บนพานขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บน ถนนนารายณ์มหาราช ใจกลางเมืองเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมือง พานขนาดยักษ์นี้โดยรอบประดับไปด้วยเครื่องหมายประจำกระทรวงต่างๆ ทั้งสี่ทิศมีสะพานเชื่อมถึงกัน ที่เชิงสะพานมีรูปปั้นราชสิงห์ในท่านั่งหมอบโดยรอบที่มีความเข้มแข็ง ดุดัน เสมือนทหาร ที่แข็งแกร่ง ในสระยังมีพญานาคให้น้ำ 4 ตัว

วงเวียนสระแก้วเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ขุดเมื่อ พ.ศ.2481-2482 ในสมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้สร้างเมืองลพบุรีให้เป็นเมืองยุทธศาสตร์สำคัญทางทหารจนถึงปัจจุบัน

นอกจากวงเวียนสระแก้วแล้ว จังหวัดลพบุรียังมีวงเวียนที่มี ความสำคัญอีก 2 แห่ง คือ วงเวียนพระนารายณ์มหาราช และวงเวียนศาลพระกาฬ และถ้าใครมีอายุกว่า 50 ปีขึ้นไป น่าจะทันได้ นั่งรถรางซึ่งวิ่งระหว่างเมืองใหม่-ตลาดท่าโพธิ์แน่นอน

ศาลหลักเมืองหรือศาลลูกศร ตั้งอยู่บนถนนสายริมน้ำหลังวัดปืนใหญ่ใกล้บ้านวิชาเยนทร์ ตัวศาลาเป็นตึกเล็กๆ มีแท่งหินโผล่ระดับเหนือดินสูงประมาณ 1 เมตร เป็นศาลหลักเมืองโบราณ

จากนิพนธ์ในสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชา นุภาพทรงนิพนธ์ไว้ในตำนานเมืองลพบุรี หลักเมืองลพบุรีอยู่ทางตลาด ด้านเหนือวังเรียกว่าศรพระราม มีประวัติว่าเกิดจากเรื่องรามเกียรติ์ สมมุติฐานเป็นตำนานของเมืองนี้

เทวสถานปรางค์แขกเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ที่สุดของเมือง อยู่ใกล้ๆ กับนารายณ์ ราชนิเวศน์ เป็นปรางค์ ก่อด้วยอิฐ 3 องค์ แต่ ไม่มีฉนวนเชื่อมต่อกัน มีอายุราวพุทธศตวรรษ ที่ 15 มีลักษณะคล้าย กับปรางค์ ศิลปะเขมร แบบพระใด พ.ศ.1425-1537 เป็นปรางค์แบบเก่าๆ ประตูทางเข้าโค้งแหลม

พระปรางค์สามยอดตั้งอยู่ใกล้กับศาลพระกาฬ ลักษณะ ปรางค์เรียงต่อกัน 3 องค์ มีฉนวนทางเดินเชื่อมต่อกัน เป็นศิลปะเขมรแบบบายน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 สร้างด้วยศิลาแลง ตกแต่งลวดลายปูนปั้น เสาประดับกรอบประตู แกะสลักเป็นรูปฤาษีนั่งชันเข่าในซุ้มเรือนแก้ว องค์กลางสูง วิหารสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ด้านทิศตะวันออก ประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ปรางค์สมาธิ ศิลปะแบบอยุธยาตอนต้น ปรางค์สามยอดเป็นเทวสถานของขอมในพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ต่อมาได้ดัดแปลงเป็นเทวสถานโดยมีฐานศิวลึงค์ปรากฏอยู่ในองค์ปรางค์ทั้ง 3 องค์

สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้บูรณปฏิสังขรณ์พระปรางค์สามยอดเป็นวัดในพระพุทธศาสนา

บ้านหลวงวิชาเยนทร์ “บ้านหลวงรับราชทูต” สำหรับรับรอง ราชทูตที่มาเฝ้าฯ โดยมีคณะทูตชุดแรกจากประเทศฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ.2228 ต่อมาชาวกรีก คอนแสตนติน ฟอลคอน รับราชการจนมีความดีความชอบ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ และ ได้รับพระราชทานที่พักอาศัยทางทิศตะวันตกของบ้านหลวงราชทูต วัดที่น่าสนใจซึ่งมีประวัติความเป็นมาที่แตกต่างกันไป เช่น วัดพระศรีรัตนมหาราชธาตุ ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามสถานีรถไฟ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างในสมัยใด โดยพบศาลาเปลื้องเครื่อง ซึ่งเป็นที่ประทับ ของพระเจ้าแผ่นดินเพื่อเปลี่ยนเครื่องทรงก่อนที่จะเข้าพิธีทางพุทธศาสนาในโบสถ์หรือวิหารเป็นอันดับแรก ปัจจุบันเหลือเพียงเสาเอนอยู่เท่านั้น

ถัดไปคือวิหาร ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เป็นวิหารขนาดใหญ่ ประตูทำเป็นเหลี่ยมแบบไทย หน้าต่างเจาะช่องแบบโกธิกของฝรั่งเศส ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป พระอุโบสถขนาดย่อม หน้าต่างเป็นแบบฝรั่งเศสทั้งสิ้น มีพระปรางค์ก่อด้วยศิลาแลงโบกปูน มีเครื่องประดับลวดลาย เป็นพระพุทธรูปและพุทธประวัติลายปูนปั้น ด้านบนพระปรางค์และซุ้มปรางค์องค์ใหญ่เป็นศิลปะแบบละโว้ มีลายปูนปั้นที่งามมาก สร้างในสมัยขอมเรื่องอำนาจ โดยได้รับการบูรณะในสมัยสมเด็จพระราเมศวร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และสมเด็จพระนารายณ์ฯ

จึงมีลวดลายปะปนในหลายสมัย ปรางค์องค์เดิมบรรจุพระพุทธรูปไว้เป็นจำนวนมาก เช่น พระร่วง พระหูยาน

ปรางค์ที่มุมกลีบมะเฟืองทุกมุมปั้นเป็นรูปเทพพนมหันออกรอบทิศ พระพักตร์เป็นสี่เหลี่ยม พระขนงต่อกัน ศิลปะอู่ทอง ชฎาเป็นทรงสามเหลี่ยมมีรัศมีออกไปโดยรอบ ซึ่งหาดูได้ยาก

วัดเสาธงทอง เดิมแยกเป็น 2 วัด คือวัดรวกและเสาธงทอง เป็นวัดเก่าแก่ตั้งอยู่ระหว่างวังนารายณ์กับฟ้าหลวงราชทูต พระวิหาร แต่เดิมสร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานของศาสนาอื่น แผนที่ตรงนั้นเป็นที่พักของชาวเปอร์เซีย อาจเป็นสถานที่ประกอบพิธีศาสนาอิสลาม ของชาวเปอร์เซีย

วัดนครโกษา มีซากโบราณสถาน เจดีย์องค์ใหญ่สมัยทวาราวดี พระปรางค์สมัยลพบุรีของพุทธศตวรรษที่ 17 ที่ด้านหน้า แต่พระ พุทธรูปปูนปั้นแบบอู่ทองบนปรางค์นั้นสร้างขึ้นภายหลัง พระพุทธรูป ขนาดใหญ่ที่มีร่องรอยการดัดแปลงเป็นพุทธรูป 2 องค์ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์ วัดนี้ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของสถานีรถไฟใกล้กับศาลพระกาฬ

วัดทองปู วัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งอยู่หลังโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย ในอดีตเคยเป็นที่ชุมชนกองทัพไทย พระอุโบสถทรงไทยที่มีรูปอ่อนโค้ง วิหารมีลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยสมเด็จพระนารายณ์ โบราณวัตถุที่เหลืออยู่เพียงชิ้นเดียวในเมืองไทย ที่สรงน้ำพระโบราณ “น้ำพุสรงน้ำพระ”

วัดมณีชลขันธ์เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเส้นทางลพบุรี-สิงห์บุรี เลยท่าโพธิ์ไปนิดหนึ่ง จำได้สมัยเด็กจะต้องหิ้วปิ่นโตตามคุณยายไปทำ บุญที่วัดนี้ด้วยเสมอ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 มีพระเจดีย์รูปทรงแปลกตา โดยก่อเป็นเหลี่ยมสูงขึ้นไปคล้ายเจดีย์เหลี่ยมสมัยเชียงแสน แต่ตรงมุมมีการย่อมุมไม้สิบสอง ทำเป็นสามชั้นมีซุ้มประตูยอดแหลม อยู่ด้านข้างทั้ง 4 ด้านทุกชั้น ภายในวัดยังมีต้นโพธิ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเพาะเมล็ดนำมาปลูกไว้

วัดเขาพระงาม “สิริจันทร์นิมิตรวรวิหาร” เดิมเป็นวัดร้างสร้างมาสมัยใดไม่ปรากฏหลักฐาน

เมื่อ พ.ศ.2455 เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาสพร้อมพระสงฆ์อีก 2 รูป ธุดงค์มาพักที่วัดนี้ได้สร้างพระพุทธรูปที่ไหล่เขาขนาดหน้าตักกว้าง 11 วา สูงจากหน้าตักถึงยอดเศียร 18 วา เส้นพระศกทำด้วย ไหกระเทียม เรียกว่าพระพุทธนฤมิตมัธยมพุทธกาล และเปลี่ยนเป็น พระพุทธปฏิภาคมัธยมพุทธกาลเมื่อมีการบูรณะใหม่เมื่อ พ.ศ.2469

จากศาลากลางจังหวัดลพบุรี โดยใช้เส้นทางลพบุรี-โคกสำโรง ประมาณ 12 กิโลเมตร เมื่อเดินทางเข้าใกล้บริเวณวัด จะแลเห็นพระพุทธรูปสีขาว เด่นตระหง่านบนเชิงเขา

วัดยาณรังสีและพิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้าน ตำบลตะลุง ริมฝั่งแม่น้ำลพบุรี เดิมเรียกวัดพญายาง เดิมเป็นวัดโบราณอยู่กลางป่า อายุตั้งแต่สมัยละโว้ เพราะมีประติมากรรมหินทราย พระพุทธรูปปางนาคปรก 2 องค์ ปางมารวิชัย 1 องค์ ปางสมาธิ 1 องค์ ภายในพระอุโบสถ เป็นเนื้อหินทรายและหินสีเขียว (หินหนุมาน) รูปทรงแบบสมัยขอมเรืองอำนาจ ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์อีก

สำหรับพิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้านตั้งอยู่ที่ศาลาการเปรียญไม้หลังเก่าภายในวัด สร้างขึ้นเมื่อปี 2471 ซึ่งศาลาการเปรียญ นี้ได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ในปี 2536 เป็นลักษณะศาลาวัดในแบบชนบทของภาคกลางในประเทศไทย ทั้งนี้ผู้สร้างได้จำลองแบบจากภาพศาลาที่อยู่ด้านหลังธนบัตรใบละ 1 บาท ที่พิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ 8 นับเป็นพิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้านแห่งแรกของประเทศไทย

ต้นตระกูลเป็นคนบางขาม อำเภอบ้านหมี่ ตั้งอยู่ริมน้ำตลอด สองฟากฝั่งดูร่มรื่นปกคลุมไปด้วยไม้ใหญ่น้อย น้ำใสสะอาด เวลาไป เยี่ยมญาติผู้ใหญ่จำได้ว่าจะต้องเดินทางด้วยรถยนต์เส้นทางลพบุรี-สิงห์บุรี เลี้ยวขวาตรง กม.ที่ 18 เข้าไปประมาณอีก 6 กม. จะถึงวัดไลย์ เรียกตลาดท่าโขลง จะมีท่าเรือให้ต่อไปยังบ้านคุณปู่คุณย่า ที่ตำบลบางขาม ปัจจุบันมีทางหลวงเชื่อมไปยังอำเภอบ้านหมี่ได้อย่างสะดวกสบาย

เมื่อก่อนเวลาเดินทางมานั้น คุณแม่ก็จะชี้ให้ดูเทือกเขาเตี้ยๆ เป็นที่ราบสูง ที่ราบลุ่ม มีภูเขาและแม่น้ำไหลผ่าน มีบ้านเรือน ตั้งอยู่ กระจัดกระจายตามริมแม่น้ำ ริมคลองธรรมชาติ ที่ราบริมเขา ที่เรียก เขาสมอคอน ในสมัยโบราณกว่าจะเดินเท้าเข้าไปต้องใช้เวลายาวนาน

เขาสมอคอนนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ตำนานเก่าแก่เกี่ยวกับเขาสมอคอนมีอยู่หลายเรื่อง เรื่องที่น่าสนใจจากหนังสือ อักษรานุกรมภูมิศาสตร์ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า เขาสมอคอน เป็นที่อยู่ของสุดกะทัตะฤาษี อาจารย์ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพระยางำเมือง กษัตริย์เมืองพระเยา ซึ่งน่าจะเป็นราชวงศ์หนองแส โยนก เชียงแสน ทั้งสองพระองค์ เพราะเมื่อทรงพระเยาว์ได้เสด็จมา ศึกษาศิลปะวิทยาที่เขาสมอคอนนี้ ซึ่งในสมัยนั้นกษัตริย์เมืองลพบุรีก็เป็นราชวงศ์เดียวกัน

วัดไลย์อยู่ริมน้ำบางขาม ตำบลเขาสมอคอน เป็นวัดเก่าแรก ตั้งกรุงศรีอยุธยา แล้วมาปฏิสังขรณ์ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ยังมีลายภาพของเก่าเป็นเรื่องทศชาติและปฐมสมโพธิ์ มีรูปพระศรีอาริย์ที่ผู้คนนับถือมาแต่โบราณ เมื่อรัชกาลที่ 5 ไฟป่าได้ไหม้วิหารรูปพระศรีอาริย์ได้ชำรุดไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญลงมาปฏิสังขรณ์ ที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันทางวัดสร้างวิหารเพื่อประดิษฐานพระศรีอาริย์ขึ้นใหม่ด้านหน้า เป็นมณฑปจตุรมุข

พระวิหารเป็นแบบอยุธยาตอนต้น เจาะช่องผนังแบบหน้าต่าง ภายใน มีพระประธานขนาดใหญ่ปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง มีซุ้มเรือนแก้วเช่นเดียวกับพระพุทธชินราช ที่จังหวัดพิษณุโลก

ด้านหน้าด้านหลังพระวิหารมีภาพปูนปั้นเรื่องทศชาติเรื่อง ปฐมสมโพธิ์ ซึ่งนับเป็นภาพประติมากรรม ฝาผนังขนาดใหญ่ที่สำคัญชั้นหนึ่ง

ช่วงเทศกาลสงกรานต์ทีไรจะหวนนึกถึงประเพณีสงกรานต์ที่เมืองละโว้ทุกทีไป เพราะมีการเล่นน้ำให้ชื่นฉ่ำ แล้วยังมีดินสอพองประกันให้เย็นใจอีกด้วย

ดินสอพองถือเป็นสมุนไพร (ประเภทเภสัชวัตถุ) ที่อยู่คู่เมืองไทยมาเป็นเวลาช้านาน จัดอยู่ในสมุนไพรจำพวก แร่ธาตุ เครื่องยาธาตุวัตถุ จากตำราพระ โอสถพระนารายณ์ได้กล่าวถึงดินสอพองไว้ว่า ให้เอาชานอ้อย กำยาน แก่นคูณ กวักชีถาก รมหม้อใหญ่ใส่น้ำไว้ จึงเอาดินสอพองเผาให้สุก ใส่ลงในหม้อน้ำนั้น ให้คนไข้กินแก้ร้อนใน กระหายน้ำ

ลพบุรีเป็นแหล่งผลิตดินสอพองที่สำคัญ โดยมีแหล่งใหญ่อยู่ที่ตำบลท่าแค่ ตำบลท่าตะโก และจะมีการผลิตอยู่ที่หมู่บ้านหินสอง ก้อน ตำบลทะเลชุบศร การผลิตดินสอพองเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านมาแต่อดีต ดินสอพองยังเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมยาสีฟัน อุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบันที่ใช้ในการโรยแผล รักษาสิว การผลิตธูป ทำสีฝุ่น ตกแต่งเครื่องเรือน แม้กระทั่งการทำไข่เค็มดินสอพอง เป็นต้น

ตำนานเรื่องดินสอพองจังหวัดลพบุรีที่ขึ้นชื่อในเรื่องแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพ เล่าขานกันว่าเมื่อครั้งที่พระรามปราบทศกัณฐ์ได้สำเร็จ พระองค์จึงคิดปูนบำเหน็จให้หนุมานซึ่งเป็นทหารเอก โดยการแผลงศรออกไป หากศรตกลง ณ ที่ใด บริเวณนั้นก็จะเป็นของหนุมาน ศรของพระรามเป็นศรที่มีความศักดิ์สิทธิ์เมื่อแผลงมาตกที่ทุ่งพรหมาศ (หมายถึงจังหวัดลพบุรี) ทำให้แแผ่นดินลุกเป็นไฟ หนุมานจึงใช้หางพัดไฟให้ดับ บริเวณนั้นจึงกลายเป็นสีขาวและเถ้าดิน ที่ถูกหางหนุมานกวาดออกไปคือภูเขาล้อมรอบจังหวัดลพบุรี

ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าขาวม้าลายไส้ปลาไหล แหล่งทอผ้าพื้นเมือง อยู่ที่บ้านกล้วย บ้านทราย บ้านหินปัก อำเภอบ้านหมี่ ซึ่งมีคุณภาพ ดีชั้นหนึ่ง ซักรีดง่าย ราคาถูก

ไข่เค็มดินสอพองเป็นของฝากที่เมื่อไปเยือนลพบุรีแล้วพลาดไม่ได้ การทำไข่เค็มดินสอพองของที่นี่คือการนำดินสอพองผสมกับ เกลือและน้ำตาล พอกแล้วนำไปคลุกเคล้าในเถ้าแกลบ

สิ่งที่มีชื่อเสียงโด่งดังของจังหวัดนี้พลาดไม่ได้ คือน้อยหน่า ผลไม้ที่มีมาแต่รัชกาลที่ 5 มีชื่อมากที่เรียกว่า น้อยหน่าพระที่นั่ง ซึ่งปลูกกันมากบริเวณพระที่นั่งเย็น ผลโต รสชาติอร่อย

ของฝากพื้นบ้านที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวชาวไทยเห็น จะเป็นส้มฟักอันลือชื่อ ที่ทำจากการหมักเนื้อปลาด้วยเกลือ ข้าวสุกบด กระเทียม นวดจนเนื้อแน่นเช่นเดียวกันกับการหมักแหนมนั่นเอง มีวางขายกันในตลาดในเมือง

ทุ่งทานตะวันจังหวัดลพบุรี ปลูกทานตะวันมากที่สุดกว่า 3 แสนไร่ ปลูกทดแทนข้าวโพด เมล็ดทานตะวันมีสารอาหารที่มีคุณค่า นิยมสกัดทำน้ำมันสำหรับปรุงอาหาร หรืออบแห้งเพื่อรับประทาน หรือใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง ผลิตน้ำผึ้งจากดอกทานตะวัน แหล่งปลูกกระจายอยู่ทั่วไปในเขตอำเภอเมือง อำเภอพัฒนานิคม อำเภอชัยบาดาล

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นเขื่อนดินแกนดินเหนียว กักเก็บน้ำเพื่อการชลประทานมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่อำเภอพัฒนานิคม อำเภอท่าหลวง อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี และอำเภอวังม่วง จังหวัด สระบุรี ความยาวตัวเขื่อน 4,800 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้ 785 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ระดับความสูง 42 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีจุดชมวิวบริเวณสันเขื่อน

พิพิธภัณฑ์ลุ่มน้ำป่าสัก เป็นพิพิธภัณฑ์เฉพาะเรื่อง เป็นการจัดแสดงเนื้อหาความรู้ด้านธรรมชาติและวัฒนธรรมในบริเวณพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เส้นทางรถไฟยังหักผ่านอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนหลายช่อง ทำให้มีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม

เมื่อนำเที่ยวจังหวัดลพบุรีแล้วก็ขอย้อนกลับเข้ากรุงเทพฯ เพื่อแนะนำร้านอาหาร Flow Restaurant and Bar อยู่พหลโยธินซอย 9 เมื่อได้ไปแล้วจะได้รับความประทับใจกับการต้อนรับและบริการและการดูแลของหุ้นส่วน ที่เป็นเหล่าเซเลบยุคใหม่กลับไปด้วย ความอิ่มเอิบใจ อาหารอร่อยเตะปาก เตะจมูก อีกทั้งการตกแต่งคลาสสิกสวยสะดุดตาได้อารมณ์

กิตติพัฒน์ สิทธัตภ์ หรือมด หนึ่งในหุ้นส่วนบอกว่า ร้านนี้เพื่อนนักเรียนเก่าสมัยมัธยมที่ปัจจุบันต่างอาชีพ มีทั้งทหาร ตำรวจ นักธุรกิจ นักบริหาร ซึ่งมีความชอบที่แตกต่างกันไป บ้างชอบการตกแต่ง ชอบเสาะหาอาหารบรรยากาศดีๆ หรือสร้างสรรค์เมนูแปลก ใหม่ได้ลิ้มลอง แต่ทุกคนมีจิตใจที่ตรงกันคือมี Service Mind ดูแลคนรอบข้างให้การต้อนรับผู้มาเยือนด้วยความสุข ซ้ำยังนำประสบ การณ์ที่มีอยู่มาช่วยกันบริหารร้านอาหารอีกด้วย

Flow เพิ่งเปิดบริการได้เพียง 2-3 เดือน แต่ได้รับการตอบรับดีเยี่ยม โดยมีเชฟชื่อดังเป็นผู้ดูแลทั้งรสชาติ คุณภาพอาหาร เป็นที่ปรึกษา

ร้านตกแต่งแนว Vintage ประยุกต์ ถ้าใครเคยไป Scenery Vintage Farm อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี จะรู้สึกได้ทันที เหมือนกับยกบรรยากาศส่วนหนึ่งของที่นั่นมาไว้ที่นี่ สำหรับแนวอาหารจะเป็นสไตล์ฟิวชั่น

สมัยนี้จะเห็นร้านอาหารแนวฟิวชั่นเกิดขึ้นมาก รูปแบบการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่เปลี่ยนไปชอบการผสมผสานหลากวัฒนธรรม ความเป็นโมเดิร์น จินตนาการ ความแปลกใหม่ รูปแบบ รูปร่างหน้าตา กระทั่งรสชาติของอาหารที่ไม่มีรูปลักษณ์เดิมของอาหารนั้นๆ เพื่อสนองความสุขทั้งคนทำและคนกิน

อาหารเรียกน้ำย่อย ตับบดขนมปัง ใช้ขนมปังฝรั่งเศสทาเนย พิถีพิถันในการปิ้ง ให้ทั้งความอร่อยและความสวยงาม น่าจะเรียกว่า Grill ขนมปังมากกว่า

ส่วนตับบดนั้นผ่านกรรมวิธีต่างๆ เช่น นำตับไก่และเครื่องเทศไปเคี่ยวจนได้ที่ นำมาบดและปรุงรสอีกครั้ง

เมนูโปรดของทุกโต๊ะ สลัดเนื้อโคขุนแจ่วรสซิ่ง รับประทาน แล้วจะได้กลิ่นข้าวคั่วที่หอมกรุ่นพร้อมรสชาติของมายองเนสไปพร้อมกัน

อาหารจานเด็ดและยอดนิยมที่จะละเลยไม่ได้ Super Flow ช่วงเปิดร้านใหม่ๆ จะต้มไว้สำหรับทำเป็นน้ำซุป ต่อมานำมาลองต้มทานเอง เลยกลายเป็นเมนูยอดฮิตของร้านไปในที่สุด โดยนำส่วนหลังของหมูที่ว่ากันว่าเป็นส่วนที่ให้น้ำซุปหวานที่สุดมาตุ๋นจนเนื้อ ติดกระดูกเปื่อยยุ่ย ทำให้ได้น้ำต้มกระดูกที่หวานตามธรรมชาติ ปรุงด้วยพริกขี้หนูสวนบีบน้ำมะนาวสด

อาหารที่ดัดแปลงจากอาหารไทยโบราณ ผัดพริกขิงสามกรอบ โบราณจะนิยมใช้กากหมู หรือหมูสามชั้นเป็นส่วนประกอบหลักในการทำ ปัจจุบันคนกลัวเรื่องโคเรสเตอรอลในเลือดสูง ทางร้านจึงใช้เบคอน ปาท่องโก๋ และหนังไก่ทอดกรอบซึ่งอร่อยไม่แพ้กัน

สปาเกตตีต้มยำมันกุ้งสดแบบขลุกขลิก อาหารที่ดูธรรมดาๆ แต่ทั้งหน้าตาและรสชาติที่ผ่านกรรมวิธีที่น่าทึ่งที่พลาดไม่ได้ ตับหมูผัดกระเทียมพริกไทย ข้าวผัดกระเทียม

แหนมหม้อผัดวุ้นเส้น แหนมต้องสั่งตรงมาจากเชียงใหม่ หรือ ผักโขมผัดกระเทียมพริกแห้งเป็นเมนูที่น่าสนใจทั้งสิ้น

อาหารเมนคอร์สของที่นี่ สเต๊กซี่โครงแกะ สเต๊กปลาแซลมอน และอีกมากมาย

และในอนาคตอันใกล้นี้จะเปิด Section ของชากาแฟและของว่าง

ใครที่รักในเรื่องการกิน ที่นี่น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us