|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ย่างปีที่ 31 ที่มนุษย์รู้จักกับโรคเอดส์ จากวันแรกจนวันนี้ เชื้อ “เอชไอวี” ไม่เคยหายไปจากโลกนี้ กลับอยู่รอบตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ ทว่า สิ่งที่โหดร้ายที่สุดหาใช่เชื้อโรค แต่เป็น “ทัศนคติ” ที่สังคมมีต่อผู้ติดเชื้อ
“โรคเอดส์ยังไม่เคยหายไปไหนจากสังคมไทย และกระทบชีวิตของพวกเรามากขึ้นเรื่อยๆ” วลีเด็ดที่เป็นทั้งหัวใจของกิจกรรมเสวนาหัวข้อ “AIDS ไม่เคย Out” และยังเป็นคำเตือนให้ตระหนักถึงข้อเท็จจริงในสังคมไทยเกี่ยวกับโรคร้ายนี้
หลายปีที่ผ่านมา แม้กระแสการรณรงค์เพื่อให้ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องในการป้องกันโรคเอดส์ อาจดูแผ่วลงไปบ้าง โดยเฉพาะใน ประเทศไทย แต่ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่รุดหน้า อัตราการติดเชื้อ และการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อเอดส์จึงลดลงไปมาก ทว่า สถิติเกี่ยวกับโรคเอดส์ก็ยังน่าตกใจ ไม่ต่างจากช่วง 10 ปีก่อน
ข้อมูลของ UNAIDS World Aids Day Report 2011 ระบุว่า สิ้นปี 2010 คาดว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลก 34 ล้านคน เพิ่มขึ้น 17% จากเมื่อ 10 ปีก่อน จำนวนผู้เสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ในปี 2010 มีราว 7 แสนคน และที่กำลังจะตายอีก 1.8 ล้านคน ขณะเดียวกัน ปี 2010 มีผู้ติดเชื้อ รายใหม่ถึง 2.7 ล้านคน หรือนาทีละกว่า 5 คน โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กที่ติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์เกือบ 4 แสนราย
ตัวเลขจากกระทรวงสาธารณสุข ในพิธีเปิดการสัมมนาระดับชาติเรื่องโรคเอดส์ ครั้งที่ 13 ระบุว่า จนถึงปี 2553 ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีสะสมราว 1,161,244 คน เสียชีวิตแล้ว 644,128 ราย ยังมีชีวิตอยู่ประมาณ 522,548 ราย และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10,853 ราย หรือเกือบ 30 คนต่อวัน
เอดส์ ณ ปี 2555 เปลี่ยนจากโรคที่รักษาไม่ได้ เป็นแล้วรอวันตายอย่างเดียว กลายเป็น รักษาได้ แม้จะไม่หายขาด ไม่ต่างโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น ภูมิแพ้ เบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง ฯลฯ หากเข้ารับยาต้านไวรัสเอดส์แต่เนิ่นๆ ทว่า การจะทำให้คนมาตรวจเอดส์ด้วยความสมัครใจ หรือทำให้ผู้ติดเชื้อกล้าเข้ารับการรักษา
มีคำกล่าวว่า “ทันทีที่เรารู้ว่าเพื่อนเราติดเชื้อ เขากลายเป็นคนแปลกหน้าไปในพริบตานั้น” ประโยคนี้สะท้อนชัดถึงทัศนคติและข้อเท็จจริงที่คนในสังคมปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อ ตราบที่สังคมยังกลัวเอดส์ รังเกียจเอดส์ รังเกียจหรือตีตราผู้ไปตรวจเอดส์ ผู้ติดเชื้อ และครอบครัว ผู้ติดเชื้อ ความพยายามที่จะทำให้เอดส์หมดไปจากโลกก็ดูจะไม่มีทางสำเร็จได้
“แม้ว่าปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์จะก้าวหน้าไปมาก แต่ความรู้ความ เข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคเอดส์ และการปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อในสังคมยังเป็นเรื่องที่ต้องสื่อสารกันอีกมาก สังคมยังมีความสงสัยและมีทัศนคติที่ไม่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตรต่อผู้ติดเชื้อ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการยับยั้งการแพร่เชื้อ” ลักขณา คุณาวิชยานนท์ ผู้อำนวยการ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กล่าวเป็นการต้อนรับนิทรรศการ You Are Not Alone
“You Are Not Alone: เพราะอยู่บน โลกเดียวกัน” เป็นนิทรรศการจัดแสดงศิลปะร่วมสมัยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับเอดส์ และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยสัญจรไปหลายประเทศ ก่อนมาจัดแสดงที่กรุงเทพฯ ณ ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ระหว่าง 17 มีนาคม-20 พฤษภาคม 2555
“You Are Not Alone มีความหมาย ไปไกลเกินกว่าเรื่องเอชไอวีและเอดส์ เราไม่ได้อยู่คนเดียวเพราะเราแบ่งปันศักยภาพของการดำรงอยู่ร่วมกับสิ่งอื่น ไม่ว่าจะเป็นเชื้อโรค สัตว์ ธรรมชาติ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือเพื่อนข้างบ้านที่ไม่มีอะไรเหมือนเราเลย” พิชญา ศุภวานิช กล่าวในฐานะภัณฑารักษ์ร่วม
นิทรรศการนี้จัดโดยหอศิลปวัฒนธรรม แห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับมูลนิธิ ArtAids มีจุดประสงค์เพื่อริเริ่มสร้างความคิดที่ถูกต้อง เกี่ยวกับโรคเอดส์ เพื่อปรับทัศนคติและสร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันในสังคมกับผู้ติด เอดส์ พร้อมกับปรับเปลี่ยนการรับรู้และความ เคยชินทางความคิดที่เป็นผลพวงจากอคติและความไม่รู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ ผ่านผลงานศิลปะร่วมสมัยจากศิลปินไทยและศิลปินนานาชาติ 16 คน
หนึ่งในผลงานที่น่าสนใจ คือวิดีโอบันทึกศิลปะแสดงสดของ “เปเป้ เอสปาลิว” ศิลปินชาวสเปน ผู้ป่วยโรคเอดส์ โดยเขาเป็นศิลปินคนแรกของสเปนที่กล้าพูดถึงรสนิยมรักร่วมเพศของตน
ภาพคนสองคนประสานมือกันคล้ายเก้าอี้เพื่อให้เอสปาลิวนั่ง และทั้งสองก็พาเอสปาลิวไปตามถนน และร่างของเขาถูกส่งต่อไปให้กับชาวสเปนคนอื่นๆ ซึ่งในช่วงเวลาที่แสดงนั้นเป็นช่วงเวลาที่ผู้ป่วยชาวสเปนยังไม่ได้รับการยอมรับ และถูกกีดกันออกจากสังคม เพราะถูกองค์กรหรือผู้มีบทบาทในสังคมตีตราว่าเป็นผู้แพร่กระจายความชั่วร้าย
ผลงานชิ้นนี้ของเอสปาลิวสร้างขึ้นในช่วง 2 ปีสุดท้ายของชีวิตของเขา เพื่อกระตุ้น ให้สังคมทำความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับโรคเอดส์ ไม่ใช่ประเด็นที่ว่า โรคเอดส์ไม่ได้ติดต่อกันทางผิวหนัง แต่เป็นประเด็นทางจิตวิญญาณแห่งความเชื่อใจและความเป็นหนึ่งเดียว ที่จะทำให้ผู้ป่วยโรคเอดส์ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากการถูกแบ่งแยกกีดกัน
ขณะที่ศิลปินชาวอเมริกาใต้ “เดวิด โกลด์ แบลตต์” กลับเลือกที่จะสะท้อนความล้มเหลวในการปลุกจิตสำนึกเรื่องโรคเอดส์ให้กับสาธารณชนในประเทศแอฟริกาใต้ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีผู้ติดเชื้อเอดส์มากที่สุดในโลก ผ่านภาพถ่าย “ริบบิ้นเอดส์” สัญลักษณ์สากลเพื่อเตือนให้ตระหนักถึงโรคเอดส์
เดวิดถ่ายภาพริบบิ้นเอดส์จากหลายสถานการณ์และหลากสถานที่ในแอฟริกาใต้ สัญลักษณ์ดังกล่าวกลับไม่มีใครมองเห็นหรือสนใจ ไม่ว่าจะเป็นก้อนหินขนาดใหญ่ข้างทาง บนถนนชนบท ฯลฯ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ริบบิ้นแดงนี้เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของพื้นที่ทางสังคมที่ไม่มีใครสังเกต
ลอเรน่า ซิลเลอร์รูเอลโล ศิลปินชาวชิลี เธอได้แรงบันดาลใจในการสร้างผลงานจาก หญิงชาวชิลีผู้ติดเชื้อเอดส์จากสามีรายหนึ่ง หญิงชิลีคนนี้เป็นตัวแทนหญิงติดเชื้อหลายๆ คน ในการทำให้ลอเรน่าเข้าใจถึงความเปราะบางของผู้หญิงที่ต้องติดเชื้อเอชไอวี เพราะเธอเหล่านี้ต้องพบกับความเงียบ ความอับอาย และความไม่มั่นคงในชีวิต
ไม่ต่างจากหญิงไทยนัก พบว่าราว 28% ของผู้ติดเชื้อเอดส์รายใหม่ของไทย เป็นแม่บ้านที่ติดเชื้อจากสามีหรือคู่นอนประจำ สำหรับกลุ่มสามีที่ติดจากภรรยามีเพียง 10% กลุ่ม ชายที่ติดจากหญิงขายบริการเพียง 10% ขณะที่กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายสูงถึง 33%
“การถูกตราหน้าว่าเป็นผู้ติดเชื้อเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้หญิงเหล่านี้ต้องทนทุกข์ทรมานยิ่งกว่าความจริงที่พวกเธอประสบอยู่ เป็นอุปสรรคและเป็นภาระอันสาหัสมากกว่าโรคที่รุมเร้าเสียด้วยซ้ำ” ลอเรน่าอธิบาย
ลอเรน่าถ่ายทอดผลงานผ่านภาพถ่ายหนุ่มสาวที่กำลังเต้น “แทงโก” ด้วยเหตุผลที่ว่า แทงโกเป็นเสมือนตัวแทนความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชายที่มีพื้นฐานอยู่บนการล่อลวง รวมถึงปฏิกิริยาที่หญิงและชายมีต่อกัน ขณะเดียวกันก็เป็นรูปแบบการเต้นรำที่มีกฎเกณฑ์ชัดเจน โดยบทบาทของผู้ชายและผู้หญิงในการเต้นรำถูกกำหนดไว้แล้ว นั่นคือ ผู้ชายเป็นฝ่ายนำการเคลื่อนไหว และผู้หญิงก็ยอมให้ตนถูกชักนำ
ประเด็นสุดท้ายที่ศิลปินสาวชิลีคนนี้ทิ้งไว้ก็คือ คำพูดของบอร์เจสที่พูดถึงแทงโกว่า “ก่อนนี้ (ปี 1930) แทงโกเคยถูกมองว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายเมามาย แต่ตอนนี้ แทงโกก็คือวิธีการเดินแบบหนึ่ง”
สำหรับผลงานที่ถือได้ว่าสื่อสารเรื่องโรคเอดส์อย่างตรงไปตรงมาที่สุด และสะเทือน อารมณ์ของผู้ชมได้มากที่สุดในนิทรรศการนี้ คงหนีไม่พ้นงานของ “โอม พันธุ์ไพโรจน์” หนึ่งในศิลปินชาวไทยที่นำเสนอผ่านภาพถ่ายของเด็กน้อยวัย 7-13 ปี นับ 10 คน ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ได้รับเชื้อเอชไอวีจากแม่
โอมเชื่อว่า ไม่มีโรคติดต่อใดในช่วงเวลาปัจจุบันที่จะส่งผลกระทบเลวร้ายและรุนแรง ต่อประชากรอายุน้อยได้มากเท่าเอดส์ กว่า 30 ปีจนถึงวันนี้ มีผู้คนกว่า 25 ล้านคนทั่วโลก ที่เสียชีวิตจากโรคนี้ ปัจจุบันมีประชากรโลกราว 40 ล้านคนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับเชื้อเอชไอวี และเกือบ 3 ล้านคนในกลุ่มนี้เป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี
ก่อนเข้าโซนจัดแสดงผลงานของโอม ผู้ชมจะได้พบกับประโยคที่ว่า “UNCHOSEN: Didn’t ask for it. Didn’t want it. Born with it.” เป็นการโหมโรง จากนั้นจึงเข้าสู่ทางเดิน ที่เสมือนกำลังนำผู้ชมเข้าไปสู่โลกของเด็กผู้ติดเชื้อเหล่านี้
ผนังด้านหนึ่งจัดแสดงภาพถ่ายขณะที่เด็กเหล่านั้นมองตรงมาที่กล้อง ดวงตาเหล่านี้เปรียบเหมือนประตูที่เปิดให้เห็นลึกเข้าไปถึงวิญญาณ การที่ศิลปินใช้ภาพดวงตา ยังมีความหมาย เพื่อลบภาพที่คุ้นชินของสังคมจากสื่อสาธารณะ ซึ่งมักคาดตาของเด็กผู้ติดเชื้อเหล่านี้ด้วยแถบดำ ราวกับพวกเขาประกอบอาชญากรรมมา
“คนวิจารณ์เยอะว่า ทำไมเปิดตาเด็ก แต่ผมมองว่า ความหวังดีที่ไม่ถูกต้องอาจกลายเป็นว่า เราหรือเปล่าที่ไม่อยากยอมรับเขา ทั้งที่เด็กพวกนี้รับสภาพความเป็นจริงตัวเองแล้ว และอีกเหตุผลคือ การที่สังคมได้มองเห็นเด็กเหล่านี้ชัดเข้าไปในดวงตาจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนทางจิตใจได้” โอมกล่าวบนเวทีสัมมนา AIDS ไม่เคย OUT
หากภาพเด็กติดเชื้อในขณะเปิดตาสื่อถึงการยอมรับสภาพความเป็นจริงของพวก อีกด้านที่เป็นภาพเด็กคนเดิมขณะหลับตา พร้อมกับป้ายบอกชื่อ อายุ ความฝัน และความกลัว ที่ด้านข้างภาพ เป็นความต้องการของศิลปินเพื่อสื่อว่า เด็กเหล่านี้ก็มีความฝัน เพียงแต่ความฝันของพวกเขาถูกตัดให้สั้นลง เพราะสิ่งที่พวกเขาไม่มีโอกาสเคยเลือก
ด้วยสภาพผิวหนัง หน้าตา และความไร้เสียงดาของเด็กเหล่านี้ อาจดูไม่ต่างจากเด็ก 7-13 ขวบคนอื่น อาจมีเพียงแววตาที่ดูหดหู่ ไม่สดชื่น หรือไม่มีความสุข ซึ่งผู้ชมหลายคนพอสัมผัสได้ถึงความแตกต่างตรงนี้ แต่ถึงอย่างนั้น เด็กเหล่านี้หลายคนต่างก็มีความฝันและมีความกลัว ไม่ต่างจากเด็กคนอื่น
“ขณะที่เราเห็นความเศร้าในแววตาของเด็ก แต่เราก็ได้เห็นความกล้าหาญที่จะยอมรับว่า ตัวเองเป็นอะไร และพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อให้มีชีวิตอยู่ เด็กพวกนี้ไม่ได้เลือกที่จะเป็นแบบนี้ แต่เขาเลือกที่จะต่อสู้กับโรคนี้ ทั้งที่บางคนอาจไม่มีพ่อแม่ ไม่มีคนที่รักเขาเลยด้วยซ้ำ ดังนั้น สังคมต้องช่วยสนับสนุนเขา เพื่อทำให้โลกของเขาน่าอยู่ขึ้น” โอมย้ำหลายครั้ง
ในฐานะผู้ติดเชื้อเอชไอวีคนหนึ่งที่ต้องอยู่กับเชื้อโรคนี้มานานกว่า 25 ปี “ฮาน เนฟเก้นส์” ผู้ก่อตั้ง ArtAids จึงเข้าใจหัวอกของผู้ติดเชื้อเอดส์ดีว่า สำหรับผู้ติดเชื้อแล้ว สิ่งที่น่าสะเทือนใจยิ่งกว่าการเสียชีวิตจากโรคเอดส์ คือการต้องอยู่กับเชื้อเอชไอวีท่ามกลาง ทัศนคติปัจจุบันในสังคม
“การตราหน้าผู้ป่วยโรคเอดส์นั้นเป็นภาระที่หนักเกินจำเป็นสำหรับพวกเราที่ใช้ชีวิต อยู่กับเอชไอวี บางคนไม่กล้าที่จะยอมรับอย่าง เปิดเผยว่าตัวเองติดเชื้อเพราะกลัวจะถูกขับไล่ถูกรังเกียจ และความกลัวนี้เองที่ดึงรั้งคนที่ อาจติดเชื้อไม่ให้ไปรับการตรวจ ซึ่งนั่นก็หมาย ความว่าพวกเขาอาจจะแพร่เชื้อให้แก่คนอื่นโดยที่อาจจะไม่รู้เลยด้วยซ้ำ ฉะนั้นการหยุดตีตราผู้ติดเชื้อจะสามารถช่วยหยุดการแพร่ของ เอชไอวีได้” ฮานบรรยายความในใจในฐานะหนึ่งในผู้ติดเชื้อเอดส์
นี่คือเหตุผลที่ทำให้นิทรรศการนี้มีความสำคัญ...โดยเฉพาะสังคมที่มี “เอชไอวี” เป็นส่วนหนึ่งของสังคม โดยหนึ่งในนั้นก็คือ สังคมไทย
|
|
|
|
|