|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
หากจู่ๆ คุณนึกอยากอ่าน “จดหมายเหตุสยามไสมย” หนังสือพิมพ์รายเดือน/รายสัปดาห์ที่จัดพิมพ์โดยหมอสมิธ (Samuel J. Smith) หรือศึกษาประวัติศาสตร์ไทยผ่านประชุมพงศาวดารและย้อนเวลาหาความจริงไปกับ “สาส์นสมเด็จ” หรือ “หนังสือหายาก” เล่มอื่น ...คุณจะไปที่ไหน?
คุณสมบัติของ “หนังสือหายาก” นอก จากยิ่งเก่ายิ่งแพง คุณค่าของหนังสือประเภทนี้คือ มีมรดกทางปัญญาและเรื่องราวประวัติ ศาสตร์ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ แต่ก็สมดังชื่อเรียก คือหาอ่านได้ยาก
หนังสือหายากอย่าง Twentieth Century Impression of Siam งานเขียนของฝรั่งเกี่ยวกับประเทศไทย หรืออย่างประกาศยกเลิกสูบฝิ่นในไทย จากใต้ถุนของ BRITISH MUSEUM ก็มีให้ค้นคว้าที่นี่
นอกจากหนังสือหายาก “หนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน” ตามโครงการวิจัยของสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เกือบทุกเล่ม ก็สามารถหาได้จากที่นี่
ขณะที่บางคนไปค้นเจอหนังสือเฉพาะทางอย่าง หนังสือช่างอากาศ ฉบับที่ 1 ปี 2490 ได้จากที่นี่ บ้างก็ไปเจอ ตำราสมุดข่อย บรรยายลักษณะอันงดงามของแมวสีสวาดไทย ซึ่งบันทึกไว้ตั้งแต่สมัยอยุธยา จากที่นี่ บ้างก็ไปนั่งดูภาพถ่ายของพระราชโอรส และพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 ณ ที่แห่งนี้ ...หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี...
“หอสมุดแห่งชาติ” ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวบรวมหนังสือมากไตเติลที่สุดในประเทศ รวบรวมหนังสือพิมพ์ที่จัดพิมพ์ในเมืองไทยครบที่สุด รวบรวมตำราความรู้โบราณของไทย เอกสารหลักฐานเก่าแก่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และน่าจะเป็นแหล่งที่รวบรวม “หนังสือหายาก” ของไทยไว้มากที่สุด
โดยนัยนี้ หอสมุดแห่งชาติจึงถือเป็นแหล่งค้นคว้าเอกสารตำราและค้นหาความรู้ของประชาชน
องค์การยูเนสโก (UNESCO) กำหนดให้ “หอสมุดแห่งชาติ” มีหน้าที่เป็น คลังสิ่งพิมพ์ของชาติ และเป็นศูนย์กลางใน การดำเนินการจัดเก็บ รวบรวม จัดหา และสงวนรักษาสิ่งพิมพ์ สื่อ โสตทัศนวัสดุ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตขึ้นในประเทศ และหรืออาจรวมถึงสิ่งพิมพ์ที่ผลิตในต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย
หอสมุดแห่งชาติของไทยตั้งอยู่บนถนนสามเสน บริเวณท่าวาสุกรี ภายในอาคารเก่าแก่ หลังคาจั่ว สไตล์ไทย ดูโดดเด่น เป็นที่คุ้นเคยของผู้ที่ผ่านวัยนักเรียนนักศึกษาแทบทุกคน แต่คงมีเพียงน้อยคนที่ได้กลับมาใช้บริการแหล่งความรู้แห่งนี้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งที่พระราชประสงค์ในการก่อตั้งหอสมุดแห่งชาติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้พสกนิกรทุกชนชั้น รวมถึงกลุ่มทาสที่ทยอยได้รับอิสระจำนวนมาก จะได้ใช้เป็นแหล่งแสวงหาความรู้และประโยชน์จากการอ่านหนังสือ เพื่อยังความก้าวหน้าให้แก่ชีวิต
จาก “หอพระสมุดวชิรญาณ” ซึ่งเป็นหอสำหรับจัดเก็บหนังสือภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ สร้างขึ้นในปี 2424 โดยพระบรมวงศานุวงศ์ในรัชกาลที่ 4 เดิม ตั้งอยู่ ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง ให้บริการเฉพาะสมาชิกที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์และ ราชสกุล
หลังการเสด็จประพาสยุโรปและทอดพระเนตร กิจการหอสมุดแห่งชาติ ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส ในปี 2440 รัชกาลที่ 5 จึงทรงมีพระราชดำริให้ขยาย กิจการของหอพระสมุดวชิรญาณออกไปเป็น “หอสมุดสำหรับพระนคร” เพื่อเป็นประโยชน์กับพสกนิกร ทั่วไปด้วย
อีกทั้งพระองค์ทรงมองว่า ประเทศที่เจริญแล้ว มักมีหอสมุดประจำชาติ ขณะที่ไทยก็มีภาษาประจำชาติ และยังมีผู้รู้เขียนหนังสือไว้มากมาย จึงเห็นสมควรตั้งหอสมุดแห่งชาติเป็นสถานที่รวบรวมหนังสือเหล่านี้ไว้ให้แก่คนรุ่นหลัง
“หอพระสมุดสำหรับพระนคร” จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2448 โดยได้รวมเอาหอพระสมุดอีก 2 แห่งมารวมไว้ด้วยกัน คือ “หอพุทธศาสนสังคหะ” สร้างเมื่อปี พ.ศ.2443 เพื่อจัดเก็บพระไตรปิฎกและหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ณ วัดเบญจมบพิตร และ “หอพระมณฑลเฑียรธรรม” สถานที่จัดเก็บพระไตรปิฎกฉบับหลวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสร้างขึ้นสมัยเดียวกับสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อปี พ.ศ.2326
ปี 2476 หลังจัดตั้งกรมศิลปากรขึ้น รัฐบาลสมัยนั้นกำหนดให้หอพระสมุดสำหรับพระนครมีฐานะเป็นกองหนึ่งในกรมศิลปากร เรียกว่า “กองหอสมุด” และเปลี่ยนชื่อเป็น “หอสมุดแห่งชาติ”
ต่อมา เนื่องจากหอสมุดแห่งชาติมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก ในปี 2505 รัฐบาลจึงอนุมัติงบก่อสร้างอาคารหอสมุดแห่งชาติแห่งใหม่ เป็นอาคารทรงไทย สูง 5 ชั้น ขึ้นบริเวณ ท่าวาสุกรี มีเนื้อที่ราว 7,000 ตารางเมตร สามารถเก็บหนังสือได้เต็มที่ราว 1 ล้านเล่ม จุที่นั่งอ่านหนังสือได้กว่า 1,000 ที่นั่ง เริ่มเปิดให้บริการเมื่อกลางปี 2509 จวบมาจนวันนี้
ภาพโต๊ะเก้าอี้ไม้เก่าๆ กับชั้นหนังสือฝุ่นจับ ภายใต้บรรยากาศทึมๆ และแสงสลัวๆ บวกกับบรรณารักษ์สูงวัยใส่แว่นหนาหน้าตาขึงขัง ยิ่งทำให้จินตภาพ ความเป็นหอสมุดแห่งชาติที่มีอายุกว่า 100 ปี ดูน่ากลัว
“เราจะยืนอยู่กับที่ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง ต้องพัฒนา ตลอดเวลา ภาพลักษณ์เก่าๆ ของหอสมุดแห่งชาติที่มีบุคลิกแบบผู้ใหญ่หน้าตาดุดัน เพราะถือศักดิ์ศรีว่าที่นี่เป็นหอสมุดแห่งชาติ จะต้องถูกลบออกไปให้หมด” วิลาวัณย์ ทรัพย์พันแสน ผู้อำนวยการ สำนักหอสมุดแห่งชาติ เกริ่นขณะนำชมความเปลี่ยนแปลง
ภายในอาคารหลังใหม่ของหอสมุดฯ แสงไฟสว่างไสว ชั้นหนังสือเป็นระเบียบ พร้อมด้วยเฟอร์นิเจอร์ร่วมสมัย และเจ้าหน้าที่ ท่าทางใจดี รอให้ความช่วยเหลืออยู่หลังเคาน์เตอร์สีสันสดใส ณ โซน Dynamic Korea มุมหนังสือเกาหลีร่วมพันเล่มที่หอสมุด แห่งชาติเกาหลีบริจาคให้ นับเป็นอีกภาพใหม่ที่หากใครไม่ได้ไปเยือนหอสมุดแห่งชาติในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ อาจจะยังไม่ได้เห็น บรรยากาศใหม่นี้
อาคารหลังใหม่นี้ตั้งอยู่ด้านหลังอาคารหอสมุดหลัก พื้นที่นี้ เคยเป็นที่ตั้งของอาคารหอพระสมุดวชิรญาณ และอาคาร 3 ซึ่งถูกรื้อถอนไป โดยใช้งบประมาณการก่อสร้างราว 438 ล้านบาทเริ่มเปิดให้บริการเมื่อกลางปี 2554
การแบ่งพื้นที่จัดเก็บหนังสือในอาคารแห่งใหม่ต่างจากอาคารหลัก ซึ่งจัดเก็บหนังสืองตามหมวดหนังสือเป็นหลัก โดยยก พื้นที่ชั้น 1 เป็นห้องวารสารและหนังสือพิมพ์ อีกด้านเป็นห้องบริการ อินเทอร์เน็ต แต่สำหรับอาคารใหม่ ชั้น 1 ถูกให้จัดเป็นห้องสมุดวชิรญาณ และส่วนงานพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศ ซึ่งเป็น One-Stop Service สำหรับผู้ที่มายื่นขอเลขที่หนังสือหรือวารสาร (ISBN และ ISSN) โดยมีลานอเนกประสงค์สำหรับจัดกิจกรรมอยู่ตรงกลาง
ชั้น 2 เป็นห้องเก็บวิทยานิพนธ์และงานวิจัย หลังจากปี 2546 เป็นต้นมา (ส่วนผลงานก่อนปี 2546 ถูกจัดเก็บที่หอสมุดแห่งชาติเขตลาดกระบัง) รวบรวมจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ปัจจุบันมีกว่า 6 หมื่นเล่ม ซึ่งวิลาวัณย์ยกให้ห้องนี้เป็น “ไฮไลต์” ของหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี
ชั้น 3 เป็นห้องบริการหนังสือหายากกว่า 100,000 เล่ม ทั้งยังมีตู้เก็บหนังสือเก่าของเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ที่ล้วนแต่มีลวดลายวิจิตรบรรจงตรงตามศิลปะอยุธยาตอนปลาย โดยเฉพาะตู้ลายกนกรวงข้าว ที่ได้ชื่อว่าเป็นตู้ลายรดน้ำปิดทองที่สวยที่สุดในประเทศ ชั้น 4 และชั้น 5 เป็นห้องจัดเก็บเอกสารโบราณและตู้พระธรรม และเป็นห้องเก็บหนังสือสำรอง ตามลำดับ
นอกจากนี้ ภายในบริเวณของหอสมุดแห่งชาติยังมี “หอวชิราวุธานุสรณ์” ให้บริการหนังสือพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 และผลงานวิเคราะห์วิจัย สมัย ร.6 พร้อมนิทรรศการ “พระบรมราชะประทรรศนีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” จัดแสดงพระบรมรูปหุ่นขี้ผึ้ง รัชกาลที่ 6 ตามพระราชกรณียกิจสำคัญ และนิทรรศการ “ดุสิตธานี” เมืองทดลองประชาธิปไตยในสมัย ร.6
หลายคนอาจไม่รู้ว่า หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี ยังมี “ห้องสมุดดนตรี” ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลทางวิชาการสำหรับการค้นคว้าและวิจัยทางด้านดนตรี เปิดให้บริการฟรีประกอบด้วย 2 อาคารเชื่อมกัน ได้แก่ “ห้องสมุดดนตรีทูนกระหม่อมสิรินธร” และ “หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9”
“ในหลวงทรงตรัสว่า แม้กระทั่งเด็กที่ไม่มีรองเท้าจะใส่ เขาก็ควรมีโอกาสได้ฟังเพลงแจ๊ซ ที่นี่ควรเป็นแหล่งศึกษาให้กับทุกชนชั้น” ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดฯ เล่าความซึ้งใจ ในวันที่ในหลวงทรงมาเปิดหอสมุดดนตรีฯ รัชกาลที่ 9 สำหรับให้บริการค้นคว้าสื่อทุกประเภทเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจด้านดนตรี และบทเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งหมด ในรัชกาลที่ 9
สำหรับห้องสมุดดนตรีทูนกระหม่อมสิรินธรจัดตั้งเพื่อเป็นแหล่งรวบรวมดนตรีคลาสสิกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงปัจจุบัน ทั้งดนตรีไทย ดนตรีสากล ไทยสากล ไทยลูกทุ่ง และเพลงพื้นเมือง ในรูปแบบของ แผ่นเสียง แถบบันทึกเสียง ตลับเพลง วิดีโอ ตลอดจนโน้ตเพลงต้นฉบับ หนังสือและวารสารสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับดนตรี โดยมีห้องจัดแสดงและบรรเลง ซึ่งวง อ.ส. มักจะมาเล่นให้ประชาชนได้ฟังฟรี
นอกจากนี้ ที่นี่ยังจัดแสดง “โครมาติกฮาร์ป” หลังแรกในประเทศไทย ซึ่งรัชกาลที่ 7 ทรงสั่งเข้ามาเพื่อประจำวงเครื่องสาย ณ ห้องพระเจนดุริยางค์ และ “เปียโนจุฑาธุช” หรือ “เปียโนคู่” เปียโนหลังเดียวแต่มี 2 หน้า สามารถเล่นพร้อมกัน 2 คน สั่งเข้ามาตั้งแต่ปี 2459 เชื่อว่าเหลืออยู่เพียงหลังเดียวในโลก ณ ห้องท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์
“แม้อายุหอสมุดแห่งชาติจะแค่ร้อยกว่าปี แต่ที่นี่รวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีอายุมากกว่านั้น เพราะเรามีศิลาจารึก มีเอกสารพวกสมุดไทดำ สมุดไทขาว คัมภีร์ใบลานว่าด้วยตำรายาอายุกว่า 700 ปี ก็มี”
ณ วันนี้ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดฯ คาดว่า หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี น่าจะมีหนังสือและวารสารรวมกันกว่า 1 ล้านไตเติล
วิลาวัณย์ยอมรับว่า อินเทอร์เน็ตทำให้สถิติผู้ใช้บริการหอสมุดลดลง ไม่ใช่เฉพาะที่นี่ แต่กระทบกับห้องสมุดเกือบทุกแห่งทั่วโลก นับตั้งแต่ที่เธอเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการฯ ในปี 2550 เฉลี่ยยอดผู้ใช้บริการหอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี มีจำนวน 1 ล้านคน (ครั้ง) ลดลงจาก ยอด 2 ล้านคน (ครั้ง) ระหว่างช่วงปี 2540-2545
แม้เทคโนโลยีใหม่ๆ จะเปลี่ยนพฤติกรรมในการค้นคว้าหาข้อมูลของคนปัจจุบันไปอย่างมาก แต่วิลาวัณย์มั่นใจว่า ด้วยเสน่ห์และความขลังของหอสมุดแห่งชาติ บวกกับความน่าเชื่อถือที่มากกว่าข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต จะทำให้หอสมุดแห่งนี้ยังมีผู้มาใช้บริการเรื่อยๆ
อย่างไรก็ดี ภายใต้ “โครงการพัฒนาหอสมุดแห่งชาติ” หอสมุดแห่งชาติก็มีนโยบาย ที่จะเดินหน้าสู่ความเป็น “หอสมุดดิจิตอล” เพื่อส่งเสริมให้คนไทยแสวงหาความรู้จากการอ่านหนังสือมากขึ้น และสามารถเข้าถึงคลังข้อมูลแห่งนี้ได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดหรือเวลาใด
ว่ากันว่า “ห้องสมุดดิจิตอล” เป็น 1 ใน 10 ของเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนชีวิตผู้คนให้ดีขึ้น
“จริงๆ แล้ว จำเป็นที่เราควรเก็บสำเนาหนังสือทุกเล่ม โดยเฉพาะหนังสือหายากไว้ในรูปแบบของ E-BOOK หรือสื่อดิจิตอลอื่น เพื่อป้องกันความเสียหายและอนุรักษ์มรดกทางปัญญาของประเทศชาติให้ยืนนาน แต่ทั้งนี้ก็คงต้องใช้เวลาและใช้งบประมาณอีกไม่น้อย”
ตลอด 100 กว่าปี หอสมุดแห่งชาติมีนโยบายเปิดให้ทุกคนทุกชนชาติเข้าใช้บริการฟรี เคยมีเพียงช่วงสั้นๆ ที่มีการเก็บค่าเข้า 20 บาท แต่ก็ถูกประท้วงจากประชาชนบางกลุ่มจึงมีการยกเลิกไป ดังนั้น เม็ดเงินในการพัฒนาหอสมุดแห่งชาติแทบทั้งหมดจึงมาจากงบประมาณแห่งชาติ (มีส่วนน้อยนิดที่มาจากเงินบริจาคของภาคประชาชน) ภายใต้การจัดสรรของกระทรวงวัฒนธรรม หาใช่กระทรวงศึกษาธิการหรือกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ที่ได้รับจัดสรรงบมากกว่า
ขณะที่ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติของไทยอาจต้องใช้ความพยายามในการสื่อสารถึงต้นสังกัด เพื่อให้ได้งบสักก้อนมาพัฒนาเซิร์ฟเวอร์ แต่สำหรับกองหอสมุด แห่งชาติ ประเทศมาเลเซีย สามารถของบมาพัฒนาศักยภาพของหอสมุดอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี
เนื่องจากหอสมุดแห่งชาติถือเป็นขุมทรัพย์แห่งปัญญาและแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้คนในสังคม จึงมักมีคำพูดว่า หอสมุดแห่งชาติของประเทศใดก็คือดัชนีวัดความเจริญของประเทศนั้น ทว่า การพัฒนาหอสมุดแห่งชาติคงไม่มีความสำคัญ ใดเลย หากสังคมนั้นยังไม่รู้ซึ้งถึงคุณค่าของข้อมูลและสรรพวิทยาการที่อยู่ในคลังความรู้นั้นดีพอ...
|
|
|
|
|