|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
สภาพธรรมชาติและชีวภาพทั้งปวงขึ้นอยู่กับดิน น้ำ ลม ไฟ ทางพุทธศาสนาเรียกว่า “มหาภูตรูป” ธรรมะ สอนเราว่า ทุกชีวิตประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้งสี่นี้มาประชุมรวมกัน หากแตกสลายแยกออกจากกันก็เป็นอันเป็นไปให้สิ้นสุดชีวิตหรือตายลง และหากธาตุทั้งสี่อยู่ร่วมกันอย่างไม่สมดุล ธาตุหนึ่งมากเกินไป ธาตุหนึ่งน้อยเกินไปจะทำให้เกิดอาการผิดปกติเจ็บป่วยไป ธาตุพื้นฐานทั้งสี่นี้ยังมีอยู่ทั่วไปแวดล้อมตัวเราในธรรมชาติ ในเมือง ป่าเขา แม่น้ำลำธาร โดยมีพลังที่ช่วยให้ชีวิตต่างๆ ทั้งพืชและสัตว์คงอยู่ร่วมกันได้
สภาพธรรมชาติที่ปรวนแปร
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนมีสภาวะ เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป พุทธศาสนาสอนว่า เราไม่ควรยึดติดอะไรว่าเป็นของของเรา ตัวตนของเรา เราควรจะระลึกอยู่เสมอว่า ชีวิตของเราเป็น “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” เราจึงจะอยู่ได้อย่างเป็นสุข
บทความนี้มิได้เปลี่ยนจากเรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็นธรรมะ แต่ผู้เขียนเห็นว่า ธรรมะกับสิ่งแวดล้อมนั้นใกล้ชิดสนิทกันจนแทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน คนที่มีจิตสงบทั้งหลายจึงรักหวงแหนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นชีวิตจิตใจ แต่ด้วยโลกทุกวันนี้ มีความปรวนแปรไปอย่างหนัก หลายๆ ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการปรวนแปรก็มีเหตุมาจากวัฏจักรของดิน น้ำ ลม ไฟ
ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดในทุกวันนี้คือ Global Climate Change หรือสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก อันเนื่อง มาจากบรรยากาศของโลกร้อนขึ้นๆ เพราะ เราเผาเชื้อเพลิงมากขึ้นๆ และยังมีปัจจัยอื่นที่เรายังเห็นไม่ชัดอีกหลายประการ เช่น การขยับตัวของเปลือกโลกซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิ การเบี่ยงเบนของแกนโลก การเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กโลก รังสีร้อนแรงที่แผ่มาจากดวงอาทิตย์เนื่องด้วยพายุสุริยะหรือ solar wind, solar flare, solar storm
ไม่ว่าปัจจัยจะเป็นเพราะอะไรก็ตาม โดยรวมๆ แล้วมีทั้งเหตุที่อธิบายได้และเหตุที่อธิบายไม่ได้ ทำให้ดิน น้ำ ลม ไฟที่แวดล้อมเราอยู่สวิงไปสุดเหวี่ยง เกิดเป็นปรากฏการณ์ต่างๆ ที่ทำลาย ล้าง เช่น พายุเฮอริเคน พายุ ไต้ฝุ่น พายุทอร์นาโด แผ่นดิน ไหว สึนามิ อากาศหนาวสุดขั้ว อากาศร้อนสุดขีด น้ำท่วม และความแห้งแล้ง
ประเทศไทยกับสภาพดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ผันแปรไป
ไม่ต้องดูอื่นไกล ลองมาดูเหตุการณ์ ใกล้ตัวเราคือ มหาอุทกภัยปี 2554 ที่เพิ่งผ่านมานี้ ซึ่งท่วมจังหวัดต่างๆ เกือบครึ่งค่อนประเทศ มีความเกี่ยวพันกับธาตุพื้นฐานทั้งสี่ที่แวดล้อมตัวเราอยู่อย่างไร
เริ่มจากธาตุไฟหรือความร้อนอบอ้าว ที่เราผจญอยู่ขณะนี้ ความร้อนและแสงสว่างที่โลกเราได้รับมีต้นกำเนิดมาจากดวงอาทิตย์ทั้งสิ้น อาจกล่าวได้ว่าแสงแดด ค้ำจุนชีวิตเกือบทุกอย่างในโลก แต่ความร้อนที่แผ่ออกมาจากดวงอาทิตย์มิได้สม่ำเสมอ เปลี่ยนไปทุกเวลานาที และกระจายไปตามพื้นที่ส่วนต่างๆ ของโลกมากน้อยต่างกัน ตามมุมตามองศาที่พื้นที่นั้นๆ หันเข้าหาดวงอาทิตย์ รังสีความร้อน ที่สูงเกินไป นอกจากจะเผาผลาญแล้วยังทำให้ท้องน้ำและมวลอากาศเปลี่ยนไปจากปกติด้วย ที่ชัดๆ คือเป็นเหตุให้เกิดพายุหมุนขึ้นเหนือท้องน้ำและพัดเข้าสู่ชายฝั่งได้รุนแรงขึ้น ส่วนกระแสน้ำอุ่น กระแสน้ำเย็นในมหาสมุทรต่างๆ ก็ไหลผิดทิศผิดทาง เกิดสภาพอากาศผิดฤดูกาล หรือเกิดความหนาวจัดในบางทวีป และร้อนจัดในบางทวีป สำหรับประเทศไทย เรารู้สึกได้เต็มๆ ว่าอากาศร้อนอบอ้าวทั้งปี กรมอุตุนิยมวิทยาเผยสถิติออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ว่าจำนวนวันที่อากาศร้อนมีมากขึ้น และจำนวนวันที่อากาศหนาวมีน้อยลง สภาพอากาศที่รุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น เช่น ฝนตกหนัก ร้อนแห้งแล้งจัด โดยเฉพาะในคาบ ของปรากฏการณ์เอลนินโญ่ก็จะร้อนแห้งแล้งสุดๆ แผ่กว้างไปทั่วประเทศ และเมื่อถึงคาบปรากฏการณ์ลานินญ่าก็เกิดฝนตกหนักทั้งวันทั้งคืน ดังที่เราประสบมาแล้ว ในสี่ห้าปีที่ผ่านมา สภาพการกลายเป็นทะเลทราย อีกผลกระทบหนึ่งที่กำลังตามมา
เมื่อลมฟ้าอากาศปรวนแปรไป ฝน น้ำ ดิน และสิ่งแวดล้อมโดยรวมก็ผิดปกติตามไปด้วย เราได้เห็นในเรื่อง น้ำท่วมกันจะจะแล้ว แต่ที่ยังไม่ค่อยมีการพูดถึงมากนักคือสภาพดิน เมื่อน้ำไหลหลาก ก็จะชะเอาหน้าดินพังทลายตามไปด้วย ถ้าเป็นมากก็อาจ จะเกิดแผ่นดินไหล แผ่นดินถล่ม ทับถมบ้าน คนที่อยู่ใกล้ทางน้ำ เป็นภัยพิบัติที่น่าสะพรึง กลัวอย่างหนึ่ง เมื่อฝนตกหนักบริเวณภูเขา ทางการจึงมักจะประกาศเตือนชาวบ้านว่าให้ระวังน้ำไหลหลากและดินถล่ม แม้ไม่ถึง กับดินถล่ม น้ำไหลหลากก็จะชะล้างเอาดินร่วน ดินละเอียด ไปสะสมเป็นตะกอนอยู่ตามอ่างเก็บน้ำ ร่องน้ำ ลำธาร เขื่อน ปากอ่าว ปลายทางของกระแสน้ำ ทำให้ตื้นเขิน และความจุในการกักเก็บลดลง ใช้ประโยชน์ได้น้อยลง ยิ่งสภาพภูมิประเทศ ถูกพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ป่าไม้ พืชคลุมดินตามไหล่เขาถูกแผ้วถาง เช่น รีสอร์ต ไร่องุ่น ไร่ข้าวโพด สนามกอล์ฟ ผืนดินก็ยิ่งถูกชะล้างพังทลายได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น
ดินพังทลาย แผ่นดินถล่ม การตกตะกอนตื้นเขินในแหล่งน้ำดังกล่าวนี้ยังก่อ ให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องไปได้อีกหลายอย่างที่มีผลทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม คือ เกษตรกรรม ดินที่ถูกชะล้างตามกระแส น้ำหลากมา ส่วนใหญ่เป็นดินละเอียดที่เป็น หน้าดินมีสารอินทรีย์สูง เมื่อถูกชะไปก็เหลือ แต่ดินที่เป็นกรวดเป็นทราย ความอุดมสมบูรณ์ในการปลูกพืชไร่ก็ลดลง หรือมิฉะนั้นก็ต้องใส่ปุ๋ยมากขึ้นจึงจะได้ผลผลิต เท่าเดิม ต้นทุนในการผลิตก็สูงขึ้น นอกจาก นั้นก็ต้องใช้น้ำรดมากขึ้น เพราะหน้าดินที่ดูดซับน้ำไว้ได้มากถูกชะหายไป ดินที่เหลือ เป็นดินกรวดดินทรายที่ซึมซับน้ำไว้ได้น้อยกว่า ยิ่งอากาศร้อนเร่งให้อัตราการระเหยของน้ำในดินสูงขึ้น ดินก็จะค่อยๆ แห้งขึ้นๆ ความแห้งแล้งก็จะตามมา ในมิช้ามินาน แผ่นดินไทยที่เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ก็จะค่อยๆ กลายสภาพเป็นทะเลทรายไปได้ในอนาคต
ประเทศไทยควรตระหนักไว้ด้วยว่า หลังปรากฏการณ์ลานินญ่าที่ทำให้ฝนตก หนัก ก็ย่อมตามมาด้วยความร้อนความแห้ง แล้งของปรากฏการณ์เอลนินโญ่ ในอดีตปรากฏการณ์ทั้งสองเกิดขึ้นเพียงเบาๆ เรารู้สึกได้บ้าง ไม่ได้บ้าง จากภาวะโลกร้อนที่เป็นอยู่ขณะนี้ ทำให้ปรากฏการณ์ทั้งสอง มีอิทธิฤทธิ์เพิ่มขึ้นๆ สภาพดิน น้ำ ลม ไฟ ที่เคยทำให้ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์ ก็มีอันต้องปรวนแปรไป หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่มีความตระหนักจากทุกๆ ฝ่าย อาจทำให้ “การกลายสภาพ เป็นทะเลทราย” เป็นจริงขึ้นมาได้เป็นแน่
เมื่อถึงยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็น Flood-way หรืออุโมงค์ยักษ์ผันน้ำ ระบายน้ำ ที่เป็นอภิมหาสิ่งก่อสร้างมูลค่าแสนๆ ล้านที่ จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ก็คงจะช่วยอะไรไม่ได้สิ่งที่พอจะช่วยได้ก็คือความพอเพียง ความรักษ์ธรรมชาติ และภูมิปัญญาที่จะบริหารจัดการให้เหมาะสม เพื่อกลับคืนสู่ความสมดุลของดิน น้ำ ลม ไฟเท่านั้น
|
|
|
|
|