|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ส่วนที่ 1 บริบทด้านสิ่งแวดล้อมและด้านเศรษฐกิจสังคมของประเทศไทยและของโลก
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนทั่วโลกในปัจจุบันก็คือ ปัญหาโลกร้อน เป็นปัญหาระดับโลกที่ส่งผลต่อทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย คงต้องย้ำกันว่า ปัจจุบันเรื่องพลังงานทดแทนไม่ใช่ประเด็นสำหรับนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ตลาดเฉพาะ (Niche market) แต่เป็นตลาดที่ประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสูงอย่างในเยอรมนีและเดนมาร์ก ใช้เป็นทางเลือกหลักในการผลิตพลังงานเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 5 ของพลังงานทั้งหมด หรือมากกว่า 20% แล้วในตอนนี้
เฉพาะในประเทศเยอรมนี มีแนวโน้มจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ทั้งจาก เหตุผลที่ไม่มีทั้งแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นของตัวเอง ปี 2554 เยอรมนีตัดสินใจอย่างเด็ดขาดว่าจะยกเลิกการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างสิ้นเชิงภายในปี 2565 ทั้งที่ปัจจุบันพลังงาน นิวเคลียร์เป็นแหล่งพลังงานหลักของเยอรมนี
ผลการศึกษาภายใต้ความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนโครงสร้างพลังงานแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือแบบนี้ พบว่าจาก 20% ของพลังงานทดแทนที่ใช้อยู่ในวันนี้หากพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เยอรมนีจะสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้ 100% ภายในปี 2593
เป้าหมายนี้มีความเป็นไปได้ แต่ในความเป็นจริงก็มีอุปสรรคมากเช่นกัน
อุปสรรคชิ้นโตเกิดจากมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) จำนวนมาก จากกลุ่มผลประโยชน์มากมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองในเยอรมนี
เยอรมนีเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมระดับแนวหน้าของโลก ซึ่งต้องการใช้พลังงานมหาศาล ในตอนแรกพวกเขาจึงไม่วางใจว่าจะวางอนาคตของธุรกิจไว้กับพลังงานทดแทนได้อย่างไร แต่เมื่อพลังงานทดแทนได้รับการพิสูจน์ว่ามีความมั่นคงมากพอ จากสัดส่วนที่ผลิตใช้ในปัจจุบัน และสามารถขยายเพื่อพัฒนาเพิ่มขึ้นในอนาคต ข้อกังขานี้จึงได้รับการคลี่คลายไปในที่สุด
ความน่าเชื่อถือด้านพลังงาน มีพื้นฐาน มาจากความมั่นใจในเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนด้วยส่วนหนึ่ง ภาคธุรกิจเอกชนไทยเองก็มีความก้าวหน้าและมีโอกาสเข้าถึงเทคโน โลยีที่น่าเชื่อถือเหล่านี้ไม่ต่างกัน ไทยจึงถือเป็นประเทศที่มีโอกาสทางธุรกิจมหาศาลในตลาดพลังงานทดแทน ซึ่งภาคธุรกิจเอกชนไทยไม่ควรพลาดหากต้องการจะรักษาความได้เปรียบด้านการแข่งขันในเศรษฐกิจโลกที่มีความเกี่ยวพันกันมากยิ่งขึ้น
คนไทยอาจสงสัยว่า พลังงานทดแทน เกี่ยวอะไรกับประเทศไทย คำตอบคือพลังงาน ทดแทนเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ปัญหาหลายๆ อย่างของไทยและของโลก โดยเฉพาะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่มีปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด อีกทั้งในปัจจุบันการคิดถึงแต่เพียงตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจคงจะไม่เพียงพอต่อการทำธุรกิจอีกต่อไปแล้ว เหมือนกับที่อุทกภัยครั้งใหญ่สุดที่เกิดขึ้นในไทยเมื่อปี 2554 เห็นได้ชัดว่า เป็นผลกระทบมาจากปัญหาระดับโลก จากปัญหาโลกร้อนและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรง ซึ่งอันที่จริงแล้วต้องย้ำว่า ไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนที่หนักที่สุดด้วยซ้ำ
ผลการศึกษาวิจัยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาพบว่า สิ่งที่ เรียกว่า “กระบวนการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของภูมิอากาศโลก” เป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว และไม่ใช่เกิดจากฝีมือมนุษย์เพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์ ความเกี่ยวข้องกันระหว่างดวงอาทิตย์ กับโลก รวมถึงภูเขาไฟที่ยังไม่สงบบนโลก ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก (อ่าน “โลกร้อน เมื่อ 56 ล้านปีก่อน” ใน Beyond Green ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2555)
ในประวัติศาสตร์ของโลก ย้อนหลังไปนับพันๆ ล้านปี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาบนโลกใบนี้ แต่ทว่ากระบวนการนี้กินเวลายาวนานมาก ตั้งแต่หมื่นๆ ปีจนกระทั่ง ถึงแสนๆ ปี แต่สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้กลับแตกต่างออกไป
ในช่วง 300 ปีล่าสุด หรือนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเริ่มต้นขึ้นในยุโรป ภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็วขึ้นกว่าในอดีตอย่างมาก และสาเหตุใหญ่ มาจากพฤติกรรมของมนุษย์
หลักฐานทางวิทยาศาสตร์สรุปผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกได้ 6 ปัญหาใหญ่ๆ และคาดว่าปัญหาเหล่านี้จะเกิดขึ้นอีกในช่วง 100 ปีข้างหน้านี้ คือ 1) อุณหภูมิโลกสูงขึ้น 2) รูปแบบการตกของฝนเปลี่ยนแปลง 3) แห้งแล้งหนักขึ้น 4) ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 5) พายุเฮอร์ริเคน ซึ่งอาจจะไม่เกิดมากขึ้น แต่ความรุนแรงจะมากขึ้น และ 6) ความเป็นกรดในทะเลมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อชีวิตสัตว์น้ำ
ไทยเป็นประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมานี้ด้วยเช่นเดียวกับอีกหลายที่ทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ฤดูร้อนในไทยจะยิ่งร้อนขึ้น ในอนาคตคาดว่า 9 ใน 10 ฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดในไทย จะเกิดขึ้นระหว่างปี 2603-2643 (2060-2100) และจะร้อนมากกว่าฤดูร้อนที่ร้อนที่สุดของไทย เท่าที่เคยเกิดขึ้นมาตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ไทยจะมีฝนตกมากขึ้นในบางพื้นที่และบางช่วงของปี ในขณะเดียวกันก็จะเกิดความแห้งแล้งในพื้นที่อื่นๆ สภาพเช่นนี้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อความมั่นคงทางอาหารของไทย คาดว่าระดับน้ำทะเลของไทยจะสูงขึ้น 0.5-1 เมตร หรืออาจจะถึง 2 เมตรหรือมากกว่านั้น ภายในปี 2593
การทำแบบจำลองคอมพิวเตอร์พยากรณ์สภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องยากมาก และการพยากรณ์ก็อาจจะคลาดเคลื่อนได้ เนื่องจากเป็นการพยากรณ์รูปแบบของสภาพอากาศในอนาคต จากข้อมูลสภาพอากาศที่มีอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้การรวบรวมข้อมูลสภาพภูมิอากาศ การย่อส่วน (down-scaling) และการตีความข้อมูลภูมิอากาศ เป็นงานที่ยากมาก นักวิจัยต้องทำงานกับระบบที่มีความซับซ้อนหลายชั้นและมีความไม่แน่นอนสูง อีกทั้งประเทศไทยยังขาดระบบรวบรวมและกระจายข้อมูลสภาพภูมิอากาศที่ครอบคลุมและเชื่อถือได้ ทำให้ในปัจจุบัน การจะพยากรณ์สภาพภูมิอากาศได้อย่างถูกต้อง 100% ก็ยังทำได้ยากมาก
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการพยากรณ์สภาพภูมิอากาศที่ใช้หลักคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนสูงเหล่านั้น ต่างชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า อุณหภูมิโลกและระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นอย่างแน่นอน และส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ ฝนที่ตกมากขึ้นในบางช่วงของปี และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น หมายความว่าไทยมีโอกาสประสบกับอุทกภัยที่ร้ายแรงยิ่งขึ้นกว่าเดิม
ระดับความเป็นกรดที่เพิ่มขึ้นของน้ำทะเลเป็นภัยอีกอย่างหนึ่งที่คุกคามความมั่นคงด้าน อาหารและชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย เพราะการที่ทะเลมีความเป็นกรดมากขึ้น หมายความว่า ชีวิตของสัตว์ทะเลและห่วงโซ่อาหารในทะเลจะเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบโดย ตรงต่อพื้นที่ชายฝั่งของไทยที่พึ่งพาการประมงและการทำฟาร์มกุ้งเป็นหลัก
บางคนอาจจะคิดว่า ไทยไม่ได้เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ของโลก ดังนั้นจึงน่าจะต้องรับผิดชอบต่อการ แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกน้อยกว่า ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก จำนวนมากควรเป็นผู้แก้ปัญหา ปรับตัวรับปัญหา และแสดงความรับผิดชอบมากกว่า โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
ทัศนคติเช่นนี้นอกจากไม่แสดงวิสัยทัศน์แต่ยังไม่เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง อีกทั้งความจริงแล้ว ปัจจุบันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศพัฒนาแล้วขณะนี้อาจจะน้อยกว่าปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยจากประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างจีนและอินเดีย แม้กระทั่งประเทศไทยก็มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน
ดังนั้นผลกระทบจากปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม จะสามารถบรรเทาลงได้ก็ต่อเมื่อคนในทุกมุมโลก ไม่ว่าประเทศพัฒนาแล้ว กำลังพัฒนา หรือยังไม่พัฒนา ต้องร่วมมือและพยายามต่อสู้ผลกระทบของปัญหาการเปลี่ยนภูมิอากาศที่ห่อหุ้มโลกใบเดียวกันนี้ร่วมกัน
อย่างน้อยที่สุดก็พึงตระหนักด้วยว่า การแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงทำได้เพียงแค่ “บรรเทา” เท่านั้น เพราะปัญหาได้ลุกลามไปไกลเกินกว่าจะหยุดยั้งได้แล้ว
|
|
|
|
|