การขุดถนนสีลม ซึ่งได้เริ่มกันไปแล้วตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2528 นั้น โดยสรุปแล้วก็จะมีงานวางท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง
มีงานวางท่อระบายน้ำของสำนักระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร การวางท่อประปาของการประปานครหลวง
และการวางท่อโทรศัพท์ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย
การขุดถนนสีลมนี้เดิมทีได้มีการกำหนดแผนงานไว้ 2 แผน
แผนการทำงานที่ 1 จะทำการขุดถนนสีลม ฝั่งใต้ตลอดตั้งแต่แยกถนนเจริญกรุงถึงแยกถนนพระราม
4 ก่อน เมื่อสร้างเสร็จฝั่งใต้จะทำการขุดฝั่งเหนือ จากแยกถนนพระราม 4
ถึงถนนเจริญกรุง โดยจะทำเป็นช่วง ช่วงละ 200-400 เมตร รวม 8 ช่วง
แผนการทำงานที่ 2 ก็คือจะทำการขุดถนนสีลมเป็นช่วง ช่วงละ 200-400 เมตร โดยทำงานฝั่งใต้ในช่วงที่
1 และช่วงที่ 2 จากนั้นในช่วงที่ 3 และ 4 จะย้ายมาทำฝั่งเหนือ และกลับมาทำในช่วงที่
5, 6 ฝั่งใต้ สลับกันไปจนเสร็จ ทั้ง 8 ช่วง
ก็ปรากฏว่าต้องเลือกแผนการทำงานที่ 1 เพราะการทำงานฝั่งเดียวตลอด ถนนนั้นน่าจะจัดการจราจรได้ดีกว่า
ทั้งนี้หลักเกณฑ์ในการทำงานก็คือ :-
1. การทำงานให้ลงมือทำงานได้ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2528 เป็นต้นไป โดยทำการขุดถนนสีลมฝั่งใต้ก่อน
(ฝั่งธนาคารกรุงเทพสำนักงานใหญ่) ตั้งแต่ถนนเจริญกรุง ไปจนถึงแยกถนนพระราม
4 โดยทำเป็นช่วง ช่วงละ 200-400 เมตร จนเสร็จ จากนั้นจะย้ายข้ามมาทำฝั่งเหนือ
ตามแผนงานที่ 1
2. การทำงานในแต่ละช่วง ผู้รับเหมาจะต้องทำงานพร้อมกันทั้ง 3 จุดในช่วงเดียวกัน
โดยเร่งรัดการทำงานให้เสร็จตามกำหนดและต้องไม่ทำให้ผิวการจราจรที่ไม่ได้ขุดต้องชำรุดเสียหายด้วย
3. ในการทำงานจะต้องทำงานอยู่ในบริเวณแนวที่ขุดถนน คือจากขอบทางเท้า ออกมาในผิวการจราจรได้ไม่เกิน
2.50 เมตร ตลอดแนวที่ขุด ส่วนที่ขุดผ่านซอยหรือถนนต้องเว้นไว้ โดยหาแผ่นเหล็กปูหรือสะพานให้รถสามารถเข้า-ออกได้ตลอดเวลา
4. ในการขนส่งเศษวัสดุก่อสร้าง, เศษคอนกรีต, ดิน, ทรายต่างๆ ให้ทำในเวลากลางคืน
ตั้งแต่เวลา 21.00 น.ไปแล้ว และถ้าจำเป็นต้องใช้ผิวจราจรในการทำงาน เช่น
จอดรถขนส่งวัสดุ อิฐ หิน ดิน ทราย เกินกว่าแนวที่ขุด ให้แจ้ง สน.ท้องที่
ทราบก่อนทุกครั้ง
5. บนทางเท้าจะต้องมีพื้นที่ไว้ให้ประชาชนใช้เดินผ่านได้สะดวกตลอดเวลา การวางของบนทางเท้าหรือขุดทางเท้า
จะต้องเว้นบางส่วนไว้ให้เพียงพอที่ประชาชนจะใช้เดินได้
6. ในการขุดถนนหรือซอยแยกจากถนนสีลมทุกถนนทุกซอยแยกให้แจ้งสารวัตรจราจร
สน.ท้องที่ทราบก่อนทุกครั้ง เพื่อจะได้ช่วยเหลือแก้ปัญหาการจราจรบริเวณทางแยกนั้นๆ
7. การขนส่งวัสดุเพื่อการก่อสร้างและการเทคอนกรีต ให้ทำในเวลากลางคืน ตั้งแต่เวลา
21.00-05.00 น. ของวันรุ่งขึ้น นอกจากนี้แล้ว ห้ามมิให้มีการขนวัสดุและเทคอนกรีตเด็ดขาด
8. ในเวลากลางวัน และในเวลาเร่งรัด ผิวการจราจรด้านที่ทำการขุดถนนจะต้องใช้ได้
2 ช่องทางจราจร ตลอดแนว
9. ทางการไฟฟ้านครหลวงจะเป็นผู้ติดตั้งแผ่นป้ายประกาศและเครื่องหมายจราจรติดตั้งไฟแสงสว่างในเวลาค่ำคืน
และเชือกกั้นแนวทำงาน โดยร่วมกับ สน.ท้องที่ ตามประกาศพนักงานจราจรกรุงเทพมหานครที่
1/2527 ลงวันที่ 27 กันยายน 2527 ครบถ้วนทุกประการ
10. ในด้านการจัดการจราจรนั้น ให้ใช้แผนการจัดการจราจรตามปกติ โดย สน.ท้องที่จะเป็นผู้ควบคุมการจราจรเอง
และจะพิจารณาเพิ่มผิวการจราจรให้รถเข้า-ออก ตามสภาพการจราจรในเวลาเช้า-เย็น
โดยดูกับปริมาณการจราจรแต่ละด้าน
11. สำหรับป้ายหยุดรถประจำทางที่ติดตั้งอยู่บริเวณก่อสร้างแต่ละช่วง ซึ่งอาจมีอุปสรรคต่อการจราจรให้สารวัตรจราจร
สน.ท้องที่ พิจารณาย้ายหรือยกเลิกใช้ชั่วคราวได้ตามความเหมาะสม โดยมีแผ่นป้ายประกาศให้ประชาชนทราบ
เมื่อเสร็จการก่อสร้างแล้ว ให้กลับมาใช้ที่เดิม
12. การทำงาน ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงนี้อย่างเคร่งครัด ถ้าไม่เป็นไปตามข้อตกลงจะจับกุมทันที
ในการขุดถนนสีลมนี้ การทำงานของการไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง สำนักระบายน้ำ
และองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย จะใช้เวลาทั้งสิ้น 11 เดือน จึงจะแล้วเสร็จ