|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
หากใครได้ชมภาพยนตร์เรื่อง Parzania (Heaven and hell on earth) คงเข้าใจถึงความเจ็บปวดของคนเป็นพ่อและแม่ที่พลัดหลงกับลูกชายวัยสิบปีระหว่างการหนีกลุ่มม็อบคลุ้มคลั่ง แล้วไม่รู้ว่าเขาเป็นหรือตาย หลายวันผ่านไปพวกเขายังเวียนไปตามสถานีตำรวจ โรงพยาบาล และที่เก็บศพพลิกร่างคนตายที่กองอยู่เป็นพะเนิน หากพบศพพวกเขาคงตั้งสติและทำใจ แต่เมื่อไม่พบศพ ความเจ็บปวดย่อมกัดกินและหลอกหลอนอยู่ต่อไป ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากเรื่องจริงของครอบครัวชาวปาร์ซีในรัฐคุชราต สิบปีผ่านไป Dara และ Rupa Mody ยังคงตามหา Azhar ลูกชายของพวกเขา
ครอบครัวโมดี้เป็นชาวปาร์ซีเพียงครอบครัวเดียวในหมู่ชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ใน Gulberg Society หมู่บ้านจัดสรรเล็กๆ ย่านชานเมืองอาห์เมดาบัด ซึ่งถูกม็อบชาวฮินดูบุกเผาทำลายระหว่างเหตุการณ์สังหารหมู่ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในปี 2002 เฉพาะที่กุลเบิร์กโซไซเอตี้มีผู้เสียชีวิต 69 คน และสูญหาย 28 คน
เหตุความรุนแรงครั้งนั้นปะทุ ขึ้นจากเหตุเพลิงไหม้รถไฟขบวน Sabarmati Express ที่สถานี Godhra ในรัฐคุชราต เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2002 ทำให้ผู้โดยสารในโบกี้ต้นเพลิงซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้แสวงบุญชาวฮินดูเสียชีวิต 58 คน ในค่ำวันเดียวกัน ทั้งที่ผลการสืบสวนข้อเท็จจริงยังไม่ชัดเจน ผู้ว่า การรัฐ Narendra Modi แถลงว่า เป็นฝีมือการก่อการร้ายที่วางแผนล่วงหน้าและมุ่งเป้าที่ชุมชนชาวฮินดู ยังผลให้ชาวฮินดูที่โกรธแค้นบุกเผาทำลายทรัพย์สินและสังหารชาวมุสลิม เหตุความรุนแรงดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 3 มีนาคม ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 คน สูญหายราว 400 คน และมีเด็กที่ต้องเป็นกำพร้าอย่างน้อย 600 คน
จากการสังเกตการณ์ของสื่อและเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ต่างๆ เห็นได้ชัดว่าเจ้าหน้าที่รัฐของคุชราตไม่ได้พยายามเข้าควบคุมสถานการณ์ และการสืบสวนข้อเท็จจริงในเวลาต่อมา พบว่านอกจาก ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่มยังมีส่วนเปิดทางแก่ม็อบชาวฮินดูที่โกรธเกรี้ยว ดูเหมือน ว่าคนสำคัญที่เปิดช่องและหนุนหลังเหตุการณ์ครั้งนั้นคือผู้ว่าการรัฐโมดี้นั่นเอง
สิบปีผ่านไป คุชราตยังคงตามหาความจริงและความยุติธรรม ผู้เคราะห์ร้ายในชุมชนต่างๆ ได้ ยื่นฟ้องต่อศาล ด้วยหวังให้มีการลงโทษทั้งคนลงมือ และคนหนุนหลัง ในบรรดาคดีจากชุมชน 9 แห่งที่อยู่ในชั้นศาล มีเพียงคดีเดียวที่ศาลสรุปคดีและพิพากษาแล้ว คือคดี Sadarpura ซึ่งชาวมุสลิม 33 คนถูกล้อมและเผาทั้งเป็นในบ้านหลังหนึ่ง โดยศาล พิพากษาจำคุกตลอดชีวิตจำเลย 31 คน สำหรับคดีสำคัญที่อาจพิสูจน์ว่า จริงหรือไม่ที่เหตุความรุนแรง ที่เกิดขึ้นจุดเชื้อไฟและเปิดช่องโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐเอง คือคดี Zakia Jafri ยื่นฟ้องโดยซาเกีย จาฟรี ภรรยาม่ายวัยเจ็ดสิบปีของ Ehsan Jafri อดีต ส.ส. ของรัฐคุชราตที่ถูกสังหารอย่างทารุณเมื่อสิบปีก่อน
เธอและสามีอาศัยอยู่ใน Gulburg Society เช่นเดียวกับครอบครัว Dara Mody เมื่อม็อบเข้าล้อมเผาแฟลตที่พวกเขาอาศัยอยู่ เอห์ซาน จาฟรีได้พยายามติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและนักการเมืองคนอื่นๆ เพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ก็ไร้ ประโยชน์ เขาจึงออกไปรับหน้าม็อบเพื่อ ปกป้องคนในชุมชน แต่ถูกรุมฆ่าและเผา ต่อหน้าภรรยาและเพื่อนบ้าน ซาเกีย จาฟรีจึงเข้าแจ้งความต่อตำรวจเพื่อดำเนินคดีกับฆาตกรที่ฆ่าสามีของเธอ โดยคดีนี้เป็นคดีเดียวที่ระบุชื่อนาเรนทรา โมดี้ ในฐานะจำเลย
ในเดือนเมษายน 2009 ศาลสูงสุดได้แต่งตั้งทีมสอบสวนพิเศษ (SIT) ขึ้นมารับผิดชอบคดีดังกล่าว และปีถัดมาก็ได้ตั้งทีมสืบสวนอิสระขึ้นมาทำงานคู่ขนานกัน ในสายตาของสาธารณชน แล้ว ส่วนใหญ่ไม่ให้ความเชื่อถือ SIT ด้วยเห็นว่ามีทิศทางการทำงานมุ่งฟอกความผิดให้กับโมดี้และเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่ามุ่งแสวงหาข้อเท็จจริง
ในสถานการณ์อย่างที่เกิดในคุชราต จะเห็นว่าพยานสำคัญของการสืบสาวข้อเท็จจริงก็คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจของรัฐนั่นเอง และตลอดสิบปีที่ผ่านมา มีตำรวจหลายคนพยายามเปิดเผยข้อเท็จจริงในส่วนที่ตนรับรู้ ทั้งในรูปของจดหมายเปิดผนึก คำให้ การเป็นลายลักษณ์อักษร และการให้ปากคำต่อทีมสอบสวนทั้งสองทีม แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการให้ความสำคัญ แล้วยังถูกกลั่นแกล้งอย่างโจ่งแจ้ง ตัวอย่างเช่น R.B. Sreekumar อดีตตำรวจข่าวกรอง ระดับสูง ถูกย้ายเข้ากรมและแช่แข็งในตำแหน่งที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ หลังจากเสนอบันทึกที่เต็มไปด้วย ข้อมูลร้อนฉบับแล้วฉบับเล่า และบันทึกของเขาถูกกล่าวหาว่าเขียนขึ้นด้วยเจตนาแอบแฝง ศรีกุมารกล่าวในการให้สัมภาษณ์นิตยสารฟรอนไลน์ ว่า “ถูกต้อง บันทึกเหล่านั้นมีเจตนาแอบแฝงเพื่อจะแสดง ว่าผมไม่ได้สมรู้ร่วมคิดเป็นหนึ่งในแก๊งนั้น เพราะคำสั่งจากเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่เหล่านั้น ล้วนแต่เป็นอาชญากรรมและขัดต่อรัฐธรรมนูญ”
Sanjiv Bhatt ตำรวจหน่วยข่าวกรองผู้ให้ปาก คำต่อ SIT ว่าตนเป็นหนึ่งในผู้ร่วมประชุมที่บ้านพัก ของผู้ว่าการรัฐโมดี้ในคืนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2002 หลังเหตุเพลิงไหม้รถไฟที่สถานีโกดรา โมดี้นอกจาก ไม่ใส่ใจคำเตือนให้เตรียมรับมือเหตุความรุนแรงระหว่างชาวฮินดูและมุสลิม กลับมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ ตำรวจวางเฉยและปล่อยให้ชาวฮินดูได้ “ระบายความ โกรธแค้น” ขณะที่ SIT ไม่ให้น้ำหนักกับคำให้การของ เขา สัญชีพกลับถูกหน่วยงานต้นสังกัดสั่งพักงานและรื้อความผิดทางวินัยเก่าตั้งแต่ปี 1990 ขึ้นมาซักฟอกใหม่
อย่างไรก็ตาม SIT ได้ออกหมายเรียกให้โมดี้มาให้ปากคำ และเขาก็ยินยอม ซึ่งถือเป็นผู้ว่าการรัฐคนแรกของอินเดียที่ถูกสอบปากคำขณะดำรงตำแหน่งในคดีเหตุความรุนแรงระหว่างคนต่างศาสนา ในสายตาคนทั่วไป บ้างมองว่า SIT ใช้การสอบปาก คำครั้งนั้นเป็นโอกาสให้โมดี้ได้ฟอกตัวจากความผิด บ้างเห็นว่า SIT เป็นเสือกระดาษ ลีลารุกไล่ในการสอบปากคำนั้นอ่อนชั้นกว่าโมดี้มาก
ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา SIT ส่งรายงาน ที่สาธารณชนมองว่าเป็นรายงาน “ปิดสำนวน” ของ คดี Zakia Jafri ต่อศาลสูงสุด โดยสรุปความเห็นในกรณีโมดี้ว่า ไม่มีหลักฐานสำหรับการดำเนินคดี ทำให้คนส่วนใหญ่เห็นว่า ในที่สุดโมดี้ก็คงจะลอยนวล จากความผิด แต่นิตยสารข่าวเตเฮลก้า ซึ่งมีโอกาสเข้าถึงรายงานหนากว่า 600 หน้าที่ SIT ยื่นต่อศาล สูงสุด เมื่อกลางปี 2010 สรุปประเด็นสำคัญว่า SIT พบว่าโมดี้มีความผิดในหลายกระทง อาทิ มีกรอบคิด ต่อต้านคนกลุ่มน้อยต่างศาสนา มีวาทะยั่วยุปลุกปั่น ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งหลายครั้ง ทำลายบันทึกการประชุมและรายงานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ที่เป็นหลักฐานสำคัญหลายชิ้น แต่งตั้งฝ่ายกฎหมายที่เป็นสมาชิกของกลุ่มฮินดูขวาจัดให้เป็นอัยการในคดีเหตุความรุนแรง ปี 2002 หลายคดีส่งคนใกล้ชิดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปร่วมสั่งการในศูนย์บัญชาการกรมตำรวจในช่วงที่เกิดเหตุ และลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ให้การต่อต้านตน
ในเดือนกันยายนปีก่อน ศาลสูงสุดได้ส่งคดีซาเกียจาฟรีกลับไปให้ศาลชั้นต้นไต่สวนอีกครั้ง ฟากฝ่ายโมดี้และพรรคบีเจพี พรรคฝ่ายค้านสำคัญของอินเดียซึ่งโมดี้เป็นสมาชิก ได้พยายามหันเหความสนใจของสาธารณชน ประกาศว่านั่นคือชัยชนะ ของฝ่ายตน แต่ครอบครัวจาฟรีและนักต่อสู้ด้านสิทธิ ก็มองว่าการที่ศาลสูงสุดไม่มีคำพิพากษาและคดีย้อน สู่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง ย่อมเป็นชัยชนะของฝ่ายตน เพราะตราบใดที่กระบวนยุติธรรมยังขับเคลื่อน โมดี้ก็ยังอยู่ในสถานะของจำเลย
ทุกวันนี้ ไม่ว่าบรรดาซีอีโอบรรษัทใหญ่ๆ ของ อินเดียจะยกยอโมดี้ว่าเป็นผู้ว่าการรัฐผู้มีวิสัยทัศน์ และขนเงินมาลงทุนในรัฐคุชราตเป็นทิวแถว บางภาค ส่วนของพรรคบีเจพีจะพยายามสร้างภาพปูทางแก่โมดี้ไปสู่การแข่งขันในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ชาว มุสลิมในรัฐคุชราตยังคงมีชีวิตในสภาพพลเมืองชั้นสอง แต่ผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ปี 2002 และผู้ที่ต้อง การเห็นความยุติธรรมในสังคมก็ยังไม่ล้มเลิกการต่อสู้
สัญชีพ ภัทท์ ตำรวจที่ยอมเอาตำแหน่งเข้าแลกกับการต่อสู้นี้ กล่าวว่า “กงล้อความยุติธรรมอาจเคลื่อนเชื่องช้า หน้าที่ของเราคือต้องทำให้แน่ใจ ว่ามันยังขับเคลื่อนอยู่”
สำหรับความเจ็บปวดของคนเป็นแม่ รูป้ากล่าวว่า ตราบใดที่ไม่เห็นศพลูกชาย เธอก็ทำใจไม่ได้ว่าเขาตายแล้ว “จนกว่าจะตาย ฉันจะไม่เลิกต่อสู้ ถึงรู้ทั้งรู้ว่ายากแค่ไหนที่จะลากคนระดับโมดี้มาลงโทษ แต่ฉันอยากถามว่า โมดี้กลัวอะไรถึงไม่ยอมให้ Parzania ฉายในคุชราต”
|
|
|
|
|