การจราจรในกรุงเทพฯ บ้านเรา เมื่อ 3-4 ปีที่แล้วนั้น เคยมีเสียงบ่นโดยทั่วไปว่า
"โหดเกือบที่สุดในโลก" แต่คำบ่นนี้ก็คงไม่ถูกต้องเสียแล้ว เพราะเหตุว่าในขณะนั้น
กรุงเทพฯ มียวดยานที่แล่นกันขวักไขว่หรือไม่จอดติดกันเป็นแพอยู่เพียงประมาณ
8 แสนคัน ส่วนบัดนี้จำนวนยวดยานภายในกรุงเทพฯ ได้เพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 1 ล้าน
2 แสนคันแล้ว
ฉะนั้นคำบ่นที่น่าจะถูกต้องกว่าก็คือ การจราจรในกรุงเทพฯ ในปัจจุบันนั้น
มัน "โหดที่สุดในโลก" คือไม่มี "เกือบ" อีกต่อไป
ก็ไม่ทราบว่าจะเอาอะไรมาวัดเหมือนกัน แต่ถ้าถามถึงความรู้สึกของผู้ที่สัมผัสอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันไม่ว่าจะเป็นคนขับยวดยาน
คนเดินถนน ตำรวจจราจร หรือเด็กขายพวงมาลัย คำตอบก็คงจะออกมาตรงกัน เช่นนั้น
ไม่มีทางเป็นอื่นไปได้แน่นอน
เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการแจ้งข่าว เรื่องการขุดถนนสีลมโดยสื่อมวลชนต่างๆ
รวมทั้งการประชาสัมพันธ์จากจราจรกลาง และหน่วยงานที่จะต้องมีหน้าที่ขุดถนน
ใครที่ได้ฟังแล้วถ้าไม่ด่าขึ้นมาลอยๆ อย่างน้อยก็คงจะต้องรำพึงว่า แล้วคราวนี้จะทำกันอย่างไร
(วะ)
เพราะสภาพการจราจรบนถนนสีลมและถนนใกล้เคียงคงต้องวิกฤตไม่มีทางหลีกเลี่ยง
อีกทั้งยังมีกลุ่มที่จะต้องถูกผลกระทบเอาแทบกระอักเลือด ก็คือ ร้านค้าจำนวนเป็นร้อย
บนสองฟากถนน โรงแรมชั้นหนึ่งและชั้นสอง ผู้อยู่อาศัยตามซอยแยกจากถนนสีลม
ธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ หลายแห่ง โรงเรียนอีก 3-4 โรงเรียน อาทิ
กรุงเทพคริสเตียน อัสสัมชัญ ผดุงดรุณี เซนต์โยเซฟคอนแวนต์ มีผู้ปกครองนักเรียนอยู่จำนวนไม่น้อยกว่า
12,000 ราย ที่จะต้องขับรถไปรับส่งลูกหลานตามโรงเรียนเหล่านี้
ถ้าจะประมาณการผลกระทบที่มีต่อหน่วยงานธุรกิจในย่านสีลมแล้ว ก็คงจะเป็นร้อยล้านบาท
หรืออาจจะเป็นพันล้านบาทก็ได้ ถ้าความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ยืนยงคงกระพันไปเป็นระยะเวลาเนิ่นนานเกินไป
แล้วจะต้องขุดถนนสีลมหาเรื่องยุ่งยากกันทำไม?
ร้านค้า หน่วยงานธุรกิจ ธนาคาร โรงเรียน โรงแรม ร้านอาหาร ภัตตาคาร ห้างสรรพสินค้า
อาคารชุดคอนโดมิเนียม ทั้งเพื่อการธุรกิจ และอยู่อาศัย สถานเริงรมย์ หรือแม้กระทั่งอาบอบนวด
บาร์อโกโก้ บาร์เกย์ ประดังกันเข้ามาอยู่อย่างพร้อมสรรพบนสองฟากถนนสีลม ถนนที่มีความยาวเพียง
2 กิโลเมตรกว่าๆ
ความเจริญของถนนสีลมนั้นไม่ได้เป็นไปตามแผนของใคร ไม่ได้จัดให้เป็นเช่นนี้เพราะเป็นไปตามแผนผังเมือง
ของกรุงเทพมหานคร และก็ไม่ได้มีการกล่าวถึงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับไหนๆ
แม้กระทั่งฉบับที่กำลังร่างกันอยู่ในปัจจุบัน (2530-2534)
แต่ถนนสีลมก็เป็นแหล่งเศรษฐกิจ ประเภทจับฉ่าย ที่ใหญ่โตที่สุดของประเทศไทย
มีบางคนถึงกับเปรียบเทียบว่าเหมือนกับ "ถนนวอลสตรีท" ของนิวยอร์ก
ไปโลด
การขุดถนนสีลมนั้น เริ่มมีเบาะแสจากการที่การไฟฟ้านครหลวงซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลการบริการด้านการไฟฟ้าให้ทั่วถึงแก่กรุงเทพฯ
และจังหวัดใกล้เคียงคือ นนทบุรีและสมุทรปราการ ได้วางเป็นโครงการย่อยๆ ไว้ว่า
จะทำการปรับปรุงระบบจ่ายไฟฟ้าในถนนสีลม ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มการบริการด้านไฟฟ้าให้กับกิจการต่างๆ
ที่รวมกันอยู่อย่างหนาแน่นหลายประเภทดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
ถ้าจะพูดกันอย่างเป็นหลักวิชาการแล้ว ก็คงจะต้องพูดว่า การไฟฟ้านครหลวงได้เกิดเล็งเห็นว่า
ถนนสีลมนี้มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ในอัตราที่รวดเร็วมาก ในระยะขวบปีที่ผ่านมา
และก็สามารถพยากรณ์ได้ว่า ยังจะต้องเพิ่มขึ้นในอัตราสูงไปอีกหลายๆ ปี โดยภายในอีก
10 ปีข้างหน้าก็เป็นที่เชื่อกันว่าความต้องการพลังไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นประมาณ
2 เท่าของการใช้ไฟฟ้าในปัจจุบัน
เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้เป็นชนิดที่ส่งไปบนเสาริมถนน
แล้วใช้สายพาดไปโดยให้มีระยะห่างจากผู้คนและทรัพย์สินต่างๆ เพื่อความปลอดภัย
ด้วยความสูงของเสาไฟฟ้านั่นเอง
แต่ระบบนี้จะไม่พอเพียงอีกต่อไป !
เส้นทางที่จะปักเสาเดินสายไฟฟ้าเพิ่มก็ไม่มีแล้ว !!
จึงจะต้องเพิ่มด้วยวิธีอื่น ที่สามารถป้อนพลังไฟฟ้าได้มากกว่าด้วย นั่นก็ประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่ง ยามเมื่อเกิดฝนฟ้าคะนองนั้นระบบที่เป็นอยู่นี้ก็มักจะถูกรบกวน
ไฟฟ้าดับบ้าง ทั้งช่วงสั้นๆ และช่วงยาวๆ พูดกันง่ายๆ ก็คือคุณภาพของการบริการยังไม่อยู่ในระดับที่ดีเยี่ยมพอ
เมื่อต้องคำนึงถึงว่าถนนสีลมมีอาคารสูงที่ใช้ลิฟต์กันจำนวนมาก มีธุรกิจและกิจกรรมมากมายที่ต้องการไฟฟ้าที่ดีเยี่ยมเกือบตลอดเวลาตลอดวัน
ทั้ง 24 ชั่วโมง
สิ่งนี้ก็เป็นความจำเป็นที่การไฟฟ้านครหลวงจะต้องจัดระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าเสียใหม่
ให้มีการยกระดับคุณภาพขึ้น
และระบบใหม่ที่ว่านี้ก็คือ การวางสายไฟฟ้าใต้ดิน
การขุดถนนสีลมจึงเป็นเรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สำหรับคนกรุงเทพฯ และโดยเฉพาะตำรวจจราจรแล้ว เรื่องที่น่าเบื่อหน่ายอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวันก็เห็นจะมีเรื่อง
กิจกรรมของ "ลูกอีช่างขุด" เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่ง ซึ่งบรรดา
"ลูกอีช่างขุด" เหล่านี้ก็เช่น การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง
(ผู้แสดงนำในเรื่อง ลาดพร้าวระทม) องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย สำนักระบายน้ำ-กทม.
ขุดแล้วกลบ พอกลบแล้วก็ขุดกันอีก อย่างนี้เรื่อยไปเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ
แต่ไม่เลือกฤดูกาล ชาวกรุงเทพฯ จึงเดือดร้อนกันจนเคยชินมาก
ก่อนปี 2528 นี้ กทม.เองก็ได้เคยพยายามที่จะเป็นสื่อกลางเพื่อลดปรากฏการณ์เหล่านี้ลง
แต่ดูเหมือนว่า กทม.ก็ทำได้ไม่มากนักเพราะยังขาดอำนาจและเครื่องมือ โดยเฉพาะ
เมื่อหน่วยงานที่จะต้องขุดเกิดอ้างว่า ถ้าไม่ขุดประชาชนจะขาดบริการ กลายเป็นปัญหาน้ำท่วมปากไป
อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ใช่กรณีถนนสีลม
การไฟฟ้านครหลวงในฐานะตัวตั้งตัวตี ก็มีความเห็นว่าเรื่อง "ลูกอีช่างขุด"
จะต้องไม่เกิดที่ถนนสีลม เพราะได้เคยใช้ความพยายามอย่างยิ่งที่จะทำงานร่วมกับสาธารณูปโภคอื่นๆ
มาแล้วที่ถนนสีลมนี้เอง
เมื่อปี 2526 ซึ่งเป็นปีที่กรุงเทพฯ ถูกฝนกระหน่ำอย่างหนักนั้น ทาง กทม.
โดยสำนักระบายน้ำได้ทำการขุดถนนสีลมฝั่งใต้ตั้งแต่ซอยประมวลถึงถนนสุรศักดิ์เชื่อมต่อไปจรดถนนสาทรเหนือ
การไฟฟ้านครหลวงรู้เรื่องการขุดทำท่อระบายน้ำนี้ภายหลังเมื่อได้มีการทำสัญญาจ้างงานไปแล้ว
5 วัน แต่ก็ได้พยายามขอเข้าไปทำการวางท่อร้อยสายไฟฟ้าไปพร้อมๆ กัน ก็เป็นผลสำเร็จแม้จะพบอุปสรรคมากมาย
ดังนั้น ในคราวนี้การไฟฟ้านครหลวงผู้จะต้องลงมือขุดครั้งใหม่ จึงได้เรียกร้องติดต่อสาธารณูปโภคอื่นๆ
ให้เข้ามาร่วมงานเพื่อจะได้ขุดกันเพียงครั้งเดียว และถ้าจะต้องขุดกันอีกก็คงไม่ใช่ระยะใกล้ๆ
นี้
ก็เป็นที่น่ายินดี เหมือนถูกหวยรางวัลที่หนึ่ง เพราะทุกอย่างลงเอยได้ด้วยดีในที่สุด
ก่อนปี 2528 นี้ มีคณะกรรมการประสานงานกันหลายหน่วยงานหลายเหล่า ก็ประสานกันบ้างขัดกันบ้าง
หน้าที่และขอบเขตงานไม่ชัดเจนบ้าง งานก็เลยไม่ขยับเขยื้อนกลายเป็นอัมพาตไป
ซึ่งอาการเช่นนี้คงจะปรากฏแน่ชัดกับสายตาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
พลเอกสิทธิ จิรโรจน์
พลเอกสิทธิ จิรโรจน์ ได้เข้าแก้ไขโรคอัมพาตนี้ เมื่อประมาณต้นๆ ปี 2528
โดยสั่งยกเลิกกรรมการประสานงานที่ประสานงานทุกชุด แล้วก็จัดวางหน้าที่และขอบเขตตามลักษณะงานขึ้น
เช่น ระดับประสานแผนและนโยบาย ระดับประสานโครงการ กับระดับประสานการปฏิบัติงานและควบคุมงานหรือหน่วยเฉพาะกิจสำหรับงานที่จะสร้างปัญหาโดยเฉพาะ
ทั้งยังได้แบ่งให้ขาดจากกันระหว่างเมืองกับต่างจังหวัด หรือพูดกันง่ายๆ ก็คือ
แบ่งหน้าที่และขอบเขตกันให้ชัดเจน จะได้ไม่ต้องมาถกเถียงกันให้มากความ
และผลที่ติดตามมาก็คือได้เกิดคณะทำงานขึ้นมาคณะหนึ่ง มี รมช.มหาดไทย โอภาส
พลศิลป์ เป็นผู้สั่งการให้จัดตั้งขึ้น เรียกว่าคณะทำงานศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างสาธารณูปโภครวมและอุโมงค์รวม
โดยให้ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง-อำนวย อุดมศิลป์ เป็นประธานคณะทำงาน
คณะทำงานชุดนี้เองที่ได้ใช้โอกาสพบปะปรึกษากัน เกี่ยวกับเรื่องการขุดถนนสีลม
จากความร่วมมือที่ดีของคณะกรรมการ การขุดพร้อมกันครั้งเดียวสำหรับถนนสีลมก็เลยสำเร็จได้อย่างน่ายินดี
ก็เป็นความหวังว่าสำหรับถนนอื่นๆ น่าจะมีการทำอย่างที่เกิดกับถนนสีลมนี้บ้าง
เรื่องของ "ลูกอีช่างขุด" จะได้ปิดฉากไปเสียที