สุขุม นวพันธ์ ทำงานกับธนาคารทหารไทยนับแต่เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อปี 2500
ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการ โดยการชักชวนของโชติ คุณะเกษม ผู้จัดการคนแรก และเป็นพ่อตาของสุขุม
ในยุคที่เมืองไทยแทบไม่รู้จักคำว่า MBA หรือ MBO ก็ต้องถือว่าสุขุม นวพันธ์
เป็นมืออาชีพในเชิงธุรกิจคนหนึ่ง เพราะจบประกาศนียบัตรชั้นสูงทางบัญชี มาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อันเป็นแหล่งผลิตแบงเกอร์ฝีมือดีหลายคน ที่มีชื่อเสียงอยู่ทุกวันนี้
ปี 2502 โชติ คุณะเกษม ต้องไปรับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย สุขุม
นวพันธ์ จึงได้รับเลือกให้เป็นผู้จัดการแทน และเป็นติดต่อกันมาจนถึงปี 2524
กินเวลานานถึง 22 ปี ซึ่งคงเป็นสถิติที่ไม่มีใครสามารถทำลายได้
การเป็นนายแบงก์ไม่ใช่เรื่องง่าย และการเป็นนายแบงก์ที่มีผู้ถือหุ้นเป็นทหาร
3 เหล่าทัพล้วนๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเข้าไปใหญ่ เพราะต้องใช้หลักการบริหารสองแบบควบคู่กันไป
คือ เอื้อผลประโยชน์ให้ผู้ถือหุ้นอย่างเป็นที่น่าพอใจ รวมทั้งรักษาเสถียรภาพของธนาคารควบคู่ไปด้วย
ตอนจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อปี 2506 มีแต่คนมองว่าแบงก์ทหารไทยจะไปไม่รอด
ลำพังเงินฝากของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์คนเดียว ที่ทางการยึดก็ปาเข้าไป 100 กว่าล้านบาท
ในขณะที่ยอดเงินฝากมีแค่ 400 ล้านบาท
แต่สุขุม นวพันธ์ ก็ประคองธนาคารทหารไทยรอดมาได้ ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะโครงสร้างของกำลังในกองทัพยังคงเป็นคนกลุ่มเดิม
เพียงแต่เปลี่ยนตัวยอดออกไปเป็นจอมพลถนอม กิตติขจร เท่านั้น และจอมพลถนอมก็เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการของธนาคารทหารไทยเป็นคนที่
2 จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
เหตุการณ์ 14 ตุลาคมครั้งนั้นกระเทือนทุกโครงสร้างธุรกิจที่อาศัยอิงฐานอำนาจของทหารอย่างรุนแรง
โดยเฉพาะธนาคารทหารไทย แต่จะถือเป็นโชคในเคราะห์ก็ว่าได้ ที่สถานการณ์ทำให้
สุขุม นวพันธ์ ต้องหลบฉากออกไป ปล่อยให้เพื่อนที่ชื่อ วิสิษฐ์ ตันสัจจา บริหารงานแทนในตำแหน่งรองผู้จัดการ
และนี่เป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ธนาคารทหารไทยก้าวเข้าสู่การเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มตัว
เมื่อสุขุม นวพันธ์ กลับเข้ามาคุมบังเหียนธนาคารทหารไทยอีกครั้งหนึ่ง จึงพบว่าทุกสิ่งทุกอย่างในธนาคารที่ตนเคยกุมมันได้ทั้งหมด
เปลี่ยนแปลงไปจนเกือบจำไม่ได้ เรื่องของเรื่องก็ต้องดึงอำนาจกลับคืนมา
วิสิษฐ์ ตันสัจจา จึงต้องตัดใจลาออกจากธนาคารที่ตนได้ทุ่มเทสติปัญญาอย่างเต็มกำลัง
เพื่อให้เป็นธนาคารพาณิชย์สมบูรณ์แบบ รวมทั้งความหวังที่เคยได้ยินสุขุมพูดว่า
จะให้เป็นผู้จัดการใหญ่แทนก็สูญสลายไป
สุขุมลืมคิดไปว่า แค่วิสิษฐ์ ตันสัจจา กับพรรคพวก 3-4 คนที่ลาออกไป ไม่ได้ทำให้โครงสร้างของธนาคารทหารไทยที่เปลี่ยนไปกลับคืนมาเหมือนเดิม
และเผอิญคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยนายทหารของ 3 เหล่าทัพ ก็ไม่ใช่คณะกรรมการกลุ่มเดิมที่เชื่อถือแต่ตัวของสุขุม นวพันธ์ หากกลายเป็นคณะกรรมการที่มีความสนใจและเข้าใจการบริหารงานธนาคารเอามากๆ
เพราะสมัย วิสิษฐ์ ตันสัจจา บริหาร ไม่ได้ถือว่าคณะกรรมการเป็นเพียงพระอันดับที่เป็นได้เนื่องจากเป็นผู้ถือหุ้น
แต่ถือว่าเป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ตนมีหน้าที่รายงานผลการดำเนินงานอย่างละเอียด
แม้ว่าคนกลุ่มนี้จะใส่เครื่องแบบมาร่วมประชุมก็ตาม
คณะกรรมการเหล่านี้จึงไม่เข้าใจว่า ในเมื่อการดำเนินงานของธนาคารทหารไทยกำลังเดินหน้าไปด้วยดี
ทำไมสุขุมจึงต้องเข้ามาหยุดเอาดื้อๆ?
ไม่ใช่เพียงคณะกรรมการของธนาคารที่ไม่เข้าใจ แม้แต่พนักงานที่ได้รับการอบรมฝึกปรือจนฟิตเปรี๊ยะ
และกำลังลุยงานสร้างความเป็นปึกแผ่นใหญ่โตให้อู่ข้าวอู่น้ำของตนก็ไม่เข้าใจ
นโยบายของสุขุม นวพันธ์ ในยุคนั้นอาจจะสะท้อนได้จากคำพูดของ อนุตร์ อัศวานนท์
กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ที่พูดกับ "ผู้จัดการ" เมื่อไม่นานมานี้
"สมัยก่อนนโยบายไม่ค่อยสนับสนุนให้ขยายงาน อันนี้เป็นความจริง สมัยนั้นนโยบายต้องการให้แบงก์นี้อยู่กันอย่างเล็กๆ
เหมือนต้นไม้ คือสวยก็สวย งามก็งาม แต่เลี้ยงในกระถางไม่ยอมให้ลงดิน ผมไม่อยากใช้คำว่า
บอนไซ เอาเป็นว่ามันเป็นต้นเล็กๆ แล้วกัน
เมื่อไม่เข้าใจว่าสุขุมต้องการอะไร? และไม่ได้คำตอบเป็นที่น่าพอใจ ความไม่พอใจก็เกิดขึ้น
ความไว้เนื้อเชื่อใจในตัวสุขุม นวพันธ์ ที่คณะกรรมการเคยมอบให้ก็เริ่มคลอนแคลน
โชคร้ายของสุขุมที่เอกอุอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในช่วงที่กลับเข้ามายึดอำนาจในแบงก์ทหารไทย
เป็นช่วงที่มีประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหารชื่อ พลเอกจิตติ นาวีเสถียร
ที่ไม่ยอมนั่งเป็นพระประธาน หรือคอยประทับตราอนุมัติคำสั่งของผู้จัดการใหญ่
เหมือนประธานกรรมการในอดีต
สุขุม นวพันธ์ เคยเจอแต่ประธานกรรมการอย่าง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ตั้งแต่เปิดธนาคารทหารไทย
ไม่เคยมาประชุมคณะกรรมการเลย มอบหมายให้หลวงสุทธิสารรณกรดูแลแทนหมด หรือประธานกรรมการอย่างจอมพลถนอม
กิตติขจร ที่ติดงานบริหารบ้านเมือง มีเวลาให้เฉพาะตอนประชุมใหญ่ประจำปี เพื่ออ่านรายงานผลการดำเนินงานที่สุขุมร่างเอาไว้ให้
พลเอกจิตติ นาวีเสถียร เป็นประธานที่มานั่งทำงานที่ธนาคารทหารไทยแทบทุกวัน
ทำหน้าที่ประธานกรรมการบริหารของตนอย่างเต็มที่ คำขออนุมัติของผู้จัดการใหญ่ที่ชื่อ
สุขุม นวพันธ์ ที่อดีตเคยได้รับไฟเขียวจากประธานกรรมการคนอื่นมาตลอด ก็กลับตาลปัตร
คำขอรายการไหนไม่ละเอียด ถูกส่งให้กลับมาทำใหม่ หรือไม่อนุมัติ?
การกลับเข้ามาเป็นครั้งที่ 2 ของ ประยูร จินดาประดิษฐ์ ในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป ของธนาคารทหารไทย
คงเป็นสัญญาณบอกเหตุให้สุขุมรู้ชะตาตัวเองในธนาคารแห่งนี้ได้ไม่ยากนัก
คนอย่างสุขุมที่เคยใหญ่และใหญ่มาตลอด มีหรือจะทนได้ จึงเซ็นใบลาออกไป ท่ามกลางความโล่งใจของหลายฝ่าย
เรื่องราวของสุขุม นวพันธ์ เป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะบทบาทของเขาในฐานะผู้จัดการใหญ่ธนาคารทหารไทย
มีคนกล่าวถึงทั้งในฐานะผู้สร้างและผู้ทำลาย
คนที่เคยทำงานใกล้ชิดกับสุขุม นวพันธ์ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เขาเป็นคนเจ้าอารมณ์
เอาแต่ใจตัวเอง ยามดีก็แสนดี ยามร้ายก็สุดร้าย วิสิษฐ์ ตันสัจจา คงเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด
พนักงานในธนาคารทหารไทยรุ่นก่อนหน้านี้สัก 4-5 ปี คงรู้กันดีว่า ภาพเขียนที่สุขุม
นวพันธ์ โปรดปรานมากที่สุด เป็นภาพเขียนของถวัลย์ ดัชนี ที่เป็นภาพแนวเหนือจริง
และมักจะวาดเป็นร่างคนเน้นส่วนสัดกล้ามเนื้อที่ทรงพลังโดยมีหัวเป็นสัตว์ในจินตนาการ
สุขุมสมัยที่เป็นใหญ่ในธนาคารทหารไทย ทุ่มเงินของธนาคารไปในการนี้ไม่ใช่น้อย
และเอามาติดแทบทุกชั้นของสำนักงาน แต่มาถึงยุคประยูร จินดาประดิษฐ์ เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่
ภาพเหล่านั้นก็โดนปลดลงไปกองที่ใต้ถุนที่ทำการสำนักงานใหญ่จนหมดเกลี้ยง
มันเป็นการสะท้อนอุปนิสัยบางอย่างของสุขุมหรือเปล่าเราไม่สามารถจะบอกได้
แต่ที่พ้องกันอย่างบังเอิญก็คือภาพของถวัลย์ ดัชนี ได้ถูกติดตั้งไว้อย่างอหังการ
ณ ห้องแถลงข่าวของธนาคารแห่งประเทศไทย ในยุคที่มีนุกูล ประจวบเหมาะ เป็นผู้ว่าการ
และอุปนิสัยของนุกูล ประจวบเหมาะ นั้นเป็นที่รู้กันว่ากร้าวแกร่งเพียงใด
หากจะให้ความเป็นธรรมกันแล้ว ก็ต้องเห็นใจ เพราะธนาคารทหารไทยในยุคแรกจนกระทั่ง
14 ตุลาคม 2516 เป็นยุคที่สุขุมบริหารงานแบบ "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว"
มาตลอด
คำขอของสุขุมที่มีถึงคณะกรรมการไม่เคยได้รับการปฏิเสธ คำสั่งที่มีต่อพนักงานไม่มีใครกล้าโต้แย้ง
ใครตกที่นั่งอย่างสุขุม นวพันธ์ หากไม่ถือว่าตัวเองใหญ่ในองค์กรนั้น หรือเพาะนิสัยเอาแต่ใจตัวเอง
เห็นจะเกินมนุษย์ไปหน่อย
และต้องยอมรับกันว่า ถึงสุขุมจะบริหารงานแบบรวบอำนาจ สามารถชักจูงคณะกรรมการให้คล้อยตามความเห็นของตนได้ในช่วงเวลาอันยาวนาน
เขาก็ไม่ได้ปล่อยให้การบริหารงานธนาคารเละเทะ มีแต่หนี้เสียหนี้สูญเหมือนธนาคารพาณิชย์บางแห่งสมัยนี้
ในยุคที่สุขุม นวพันธ์ บริหารงานธนาคารทหารไทย สุขุมเป็นลูกจ้าง มีหุ้นไม่ได้แม้แต่หุ้นเดียว
เพราะกฎหมายอนุญาตให้ผู้ถือหุ้นต้องเป็นทหารหรือเคยเป็นทหาร มองในแง่นี้สุขุมก็เป็นนักบริหารมืออาชีพคนหนึ่ง
เพียงแต่มืออาชีพอย่างสุขุมนั้น เหมาะสำหรับสมัยธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จได้
ต้องอาศัยเส้นสายที่อิงกับกลุ่มอำนาจ เมื่อโครงสร้างของธุรกิจเปลี่ยนไปเป็นการบริหารงาน
โดยมีมืออาชีพที่อิงกับผลงานที่ตัวเองทำ และทำร่วมกันเป็นทีม
สุขุม นวพันธ์ จึงอยู่ที่ธนาคารทหารไทยต่อไปไม่ได้
ในช่วงที่บริหารงานในธนาคารทหารไทยนานถึง 22 ปี สุขุมต้องพลาดบ้างตามวิสัยมนุษย์ปุถุชน
และการพลาดครั้งสุดท้ายของเขา ก็คือ การสิ้นสุดชีวิตการบริหารในธนาคารทหารไทยแห่งนี้
แทนที่จะสามารถอยู่ได้จนอายุครบเกษียณ หรือลาออกไปอย่างสมศักดิ์ศรีมากกว่านี้
และการพลาดครั้งสุดท้ายนี้ ทำให้สุขุม นวพันธ์ ได้รับบำเหน็จในการทำงานที่ธนาคารทหารไทย
เพียงแค่ที่ปรึกษาคณะกรรมการอยู่ปีเดียว ทั้งๆ ที่เขาควรจะได้อย่างน้อยก็เก้าอี้กรรมการสักตัวหนึ่ง
สุขุม นวพันธ์ เป็นได้เพียงตำนานหนึ่งของธนาคารทหารไทยที่ทุกคนกำลังลืมเลือน
แม้เจ้าของตำนานจะยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม