Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2528








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2528
ธนาคารทหารไทยยุคก้าวสู่ธนาคารพาณิชย์เต็มตัว             
 


   
search resources

ธนาคารทหารไทย
Banking
วิสิษฐ์ ตันสัจจา




เพียง 5 เดือนหลังจากประยูร จินดาประดิษฐ์ ลาออกจากธนาคารทหารไทย ธนาคารพาณิชย์แห่งนี้ ก็ได้รับรองผู้จัดการคนที่ 2 ซึ่งลาออกจากตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่บริษัทเอสโซ่พร้อมกับทีมงานจำนวนหนึ่ง บุคคลนั้นคือ วิสิษฐ์ ตันสัจจา เพียง 1 เดือน 14 วัน ประเทศไทยก็เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง และผลของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้กระทบต่อโครงสร้างอำนาจของสังคมไทย อันเกี่ยวพันอย่างแยกไม่ออกกับรากเหง้าของโครงสร้างของธุรกิจแบบเก่า

อาจจะกล่าวได้ว่า ผลกระทบจากเหตุการณ์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เป็นการปลดเปลื้องพันธนาการของการดำเนินธุรกิจที่ต้องอิงอำนาจของฝ่ายทหารจนเกือบจะสิ้นเชิง เปิดโอกาสให้นักบริหารมืออาชีพในทุกวงการได้แสดงความสามารถของตนอย่างเต็มที่ และอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการเริ่มยุคใหม่ของธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศไทย ที่จุดชี้ขาดอยู่ที่ความสามารถของผู้บริหารมากกว่าความสามารถในการเข้าหาผู้ใหญ่ที่มีอำนาจ

ในธนาคารทหารไทยก็ย่อมได้รับผลกระทบดังกล่าว อย่างเลี่ยงไม่พ้น จอมพลถนอม กิตติขจร ต้องเดินทางออกจากประเทศไทย และพลเอกกฤษณ์ สีวะรา เข้ามารับตำแหน่งประธานกรรมการแทน ในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองกำลังปั่นป่วนอย่างหนัก ไหนจะต้องคอยรับมือกับสถานการณ์ทางการเมืองที่แปรเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ไหนจะคอยปรับโครงสร้างทางฝ่ายทหารเสียใหม่ ?!

ธนาคารทหารไทยในช่วงนี้อย่าว่าแต่งานปฏิบัติการ ซึ่งฝ่ายคณะกรรมการให้อำนาจผู้จัดการคือ สุขุม นวพันธ์ สูงอยู่แล้ว แม้แต่งานในระดับนโยบายของธนาคาร สุขุมก็สามารถดำเนินการได้อย่างอิสระ การตัดสินใจของสุขุมในช่วงนั้นก็คือ การนำธนาคารทหารไทยก้าวเข้าสู่การเป็นธนาคารพาณิชย์อย่างเต็มตัว โดยเปิดโอกาสให้เพื่อนรักที่ดึงมาจากเอสโซ่ วิสิษฐ์ ตันสัจจา ได้แสดงฝีมือบริหารธนาคารทหารไทยอย่างเต็มที่

"ผมว่าตอนนั้นคุณสุขุมคิดหมากหลายชั้น การที่คุณวิสิษฐ์ออกหน้าแล้วตัวแกฉากออกมา ทางหนึ่งช่วยภาพลักษณ์ของแบงก์ให้ดีขึ้น เพราะตัวแกเองใกล้ชิดทหารมาตลอด และตอนนั้นทหารเองภาพลักษณ์ต่อสังคมไม่สู้ดีนัก อีกอย่างหนึ่งแกคงต้องการจับทิศทางการเมืองให้แน่ใจเสียก่อน ปล่อยคุณวิสิษฐ์ทำไป ถ้าได้ผลดีแกก็ไม่เสีย…หรือถ้าคุณวิสิษฐ์พลาดแกก็ไม่เสียอีก แต่จริงๆ แล้วแกคิดยังไงไม่รู้นะ อาจจะอยากทุ่มเทให้กับโครงการนวธานีของแกอย่างที่เป็นข่าวก็ได้" อดีตพนักงานของธนาคารทหารไทยวิเคราะห์กับ "ผู้จัดการ"

และหากจะให้เครดิตกันว่า ธนาคารทหารไทย เริ่มเข้าสู่ยุคธนาคารพาณิชย์อย่างเต็มตัว ในยุคที่ใครเป็นผู้นำ ก็ต้องบอกว่าในยุคที่ยังมีผู้จัดการใหญ่ชื่อ สุขุม นวพันธ์

โดยมีรองผู้จัดการใหญ่ที่ชื่อว่า วิสิษฐ์ ตันสัจจา

ก่อนเข้าทำงานในธนาคารทหารไทย วิสิษฐ์ ตันสัจจา ทำงานอยู่กับเอสโซ่ มานานถึง 15 ปี ในตำแหน่งล่าสุด คือรองกรรมการผู้จัดการเอสโซ่แสตนดาร์ด (ประเทศไทย)

วิสิษฐ์โดยเนื้อแท้ก็เหมือนกับผู้บริหารคนอื่นๆ ที่เคยทำงานกับบริษัทข้ามชาติ ที่ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องพัฒนาบุคคล และมีมาตรฐานในการบริหารงานแบบ MODERN MANAGEMANT

เชื่อใน MANAGEMANT SCIENCE และมั่นใจว่าใครก็ตามที่มีคุณสมบัติเป็น PROFESSIONAL MANAGER อย่างแท้จริง จะไปนั่งบริหารงานที่ไหน ก็ได้ทั้งนั้น

นี่คือสาเหตุประการแรกที่วิสิษฐ์ ตันสัจจา ลาออกจากเอสโซ่มารับตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่ธนาคารทหารไทยเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2516 ซึ่งมีลักษณะงานเฉพาะ ต่างกับงานเดิมที่เคยทำอย่างสิ้นเชิง

แน่ล่ะ ลำพังมั่นใจในฝีมือการบริหารของตนอย่างเดียว คงไม่ใช่เหตุจูงใจที่รุนแรงพอที่จะให้วิสิษฐ์ ตันสัจจา ลาออกจากเอสโซ่ หน่วยงานที่มั่นคง ให้ผลตอบแทนที่สูงไม่น้อยหน้าหน่วยงานไหนในประเทศนี้

อย่าว่าแต่ตำแหน่งของเขาในเอสโซ่ เป็นถึงรองกรรมการผู้จัดการ ในสายงานบริหารถือเป็นอันดับสองรองจากกรรมการผู้จัดการ ที่ระบุว่าต้องเป็นฝรั่งจากข่ายงานของบริษัทเอ็กซอน อันเป็นบริษัทแม่

หรือจะพูดอีกนัยหนึ่ง ก็คือ เขาเป็นนัมเบอร์วัน ในสายงานบริหารที่เป็นคนไทยด้วยกัน

"ก่อนหน้าที่ผมจะมารับงานที่ธนาคารทหารไทย ผมได้ศึกษาและคิดเรื่องนี้มานานไม่ต่ำกว่า 3 เดือน ผมมองเห็นว่าเป็นสถาบันที่เปรียบเสมือนเด็กกำลังโต หากได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างถูกต้อง ก็สามารถเติบใหญ่ได้อย่างมั่นคงแข็งแรงในอนาคต" วิสิษฐ์ ตันสัจจา เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ก็พอจะกล่าวได้ว่า สาเหตุประการที่ 2 ที่ วิสิษฐ์ ตันสัจจา โบกมืออำลาเอสโซ่มาอยู่ที่ธนาคารทหารไทย ก็ด้วยมองอย่างถี่ถ้วนแล้วว่า อนาคตของหน่วยงานใหม่ รวมทั้งอนาคตของตนน่าที่จะรุ่งโรจน์มากกว่าอยู่ในหน่วยงานเดิม และจะเป็นเช่นนั้นได้ ก็เพราะฝีมือของการบริหารของนักบริหารหน้าใหม่ ในวงการธนาคารพาณิชย์ที่ชื่อว่า วิสิษฐ์ ตันสัจจา

เหตุผลประการสุดท้าย ที่อาจจะเป็นเหตุผลที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจของวิสิษฐ์ ตันสัจจา ในครั้งกระนั้นก็คือ คำพูดของสุขุม นวพันธ์ โดยเขาเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า

"คุณสุขุมชวนผมเข้ามาทำงานที่ธนาคารทหารไทย ก็โดยมีจุดประสงค์ที่จะให้ผมมาช่วยบริหาร และปรับปรุงขยายกิจการของธนาคาร ความมุ่งหวังอีกอย่างของแกที่พูดไว้ก็คือ… เขาจะให้ผมทำแทน ตอนนั้นแกบอกผมว่าอยากจะรามือจากวงการแบงก์จึงได้เอาผมเข้าไป"

ก็น่าเห็นใจ วิสิษฐ์ ตันสัจจา ในขณะนั้น เพราะข้อเสนอที่ได้รับนั้นมันเย้ายวนใจเกินกว่าที่นักบริหารคนไหนๆ จะอยากปฏิเสธ โอกาสที่จะได้แสดงฝีมือในสนามใหม่ก็มีเต็มที่ อนาคตของหน่วยงานก็พอเห็นได้ว่ายังไปได้อีกไกล

มิหนำซ้ำในคำชักชวนนั้นยังเสนอเงื่อนไข โอกาสที่เขาสามารถก้าวขึ้นไปเป็นผู้บริหารสูงสุด ในธนาคารทหารไทย ซึ่งไม่เหมือนกับงานที่เอสโซ่ ที่อย่างไรเสียก็ไม่มีโอกาสก้าวขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง เพราะมันเป็นตำแหน่งของฝรั่ง

อย่างแรกที่สุดวิสิษฐ์ ตันสัจจา เริ่มปฏิบัติงานในฐานะรองผู้จัดการใหญ่ ก็คือจ้างให้ฝรั่งนักทำวิจัยมืออาชีพ ที่ชื่อ ดร.เฟรดแอร์ ทำวิจัยว่าลูกค้า หรือบุคคลภายนอกมองภาพลักษณ์ของธนาคารทหารไทยอย่างไร

ผลออกมาก็คือ คนส่วนมากเข้าใจว่าธนาคารทหารไทยเป็นธนาคารที่ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ให้บริการกับหน่วยงานของทหารหรือหน่วยงานราชการเท่านั้น

และนี่ก็เป็นสาเหตุ ที่มาของการปรับเปลี่ยนนโยบายของธนาคารทหารไทยครั้งสำคัญ ในการหันมาประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์อย่างเต็มตัว และขยายฐานธุรกิจออกไปนอกแวดวงของทหารอย่างเอาจริงเอาจัง

ในครั้งนี้อีกเช่นกัน ที่ธนาคารแห่งนี้ ได้มีสโลแกนชิ้นแรกเกิดขึ้น สโลแกนนั้นก็คือ "ธนาคารทหารไทย รับใช้ประชาชน"

เหตุการณ์ในช่วงหลังเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516 นั้น สำหรับธนาคารทหารไทยได้รับผลกระทบกระเทือนมากกว่าธนาคารพาณิชย์อื่นมากนัก เพราะตัวประธานกรรมการในยุคก่อนหน้าโดนเรียกว่าทรราชย์ แบงก์ทหารไทยก็เลยได้ชื่อว่าเป็นแบงก์ของทรราชย์ จนที่ทำการสำนักงานใหญ่ที่ถนนราชดำเนิน ในขณะนั้นเกือบจะถูกเผา

แต่เรื่องที่ใหญ่กว่าสำนักงานใหญ่จะถูกเผา ก็คือการก้าวขึ้นมามีอำนาจของรัฐบาลพลเรือน ที่มาจากการแต่งตั้ง ในชุดที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ สัญญา ธรรมศักดิ์ และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังชื่อ บุญมา วงศ์สวรรค์

จะเป็นความคิดริเริ่มของใครก็ตาม นโยบายของรัฐบาลในช่วงนั้น ต้องการให้โอนเงินที่เกี่ยวข้องกับหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจทั้งหมด ให้ไปรวมอยู่ที่ธนาคารกรุงไทยอันเป็นธนาคารของรัฐ

ธนาคารทหารไทยจะได้รับผลกระทบนี้อย่างรุนแรงมาก เพราะธุรกิจเกือบทั้งหมดวางอยู่บนรากฐานของเงินประเภทต่างๆ ของทหารทั้ง 3 เหล่าทัพ รวมทั้งกองบัญชาการทหารสูงสุด และกระทรวงกลาโหม

และแม้ผู้ถือหุ้นของธนาคารทหารไทยทั้งหมดจะเป็นข้าราชการทหาร แต่ก็ได้จดทะเบียนเป็นธนาคารพาณิชย์ธรรมดา หาได้เป็นธนาคารของรัฐ ซึ่งมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างเช่นธนาคารกรุงไทยไม่

บรรดาผู้บริหารของธนาคารทหารไทย จึงต้องพยายามต่อสู้เพื่อรักษาธุรกิจของตนอย่างเหนียวแน่น บุคคลที่ออกหน้าออกตาเต็มที่ในการต่อสู้ครั้งนั้นก็คือ อนุตร์ อัศวานนท์ กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ในปัจจุบัน และผู้ที่อยู่เบื้องหลังของเขาก็คือพลเอกกฤษณ์ สีวะรา ประธานกรรมการธนาคารทหารไทย ในช่วงเวลาดังกล่าว

ผลของการพยายามรักษาธุรกิจของธนาคารที่เกี่ยวข้องกับเงินราชการได้รับความสำเร็จอย่างน้อยก็คือ การรักษาเงินฝากในส่วนที่เป็นของ 3 เหล่าทัพ กองบัญชาการทหารสูงสุด และกระทรวงกลาโหมเอาไว้ได้ แต่เงินที่เป็นของรัฐวิสาหกิจ เช่น ร.ส.พ. ต้องถูกโอนเข้าแบงก์กรุงไทยไป

ดังนั้น ตอนสิ้นปี 2517 ผลการประกอบการของธนาคารปรากฏว่า เงินฝากลดลงจากเมื่อสิ้นปี 2516 จาก 2,117.6 ล้านบาท เหลือ 2,050.7 ล้านบาท กำไรสุทธิลดลงจาก 22.9 ล้านบาท เหลือ 21.4 ล้านบาท ถือว่ามีผลการดำเนินงานติดลบเป็นครั้งแรก และครั้งเดียวของธนาคารทหารไทย

จากจุดนี้เอง ยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้ฝ่ายบริหารของธนาคารมีความตื่นตัวที่จะหันไปประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์อย่างเต็มตัว หันไปทำมาค้าขายกับธุรกิจของเอกชนให้กว้างขวางอย่างเอาจริงเอาจัง เพราะไม่แน่ใจว่าต่อไปในอนาคต จะมีรัฐบาลพลเรือนพยายามที่จะโอนเงินของหน่วยราชการกลับไปอีกหรือเปล่า?

"ผู้จัดการ" ก็ไม่กล้าคิดเหมือนกันว่า เมื่อตอนปี 2516-2517 หากมีการโอนเงินของหน่วยราชการ ในธนาคารทหารไทยทั้งหมดไปอยู่ที่ธนาคารกรุงไทยจริงๆ สภาพของธนาคารทหารไทยในปัจจุบันจะเป็นอย่างไร?

ความประจวบเหมาะของเหตุการณ์ทั้งหลายทั้งปวงในช่วงนั้น เปิดโอกาสให้ วิสิษฐ์ ตันสัจจา ได้ใช้ความสามารถในฐานะนักบริหารมืออาชีพ แสดงฝีมือปรับปรุงธนาคารทหารไทยได้อย่างเต็มไม้เต็มมือ

ฝ่ายงานใหม่ๆ หลายฝ่ายถูกตั้งขึ้นในยุคนี้ เช่น ฝ่ายการต่างประเทศ อันเป็นฝ่ายที่ทำรายได้ให้แบงก์ และจำเป็นในการให้บริการแก่ลูกค้าที่มีธุรกิจติดต่อกับต่างประเทศ

"สิ่งที่ผมแปลกใจ เมื่อเข้าไปธนาคารทหารไทยใหม่ๆ ก็คือธนาคารนี้ไม่มีเครื่องเทเล็กซ์แม้แต่ตัวเดียว และดูเหมือนสิ่งแรกที่ผมสั่งการ ก็คือให้ติดตั้งเครื่องเทเล็กซ์ เพราะจะค้าขายกับต่างประเทศโดยไม่มีเครื่องโทรพิมพ์มันไม่ได้การ นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า มีสิ่งที่จะต้องปรับปรุงอีกแยะ" วิสิษฐ์ ตันสัจจา เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

ฝ่ายงานอื่นๆ ก็ได้แก่กองพัฒนาธุรกิจ ซึ่งกลายมาเป็นฝ่ายการตลาดที่น่าเกรงขามของทุกแบงก์ ส่วนวิจัยและวางแผนที่กลายมาเป็นฝ่ายสำคัญในปัจจุบัน ส่วนการพนักงานที่คอยดูแลในเรื่องสวัสดิการของพนักงาน ศูนย์ฝึกอบรมพนักงานที่มีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาบุคลากรของ

ธนาคาร

เมื่อปรับปรุงกำลังรบของตนพร้อมแล้ว วิสิษฐ์ ตันสัจจา ก็เดินเครื่องทำการประชาสัมพันธ์ และบุกตลาดภาคเอกชน เพื่อขยายฐานธุรกิจของธนาคารตามเป้าหมายที่วางไว้ ที่เห็นเป็นรูปธรรมที่สุด ก็คือ การผลักดันให้มีการเปิดสาขาให้มากที่สุดเท่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะอนุมัติ

จากปี 2516-2517 อันเป็นช่วงที่วิสิษฐ์ ตันสัจจา นั่งบริหารในธนาคารทหารไทย จำนวนสาขาเพิ่มจาก 20 สาขาเป็น 54 สาขา

"ในช่วง 2-3 ปีแรกที่ผมทำงาน คุณสุขุมปล่อยให้ผมทำงานอย่างเต็มที่ เพราะก่อนที่จะเข้ามาได้ตกลงกันแล้วว่าถ้าจะให้ผมเข้ามาก็ต้องให้ FREE HAND ผม ผมก็ทำงานเต็มที่ สามารถวางงานและดำเนินไปค่อนข้างสะดวก" อีกประโยคหนึ่งที่ วิสิษฐ์ ตันสัจจา ทวนความหลังให้ฟัง

แต่ช่วงกลางปี 2520 เป็นต้นมา ความอึดอัดก็เริ่มครอบงำ วิสิษฐ์ ตันสัจจา เมื่อเพื่อนรักที่ชักชวนเขาเข้ามาทำงานในธนาคารทหารไทยได้ย้อนกลับเข้ามาควบคุมการบริหารงานทั้งหมดอีก

คำสั่งหลายรายการถูกผู้จัดการใหญ่ สุขุม นวพันธ์ ยกเลิก ไม่ต้องพูดถึงคำสั่งใหม่ กิจการของธนาคารที่กำลังขยายตัวไปได้อย่างดี ถูกติดเบรกกึกโดยผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า

วิสิษฐ์ ตันสัจจา เล่าให้ "ผู้จัดการ" เป็นประโยคสุดท้ายในการพูดคุยกันเมื่อไม่นานมานี้ว่า ตัวเขาเองก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไม สุขุม นวพันธ์ ทำอย่างนั้น ทำเหมือนไม่ต้องการให้แบงก์โต?

เขานั่งไม่เข้าใจอยู่ที่ธนาคารทหารไทยได้ประมาณปีเศษ ก็เปิดหมวกอำลาไปในวันที่ 1 มกราคม 2521 และเป็นการเริ่มต้นชีวิตยุค "จอมยุทธพเนจร" นับตั้งแต่นั้นมา

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us