|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
หลายปีก่อน วงการอสังหาริมทรัพย์ที่สหราชอาณาจักร สั่นสะเทือนครั้งใหญ่ เมื่อ “ดัมฟรีส์ เฮาส์” (Dumfries House) อสังหาริมทรัพย์แห่งสำคัญและมีความสวยงามเชิงประวัติศาสตร์มากที่สุดแห่งหนึ่งในเครือจักรภพ อยู่ในภาวะล่อแหลมว่าจะถูกขายทิ้งหรือจะมีผู้เห็นความสำคัญซื้อไว้แล้วบูรณะให้มีชีวิตยืนยาวต่อไป
ดัมฟรีส์ เฮาส์เป็นคฤหาสน์ที่มีสถาปัตยกรรมสไตล์พาลเลเดียนยุคศตวรรษที่ 18 (สถาปัตยกรรมสไตล์พาลเลเดียนได้รับอิทธิพลจากงานออกแบบของสถาปนิกอิตาลี อันเดรีย พาลเลดิโอ จุดเด่นอยู่ที่ความสมมาตร ความมีทัศนมิติ และคุณค่าของ สถาปัตยกรรมการก่อสร้างวัดของกรีกและโรมันโบราณ) ตั้งอยู่ที่ Ayrshire ประเทศสกอตแลนด์
คฤหาสน์บนเนื้อที่ 2,000 เอเคอร์นี้ นอกจากเป็นผลงานต้นแบบของ Robert Adam สถาปนิกชื่อดังที่ทำงานร่วมกับพี่น้องอีกสองคนคือ John กับ James แล้ว ยังเป็นศูนย์รวมของเฟอร์นิเจอร์ระดับโลกสไตล์ British Rococo โดยเฉพาะผลงานของช่างไม้นักออกแบบชื่อก้องโลกชาวอังกฤษอย่าง Thomas Chippendale ที่มีอยู่ถึง 50 ชิ้น เพราะเอิร์ลที่ห้าแห่งดัมฟรีส์ ผู้สร้างคฤหาสน์นี้เมื่อปี 1759 เป็นผู้สั่งทำโดยตรง ในปัจจุบันเฟอร์นิเจอร์เหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของคฤหาสน์ดังพระราช ดำรัสของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์แห่งสหราชอาณาจักรที่ว่า “เป็นงานฝีมือดีเยี่ยมที่สุดของอังกฤษ”
ดัมฟรีส์ เฮาส์ประสบชะตากรรมความไม่แน่นอนปี 2005 เมื่อเจ้าของคือ John Crichton-Stuart หรือลอร์ดบิวท์ (มาร์เกสที่ห้าแห่งบิวท์) ได้คฤหาสน์หลังนี้เป็นมรดกตกทอด รู้สึกว่าการครอบครองทั้งดัมฟรีส์ เฮาส์กับตำหนักเมาท์ สจ็วต (Mount Stuart) ที่ตนพำนักเป็นทุนเดิมอยู่แล้วนั้นเป็นภาระหนักเกินกว่าจะรับไหว แม้พยายามดูแลดัมฟรีส์ เฮาส์อย่างเต็มที่แล้ว ก็ไม่สามารถทำนุบำรุง ให้อยู่ในสภาพสวยงามมีชีวิตชีวาอย่างที่ควรเป็น เนื่องจากเป็นคฤหาสน์ร้างคนอยู่อาศัยมานานถึง 150 ปี ยกเว้นระหว่างปี 1956-1993 ที่ภริยาม่ายของมาร์เกสที่ห้าใช้เป็นที่พำนักร่วม 40 ปี
ลอร์ดบิวท์ตกลงใจขายดัมฟรีส์ เฮาส์ผ่านบริษัทอสังหาริมทรัพย์ และว่าจ้างคริสตี้ส์ บริษัทประมูลเป็นผู้ขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งกำหนดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 กรกฎาคม 2007
อย่างไรก็ตาม เพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนวันประมูล ความทราบ ถึงพระกรรณเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ผู้ทรงได้รับยกย่องว่า ทรงอุทิศพระองค์ให้กับงานอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของอังกฤษอย่างต่อเนื่องไม่ทรงเหน็ดเหนื่อยมาโดยตลอด
มกุฎราชกุมารแห่งสหราชอาณาจักรทรงส่งผู้แทนพระองค์ไปยังสกอตแลนด์เพื่อเจรจาซื้อดัมฟรีส์ เฮาส์ได้ทันเวลา ทำให้ต้อง ยกเลิกงานประมูลขายทอดตลาด และรถบรรทุกหลายคันที่ขนทรัพย์สินมุ่งหน้าไปยังกรุงลอนดอนก็ต้องเลี้ยวกลับไปสกอตแลนด์ กะทันหัน
ภายใต้การนำของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มีการตั้งบริษัททรัสต์ขึ้นเพื่อซื้อดัมฟรีส์ เฮาส์ด้วยมูลค่า 90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่ออนุรักษ์อสังหาริมทรัพย์ที่ทรงคุณค่าเชิงประวัติ ศาสตร์ไว้ให้ชาวอังกฤษและทุกคนที่ชื่นชมงานสถาปัตยกรรมรวมทั้งงานตกแต่งชั้นเยี่ยมระดับโลก
นอกจากทรงซื้อดัมฟรีส์ เฮาส์สำเร็จแล้ว เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ยังทรงรับเป็นภาระในงานบูรณะอย่างครบวงจรด้วย พระองค์ทรงแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาผู้มีความเชี่ยวชาญเป็นเลิศ เพื่อรับผิดชอบศึกษาและวางแผนงานซึ่งตามปกติต้องใช้เวลาถึง 3 ปี แต่พวกเขาใช้เวลาเพียง 5 เดือนคือฤดูใบไม้ร่วงกับฤดูหนาวของปี 2010 Baron Piers von Westenholz หนึ่งในคณะกรรมการวางแผนงาน ยอมรับว่า
“เมื่อได้เห็นคฤหาสน์ครั้งแรก มันรกร้างไม่มีชีวิตชีวาเลย ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ เพราะไม่มีใครอยู่มานานมาก หน้าที่ของผมคือ พยายามคืนชีวิตและความสง่างามให้กับบ้านคันทรีของอังกฤษหลังนี้ให้ได้”
Charlotte Rostek ภัณฑารักษ์ของคฤหาสน์เพิ่มเติมว่า
“เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ทรงมีพระราชดำริตั้งแต่แรกแล้วว่า พระองค์ไม่ทรงต้องการให้ดัมฟรีส์ เฮาส์มีสภาพเป็นพิพิธภัณฑ์ ไม่ ทรงต้องการให้ขึงเชือกหรือกั้นคอกเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องตกแต่งใดๆ ทั้งสิ้น ทรงวางแนวทางให้มัคคุเทศก์ปฏิบัติตนเหมือนเป็นเจ้าของบ้านผู้มีหน้าที่พาแขก (นักท่องเที่ยว) เดินชมรอบๆ บ้าน ซึ่งจะให้ประสบการณ์น่าประทับใจยิ่งทีเดียว”
ก่อนกำหนดแนวทางงานตกแต่ง Westenholz จัดทำแผนงานเกี่ยวกับการแต่งห้องแต่ละห้อง แล้วเสนอต่อคณะกรรมการ ซึ่งมักก่อให้เกิดข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง แต่เขาให้ความกระจ่างว่า ท้ายที่สุดแล้ว “เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ผู้ทรงกระตือรือร้นและทรงมีส่วนในโครงการนี้เป็นอย่างมาก ทรงเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด ซึ่งโชคดีมากที่พระองค์ทรงโปรดในเกือบทุกข้อเสนอที่ผมนำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้ทอดพระเนตร”
เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์กับคณะที่ปรึกษาของพระองค์ เห็นชอบกับวิธีว่าจ้างแรงงานจำนวนมากจากสหราชอาณาจักร แล้วข้ามฟาก มายังสกอตแลนด์เพื่องานบูรณะดัมฟรีส์ เฮาส์อย่างเร่งด่วน มีการ ติดตั้งระบบทำความร้อน การเดินสายไฟ และติดตั้งระบบท่อประปา และแก๊สใหม่หมด รวมทั้งการให้คณะผู้เชี่ยวชาญเข้ากอบกู้ผลงาน ภาพเขียนดั้งเดิมที่ประดับฝาผนังและเพดาน ส่วนบริษัท Humphries Weaving สัญชาติอังกฤษได้รับเกียรติให้ทอผ้าไหมยกดอกสีสดใส เช่น สีน้ำเงินพลอยไพลินสำหรับห้องรับแขก สีเหลืองเลมอนสำหรับ ห้องนั่งเล่น รวมทั้งผ้าชนิดอื่นๆ ที่ลอกแบบจากเอกสารเกี่ยวกับคฤหาสน์ยุคแรกที่ยังเหลืออยู่
Westenholz ขยายความว่า งานบูรณะคืบหน้าตลอดเวลา จนทุกวันนี้ “บ้านกลับมามีชีวิตมีบรรยากาศของบ้านอย่างแท้จริง” ส่วนเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์นั้น ทรงให้ความสำคัญและทรงสนพระทัยในความเป็นไปของดัมฟรีส์ เฮาส์อย่างต่อเนื่อง พระองค์เสด็จไปประทับปีละ 5-6 ครั้ง จึงมีการตกแต่งห้องประทับตามรสนิยมของ พระองค์และสงวนไว้เป็นห้องประทับของพระองค์เท่านั้น ระหว่างเดือนมีนาคม-ตุลาคมซึ่งเป็นช่วงเวลาเสด็จ จึงมีบางห้องไม่เปิดให้ สาธารณชนเข้าชม บางครั้งเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เสด็จถึงคฤหาสน์ตรงกับช่วงเวลาที่กลุ่มนักท่องเที่ยวเสร็จสิ้นการเข้าชมและกำลังเดินทางกลับพอดี Rostek เล่าว่า
“พระองค์ทรงพระเกษมสำราญยิ่งกับการทรงมีพระปฏิสันถารกับกลุ่มนักท่องเที่ยว เมื่อเร็วๆ นี้ยังทรงให้คำแนะนำกับคู่บ่าวสาวคู่แรกที่วางแผนจัดพิธีสมรสที่คฤหาสน์แห่งนี้ด้วย”
“ที่นี่จึงเป็นที่ประทับของพระองค์ด้วย จึงทำให้บ้านเกิดความมีชีวิตชีวา ฉันคิดว่าพวกเราทุกคนซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงทำให้ดัมฟรีส์ เฮาส์มีลมหายใจขึ้นมาอีกครั้ง”
|
|
|
|
|