Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา มีนาคม 2555
พิพิธภัณฑ์ไมยอล             
โดย สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์
 


   
search resources

Museum




เมื่อครั้งไปเที่ยวชายทะเลเมดิเตอร์เรเนียนติดชายแดนสเปน ที่มีเทือกเขาปิเรเนส์ (Pyrenees) กั้นพรมแดน เมืองแถบนั้นน่ารัก ปักหลักที่เมืองกอลลี อูร์ (Collioure) แดดเจิดจ้า ทะเลสีสวย จนจิตรกรอย่างอองรี มาติส (Henri Matisse) หลงใหล จึงมาเขียนรูป พร้อมชักชวนเพื่อนอาร์ติสต์ให้มาที่นี่

จากกอลลีอูร์ไปเที่ยวเมืองใกล้เคียง เมืองบานยูลส์-ซูร์-แมร์ (Banyuls-sur-Mer) เรียกสั้นๆ ว่า บานยูลส์ (Banyuls) เป็นเมือง ที่มีไวน์รสดี โดยเฉพาะของ Cellier des Templiers ซึ่งผลิตไวน์ Banyuls รสละม้าย Porto ไวน์แดงรสหวานของโปรตุเกสแต่อร่อย กว่า ใช้เสิร์ฟเป็นเหล้าก่อนอาหารที่เรียกว่า aperitif ส่วน Collioure เป็นไวน์สีแดงสวย ต้องแช่เย็นประดุจไวน์ชมพู (vin rose) จึงซื้อ สำหรับฤดูร้อนที่ไวน์แดงเข้มเกินไป ทั้ง Banyuls และ Collioure มีติดบ้านไม่เคยขาด

เห็นป้ายบ่งทางไปพิพิธภัณฑ์ไมยอล (Musee Maillol) ความไม่สะดวกของการไม่ขับรถในฝรั่งเศสอยู่ตรงนี้ ของดีๆ มักซุกซ่อน ไกลเกินกว่าขนส่งมวลชนจะไปถึง หากสามารถ เรียกรถแท็กซี่ไป ไม่แน่ว่าขากลับจะมีรถ

ที่บานยูลส์มีพิพิธภัณฑ์ไมยอล เพราะ อริสตีด ไมยอล (Aristide Maillol) เกิดที่เมืองนี้ เมื่อเขาถึงแก่กรรม บ้านของเขาจึงกลายเป็นพิพิธภัณฑ์

อริสตีด ไมยอล เกิดเมื่อปี 1861 เริ่มเรียนหนังสือที่เมืองแปร์ปิญอง (Perpignan) แล้วจึงไปปารีสเพื่อเรียนศิลปะที่วิทยาลัยวิจิตรศิลป์ (Ecole des beaux-arts) เป็นลูกศิษย์ของประติมากร อองต็วน บูร์แดล (Antoine Bourdelle) และจิตรกรอเล็กซองดร์ กาบาเนล (Alexandre Cabanel) เขาพบกับ ปอล โกแกง (Paul Gauguin) ซึ่งคอยให้กำลังใจเขาเรื่องการเรียน

พิพิธภัณฑ์คลูนี (Musee de Cluny) เป็นพิพิธภัณฑ์ยุคกลางที่มีเทเปสตรีสวยมากชุดหนึ่งชื่อ La dame a la licorne สีปะการัง โดดเด่น เมื่ออริสตีด ไมยอลได้ไปชม เขาจึงสนใจศิลปะการตกแต่ง เขาเดินทางกลับบ้าน ออกแบบลายเทเปสตรี้ ตั้งโรงงานทอเทเปสตรี้ที่บานยูลส์ ผลงานของเขาสะท้อนอิทธิพลของปอล โกแกง (Paul Gauguin) และปิแอร์ ปูวิส เดอ ชาวานส์ (Pierre Puvis de Chavannes) ในปี 1894 เขาไปเที่ยวอิตาลีและประทับใจศิลปะกรีก จึงเริ่มปั้นรูปในปี 1895 และชอบงานประติมากรรมจนเลิกทำเทเปสตรี้ หันมาปั้นรูปอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เริ่มจากรูปปั้นดินเผาและบรอนซ์ในที่สุด อริสตีด ไมยอลส่งผลงานแรกไปแสดงที่ Societe nationale des beaux-arts ในปี 1897 และปี 1902 ผลงานของเขาแสดงที่แกลเลอรีของอองบร็วส โวลลารด์ (Ambroise Vollard) พ่อค้างานศิลป์

La Mediterranee เป็นรูปปั้นบรอนซ์ ที่ได้รับคำชมมากเมื่อนำออกแสดงที่ Salon d’automne ทำให้ชื่ออริสตีด ไมยอลโดดเด่น หลังจากนั้นเขามอบ La Mediterranee แก่เมืองแปร์ปิญอง ต่อมาในปี 1905 รัฐจึงสั่ง La Mediterranee เป็นหินอ่อน ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งออร์เซย์ (Musee d’Orsay)

อริสตีด ไมยอลและเพื่อนอีกคนหนึ่งช่วยดีนา วิแอร์นี (Dina Vierny) รอดพ้นจาก การถูกส่งไปค่ายกักกันของเยอรมนี สาวผู้นี้เป็นแบบให้อริสตีด ไมยอลเขียนรูปและปั้นรูป อยู่ถึง 10 ปี นอกจากนั้นเธอยังเป็นแบบให้อาร์ติสต์อื่นๆ เช่น อองรี มาติส (Henri Matisse) ปิแอร์ บอนนารด์ (Pierre Bonnard) และราอูล ดูฟี (Raoul Dufy)

อริสตีด ไมยอลเดินทางกลับไปพำนัก ที่บานยูลส์เป็นการถาวรในปี 1939 เขาเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ในปี 1944 ระหว่างเดินทางกลับจากการเยี่ยมเยียนราอูล ดูฟี

เพื่อเป็นการรำลึกถึงประติมากรผู้นี้ ดีนา วิแอร์นีได้ก่อตั้งมูลนิธิ Fondation Dina Vierny มีจุดประสงค์เผยแพร่ผลงานของอริสตีด ไมยอล เธอยกผลงานของอริสตีด ไมยอลที่มีอยู่ รวมทั้งงานศิลป์อื่นๆ ที่เธอสะสมไว้ให้แก่รัฐ อันมีผลงานของปิแอร์ บอนนารด์ (Pierre Bonnard) อองรี มาติส (Henri Matisse) โอดิลง เรอดง (Odilon Redon) ปอล เซซานน์ (Paul Cezanne) ราอูล ดูฟี (Raoul Dufy) ปอล โกแกง (Paul Gauguin) วาสซิลี คันดินสกี (Vassily Kandinsky) แซร์จ โปเลียคอฟ (Serge Poliakoff) ซูซาน วลาดง (Suzanne Vladon) ฟูจิตะ (Fujia) เป็นต้น ด้วยความสนับสนุนของอองเดร มัลโรซ์ (Andre Malraux) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีวัฒนธรรมในขณะนั้น รูปปั้นบรอนซ์ของอริสตีด ไมยอลตั้งประดับสวนตุยเลอรีส์ (jardin des Tuileries) ต่อมาย้ายไปอยู่สวนการูเซล (jardin du Carrousel) ในบริเวณ ใกล้เคียงกัน เช่น รูปปั้นชื่อ Trois Nymphes, Baigneuse a la draperie, La Mediterranee, Flore, Baigneuse se coiffant, Jeunes fille allongee, L’Air ฯลฯ

ดีนา วีแอร์นีเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ไมยอล เธอควบคุมการซ่อมแซม โอเตล บูชาร์ดง (Hotel Bouchardon) ด้วยตนเอง พิพิธภัณฑ์เปิดในปี 1995

รูปปั้นส่วนใหญ่ของอริสตีด ไมยอลเป็นผู้หญิงอวบที่ดูแข็งแรง ทว่าละมุนละไม เป็นประติ มากรรมที่เรียบๆ ถือเป็นผู้นำร่องประติมากรรมของเฮนรี มัวร์ (Henry Moore) และอัลแบร์โต จาโกเมตตี (Alberto Giacometti)

พิพิธภัณฑ์ไมยอลที่ปารีสแสดงภาพเขียน ของอริสตีด ไมยอล แรกเห็นออกแปลกใจ เพราะ รู้จักเขาในฐานะประติมากรมากกว่า ภาพเขียนส่วนใหญ่เป็นสาวเปลือย มองดูก็รู้ว่าเป็นนางแบบ คนเดียวกันคือ ดีนา วีแอร์นี เป็นภาพเปลือยที่มี ท่วงท่าสวยมาก อยากคิดว่าวาดขึ้นเพื่อรังสรรค์เป็นประติมากรรมต่อไป นอกจากงานศิลป์คอลเลกชั่นถาวรแล้ว พิพิธภัณฑ์ยังจัดนิทรรศการ จรด้วย พิพิธภัณฑ์ไมยอลที่บานยูลส์มีทั้งงานประติมากรรมและภาพเขียน หลุมฝังศพของอริสตีด ไมยอลอยู่ที่นั่นด้วย

พิพิธภัณฑ์ไมยอลที่ปารีสอยู่ถนนเกรอะแนล (rue de Grenelle) ขึ้นจากรถไฟใต้ดินสถานี rue du Bac เห็นป้ายบอกทาง เดินนิดเดียวก็ถึงแล้ว   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us