|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
“ทุกคนเรียกผมว่า 'นักเต้นโขน (Khon Dancer)' ในสายตาคนต่างชาติ ผมเหมือนเป็นนักเต้นที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย และทุกคนมองว่าผมเป็นนักอนุรักษ์ แต่ในสายตาคนไทย ผมเป็นนักทำลาย เป็นผู้ทำร้ายวัฒนธรรม”
หากกรมศิลปากรบัญญัติให้นาฏศิลป์ชั้นสูงอย่าง “โขน” หมายถึงความสุนทรีย์พร้อมทั้งบทประพันธ์ ดนตรี ท่ารำ และความอลังการของเครื่องแต่งกาย โดยมี “หัวโขน” เป็นสัญลักษณ์ แสดงความขลังของมรดกการแสดงชุดนี้ ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ “พิเชษฐ กลั่นชื่น” จะถูกตราหน้า ว่าเป็น “นักเต้นโขนที่กรมศิลปากรไม่นับเป็นพวก” และผู้ทำลายศิลปะโขน
เพราะแทนที่จะเป็นหัวโขนที่เต็มไปด้วยสีสันและเครื่องแต่งกายเต็มยศของตัวละครใน “รามเกียรติ์” หรือ “อุณรุท” ที่กรมศิลปากรนิยมนำมาแสดง พิเชษฐกลับใช้หัวโขนสีเงินสลับดำ พร้อมกับชุดที่มีเพียงกางเกงสีดำ คาดด้วยชายไหว ผ้าปิดก้น และรัดอก ประดับเลื่อมสีเงิน ดูแปลกตามาใช้ในการแสดงโขนที่เขาดัดแปลงขึ้นมา ภายใต้ชื่อ “โขนขาวดำ”
การแสดง “ฉุยฉาย” ที่ดัดแปลงเนื้อหามาจากรามเกียรติ์ตอน “นางลอย” ก็เป็นอีกครั้งที่เขาลดทอนความอลังการของเครื่องแต่งกายแบบโขนประเพณีลงเหลือเพียงชุดแต่งกายร่วมสมัย อย่างเสื้อยืดกางเกงยีนส์ ส่วนการแสดงชุด “I’m a demon” นักเต้นหนุ่มสวมออกมาเพียงหัวโขน และกางเกงใน
หากความหมายของการอนุรักษ์นาฏศิลป์ไทยตามขนบเดิมคือ การอนุรักษ์ พัฒนา หรือสร้างสิ่งใหม่ เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนเสื้อผ้า เครื่องประดับ หรือฉากแสงสีให้ดูยิ่งใหญ่ ความพยายามของพิเชษฐในการถอดความอลังการของเสื้อผ้าหน้าผม และฉากแสงสีที่ยิ่งใหญ่ออก แล้วหันมาเน้นที่ท่ารำ ย่อมถูกมองว่าเป็นการทำลาย
“ผมอยากช่วยให้ผู้ชมเข้าใจศิลปะแห่งโขน และนำโขนกลับสู่สังคมไทยสมัยใหม่ เป็นโขน ที่ให้ความสำคัญกับศิลปะการแสดงมากกว่าความอลังการของสิ่งประกอบอื่นๆ แล้วเน้นที่ร่างกาย และการเคลื่อนไหว การดูงานผมจึงต้องเปิดใจแล้วก็ต้องอยู่กับปัจจุบันในขณะที่ดู อย่าเอาอดีตของนาฏศิลป์ไทยมาเปรียบเทียบ เพราะมันคนละเรื่อง ผมอยากจะบอกว่ามันเป็นงานศิลปะ มันมีเหตุผลที่มีการเคลื่อนตัวพัฒนาได้”
พิเชษฐเปรียบการรำไทยบริสุทธ์ไม่ต่างกับภาษาบาลีสันสกฤตที่มีไว้ใช้เพียงเพื่อเป็นพิธีกรรม แต่ใช้ไม่ได้ในชีวิตประจำวัน ขณะที่โขนดั้งเดิมก็ดูไม่ต่างอะไรกับเก้าอี้เก่าที่ถูกทิ้งไว้ใต้ถุนบ้าน รอหน้าเทศกาลจึงถูกนำมาใช้ เพราะศิลปะทั้งสองดูเหมือนจะถูกตัดขาดจากสังคมไทยวันนี้ จนไม่สามารถสื่อสารหรือเชื่อมโยงกับผู้ชมรุ่นปัจจุบันได้
นักเต้นโขนวัย 40 ปีเชื่อว่า วิธีเดียวที่จะช่วยให้นาฏศิลป์ไทยกลับมาเข้าสู่สังคมไทยได้อีกครั้ง คือการค้นหาองค์ความรู้เก่าแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ พร้อมกับสร้างองค์ความรู้ใหม่จากสิ่งเดิม เพื่อให้รำไทยสามารถเดินทางต่อไป
“อะไรคือนิยามนาฏศิลป์ไทย บางคนบอกว่าเป็นจีบ เป็นวง ไม่ใช่ทั้งหมด มันเป็นแค่เปลือก หัวใจของรำไทยคือ การเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องเป็นระบบ ส่งพลังงานออกไปแล้วดึงกลับเข้ามาสู่จุดศูนย์กลาง ใช้กล้ามเนื้ออย่างเป็นกลางไม่ตึงหรือหย่อน ตามหลักศาสนาซึ่งทำงานคู่กับศิลปะไทย เวลากวาดมือรำเป็นโค้งรูปตัว S เหมือนตัวหางไหลในลายไทย”
จากแก่นของรำไทย พิเชษฐพัฒนาขบวนการของท่ารำออกไป หลายท่าดูแปลกประหลาดต่างจากขนบท่ารำที่ผูกขาดโดยวิทยาลัยนาฏศิลป์และกรมศิลปากรที่ดูเหมือนจะหยุดพัฒนาองค์ความรู้ใหม่มานานกว่า 50 ปีแล้ว
“ฝรั่งทุกประเทศ พอดูการแสดงผมเสร็จ เขาจะบอกว่านี่ไทย เพราะว่าทฤษฎีฝรั่งไม่ได้พูดเรื่องแบบนี้ แต่ปัญหาที่ผมเจอคือ คนไทยไม่มีภูมิรู้ พอเจอปุ๊บก็ไม่ได้เอาองค์ความรู้ตัดสิน แต่เอาความรู้สึกว่าไม่เหมือนที่เคยเห็น ก็บอกว่าผมเอานาฏศิลป์ไทยมาทำมั่ว ไม่ก็เป็นฝรั่งไปแล้ว” อีกเหตุผลที่เขาต้องกลายเป็น “นักทำลาย” ในสายตาคนไทยบางกลุ่ม
แม้จะเป็นนักเต้นโขนที่กรมศิลปากรและคนไทยบางกลุ่มไม่ยอมรับ แต่วันนี้ พิเชษฐถือเป็น นักเต้นโขนคนไทยที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเทศกาลศิลปะการแสดงนานาชาติจากทั่วโลกมากที่สุด
เขายังเป็นเจ้าของรางวัลศิลปาธร ด้านศิลปะการแสดงประจำปี 2549 ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ 26 สุดยอดคนกล้าของ ไทย ในปี 2552 จากสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ และได้รับพระ ราชทานรางวัล Routes ECP Princess Margriet Award for Cultural Diversity ประจำปี 2551 จากเจ้าหญิงแห่งประเทศเนเธอร์แลนด์
ภาพลักษณ์ที่แตกต่างสุดขั้วนี้ พิเชษฐเชื่อว่ามาจากการ นิยามคำว่า “อนุรักษ์” ที่แตกต่างกัน ขณะที่สังคมตะวันตกมอง ว่าการอนุรักษ์ คือการนำสิ่งที่มีอยู่เดิมมาพัฒนา เพื่อให้มีคุณค่า และสามารถเอามาใช้ได้ในวันนี้ ด้วยวิธีนี้สิ่งเก่าจึงจะอยู่คู่สังคม ต่อไปได้
“สำหรับสังคมไทย การอนุรักษ์คือ ต้องไม่แตะต้อง ต้องไม่เปลี่ยนแปลง แต่ถ้าสิ่งนั้นไม่สามารถนำมาใช้ในปัจจุบันได้ เช่นเดียวกับรำไทย หากไม่สามารถเดินทางไปกับปัจจุบันได้สุดท้ายสิ่งนั้นก็จะต้องหายไป”
ในความหมายของพิเชษฐ สิ่งที่จะทำให้นาฏศิลป์ไทยร่วมสมัยอยู่กับสังคมปัจจุบันได้ นั่นคือต้องทำให้คนดูรู้สึกว่ามีส่วนร่วมกับการแสดงชุดนั้นไม่จำเป็นต้องดูรู้เรื่อง เพราะการแสดง หลายเรื่องเขาไม่ได้สร้างมาเป็นเรื่องราว แต่สร้างมาเพื่อให้ผู้ชมรู้สึกและเห็นว่า กำลังเกิดอะไร ขึ้นในสังคม เพื่อก่อให้เกิดการแชร์ประสบการณ์กับผู้แสดง
เส้นทางนักเต้นโขนของพิเชษฐเริ่มต้นบนความผิดหวังจากการสอบเข้าโรงเรียนนายสิบไม่ได้ ลูกชาวประมงจากบางปะกงวัย 16 ปีคนนี้นับว่าโชคดีที่ได้เป็นนักเรียนโขนที่บ้านครูชัยยศ คุ้มมณี สุดยอดครูโขน ซึ่งเป็น 1 ใน 7 ของผู้เคยได้รับพระราชทานครอบและต่อท่ารำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
บนความรู้สึกผิดหวังกับหลักสูตรการสอนในวิทยาลัยนาฏศิลป์ ครูชัยยศจึงทุ่มเท ถ่ายทอดวิชาโขนให้กับพิเชษฐอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเรื่องจิตวิญญาณในการทำความเข้าใจนาฏศิลป์ พิเชษฐเชื่อว่า สิ่งที่เขาได้รับมาคือสิ่งที่ครูชัยยศพยายามผลักดันให้เกิดในระบบการสอนนาฏศิลป์ไทย แต่ไม่สำเร็จ
“ที่สำคัญ ครูพยายามสอนว่า เราจะใช้ศิลปะในการดำเนินชีวิตหรือมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร ในสังคม ผมคิดว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ผมชอบ แล้วผมก็รู้สึกว่าศิลปะไม่ได้ทำหน้าที่ เพียงแค่เป็นความสวยงามเท่านั้น ยังทำให้เราได้เรียนรู้การที่จะมีชีวิตในวันข้างหน้าได้ด้วย”
เพราะไม่ได้ผ่านระบบการเรียนโขนแบบกรมศิลปากร หลังจากสอบติดสาขานาฏศิลป์ไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิเชษฐจึงถูกมองเป็น “ลูกนอกคอก” และดูเหมือนภาพลักษณ์นั้นจะติดตัวเขามาจนถึงวันนี้
หลังเรียนจบ พิเชษฐทำงานกับคณะละครของอาจารย์ชนประคัลภ์อยู่ราว 3 ปี ก่อนจะไปเป็นอาจารย์สอนวิชานาฏศิลป์ไทยในมหาวิทยาลัย เพื่อเดินตามเป้าหมายสูงสุดของตัวเอง คือทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจนาฏศิลป์ไทยอีกครั้ง ผ่านการหาลูกศิษย์มาเป็นแนวร่วมขยายวง
“มันไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เพราะเด็กที่มาเรียน ไม่ได้มีความฝันอย่างเรา เขามาเรียนเพื่อ รับปริญญาแล้วจบ เขาไม่ได้ตัดสินใจจะเป็นศิลปินหรือคนรำไทย ตอนแรกผมโกรธเขา นึกว่าเขาไม่รักไม่ศรัทธา แต่ตอนหลังผมรู้แล้วว่าเข้าใจเขาผิด เพราะไม่มีสถานที่ที่จะให้เขาสมัครงาน”
ช่วงที่เป็นอาจารย์พิเชษฐหมดหวังกับการถูกขีดกรอบในการสอนให้ต้องยึดตามหลักสูตร ของกรมศิลปากร จนไม่สามารถสร้างสรรค์และนำเสนอความคิดหรือองค์ความรู้ใหม่ได้ เพียง 5 ปีในระบบราชการเขาจึงตัดสินใจลาออกเพื่อไปเปิดโลกทัศน์ให้ตัวเองในต่างแดน
การได้รับทุน Asian Cultural Council มาศึกษา และดูงานในประเทศอเมริกา เป็นใบเบิกทางให้พิเชษฐ มีโอกาสนำเสนอผลงานตามเทศกาลศิลปะการแสดงนานา ชาติ จากผู้จัดในประเทศหนึ่งต่อยอดเป็นเครือข่ายไปยังผู้จัดอีกหลายรายในหลายประเทศ จากเป็นลูกจ้างของศิลปินอื่นนาน 6 ปี ในที่สุดเขาก็ได้แสดงเดี่ยว
เป็นเวลาร่วม 12 ปีกับการทำงานในต่างประเทศ แม้จะไม่ได้ตั้งใจ แต่พิเชษฐยอมรับว่า เขาแสดงงานบนเวที เมืองนอกมากกว่าเมืองไทย ทั้งนี้เพราะประเทศไทยไม่มี “พื้นที่” ทั้งทางกายภาพและทางสังคมสำหรับผู้มีอาชีพนาฏศิลปิน เขารู้สึกถึงขนาดที่ว่า สิ่งที่เขาทำทั้งหมดเหมือนไม่มีใครสนใจและไม่มีตัวตนเลยในสังคมไทย
พิเชษฐยกตัวอย่าง “I’m a demon” งานแสดงเดี่ยวชิ้นแรกในชีวิตที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อบูชาครูชัยยศ และใช้การเต้นโขนยักษ์เพื่อเตือนสังคมว่า “หลงได้” แต่อย่าลืมว่า อะไรคือ รำไทยจริงๆ ผ่านตัวละครยักษ์ในโขนที่เขาเรียนมาจากครูโขนคนแรกในชีวิต
งานชุดนี้แสดงครั้งแรกเมื่อ 7-8 ปีก่อน แม้ราคาบัตรจะถูกเพียง 300-500 บาท แต่กลับมีคนดูเพียง 5-10 คนต่อคืน บางคืนไม่มีคนดูจนต้องเกณฑ์ญาติข้างบ้านมาดู ทว่า การแสดงชุดเดียวกันนี้กลับถูกจองเต็มเกือบทุกรอบ ทุกครั้งที่แสดงในต่างประเทศ และนำไปแสดงมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ประเทศ เป็นเวลานานร่วม 5 ปี
ขณะที่ Pichet Klunchun and Myeslf ซึ่งได้ปิดฉากลงแล้วที่เมืองไทยเมื่อเดือนที่ผ่านมา หลังจากตระเวนแสดงรอบโลกมานานถึง 7 ปี รูปแบบเป็นการสนทนาระหว่างพิเชษฐและเฌอโรม เบล นาฏศิลปินชื่อดังของฝรั่งเศส โดยเป็นการสนทนาไขข้อข้องใจ พร้อมคำอธิบาย และการสาธิตเกี่ยวกับโขน ซึ่งผู้ชมรุ่นใหม่หลายคนถึงกับเอ่ยปากว่า เข้าใจโขนขึ้นมากกว่าที่เคยเป็นมา
ส่วน Nijinsky Siam นับเป็นการแสดงที่ไม่ได้มีเพียงความงามจากท่ารำโขน แต่ยังได้ชมการเชิดหนังใหญ่ พร้อมได้รับรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของวงการบัลเลต์โลกไปด้วย โดยพิเชษฐได้ใช้เวลากว่า 3 ปีในการค้นคว้าวิจัยภาพนิ่งและภาพวาดที่บันทึกชุดการแสดง “La Danse Siamoise” ผลงานของ Vaslav Nijinsky นักบัลเลต์ชาวรัสเซีย ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็นนักบัลเลต์ชายที่ดีที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เพื่อเชื่อมโยงและค้นหาความหมายกับท่ารำของไทย ซึ่งถูก Nijinsky นำไปใช้ประกอบการแสดงบัลเลต์ชุดนั้น
การแสดงชุดนี้แสดงมาแล้วกว่า 3 ปี ทว่ายังได้รับความนิยมล้นหลาม โดยในเดือนเมษายนนี้ จะไปแสดงที่โปรตุเกส และเดือนตุลาคมจะไปแสดงที่โอเปร่า เฮาส์ ขนาด 2,000 ที่นั่ง ณ ประเทศ นอร์เวย์
นอกจากนี้ยังมีผลงานอีกหลายชุดที่ทัวร์จัดแสดงรอบโลก โดยการแสดงชุดหลักที่สร้างชื่อเสียงให้กับพิเชษฐ และประเทศไทย อาทิ ฉุยฉาย, โขนขาวดำ และพระคเนศร์เสียงา เป็นต้น อาจ กล่าวได้ว่า เขาได้ผ่านเวทีชั้นนำระดับโลกมาแล้วเกือบทุกแห่ง
พิเชษฐยอมรับว่า ณ วันนี้ มีเพื่อนร่วมงานต่างชาติหลายคนชวนให้เขาไปทำมาหากินในต่าง ประเทศ แต่จนถึงวันนี้เขายังยืนยันที่จะอยู่เมืองไทย เพื่อนำพานาฏศิลป์ไทยให้กลับคืนสู่สังคมไทย รวมถึงทำให้สิ่งที่เขาคิดเป็นบันทึกอีกหน้าของการเรียนการสอนนาฏศิลป์ไทยร่วมสมัย แม้อาจต้องใช้เวลา 30-40 ปี
“ผมรู้สึกว่าผมทำศิลปะอันนี้เพื่อประเทศของผม ผมจะอยู่ที่ประเทศของผม ถ้าผมไปอยู่ที่อื่น นั่นหมายความว่าสิ่งที่ผมพูดทั้งหมด ผมโกหก ผมต้องอยู่ แล้วใครจะไม่ดู ผมไม่สนใจ มันเหมือนเมล็ดพันธุ์ มันจะงอกงามไปเรื่อยๆ ศิลปะก็หยุดไม่ได้เช่นกัน”
อีกสิ่งที่พิเชษฐพยายามทำวันนี้คือ การสร้างสรรค์ศิลปินที่ทำงานด้านนาฏศิลป์ระดับคุณภาพเพื่อเพิ่มเติมเข้ามาในวงการ ผ่านกลไกการทำงานของบริษัท Pichet Klunchun Dance Company ซึ่งปัจจุบันมีพนักงานรับเงินเดือนประจำจากการซ้อมเต้นและออกงานถึง 7 คน
พิเชษฐเชื่อว่า นี่คือบริษัทเอกชนสำหรับรองรับนาฏศิลปินไทยและนักเต้นไทยแห่งแรก หลังจากที่ภาคเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับนาฏศิลป์ไทยได้หมดไปตั้งแต่ 200 ปีที่แล้ว โดยจุดประสงค์ นอกจากเพื่อผลิตนักเต้นคุณภาพ ยังเป็นการสร้างสถานที่ทำงานเพื่อให้นักศึกษาที่จบด้านนี้ได้มีทางเลือกอาชีพอื่น นอกจากเป็นครู และนางรำในร้านอาหาร
“คิดว่าเป็นความเศร้าที่สุดในชีวิตที่ถูกสอนมาตลอดว่าให้อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมเอาไว้ แต่เมื่อไปรำที่ร้านอาหาร ผมอุตส่าห์รำให้ดีที่สุด แต่ไม่มีใครดูสิ่งที่ผมทำ เขาทานอาหารกัน ผมเป็นเพียงแค่ตัวประกอบที่เขาไม่ได้สนใจ วันนั้นเสียใจมากที่สุด เลยสัญญากับตัวเองว่า จะไม่ยอมให้ใครมาเหยียบย่ำนาฏศิลป์ไทยที่ผม ศรัทธาได้อีกในชีวิต”
รายได้ของบริษัทมาจากการขายบัตรชมการแสดงที่บริษัทผลิตขึ้นมาเพื่อป้อนให้โรงละคร “ช้าง” ซึ่งเป็นโรงละครของบริษัทเอง และรายได้จากการทัวร์ต่างประเทศ ตลอดจนรายได้จากการเป็นวิทยากรสอนปรัชญาการเต้นในต่างประเทศของพิเชษฐ
วันที่ 15-18 และ 22-25 มีนาคมนี้ จะมีการแสดงเดี่ยวชุด “Home” ของ “สุนนท์ วชิรวราการ” หนึ่งในพนักงานบริษัทพิเชษฐ ขณะที่ปลายเมษายน บริษัทจะมีการแสดงชุด “ตามไก่” โดยพิเชษฐและพนักงาน เป็นผลงาน ชิ้นใหญ่ประจำปีของบริษัทชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็น การตั้งคำถามถึงวงการนาฏศิลป์ไทยว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ควรจะเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ทันกับพลวัตของสังคม
หลายคนนิยามพิเชษฐว่าเป็นนักบุกเบิกนาฏศิลป์ไทยร่วมสมัย แต่เขามองว่า สิ่งที่เขาทำมากว่า 20 ปีบนเส้นทางนาฏศิลป์ไทย ไม่ต่างจากชาวนา ไม่มีอะไรที่เหนื่อยกว่า มันเป็นอาชีพ เขามีความสุขที่ได้ฉีดยา ให้ปุ๋ย และรอดู “ต้นข้าว” ออกรวง และมีความสุขในความทุกข์ที่เกิดขึ้น เพราะความทุกข์นั้นให้ คุณค่าและการเรียนรู้กับชีวิตเขา
เพียงคำถามสุดท้ายที่พิเชษฐอยากทิ้งไว้ให้คนบางกลุ่มได้ลองพิจารณา
“ทำไมทุกคนมองว่า ผมผิดในสิ่งที่ผม เป็นในวันนี้ ผมจบด้านนาฏศิลป์ไทย ปณิธาน ของคณะวางไว้ว่า ต้องการผลิตบัณฑิตผู้เป็นศิลปิน ศิลปินผู้เป็นนักวิชาการ ผมทำทุกอย่าง ตามปณิธาน ผมเขียนหนังสือ สร้างอะไรก็วิจัยค้นคว้า กับอีกคนจบมาเป็นพนักงานธนาคาร หรือพนักงานขายรถ เขากลับไม่ต้อง ถูกดูถูก แต่ผมต้องการปกป้องศิลปวัฒนธรรม เอาไว้ กลับโดนคนบอกว่าผิด...”
สำหรับพิเชษฐ คำดูถูกและการถูกตั้งข้อสงสัยกับสิ่งที่เขาทำกลายเป็นพลังให้เขายืนหยัดที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่า อะไรคือสิ่งที่ถูก!! เมื่อถึงวันนั้น สังคมไทยคงจะตระหนักได้ว่า เขาคือ “นักอนุรักษ์” หรือ “นักทำลาย” แม้ว่าอาจจะช้ากว่าชาติอื่นๆ
|
|
|
|
|