คอลัมน์ของผมในเดือนนี้จะกล่าวถึง สิ่งที่อาจช่วยลดผลกระทบจากปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และจะชี้ให้เห็นว่าการ กระทำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรงยังสามารถสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ด้วย
การประชุมปัญหาโลกร้อนครั้งที่ 17 ที่ Durban ประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว (2554) มีตัวแทนจาก 193 ประเทศทั่วโลก มาร่วมประชุม Con-ference of the Parties (COP 17) เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน อันเป็นผลจากปัญหาการ เปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ วิธีหนึ่งที่โลกใช้ต่อสู้ กับปัญหาโลกร้อน และผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ คือพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ซึ่งกำหนดเป้าหมายการ ลดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่เข้มงวดใน กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
พิธีสารเกียวโตจะหมดอายุในปีนี้ (2555) การประชุมที่เกิดขึ้นที่ Durban เป็นความพยายามของนานาชาติ ที่จะต่ออายุพิธีสารเกียวโต หลังจากการประชุมที่โคเปน เฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ล้มเหลวเมื่อ 2 ปีก่อน แต่ความพยายามนี้ประสบความสำเร็จ เพียงครึ่งทางเท่านั้น ซึ่งจะกล่าวถึงประเด็น นี้ในท้ายบทความนี้
ประเด็นที่ว่าการปรับตัวเพื่อรับมือปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงสร้างประโยชน์ ได้ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจ ในประเทศพัฒนาแล้ว อย่างเช่นเยอรมนี การใช้มาตรการประหยัดพลังงานช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น CO2 และในขณะเดียวกันก็ช่วยครัวเรือนและบริษัทประหยัดเงินได้มากมาย ตัวอย่างเช่นนี้มีให้ เห็นในไทยแล้ว ตัวอย่างเช่น Schneider Electric บริษัทสัญชาติฝรั่งเศส ตัดสินใจปรับปรุงโรงงานผลิตในไทยที่บางปู เพื่อลด การใช้พลังงานและน้ำ จากการลงมือทำโครงการประหยัดพลังงานหลายอย่าง
หนึ่งในนั้นคือโครงการใช้เครื่องตรวจวัด Electrical power logic tool ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่าย 1.5 ล้านบาท เพื่อตรวจสอบการใช้ไฟฟ้า จนถึงประมาณกลางปี 2554 โครงการนี้ช่วยบริษัทประหยัดค่าไฟไปแล้ว 2 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับบริษัทสามารถ คืนทุนจากเงินลงทุนที่ใช้ไปในเวลาเพียง 9 เดือนเท่านั้น ขณะที่สามารถช่วยลดการใช้ไฟฟ้าและประหยัดค่าไฟของบริษัทต่อไปได้อีกนานหลายปี
อีกส่วนเป็นการนำระบบควบคุมและ ใช้เครื่องปรับอากาศมาติดตั้งในโรงงานด้วยเงินลงทุน 160,000 บาท สามารถช่วยประหยัดไฟลงได้ 122,600 บาท เท่ากับใช้เวลาคืนทุนเพียง 1.6 เดือน ส่วนของการลงทุนติดตั้งระบบควบคุมความเย็นอย่างมี ประสิทธิภาพด้วยงบ 420,000 บาท แต่ช่วย บริษัทประหยัดเงินได้เกือบ 500,000 บาท โดยมีระยะเวลาคืนทุนเพียง 10 เดือน
นี่มิใช่เป็นเพียงตัวอย่างของเอกชนเพียงรายเดียว หากแต่ในระดับสถาบันก็ค้นพบโอกาสทางธุรกิจจากการประหยัดพลังงานเช่นกัน ดังตัวอย่างของ DEGinvest (Investitions-und Entwicklungsgesell-schaft mbH-German Investment and Development Co, limited) หรือธนาคาร เพื่อการพัฒนาของเยอรมนี ซึ่งก่อตั้งโดยรัฐบาลเยอรมนีตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อน ธนาคารแห่งนี้สนับสนุนทางการเงินแก่นักลงทุนและ ธนาคารพาณิชย์ที่ช่วยส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนในประเทศกำลังพัฒนา มีรัฐบาล เยอรมนีเป็นเจ้าของ 100% เพื่อเข้าไปมีบทบาทในโครงการลดความยากจนและส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย
ขณะนี้ DEGinvest กำลังเจรจากับหุ้นส่วนทั้งระดับท้องถิ่นและระหว่างประเทศ เพื่อจัดทำโครงการประหยัดพลังงาน โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณให้แก่โครงการนี้มากถึง 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอาจเพิ่ม การลงทุนให้สูงขึ้นอีกถึงระดับ 50-100 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้ ถ้าหากว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จ
หนึ่งในก้าวแรกๆ ของ DEGinvest คือแผนจะตั้งบริษัทร่วมทุนโดย DEGinvest จะเป็นผู้ลงทุนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อสนับสนุนการประหยัดพลังงาน ด้วยการ เปลี่ยนฉนวนมุงหลังคาที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ โดยจะติดตั้งเทคโนโลยีดังกล่าวให้แก่บริษัท ไทยที่สนใจการประหยัดพลังงาน โดยไม่เสีย ค่าใช้จ่ายใดๆ โครงการใหม่นี้มีชื่อว่า “Built-Operate-Transfer-Model (BOT)” คาดว่าจะเริ่มโครงการได้ภายในปีนี้ ด้วยเงินลงทุน เบื้องต้นประมาณ 20-30 ล้านบาท และจะเพิ่มการลงทุนขึ้นอีก ถ้าหากโครงการประสบความสำเร็จ
รูปแบบของโครงการนี้จะเปิดให้บริษัทไทยที่สนใจเข้าร่วมโครงการรับติดตั้งเทคโนโลยีใหม่เพื่อประหยัดพลังงานและลดค่าไฟจะต้องส่งเงินค่าไฟที่ประหยัดลงได้คืนให้กับบริษัทร่วมทุนที่ก่อตั้งโดย DEGinvest ที่ร่วมหุ้นกับองค์กรท้องถิ่น ภายในระยะเวลา 5-6 ปี โดยคาดว่าระยะเวลาคืนทุนของโครงการจริงน่าจะอยู่ที่ 3-4 ปีเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าบริษัทร่วมทุนของ DEGinvest จะได้รับผลกำไรจากอีก 2 ปีที่เหลือ และหลังจาก 5-6 ปีผ่านไป เทคโนโลยีประหยัดพลังงานดังกล่าวจะถ่าย โอนไปเป็นของบริษัทไทยที่ได้รับการติดตั้งเทคโนโลยีจากโครงการนี้
นั่นหมายความว่า บริษัทไทยที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากจะได้รับการลงทุนใน เทคโนโลยีประหยัดพลังงานแบบฟรีๆ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ แล้ว เมื่อผ่านไป 5-6 ปี บริษัทไทยนั้นๆ ยังจะได้เป็นเจ้าของ การลงทุนในเทคโนโลยีประหยัดพลังงานนั้นอีกด้วย
ดังนั้น เงินค่าไฟที่ประหยัดได้จะเข้า กระเป๋าบริษัทไทยนั้นๆ โดยตรง ซึ่งสามารถ นำเงินจำนวนนี้ไปช่วยสร้างรายได้ในอนาคต ได้ จุดนี้น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากราคา พลังงานจากฟอสซิลคาดว่ามีแต่จะสูงขึ้นทุกปี และรัฐบาลไทยอาจไม่มีงบประมาณเหลือมากพอที่จะช่วยอุดหนุนราคาพลังงาน ได้อีกต่อไป
ประเทศไทยเป็นโครงการนำร่องประเทศแรกในโครงการนี้ ซึ่งหากประสบความสำเร็จ โมเดลธุรกิจนี้จะถูกขยายไปยัง ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ต่อไป ดังนั้น นี่จึงเป็นโอกาสที่จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างแท้จริง ด้วยการลดต้นทุนการผลิตผ่านการลดใช้พลังงาน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีโมเดลธุรกิจอื่นๆ ซึ่งสามารถสร้างรายได้จากการปกป้องสิ่งแวดล้อม นั่นคือระบบที่เรียกว่า กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Devel-opment Mechanism: CDM) และระบบคาร์บอนเครดิตซึ่งริเริ่มโดยพิธีสารเกียวโต ทั้งสองโมเดลนี้ได้รับการกล่าวถึงในสนธิสัญญาแก้ปัญหาโลกร้อนของสหประชาชาติ หลายฉบับ ได้แก่ อนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) พิธีสาร เกียวโต และข้อตกลง Marrakech Accords สนธิสัญญาเหล่านี้ได้จัดตั้งกลไกตลาดคาร์บอนขึ้นมา จุดประสงค์เพื่อลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก โดยสนธิสัญญาเหล่านี้ได้จัดตั้งกรอบกฎเกณฑ์ใหม่ เพื่อควบคุมการลดก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก และจัดสร้างสิทธิ์รวมทั้งค้าสิทธิ์นั้น ซึ่งเกิดขึ้นจากการลด ละ เพลาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ดังนั้น ที่เมืองเกียวโตของญี่ปุ่น พิธีสารเกียวโตจึงได้รับการลงนามในเดือนธันวาคม 1997 ประเทศผู้ลงนามทุกประเทศ ตกลงกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจัดตั้งระบบการค้าคาร์บอน เครดิตประเทศที่ลงนามในอนุสัญญา UNFCCC ตกลงกันว่า ประเทศพัฒนาแล้ว จะลดหรือจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้ต่ำกว่าระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของปี 2533 โดยจะเริ่มลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นไปจนถึงปี 2555 ประเทศพัฒนาแล้วที่ลงนามในสนธิสัญญานี้ ต่างตกลงยอมรับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แน่นอนและมีผลผูกมัดตามระยะเวลาที่กำหนด
ส่วนหนึ่งที่จะทำให้การลดก๊าซเรือน กระจกประสบความสำเร็จ คือการที่ประเทศ พัฒนาแล้วจะไปลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาภายใต้แนวคิดการถ่ายโอนเทคโนโลยี ที่นักลงทุนจากประเทศพัฒนาแล้วจะถ่ายโอนให้กับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อแลกกับ การได้รับคาร์บอนเครดิตจากการดำเนินโครงการนั้นๆ
อย่างไรก็ตาม ระบบคาร์บอนเครดิต กลับประสบผลสำเร็จเพียงบางส่วน เนื่อง จากหลายสาเหตุดังที่ได้กล่าวแล้วว่า แนวคิด หลักของระบบนี้คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำกว่าระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2533 แต่เป้าหมายดังกล่าว สูงและเข้มงวดเกินไป จนทำให้ผู้ที่ปล่อยก๊าซ เรือนกระจกในประเทศพัฒนาแล้วต้องลดการปล่อยก๊าซอย่างรวดเร็วและกว้างขวางมากเกินไป หรือไม่ก็ต้องจ่ายเงินซื้อสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่รัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้วกลับยอมให้สิทธิ์การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงมากแก่ธุรกิจ เพื่อช่วยลดแรงกดดันต่อภาคเอกชนในการที่จะต้องประหยัดพลังงานหรือเสียเงินซื้อคาร์บอนเครดิต
สาเหตุประการที่สอง เพื่อป้องกันการโกงกระบวนการอนุมัติคาร์บอนเครดิต ในประเทศกำลังพัฒนาจึงมีความเข้มงวด ซับซ้อนและใช้เวลาพิจารณานานมาก โดยต้องใช้เวลา 3-5 ปีในการอนุมัติโครงการหนึ่งๆ กว่าจะได้รับอนุมัติคาร์บอนเครดิต จึงจะเข้าสู่กระบวนการที่ให้ประเทศกำลังพัฒนานำไปซื้อขายได้ ยิ่งไปกว่านั้น ระบบนี้ ยังไม่ยืดหยุ่น โดยหากการประเมินปริมาณการลด CO2 เกิดผิดพลาด การแก้ไขในสัญญาแทบจะทำไม่ได้ นักลงทุนถูกผูกมัดกับการลดคาร์บอนไดออกไซด์ตามที่ประเมิน ไว้ แม้สามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าที่คาด ก็จะไม่ได้รับรางวัลเพิ่มขึ้นแต่อย่างใดภายใต้ระบบนี้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่มีจำนวน โครงการที่ได้รับคาร์บอนเครดิตน้อยมาก
ในกรณีของไทย ข้อมูลจากองค์การ บริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) (Thailand Greenhouse Gas Management Organization: TGO) หน่วยงานที่มีอำนาจ อนุมัติคาร์บอนเครดิตในไทย ระบุว่า จนถึง เดือนธันวาคม 2554 ไทยมีโครงการ CDM เพียง 155 โครงการที่ได้รับการอนุมัติ Letter of Approval (LoA) จาก TGO ในจำนวน นี้มีเพียง 63 โครงการที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ UNFCCC แต่การขึ้นทะเบียนก็ไม่ได้หมาย ความว่าโครงการ CDM เหล่านี้จะได้รับคาร์บอนเครดิตแน่นอน ในวันที่ 31 ธันวาคม 2554 โครงการ CDM 2 โครงการของไทย ได้รับใบรับรองการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Certified Carbon Reduction: CER) ทำให้ อบก.และ UNFCCC เพิ่มจำนวนโครงการของไทยที่ได้รับคาร์บอนเครดิตเป็น 9 โครงการ โดยมีจำนวน CER เท่ากับการลด CO2 ลงได้ 1.00 เมกะตัน (1,006,409 t/CO2)
ในประเทศอื่นๆ จำนวนโครงการที่ได้รับคาร์บอนเครดิตยิ่งน้อยกว่าไทย บริษัท ที่ได้รับคาร์บอนเครดิต สามารถนำไปขายในตลาดค้าคาร์บอน 6 แห่งคือ Chicago Climate Exchange, European Climate Exchange, NASDAQ OMX Commodities Europe, PowerNext, Commodity Exchange Bratislava และ European Energy Exchange โดยระบบคาร์บอนเครดิตที่สำคัญที่สุดได้ European Union Allowance (EUA) และ Certified Carbon Reduction (CER)
สำหรับราคาขายคาร์บอนเครดิตในปี 2554 ขึ้นลงอยู่ระหว่าง 12-18 ยูโรต่อตัน ของ CO2 ที่ลดได้ ราคาระดับนี้แสดงว่าโครงการ CDM มีคุณค่าในเชิงเศรษฐกิจ แต่ระบบนี้กลับไม่อาจใช้งานได้เต็มศักยภาพ เนื่องมาจากปัญหาที่กล่าวไปแล้วข้างต้น คือ การให้สิทธิ์การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่สูงมากในประเทศพัฒนาแล้ว
โครงการ CDM 9 โครงการของไทย ที่ได้รับอนุมัติคาร์บอนเครดิตแล้วนั้น ต้องนับว่าเป็นจำนวนเพียงน้อยนิด เมื่อคิดดูว่า ระบบนี้เริ่มใช้มานานกว่า 10 ปีแล้ว ส่วนความสำเร็จของระบบนี้ยิ่งตกอยู่ในอันตราย มากยิ่งกว่า เมื่อดูจากการประนีประนอมที่เกิดขึ้นในการประชุมสุดยอดปัญหาโลกร้อน ที่ Durban การประชุม Durban ยินยอมให้ข้อตกลงที่จะมาแทนพิธีสารเกียวโตซึ่งกำลังจะหมดอายุลงอยู่ในรูปแบบใดก็ได้ จะเป็นพิธีสารฉบับใหม่เหมือนกับพิธีสารเกียวโต หรือจะเป็น “เครื่องมือทางกฎหมาย” (legal instrument) หรือจะเป็น “ผลทางกฎหมาย” (legal outcome) ก็ได้ คำเหล่านี้อาจฟังดูเหมือนไร้ความหมาย แต่ ในความเป็นจริงแล้ว มีผลกระทบมหาศาล 2 ทางเลือกแรกหมายความว่า เป้าหมายการลดคาร์บอนจะมีผลผูกมัดตามกฎหมาย ส่วนทางเลือกที่ 3 “ผลทางกฎหมาย” นั้น จะไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง หากปราศจาก อำนาจทางกฎหมายที่มีพันธะผูกมัด
หลังจากเจรจากันอย่างมาราธอน สุดท้าย ที่ประชุม Durban ก็ตกลงประนี ประนอมกันได้ โดยเปลี่ยนถ้อยคำจาก “legal outcome” ไปเป็น “legal power” ซึ่งจะมีผลผูกมัดทุกประเทศที่ลงนามในข้อตกลงใหม่ คณะกรรมาธิการที่ได้จัดตั้งขึ้นใหม่จะเป็นผู้ร่างรายละเอียดของข้อตกลงใหม่นี้ภายในเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2012 และจะเสร็จสิ้นในปี 2558 อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงปกป้องภูมิอากาศฉบับใหม่นี้ จะยังไม่มีผลบังคับใช้ก่อนจะถึงปี 2563 และในระหว่างนั้น จะยืดอายุพิธีสารเกียวโตออกไปก่อน โดยอาจจะยืดถึงปี 2560 หรือถึงปี 2563 ไปเลยก็ได้ โดยจะตัดสินใจในประเด็นนี้กันอีกที ในการประชุมปัญหาโลกร้อนประจำปีนี้ ซึ่งจะจัดขึ้นปลายปี 2555
อย่างไรก็ตาม หลายประเทศอย่างแคนาดา ญี่ปุ่น รัสเซีย และนิวซีแลนด์ ได้ตัดสินใจไม่เข้าร่วมสังฆกรรมกับพิธีสารเกียวโตที่ยืดอายุออกไปนี้ โดยอ้างว่าประเทศ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่อย่างเช่นจีน รัสเซีย สหรัฐฯ อินเดีย บราซิล และประเทศอื่นๆ ไม่ยอมผูกมัดตัวเองกับเป้าหมายการลด CO2 ที่แน่นอนและมีผลผูกมัด ด้วยเหตุนี้จึงเหลือเพียงสหภาพยุโรปและประเทศพัฒนาแล้วขนาดเล็กอีกไม่กี่ประเทศ อย่างสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และออสเตร เลียเท่านั้นที่ยังคงยึดมั่นในเป้าหมายลด CO2 ที่เข้มงวดต่อไป แต่ประเทศเหล่านี้ปล่อย CO2 รวมกันแล้วเพียง 15% ของปริมาณการปล่อย CO2 ทั่วโลกเท่านั้น
สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อระบบคาร์บอนเครดิตอย่างไร โครงการคาร์บอนเครดิตทั้งหมดในไทย ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อบก.ไปแล้ว คงจะได้รับคาร์บอนเครดิตในปีนี้และในปีต่อๆ ไปอย่าง แน่นอน แต่แรงจูงใจที่จะริเริ่มโครงการ CDM ใหม่ๆ เพื่อให้ได้รับคาร์บอนเครดิตคงจะมีน้อยมาก เนื่องจากระยะเวลาที่ใช้ในการพิจารณาอนุมัตินานเกินไป และอนาคตของโครงการก็ดูไม่แน่นอน เมื่อพิจารณาจากผลการประชุมปัญหาโลกร้อนข้างต้น
อย่างไรก็ตาม ผมยืนยันว่าคาร์บอน เครดิตยังคงเป็นระบบที่มีอนาคต และถือเป็นความคืบหน้าก้าวใหญ่ในการแก้ปัญหาโลกร้อน เนื่องจากระบบนี้เสนอแรงจูงใจทาง การตลาดในการต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน แต่ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของระบบนี้คือ การที่สถานการณ์แวดล้อมได้เปลี่ยนแปลงไป จีนกลายเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลกไปแล้ว และประเทศ กำลังพัฒนาอื่นๆ อย่างเช่น บราซิลและอินเดียก็กำลังตามมาติดๆ
ประเทศเหล่านี้ รวมถึงประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่อื่นๆ อย่างเช่นสหรัฐฯ และรัสเซีย ไม่ต้องการผูกมัดตัวเองกับเป้าหมายการลดคาร์บอนที่เข้มงวด และยังให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจสังคมของประเทศตนเอง เหนือกว่าการป้องกันปัญหาโลกร้อน ความผิดพลาดในอดีตและปัจจุบัน และการไม่ลงมือ ทำอะไรเลย กำลังผลักแนวคิดคาร์บอนเครดิตที่ยิ่งใหญ่ไปใกล้กับปากเหว แต่จากตัวอย่าง 2 ตัวอย่างที่แสดงถึงความสามารถ สร้างรายได้จากการปกป้องสิ่งแวดล้อม ที่ผมได้กล่าวถึงไปในตอนต้นของบทความนี้ ทำให้ผมมีความหวังว่า ถึงแม้หากปราศจากคาร์บอนเครดิต แต่ก็ยังมีแนวคิดและเครื่องมืออื่นๆ ที่ยังสามารถให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่คนที่ลดการใช้พลังงานได้
|