แม้ลาวและเวียดนามมีความสัมพันธ์ฉันประเทศเพื่อนมิตรมาช้านาน แต่เมื่อเศรษฐกิจของลาวทะยานขึ้น ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็ยิ่งถูกเร่งให้มีความเข้มข้นขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2555 เตรือง เติ๊น ซาง ประธานประเทศเวียดนาม พร้อมภริยาและคณะผู้แทนระดับสูงของเวียดนาม ได้กลับถึงนครฮานอย
ก่อนการเดินทางกลับประเทศในวัน เดียวกัน เตรือง เติ๊น ซางได้ไปเยือนแขวงอัตตะปือทางภาคใต้ของลาว อันเป็นบ้านเกิดของ พล.ท.จูมมะลี ไซยะสอน เลขา ธิการใหญ่ และประธานประเทศ สปป.ลาว ซึ่งมีชายแดนติดกับจังหวัดกอนตุมของเวียดนาม
ระหว่างอยู่ที่แขวงอัตตะปือ เตรือง เติ๊น ซางได้ไปเยี่ยมครอบครัวของ พล.ท.จูมมะลี และพบกับคำพัน พมมะทัด เลขาธิการและเจ้าแขวงอัตตะปือ นอกจากนี้ยังได้ไปเยี่ยมสวนยางพาราและโครงการลงทุน ของกลุ่มหว่างอาญยาลาย ตลอดจนโครงการ ที่กลุ่มธุรกิจจากเวียดนามกลุ่มนี้ได้ให้ความ ช่วยเหลือแก่แขวงอัตตะปือ เช่น โรงเรียนและโรงพยาบาลทั่วไปในแขวงอัตตะปือ
ในการพบเลขาธิการและเจ้าแขวงอัตตะปือ เตรือง เติ๊น ซางแสดงความยินดี กับความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของแขวงในเวลาที่ผ่านมา
ประธานประเทศ เตรือง เติ๊น ซาง สรรเสริญความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างแขวงอัตตะปือกับท้องถิ่นต่างๆ ของเวียดนาม โดยเฉพาะรูปแบบการลงทุน และความช่วยเหลือสวัสดิการสังคมของกลุ่มหว่างอาญยาลาย
นอกจากนี้ยังขอให้แขวงอัตตะปือประสานกับหน่วยที่เกี่ยวข้องของลาวและเวียดนาม จัดการสรุปรูปแบบความร่วมมือนี้ เพื่ออาจจะถอดประสบการณ์และขยายไปยังท้องถิ่นอื่นๆ
ในโอกาสไปเยี่ยมโรงพยาบาลและโรงเรียนที่กลุ่มหว่างอาญยาลายช่วยเหลือแขวงอัตตะปือ ประธานประเทศเวียดนามได้แนะนำว่าแขวงอัตตะปือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ ของ 2 ประเทศควรแลกเปลี่ยนและช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางด้านแพทย์ พยาบาล และครูอาจารย์
เขาแสดงความหวังว่าแขวงอัตตะปือ จะช่วยเหลืออนุเคราะห์เพื่อให้บรรดาสถาน ประกอบการเวียดนามมาลงทุนในแขวงอัตตะปือมากขึ้น มีส่วนร่วมในกิจกรรมรำลึกของปีสามัคคีมิตรภาพเวียดนาม-ลาว ในปีนี้ (2555)
วันเดียวกัน ประธานประเทศเวียดนาม เตรือง เติ๊น ซางกับเลขาธิการใหญ่และประธานประเทศลาว พล.ท.จูมมะลี ไซยะสอนได้เป็นสักขีพยานและร่วมพิธีเริ่มการก่อสร้างสนามบินนานาชาติอัตตะปือ ซึ่งดำเนินการโดยกลุ่มหว่างอาญยาลาย ที่เสนอตัวเข้ามาช่วยลงทุนก่อสร้างให้
ในพิธีเริ่มการก่อสร้าง เลขาธิการและเจ้าแขวงอัตตะปือ คำพัน พมมะทัด กล่าวชื่นชมโครงการนี้ และขอให้ความร่วม มือระหว่างเวียดนาม-ลาว รวมทั้งความร่วม มือของเวียดนามกับแขวงอัตตะปือได้รับการเสริมสร้างอย่างไม่หยุดยั้ง
คำพันเชื่อว่าสนามบินอัตตะปือเมื่อแล้วเสร็จจะเป็นสะพานเชื่อมการคมนาคมและเพิ่มการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศและในภูมิภาคในตอนเที่ยงวันเดียวกัน ประธานประเทศ เตรือง เติ๊น ซางได้ร่วมงานเลี้ยงรับรองของ เลขาธิการและเจ้าแขวงอัตตะปือ โดยมีเลขาธิการใหญ่และประธานประเทศลาว พล.ท.จูมมะลี ไซยะสอน ร่วมอยู่ด้วย และ ได้เดินทางไปส่งประธานประเทศ เตรือง เติ๊น ซาง ออกจากแขวงอัตตะปือไปยังแขวงจำปาสัก
บ่ายวันเดียวกันได้มีการจัดพิธีส่งประธานประเทศเวียดนามอย่างเป็นทางการ ที่สนามบินนานาชาติปากเซ แขวงจำปาสัก เป็นอันเสร็จสิ้นการเยือนมิตรภาพ สปป.ลาว อย่างเป็นทางการของประธานประเทศ เตรือง เติ๊น ซางและภริยาพร้อมคณะผู้แทน ระดับสูงแห่งรัฐเวียดนามด้วยดี
สนามบินอัตตะปือจะเริ่มการก่อสร้างตามแผนบนพื้นที่ 200 เฮกตาร์ที่แขวงอัตตะปือ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ลาว ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีหน้า (2556)
ดว่าน เงวียน ดึ๊ก ประธานคณะกรรมการบริหารหว่างอาญยาลาย กล่าวว่า โครงการสนามบินนานาชาติที่แขวงอัตตะปือของกลุ่มเพิ่งเริ่มต้นเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยที่นี่เป็นหนึ่งในสองโครงการก่อสร้างสนามบินซึ่งหว่างอาญยาลายได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างจากรัฐบาลลาว
ดึ๊กบอกว่าได้มีการลงทุนโครงการดังกล่าวด้วยจำนวนเงินทั้งสิ้น 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อสร้างบนเขตที่ดินกว้าง 200 เฮกตาร์และมีการแบ่งเป็น 2 ช่วง ในประมาณปี 2557-2563 ก่อนอื่นสนามบินจะรองรับเครื่องบินขนาดเล็กในเส้นทางบิน ใกล้เช่น ATR 72, Fokker 70 อย่างไรก็ดีหลังจากแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2563 สนามบินจะสามารถตอบสนองความต้องการบินขึ้น-ลงของเครื่องบินขนาดใหญ่เช่น Airbus A320 ได้
โครงการสนามบินที่เหลือตามที่ได้รับอนุญาตคือที่แขวงหัวพัน ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศลาว หว่างอาญยาลายได้เลือกบริษัทจากเยอรมนีให้เริ่มก่อสร้างในต้นปี 2556
เวียดนามเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นประเทศหนึ่งของ สปป.ลาว รองจากจีน และเป็นประเทศที่มี การค้าและการลงทุนในลาวสูงเป็นอันดับต้นๆ รองจากจีนและไทย
เวียดนามและลาวได้วางเป้าหมายมูลค่าการค้าระหว่างกันให้บรรลุ 2,000 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐในปี 2558 ซึ่งนอกจากการส่งเสริมการค้าแล้ว ลาวเองก็กำลังคอยการ เพิ่มโครงการลงทุนอุตสาหกรรมใหญ่ๆจากเวียดนาม
ในปี 2554 การค้าเวียดนาม-ลาวเติบโต 49.8% คิดเป็นมูลค่ารวม 734 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในนั้นการส่งออกของเวียดนามไปยังลาวมูลค่า 274 ล้านดอลลาร์ สหรัฐเพิ่มขึ้น 38.1% และนำเข้าจากลาวมูลค่า 460 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 57.5% จากปี 2553
สินค้าที่เวียดนามส่งออกไปยังลาว ที่สำคัญคือ น้ำมันเบนซินและน้ำมันอื่นๆ, เหล็กและเหล็กกล้า, ยานพาหนะ, สินค้าสิ่งทอ, ถ่านหิน, เครื่องจักรกล, อุปกรณ์-สายไฟฟ้าและเคเบิลไฟฟ้า
ในทางกลับกัน สินค้าที่เวียดนามนำเข้าจากลาว ที่สำคัญคือ ไม้, วัตถุดิบ, โลหะธาตุ เป็นต้น
ปัจจุบันสินค้าเวียดนามหลายอย่าง ได้ “ปักหลัก” อย่างเหนียวแน่นในตลาดลาวแข่งขันกับสินค้าของไทยและจีนที่เริ่ม ใช้ตลาดลาวเป็นฐานเพื่อรุกเข้าตลาดภูมิภาคในเวลาต่อไป ด้วยความพยายามเปิดตลาดของบรรดากระทรวง แขนงงาน และสมาคมของเวียดนาม พร้อมกับการปรับปรุงระบบจัดสรรให้ดีขึ้น สินค้าเวียดนามก็จะมีโอกาสแทรกเข้าตลาดลาวได้มากขึ้น
การมุ่งเสริมสร้างการค้าทวิภาคี ทั้ง 2 ประเทศได้ลงนามความตกลงให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร 0% สงวนให้สินค้าบางอย่างที่มีแหล่งกำเนิดจากลาวได้รับสิทธิพิเศษตามระบบจำกัดภาษีศุลกากรด้วยระดับโควตาให้สิทธิพิเศษสำหรับสินค้าข้าวสารคือ 70,000 ตันต่อปี และสินค้าใบยาสูบคือ 3,000 ตันต่อปี
มองกันว่า ความร่วมมือการค้าชายแดนก็เป็นวิธีการสำคัญอย่างหนึ่งเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมในบรรดาท้องถิ่นชายแดนของสองประเทศ รวมทั้งมีบทบาท สำคัญในการแลกเปลี่ยนการค้าและการผลิตทั่วไป ในนั้นมีการมองกันว่าโครงการพัฒนาเครือข่ายตลาดชายแดนเวียดนาม-ลาวถึงปี 2563 จะสร้างแรงขับเคลื่อนไม่เพียงสำหรับการค้าชายแดนเวียดนาม-ลาว แต่ยังช่วยขับเคลื่อนโครงการลงทุนต่างๆระหว่าง 2 ประเทศ
ระดับการเติบโตที่สูงและยังมีศักยภาพในการพัฒนาหลายอย่าง แต่เพื่อบรรลุเป้าหมาย 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2558 การแลกเปลี่ยนการค้าเวียดนาม-ลาวยิ่งต้องมี “การเพิ่ม” โครงการลงทุนด้าน อุตสาหกรรมของบรรดาสถานประกอบการ เวียดนาม
ปัจจุบันอุตสาหกรรม 3 อย่างที่ดึงดูดการลงทุนของเวียดนามมากคือไฟฟ้าพลังน้ำ, การสำรวจก๊าซ-น้ำมัน และการบุกเบิกสินแร่
โครงการไฟฟ้าพลังน้ำใหญ่ๆ ของเวียดนามที่ลงทุนในลาวประกอบด้วยน้ำโม 1 (72 MW), เซกะมาน 3 (250 MW), เซกะมาน 1 (322 MW) และที่เป็นพิเศษคือหลวงพระบาง เงินลงทุน 2,670 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในจำนวนนี้โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเซกะมาน 1 และเซกะมาน 3 ได้เสร็จสิ้นการเจรจาสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้าไปเรียบร้อย แล้ว
ด้านก๊าซ-น้ำมัน ปัจจุบันเวียดนามกำลังเข้าร่วมโครงการสำรวจในลาวใต้และลาวกลาง ด้วยบทบาทผู้บริหารร่วมกับบริษัทน้ำมันต่างประเทศบางบริษัท นอกจากโครงการสำรวจก๊าซ-น้ำมัน เวียดนามยังลงทุนในระบบแบ่งสรรน้ำมันและก๊าซใน ลาวด้วยการที่ PV Oil ซื้อระบบประกอบ การของ Shell ในลาว
ด้านสินแร่ เวียดนามลงทุนในโครงการใหญ่หลายโครงการ เช่น สำรวจและขุดเจาะแร่เหล็ก, ทองแดง, ถ่านหิน, โปแตช, แร่ Barite เป็นต้น ในนั้นหลายโครงการกำลังขุดเจาะและอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานแปรรูป
โครงการอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ดังกล่าวจะทำให้เพิ่มความต้องการนำเข้าเครื่องจักรกลและอุปกรณ์หลายอย่างจากเวียดนาม มีบทบาทสำคัญต่อการเปิดกว้าง และเพิ่มความสัมพันธ์การค้าเวียดนาม-ลาวในเวลาต่อไป
|