|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
"ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บางครั้งไม่สามารถแสดงออกผ่านท่าทีของภาครัฐส่วนกลางได้ดีและประสบผลสำเร็จเท่ากับสายสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น กรณีโครงการปั่นจักรยานแม่สอด-เมียวดี ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งในเรื่องนี้"
ย่ำค่ำของวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 ณ ลานหน้าเรือนพักวัลลภา ริมถนนสายแม่สอด-ริมเมย อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก 3 สาว 1 หนุ่ม ทีมเซลล์ขายหนังสือเรียนจากปทุมธานีที่ตระเวนนำหนังสือมาแนะนำตามสถานศึกษาต่างๆ ในแม่สอด ง่วนอยู่กับการนำจักรยานที่เพิ่งตัดสินใจซื้อมาจากท่าข้ามริมแม่น้ำเมย ซึ่งสั่งนำเข้าจักรยานมือสองจากญี่ปุ่น เพื่อเตรียมส่งขายในพม่าผ่านด่านชายแดนแม่สอด-เมียวดี
ผึ้ง 1 ใน 3 สาว นำสองล้อคันเล็กน่ารักที่เธอซื้อมาคันละ 800 บาท มาอวดเพื่อนๆ พร้อมกับลงมือล็อกบานพับแต่ละจุดของตัวจักรยาน ตรวจสอบลมยาง ก่อนทดลองปั่นไปรอบๆ บริเวณที่ว่างหน้าห้องพัก
เป็นการตรวจสอบความพร้อมก่อนที่พวกเธอจะขี่สองล้อมือสองคู่ใจเข้าร่วมกับขบวนปั่นจักรยานมิตรภาพไทย-พม่า ครั้งที่ 13 ประจำปี 2555 จากแม่สอดเพื่อข้ามไปฝั่งเมียวดี
เธอบอกว่าไม่รู้มาก่อนเหมือนกันว่าจะมีการปั่นจักรยานเข้าเมียวดี สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ กระทั่งไปแนะนำหนังสือเรียนให้กับสถานศึกษาแห่งหนึ่งในแม่สอด มีอาจารย์คนหนึ่งบอกให้ทราบ พวกเธอจึงตัดสินใจไปสมัครเข้าร่วมโครงการปั่นจักรยานครั้งนี้ที่หอการค้าจังหวัดตาก ก่อนจะพากันไปหาซื้อจักรยานมือสองที่ท่าข้ามริมแม่น้ำเมยมาคนละคัน โดยบางคันซื้อมา 800 บาท บางคันก็ 900 บาท ไปจนถึง 1,200 บาท ขึ้นอยู่กับสภาพ
“เป็นครั้งแรก อยากไปดูบ้านเมืองเขา ได้ข่าวว่าพม่าปิดด่านที่นี่ (เมียวดี) มานานกว่าปีแล้ว เพิ่งจะเปิดใหม่เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้ ถ้าข้ามไปเองก็คงไม่ได้เห็นอะไรมาก” ผึ้งบอก
เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น (11 กุมภาพันธ์) ผึ้งและเพื่อนๆ ปั่นสองล้อมุ่งหน้าไปที่สนามกีฬาสมเด็จพระนเรศวร เทศบาลนครแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อรวมตัวกับนักปั่นน่องเหล็ก ซึ่งมีทั้งมือสมัครเล่นและมืออาชีพ ทุกเพศ ทุกวัย ทุกศาสนา บางคนมาไกลจากนครพนม มุกดาหาร กรุงเทพฯ และบางรายนัดหมายเพื่อนคอเดียวกัน (สองล้อ) จากเมืองน่าน เพื่อมาร่วมปั่นจักรยานครั้งนี้ รวมแล้วร่วม 1,000 คน
หลังพิธีเปิด นักปั่นน่องเหล็กสวมเสื้อยืดสีบานเย็นทั้งหมด แยกหมวดด้วยสีหมวก เช่น ม่วง ฟ้า ชมพู ส้ม เริ่มออกแรงปั่นสองล้อคู่ใจไปตามเส้นทางที่คณะกรรมการจัดงานฯ กำหนดไว้ มุ่งหน้าไปที่สะพานมิตรภาพไทย-พม่า ข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 1 (Chit Kyi Yae Bridge) จุดเชื่อมต่อระหว่างแม่สอด-เมียวดี ที่มีหัวหน้าหน่วยงานราชการฝ่ายพม่า ทั้งตำรวจ ศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง หน่วยข่าวกรอง ชุดประสาน รวมทั้ง ติน ติน เมี๊ยะ ประธานหอการค้าจังหวัดเมียวดี ที่นำจักรยานของเธอมาร่วมปั่นด้วย ได้มารอรับบริเวณจุดกึ่งกลางสะพาน มีนักปั่นวัยทีนของพม่าอีกกว่า 400 คนที่สวมเสื้อยืดสีบานเย็น หมวกสีเขียว รอเข้าขบวนในฝั่งเมียวดี
จากนั้นขบวนนักปั่นสองล้อทั้งไทย-พม่า กว่า 1,500 คน ก็เคลื่อนเข้าตัวเมืองเมียวดี ตรงข้ามอำเภอแม่สอด ซึ่งตั้งอยู่ในที่ราบ มีเทือกเขาถนนธงชัยของไทย และเทือกเขาดอนะต่าวตันของพม่าล้อมรอบ โดยมีแม่น้ำเมย หรือแม่น้ำตองยิ่น หรือต่องยิน ที่จะไหลขึ้นเหนือไปบรรจบกับแม่น้ำสาละวินที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นเส้นกั้นพรมแดนอยู่
โครงการปั่นจักรยานมิตรภาพไทย-พม่าปีนี้ (2555) ถือเป็นการจัดขึ้นภายหลังการเปิดด่านเมียวดีครั้งล่าสุดได้ไม่นาน (พม่าปิดด่านฯ เมียวดี ตั้งแต่กลางปี 2553)
ในปี 2554 การปั่นจักรยานมิตรภาพ ที่หอการค้าจังหวัดตากร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดตาก องค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก ฯลฯ จัดขึ้นต่อเนื่องมาทุกปี ต้องจัดให้ปั่นกันเฉพาะในเขตไทยเท่านั้น
ถือเป็นการปั่นจักรยานข้ามประเทศเข้าสู่เมียวดีเป็นครั้งแรกในนามของรัฐบาลประชาธิปไตยในพม่า โดยรัฐบาลพม่าเปิดพื้นที่ให้นักปั่นได้ปั่นเข้าไปถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเมียวดี (Myawadi Border Trade Zone) ที่อยู่ลึกเข้าไปถึงกว่า 10 กิโลเมตร ถือว่าเข้าสู่พื้นที่ลึกกว่าทุกๆ ครั้งที่เคยจัดมา
เมียวดีเป็นหัวเมืองชายแดนที่เป็นชุมทางเศรษฐกิจด้านตะวันออกของพม่ามาตั้งแต่โบราณ เป็นประตูด่านแรกด้านตะวันออกของพม่าที่จะเชื่อมไปถึงเมาะละแหม่ง เมืองที่สมัยอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ ได้รับการพัฒนาให้เป็นเมืองท่าสำคัญทางทะเลมาตั้งแต่ พ.ศ.2395 (ค.ศ.1852) และกรุงย่างกุ้ง
นอกจากจะคงสถานะที่เป็นมาตั้งแต่โบราณอยู่ได้จนถึงปัจจุบันแล้ว เมียวดียังได้รับการพัฒนาให้เป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญตามกรอบระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) และยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (The Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) อีกด้วย
ในครั้งนี้ขบวนนักปั่นจักรยานทั้งหมด นอกจากจะผ่านเข้าเขตเมืองเก่าของเมียวดีที่สันนิษฐานว่าเป็นเมืองในยุคเดียวกับกรุงสุโขทัยของไทย ถูกรุกทำลายจากการขยายตัวของชุมชนที่เติบโตขึ้นตามแรงดึงดูดทางเศรษฐกิจ
พร้อมกับเข้าเยี่ยมชมวัดเจดีย์ทอง ”ส่วยมิ่นวุ้น” ที่ประดิษฐานพระเจดีย์ส่วยมิ่นวุ้นเซดีด่อ หรือเจดีย์ทองแห่งเจ้ากรมม้า หรือพระเจดีย์ไร้เงา ณ เกือบกึ่งกลางเมือง
ก่อนที่ขบวนจะมุ่งหน้าไปถนนในตัวเมืองเข้าสู่วัดมิเจากง หรือวัดจระเข้ใหญ่ ที่มีพระวิหารตั้งอยู่บนหลังจระเข้ อันมีตำนานเล่าขานกันว่า เคยมีจระเข้ตัวหนึ่งขึ้นมาบนเนินสูงเพื่อกราบไหว้นมัสการวัดเจดีย์ทอง วัดประจำเมืองเมียวดี แล้วไม่ยอมกลับลงน้ำอีก จนกระทั่งสิ้นลมหายใจบนเนินเขานั้น ชาวบ้านจึงสร้างวัดขึ้นบนเนินดังกล่าวแล้ว
บรรดาน่องเหล็กทั้งหมดยังมีโอกาสปั่น 2 ล้อคู่ใจ ลึกเข้าไปถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเมียวดี โดยตลอดเส้นทางที่ปั่นร่วม 10 กว่ากิโลเมตร ไม่มีรถทหารหรือตำรวจติดอาวุธครบมือคอยคุ้มกันเหมือนการปั่นจักรยานครั้งก่อนๆ มีเพียงกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจพม่าประมาณ 150 นาย ที่ทางการพม่าจัดไว้สำหรับอำนวยความสะดวกด้านการจราจรเท่านั้น
ที่ Myawadi Border Trade Zone ผู้บริหารยังได้เปิดพื้นที่ Check Point ขาเข้า (พม่า) ให้นักปั่นทั้งหมดพักเอาแรง รับประทานอาหารกลางวัน พร้อมชมกิจกรรม การแสดงบนเวที ก่อนออกแรงปั่น 2 ล้อข้ามกลับฝั่งแม่สอด ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน
แน่นอนว่าตลอดเส้นทางที่น่องเหล็กทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นปั่น 2 ล้อคู่ใจผ่านไป ล้วนแต่พบเห็นรอยยิ้มและการโบกไม้โบกมือทักทายที่เต็มเปี่ยมไปด้วยไมตรี
เป็นรอยยิ้มและไมตรีที่พยายามบ่งบอกให้เห็นถึงความพร้อมของ “เมียวดี” ซึ่งมีความหมายถึงกำแพงมรกตในภาษาพม่าที่จะแสดงบทบาทเป็นชุมทางฝั่งตะวันออกที่มีศักยภาพของพม่าได้เป็นอย่างดี
|
|
|
|
|