หลายเดือนมานี้ “แม่สอด” ดูเหมือนจะเป็นจุดหมายปลายทางของใครต่อใคร มากหน้าหลายตา ทั้งฝ่ายการเมือง นักธุรกิจ พ่อค้าทั่วไป จนคนในท้องที่รับแขกกันแบบ “หัวกระได” ไม่แห้งเลยทีเดียว
ตั้งแต่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงของไทยนำเสนอ “แม่สอด-เมียวดี” เป็น 1 ในพื้นที่เศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น ใหม่ต่อที่ประชุม 4th GMS Summit เมื่อวันที่ 19-20 ธันวาคม 2554 ที่พม่า ทำให้ทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติเทียวลงพื้นที่แบบถี่ยิบ พร้อมธุรกรรมซื้อขายแลกเปลี่ยนกรรมสิทธิ์บนที่ดินใน อำเภอชายแดนฝั่งตะวันตกของจังหวัดตากแห่งนี้ก็เกิดขึ้นไม่เว้น แต่ละวัน
ดูตามภูมิศาสตร์แล้ว อ.แม่สอด ถือเป็นประตูเชื่อมพม่า ที่เร่งเปิดประเทศและเตรียมจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนอย่างเป็นระบบ สร้างมิติใหม่ทางเศรษฐกิจภายใต้กรอบ EWEC รวมถึงยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิระวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (The Ayeya-wady-Chao Phraya-Mekong Economic Coopera-tion Strategy: ACMECS) รอรับการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในอีกไม่ถึง 3 ปีข้างหน้า
ขณะนี้พม่าเริ่มดำเนินการพัฒนาเมืองเมียวดี รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนและนิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องจริงจัง
เมื่อดูถึงแนวทางการพัฒนาพื้นที่ อ.แม่สอด ชายแดนฝั่งตะวันตกของไทยให้เป็นเมืองเศรษฐกิจคู่แฝดกับเมียวดีในวันนี้ ดูเหมือนว่ายังไม่ตกผลึก 100%
จริงอยู่...หากใครเดินทางผ่านถนนสายตาก-แม่สอดระยะ ทาง 86 กิโลเมตร ในวันนี้จะพบว่ามีการปรับปรุงขยายเป็นถนน 4 เลน เป็นช่วงๆ ตามที่มีเงินงบประมาณลงมาแต่ละปี โดยระยะแรก 12 กิโลเมตร จากปากทางแม่สอด-ลานสางสร้างเสร็จแล้ว ระยะที่ 2 จากวงเวียน-พระวอ ระยะทาง 13 กิโลเมตร กำลังก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2556 ส่วนระยะที่ 3 และ 4 คาดว่าจะดำเนินการไม่ทันเปิดรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 เนื่องจากติด ขัดปัญหาด้านงบประมาณ
ยกเว้นรัฐบาลจะจัดงบพิเศษเข้ามาก็สามารถก่อสร้างให้เสร็จได้ภายใน 2 ปี
อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนในพื้นที่ได้มีข้อเสนอเพิ่มเติมจากการขยายถนนเป็น 4 เลน ด้วยการเจาะอุโมงค์ทะลุภูเขาที่ลาดชัน ลดระยะทางลงจาก 86 กิโลเมตร ซึ่งกรมทางหลวงศึกษาสำรวจข้อมูลแล้ว คาดว่าจะใช้งบประมาณ 18,000-20,000 ล้านบาท เนื่องจากเส้นทางสายนี้จะเป็นถนนสายเศรษฐกิจที่สำคัญเมื่อไทยก้าวไปเป็น 1 ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
“ลงทุน 20,000 ล้านบาทแลกกับมูลค่าการค้าที่ขณะนี้อยู่ที่เดือนละ 3,000 กว่าล้าน รวมปีละกว่า 30,000 ล้านบาท ถือ ว่าคุ้ม เพราะตัวเลขไม่หยุดแค่นี้แน่นอนเมื่อ พม่าเปิดประเทศ ถนนหนทางในพม่าจะได้ รับการพัฒนามากขึ้น” บรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก บอก
เพียงแต่โครงการนี้ยังอยู่ในขั้น “ข้อเสนอ” เท่านั้น
ขณะที่ความพยายามผลักดันโครงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจชายแดนแม่สอด และสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 เพื่อทำให้ “แม่สอด” เป็นเมือง คู่แฝดอย่างแท้จริงกับ “เมียวดี” ทำให้ “แม่สอด” เป็นประตู ตะวันตกของไทยเชื่อมอาเซียน-ยุโรป คู่กับเมียวดี ชุมทางตะวันออกของพม่า ตามแนว EWEC นั้น หอการค้าจังหวัด ตากได้เสนอต่ออลงกรณ์ พลบุตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินกิจกรรมโลจิสติกส์ การค้า สัญจร เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจไทย ครั้งที่ 3/2552 ณ โรงแรมเซ็นทารา แม่สอด ฮิลล์ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2552
ในระยะที่ผ่านมา มีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งไทย พม่า ลงพื้นที่ดูจุดก่อสร้างสะพานบริเวณท้ายบ้าน วังตะเคียน ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด รวมถึงวางแนวทางกัน พื้นที่อีกกว่า 5,600 ไร่ ขึ้นไปทางเหนือ ซึ่งเป็นป่าเสื่อมโทรม สำหรับประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ
กระทั่งวันที่ 6 ตุลาคม 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ คือ เร่งรัดการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2, เร่งรัดดำเนินโครงการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งศูนย์ OSS และศูนย์โลจิสติกส์ รวมทั้งคลังสินค้า ตามแนวเส้นทางสะพานแห่งที่ 2, จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจการค้าชายแดนไทย-พม่า
พร้อมกำหนดให้กระทรวงพาณิชย์รับความเห็นจากกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้องศึกษา พิจารณา ส่งเสริมการค้าชายแดน การลดต้นทุน แนวทางการรองรับปริมาณจราจรเชื่อมโยง EWEC การสร้างสะพานแห่งที่ 2 และรายงานผลการดำเนินงานตามกรอบ ACMECS, GMS ไปยังคณะกรรมการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย
วันที่ 19 ตุลาคม 2553 คณะรัฐมนตรีก็มีมติเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกครั้ง โดยเห็นชอบตามหลักการที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ 3 ข้อ คือ อนุมัติในหลักการแนวทางการจัดตั้งเขต เศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจการค้าชายแดน ไทย-พม่า, เห็นชอบการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด โดยมีหน่วย งานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย เพื่อขับเคลื่อนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ แม่สอด ให้เป็นไปอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ
ในส่วนของการเร่งรัดคณะกรรมการพัฒนาที่ดิน ดำเนินการในเรื่องการใช้พื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีนั้นให้กระทรวงพาณิชย์รับไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
วันที่ 22 มีนาคม 2554 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดของคณะกรรมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และอนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ใช้จ่ายจากงบประมาณรายงานจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2554 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 14,044,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการโครงการจัดจ้างออกแบบการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจ พิเศษแม่สอด
วันที่ 27 กันยายน 2554 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้คงไว้ซึ่งคณะกรรมการพัฒนา เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ก็มีคำสั่งที่ 282/2554 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2554 แต่งตั้งคณะทำงานกำกับการดำเนินโครงการจัดจ้างออกแบบการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด เพื่อให้กำหนดขอบเขตการจ้างของโครงการจัดจ้างออกแบบการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจ พิเศษแม่สอด, กำกับการดำเนินโครงการจัดจ้างออกแบบการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ให้แล้วเสร็จภายในเวลา 6 เดือน และปฏิบัติงานตามที่คณะกรรมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดมอบหมาย
นอกจากนี้ยังมีคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ ที่ 599/2554 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2554 แต่งตั้งคณะทำงานด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ในคณะกรรมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ทบทวนร่างพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งองค์การบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด และเสนอคณะกรรมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดพิจารณา ก่อนเสนอ คณะรัฐมนตรี, พิจารณาศึกษากฎ ระเบียบ ข้อบังคับและสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด เพื่อให้การจัดตั้งเป็นไปอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพ, ศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบเขตเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ เพื่อรูปแบบที่เหมาะสมกับประเทศไทยและยกร่าง พ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจชายแดน เพื่อสามารถให้ได้ใช้ประโยชน์ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจชาย แดนบริเวณชายแดนอื่นตามนโยบายรัฐบาล
ซึ่งตามแนวทางดังกล่าว เมื่อภาครัฐ เดินหน้าและเร่งรัดให้จัดสรรงบประมาณมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และภาครัฐ ควรพร้อมเข้ามาให้บริการแบบ One stop service เพื่อสร้างเป็นโมเดลต้นแบบการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศ รองรับการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 ต่อไป
“ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะเดินหน้าเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ มองข้ามผลทางการเมือง” บรรพตย้ำ
ปรากฏว่าหลังการเปลี่ยนแปลงทาง การเมือง มีการเปลี่ยนรัฐบาล ได้มีความพยายามรื้อฟื้นมติคณะรัฐมนตรีปี 2547 ตั้งแต่สมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีมติเห็นชอบให้พื้นที่ชายแดน 3 อำเภอของจังหวัดตาก คือ แม่สอด พบพระ แม่ระมาด ให้เข้ามารวมอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยวางเป้าหมาย ให้เป็นศูนย์รวมแรงงานต่างด้าว สร้างความ ได้เปรียบเพื่อดึงดูดการลงทุนเป็นหลัก
ทฤษฎีนี้ดูเหมือนจะสิ้นสภาพทันที เมื่อชาติตะวันตกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร และคืนสิทธิประโยชน์ทางการค้าแก่พม่าเพราะการลงทุนผลิตสินค้าในพม่า จะมี “แต้มต่อ” เพิ่มขึ้นมากกว่าค่าแรงถูกเพียงอย่างเดียวทันที
ซึ่งเวลานั้นจะมาถึงในอีกไม่นานนี้แน่นอน
|