Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา มีนาคม 2555
การย้ายถิ่นฐานมาอยู่นิวซีแลนด์             
โดย ชาญ เทียบเธียรรัตน์
 


   
search resources

Law




วันวาเลนไทน์ที่ผ่านมา มีการเสนอข่าวเรื่องราวเกี่ยวกับคู่รักหลายคู่ที่มีเรื่องราวชีวิตคู่ที่น่าสนใจ แต่เรื่องราวชีวิตคู่รักที่น่าปลื้มที่สุดประจำปีนี้ในความคิดของผมคงจะไม่พ้นเรื่องคุณกุ้ง ชาวอยุธยา กับคุณนีล โมเดน แฟนชาวออสเตรเลีย ความน่าปลื้มที่สุดในเรื่องราวของคุณกุ้งกับคุณนีลนั้นอยู่ที่ว่าสองคนนี้เป็นเพื่อนที่ดีต่อกันและเข้าใจกัน ให้กำลังใจกัน แต่มีปัญหาที่ว่าคุณกุ้งไม่สามารถที่จะย้ายไปอยู่ที่ออสเตรเลียกับคุณนีลได้ เพราะติดที่คุณกุ้งมีปัญหาเรื่องสุขภาพ จึงทำเรื่องขอย้ายไปอยู่ออสเตรเลียไม่สำเร็จ ซึ่งจริงๆ แล้ว ถ้าถามว่าการที่ผู้ขอมีปัญหาเรื่องสุขภาพ หมายความว่าโอกาสการขอย้ายไปจะไม่สำเร็จแน่นอนหรือเปล่า

อันนี้ผมจะยังไม่พูดตอนนี้ แต่จะไปพูดช่วงท้ายแทน เนื่องจากนิวซีแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีคนย้ายเข้ามาอยู่มากประเทศหนึ่ง ผมจึงขอเขียนถึงขั้นตอนการย้ายมาอยู่ประเทศนิวซีแลนด์ในปัจจุบัน หวังว่าคงจะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยกับท่านผู้อ่านที่กำลังสนใจจะทำเรื่องขอย้ายไปอยู่ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเพื่อหาสถานที่ให้ลูกได้เรียนหนังสือ เพื่อทำธุรกิจ หรือเพื่อจะรีไทร์

หลายๆ คนทราบดีว่าการจะย้ายถิ่นฐานไปประเทศไหนในโลก มีวิธีการหลักๆ อยู่ 2 วิธี หนึ่งก็คือการขอลี้ภัย (Seeking Asylum) ซึ่งผมเคยเล่าให้ฟังในฉบับที่แล้ว อีกวิธีหนึ่งก็คือการขอสิทธิ์ในการย้ายมาอยู่แบบถาวร (Permanent Residency) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่าการขอพีอาร์ ซึ่งการจะได้พีอาร์ของนิวซีแลนด์นั้น ถือว่าไม่ยากนักเมื่อเทียบกับหลาย ประเทศ เนื่องจากนิวซีแลนด์ก็เหมือนประเทศที่เกิด ใหม่หลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา หรือสหรัฐอเมริกา คือเป็นสังคมที่ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศเป็นผู้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ (Immigrant Society) จึงไม่มีกฎเกณฑ์อะไรที่จำกัดสิทธิในการให้สัญชาตินิวซีแลนด์กับคนเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่ง คนทุกชาติสามารถขอสัญชาตินิวซีแลนด์ได้ และคนที่มีสัญชาตินิวซีแลนด์ในขณะนี้ก็เป็นคนที่มาจาก หลายเชื้อชาติทั่วโลก คนนิวซีแลนด์ที่มีเชื้อชาติไทย (รวมถึงตัวผมเองด้วย) ตอนนี้มีเท่าไหร่ผมไม่แน่ใจ แต่จากผลสำรวจครั้งสุดท้ายเมื่อ 6 ปีที่แล้ว มีประมาณ 6 พันกว่าคน เชื่อว่าตอนนี้น่าจะมีมากกว่า นี้ เพราะผมเจอคนไทยที่ย้ายมาใหม่มากขึ้นทุกปีๆ จนตอนนี้ถ้ามาขับรถเที่ยวในนิวซีแลนด์ ไปที่เมืองไหน ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีร้านอาหารไทย ถ้าเมืองไหนไม่มีร้านอาหารไทย แปลว่าเมืองนั้นมาเปิดร้านแล้ว โอกาสเจ๊งสูง คนไทยถึงไม่กล้าไปเปิดร้านอาหาร ส่วนในเมืองใหญ่นั้นมีทั้งร้านอาหารไทยและธุรกิจที่คนไทยเป็นเจ้าของเต็มไปหมด

ในอดีตนั้น การได้สัญชาตินิวซีแลนด์เป็นเรื่องที่ง่ายมาก เพราะเช่นเดียวกับประเทศอเมริกาและแคนาดา คนทุกคนที่เกิดในประเทศนิวซีแลนด์ จะได้สัญชาตินิวซีแลนด์ทันที ซึ่งก็ทำให้คนจำนวนมากที่อยากจะมาอยู่ประเทศนี้ ใช้การเกิดของลูกตัวเองเพื่อขอสิทธิในการย้ายมาอยู่ที่นี่ เช่นเดียวกับคนที่ต้องการย้ายไปอยู่อเมริกาหรือแคนาดา คือเมื่อ ครอบครัวหนึ่ง ภรรยาตั้งท้องก็ให้ภรรยาบินมาคลอด ลูกที่ประเทศนิวซีแลนด์ ลูกที่เกิดมาก็จะได้สัญชาตินิวซีแลนด์ทันที หลังจากนั้นพ่อแม่ก็ขอพีอาร์ เพื่ออยู่ประเทศนี้ โดยอ้างว่าต้องดูแลลูกที่เป็นประชาชน นิวซีแลนด์ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ซึ่งการจะได้สิทธิอยู่ในประเทศนี้ก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากนัก เพราะกฎหมายนิวซีแลนด์ถือว่าคนนิวซีแลนด์ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการ ศึกษาและสวัสดิการทางการแพทย์จากรัฐบาล หากว่าทางการไม่อนุญาตให้พ่อแม่อยู่ที่นิวซีแลนด์กับลูกได้ ก็หมาย ความว่าพ่อแม่คู่นั้นก็จะต้องนำเด็กคนนี้ กลับประเทศของพวกเขา ซึ่งก็เป็นการตัดโอกาสเด็กคนนั้น ที่เป็นประชาชนชาวนิวซีแลนด์’ (เพราะเกิดที่นั่น) ที่จะได้รับสิทธิเหล่านี้ ฉะนั้นการขอพีอาร์ของพ่อแม่เหล่านี้จึงได้รับการอนุมัติเป็น ส่วนใหญ่ และพ่อแม่เหล่านี้พอมีสิทธิอยู่ที่นี่ได้ก็จะเปิดธุรกิจหรือไม่ก็หางานทำจนครบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดก็ขอสัญชาติ แค่นี้ก็กลายเป็นประชาชนนิวซีแลนด์เต็มตัว

อย่างไรก็ตาม ได้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย เกี่ยวกับสิทธิการได้สัญชาติเมื่อ 6 ปีก่อน ว่าคนที่เกิดในประเทศนี้แทนที่จะได้สัญชาตินิวซีแลนด์ทันที จะกลายเป็นได้สถานะสูงสุดที่พ่อหรือแม่ของเขามีในขณะนั้นแทน ฉะนั้นหลังกฎหมายนี้ออกมา พ่อแม่ จะไม่สามารถบินมานิวซีแลนด์เพื่อคลอดลูกแล้วขอสิทธิการอยู่นิวซีแลนด์เพื่อดูแลลูกได้อีก เพราะถ้าตอนคลอดลูก พ่อหรือแม่ของเด็กไม่มีสัญชาตินิวซีแลนด์ เด็กที่เกิดมาก็จะไม่มีสัญชาตินิวซีแลนด์ ถ้าพ่อหรือแม่มีแค่พีอาร์ ตอนคลอดลูก เด็กก็จะได้แค่ เป็นพีอาร์ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะตาม กฎหมายปัจจุบัน ผู้ที่ได้พีอาร์แล้วถ้าอยู่ในประเทศ นิวซีแลนด์อีก 5 ปี ก็จะมีสิทธิขอสัญชาติได้

การขอพีอาร์จึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการขอย้ายมาอยู่ประเทศนิวซีแลนด์ เพราะการได้พีอาร์ หมายความว่าได้สิทธิที่จะอยู่นิวซีแลนด์โดยถาวร ถ้าได้เมื่อไหร่ อยู่อีก 5 ปีก็ขอสัญชาติได้ ซึ่งผม ขอพูดถึงวิธีหลักๆ ที่คนไทยใช้ขอพีอาร์ในบทความนี้ วิธีแรกก็คือการขอพีอาร์ประเภทผู้ย้ายถิ่นฐานที่มีความสามารถ (Skilled Migrant Category) ซึ่งการ ขอแบบวิธีนี้จะมีการนับคะแนนคุณวุฒิของผู้สมัคร ส่วนคะแนนของผู้สมัคร จะได้มากหรือน้อย ขอพูดสั้นๆ ว่า ยิ่งความรู้สูง ประสบการณ์การทำงานสูง ตำแหน่งการงานสูงก็จะยิ่งได้คะแนนสูง เช่น หมอ อาจารย์มหาวิทยาลัย ทนายความ วิศวกร พวกนี้ จะเป็นพวกระดับ 1 ซึ่งจะได้คะแนนมากที่สุด ส่วนระดับ 5 จะได้คะแนนน้อยที่สุด ซึ่งอาชีพในระดับ 5 ก็เช่นอาชีพกรรมกรหรือโสเภณี เป็นต้น ซึ่งการบวก คะแนน พอบวกเสร็จแล้วก็ยังจะมีคะแนนพิเศษให้อีก เช่น หากว่าผู้ขอพีอาร์ไม่ต้องการจะไปอยู่ในเมืองโอ๊กแลนด์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของ นิวซีแลนด์ ก็จะได้คะแนนพิเศษ หรือหากผู้ขอพีอาร์ เรียนจบจากมหาวิทยาลัยในนิวซีแลนด์ ก็จะได้คะแนนพิเศษ ซึ่งพอรวมคะแนนแล้ว ถ้าได้ 140 คะแนนหรือมากกว่า ทางการก็จะส่งจดหมายเชิญ ให้ผู้สมัครขอพีอาร์อย่างเป็นทางการ แต่ถ้าคะแนนได้แค่ 100-139 คะแนน แต่มีงานทำอยู่ในนิวซีแลนด์ อยู่แล้ว ทางการก็จะส่งจดหมายมาเชิญให้ขอพีอาร์เช่นกัน และในปีนั้นหากโควตายังเหลือก็จะมีการจับฉลากผู้ที่คะแนน 100-139 แต่ยังไม่มีงานทำในนิวซีแลนด์จนเต็มโควตา ซึ่งใครที่ทางการจับฉลากได้ก็จะได้รับจดหมายเชิญให้ขอพีอาร์ ซึ่งผู้ได้รับเชิญ จะต้องยื่นใบสมัครขอพีอาร์ภายใน 4 เดือน ไม่งั้นถือว่าสละสิทธิ์

วิธีต่อไปที่จะขอพีอาร์คือการขอพีอาร์ประเภท การลงทุน (Investor Category) ซึ่งอันนี้ผู้ขอก็จะต้องมีเงินพอสมควร การลงทุนนั้นมี 2 แบบ ถ้าเป็น การลงทุนแบบทำธุรกิจ ผู้สมัครจะต้องมาลงทุนในประเทศนี้ในวงเงิน 1.5 ล้านดอลลาร์ ซึ่งก็ประมาณ 37.5 ล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน (1 NZ$ = 25 บาท) ฟังดูเหมือนจะยาก เพราะการหอบเงินจำนวนมากมาลงทุนในประเทศที่ผู้สมัครไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมและอุปนิสัยการใช้เงินและรสนิยมของ คนในประเทศนั้น ดูเหมือนว่า โอกาสเจ๊งจะสูงกว่าโอกาสทำกำไรได้ แต่จริงๆ แล้ว ความหมายของการลงทุนแบบทำธุรกิจ (Active Investment) ไม่ได้ หมายถึงการลงมือทำธุรกิจเสมอไป ความหมายของ การลงทุนทำธุรกิจสำหรับการขอพีอาร์นิวซีแลนด์ คือการลงทุนอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่การเอาเงินไปฝากแบงก์ กินดอกเบี้ยเฉยๆ ฉะนั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่คนเอเชีย ชาติต่างๆ เช่น เกาหลีใต้ จีน หรืออินเดีย จะขนเงิน มานิวซีแลนด์ แล้วเอามาซื้ออาคารพาณิชย์แล้วปล่อย เช่า เก็บค่าเช่าแล้วนอนรอรับค่าเช่าอยู่ที่บ้าน ซึ่งโอกาสขาดทุนนั้นยาก และทุกๆ 2 ปี ค่าเช่าในประเทศนิวซีแลนด์ก็จะมีการปรับขึ้นไปตามราคาอสังหาริมทรัพย์ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ หากว่าใครคิดจะขอพีอาร์แบบการทำธุรกิจแล้วมีเงินถึง 1.5 ล้านดอลลาร์ ก็ควรจะเอาคำแนะนำข้างบนนี้ไปพิจารณา

สำหรับการลงทุนแบบที่ 2 คือการลงทุนแบบเอาเงินมาฝากธนาคาร แต่จะขอพีอาร์สำเร็จ ผู้สมัครจะต้องมีเงินเข้ามาฝากในนิวซีแลนด์ถึง 10 ล้านดอลลาร์ หรือ 250 ล้านบาท เป็นเวลา 3 ปี ซึ่งวิธีนี้ง่ายมาก ถ้าผู้สมัครโอนเงินมาถึงเมื่อไหร่ ก็บินเข้านิวซีแลนด์ได้เลย จะได้พีอาร์ทันทีที่มาถึงที่นี่ ข้อยากที่สุดในการขอคือผู้สมัครจะต้องไปหาเงิน 10 ล้านดอลลาร์มาฝากธนาคารที่นี่ให้ได้ คนไทยที่ได้พีอาร์ด้วยวิธีนี้ที่ผมรู้จักนั้นก็มีมากพอสมควร

วิธีที่กล่าวไปข้างต้นนั้น ผู้สมัครต้องมีความรู้ มีประสบการณ์การทำงาน หรือไม่ก็ต้องมีเงินเยอะ ฉะนั้นสำหรับคนที่ไม่ได้รวยหรือเรียนจบสูงๆ มีงานดีๆ ทำ อีกวิธีหนึ่งที่จะขอพีอาร์ได้สำเร็จ คือการขอพีอาร์ประเภทครอบครัว (Family Category) ซึ่งผู้สมัครจะต้องสามารถพิสูจน์ได้ว่าเขามีความสัมพันธ์พิเศษที่เชื่อมต่อพวกเขากับประเทศนี้ (Nexus) ซึ่งถ้าผู้สมัครมีคนในครอบครัวเดียว กันเป็นคนนิวซีแลนด์ เขาก็จะสามารถพิสูจน์ได้ว่าเขามีคนคนนั้นเป็น สายสัมพันธ์ที่เชื่อมพวกเขากับประเทศนี้ บุคคลประเภทแรกที่สามารถขอพีอาร์ประเภทครอบครัวได้ คือคนที่มีภรรยา สามี หรือคู่รักที่อยู่กินกันอย่างเปิด เผย (De facto couples) ไม่ว่าจะเป็นคู่รักเพศตรง ข้าม หรือเพศเดียวกัน เป็นชาวนิวซีแลนด์ ซึ่งอันนี้ เพียงแค่ผู้สมัครสามารถพิสูจน์ให้ทางการเชื่อว่าความ สัมพันธ์ของเขากับคู่ของเขา เป็นความสัมพันธ์ที่จริง จัง ไม่ใช่การแต่งงานบังหน้าเพื่อหวังสัญชาติ การจะได้พีอาร์ก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร

การจะขอพีอาร์ประเภทครอบครัว ยังมีอีกหลายประเภทดังต่อไปนี้

- สำหรับพ่อแม่ที่ต้องการขอพีอาร์มาอยู่กับลูกในประเทศนี้ ลูกคนนั้นจะต้องมีสัญชาตินิวซีแลนด์ แล้ว และมีเงินเดือนหรือรายได้ก่อนภาษีจากธุรกิจของเขา อย่างน้อยปีละ 31,202.08 ดอลลาร์ ถึงจะสามารถเซ็นรับรองให้พ่อแม่ย้ายมาอยู่กับเขาที่นิวซีแลนด์ได้

- ถ้าลูกยังไม่มีรายได้ประจำ แต่อายุ 18 ปีขึ้นไปและมีสัญชาตินิวซีแลนด์ พ่อแม่จะสามารถขอพีอาร์มาอยู่กับลูกได้ หากพ่อแม่เอาเงินเข้ามาฝาก ธนาคาร 1 ล้านดอลลาร์ และเอาเงินเข้ามาอีก 5 หมื่นดอลลาร์เป็นค่าใช้จ่ายในการย้ายถิ่นฐาน มีรายได้เกิน 6 หมื่นดอลลาร์ต่อปีในวันที่ยื่นเรื่องขอพีอาร์

- คนที่มีสัญชาตินิวซีแลนด์ที่มีลูกที่ยังโสดและอายุไม่เกิน 25 ปี สามารถขอพีอาร์ให้ลูกเขาย้าย มาอยู่ด้วยกันได้

- คนที่มีสัญชาตินิวซีแลนด์หรือคนสัญชาติออสเตรเลียที่อาศัยอยู่ในนิวซีแลนด์ สามารถขอพีอาร์ ให้พี่น้องของเขา หรือลูกของเขาที่อายุ 25 ปีขึ้นไป ย้ายมาอยู่ด้วยกันได้ แต่เขาจะต้องสามารถพิสูจน์ได้ว่า เขามีรายได้ประจำมากพอที่จะเลี้ยงพี่น้องหรือ ลูกของเขา เป็นเวลา 2 ปี หากพี่น้องหรือลูกของเขา หางานทำในประเทศนี้ไม่ได้หลังจากย้ายมาอยู่แล้ว

ท่านผู้อ่านที่อ่านตั้งแต่ย่อหน้าแรก ที่ผมพูดเรื่องของคุณกุ้งกับแฟนของเขา มาถึงตรงนี้ อาจจะแปลกใจว่า แล้วทำไมทางการออสเตรเลียถึงไม่อนุมัติ ให้คุณกุ้งไปอยู่กับแฟนของเขา ในเมื่อความสัมพันธ์ ของทั้งสองนั้น ดูยังไงๆ ก็จริงจัง คำตอบก็คือ ข้อกำหนดที่ผมพูดถึงไปข้างต้น เป็นแค่ก้าวแรกของใบสมัคร แต่การจะให้ใบสมัครขอพีอาร์ได้รับอนุมัติ ผู้สมัครทุกคนจะต้องผ่านการตรวจสุขภาพ และต้อง ไม่เคยมีประวัติการกระทำผิดอาญา สำหรับประวัติเรื่องอาญา อันนี้ต้องไม่เคยทำความผิดตามกฎหมาย อาญาสากล เช่นไม่เคยไปฆ่าใครตาย หรือไปปล้นหรือข่มขืนใคร สำหรับความผิดอาญาด้านการเมืองนั้น ทางการนิวซีแลนด์ไม่สน เช่นหากคนเกาหลีเหนือ ไม่ยอมร้องไห้ดิ้นพราดๆ ตีอกชกหัวตอนงานศพคิมจองอิล แล้วโดนทางการเกาหลีเหนือออกหมาย จับเพราะไม่รักคิมจองอิล อันนี้ทางการนิวซีแลนด์จะไม่ถือว่าเป็นความผิดทางอาญา เพราะเป็นเรื่องการเมือง หรือว่าถ้าใครเคยแอบเคี้ยวหมากฝรั่งในสิงคโปร์ ถูกทางการสิงคโปร์จับได้แล้วลากไปเฆี่ยน อันนี้ทางการนิวซีแลนด์ก็จะไม่สนใจ เพราะเป็นการกระทำที่ไม่ใช่ความผิดทางอาญาตามหลักกฎหมายสากล

สำหรับการตรวจสุขภาพนั้น ผู้สมัครก็ต้องเป็นคนสุขภาพดี อันนี้ผมเชื่อว่าเป็นเหตุผลว่าทำไมทางการออสเตรเลียไม่อนุมัติให้คุณกุ้งไปอยู่ออสเตร เลียได้ เพราะเธอต้องนั่งรถเข็น ซึ่งจริงๆ แล้ว ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นในนิวซีแลนด์ก็พอจะมีทางออกได้ โดยผู้สมัครจะต้องทำเรื่องขอให้ทางการผ่อนผันกรณีของเขาเป็นกรณีพิเศษ (Special Circumstance) ซึ่งการที่จะได้รับการผ่อนผัน ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายโดยทีเดียว เพราะว่าเมื่อใครก็ตามได้รับพีอาร์แล้ว เขาก็จะมีสิทธิ์ ได้รับสวัสดิการทางการแพทย์จากรัฐบาล การอนุมัติพีอาร์ให้กับคนที่มีปัญหาด้านสุขภาพ จึงหมาย ความว่ารัฐบาลจะต้องจ่ายเงินค่าหมอให้คนคนนั้นเป็นเงินจำนวนมากต่อปี ฉะนั้น ถ้าทางการจะผ่อนผันใครเป็นกรณีพิเศษ คนในครอบครัวของผู้สมัคร จะต้องทำประโยชน์ (หรือพูดง่ายๆ คือต้องจ่ายภาษี) ให้ประเทศมากกว่าค่าใช้จ่ายที่รัฐจะต้องจ่ายเพื่อรักษาอาการป่วยของผู้สมัคร หรือไม่ก็ต้องสามารถพิสูจน์ได้ว่าเขาไม่จำเป็นที่จะต้องรับการรักษาอะไรในนิวซีแลนด์เกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยของโรคที่เขาเป็นอยู่ในขณะนั้น ทางการถึงอาจจะอนุโลมให้เขาได้พีอาร์ เคยมีคดีหนึ่ง1 ที่ภรรยาชาวไทยนั้นเป็นเอดส์ ตรวจสุขภาพแล้วไม่ผ่าน แต่สามีชาวนิวซีแลนด์ของ เธอมีธุรกิจจ้างงานให้กับคนนิวซีแลนด์ 4 คน อีกทั้งตัวภรรยาเองนั้นไม่จำเป็นต้องรับการรักษาจากนิวซีแลนด์ เนื่องจากมียาจากเมืองไทยซึ่งถ้าเธอทาน ตลอดไปจะช่วยทรงอาการเธอเอาไว้แบบนี้ได้โดยไม่ทรุดลงจากอาการในปัจจุบันของเธอ ซึ่งหลักฐาน ทางการแพทย์ตรงนี้ทำให้เธอสามารถพิสูจน์ให้ทาง การเชื่อได้ว่า เธอไม่จำเป็นต้องรับการรักษาอะไรจาก นิวซีแลนด์ เพราะยาที่เธอทานอยู่มีผลดีกับร่างกายของเธอ ทางการจึงอนุมัติให้เธอได้พีอาร์มาอยู่กับสามีที่นี่ได้เป็นกรณีพิเศษ

ประโยชน์ของการมีสัญชาตินิวซีแลนด์มีมากมาย ประโยชน์หลักๆ คือการมีสิทธิ์รับสวัสดิการหลายอย่าง เช่น สวัสดิการด้านการแพทย์ หรือเงินเบี้ยเลี้ยงจากรัฐบาลเมื่ออายุครบ 65 ปี สามารถย้าย ไปอยู่ ไปทำงาน ทำธุรกิจในประเทศในเครือจักรภพ อังกฤษบางประเทศ เช่น ออสเตรเลียได้ทันที การที่ลูกผู้สมัครจะได้มีสิทธิ์เรียนหนังสือราคาถูกในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ และใช้ระบบการศึกษาที่มีต้นแบบมาจากอังกฤษ อีกอย่าง ข้อดีของการเป็นคนไทย คือประเทศไทยนั้นเปิดโอกาสให้คนไทย มีสัญชาติอื่นได้โดยไม่ต้องทิ้งสัญชาติไทย การขอสัญชาตินิวซีแลนด์ จึงไม่ทำให้คนไทยเสียสิทธิ์อะไรในเมืองไทยแต่อย่างใด หากว่าท่านผู้อ่านคิดจะเพิ่ม ทางเลือกของตัวเอง หรือครอบครัวของท่านในอนาคตให้มีโอกาสที่จะย้ายมาทำธุรกิจ หรือให้ลูกมาเรียนหนังสือ หรือย้ายมารีไทร์ นิวซีแลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่สงบสุขและคุณภาพชีวิตสูง ควรแก่การเก็บไว้เป็นทางเลือกที่น่าพิจารณาอย่างจริงจังอีกทางเลือกหนึ่ง

1 Residence Appeal No 14933 (8 September 2006) อ่านคดีนี้ได้ที่ https://forms.justice.govt.nz./search/IPT/Documents/Residence/pdf/res_20060908_14933f.pdf

อ้างอิง:
- Immigration New Zealand, Living in New Zealand’, http://www.immigration.govt.nz/migrant/stream/live (accessed 15 Feb 2012).   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us