Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา มีนาคม 2555
การเปลี่ยนแปลงในพม่า             
 


   
search resources

Myanmar
Political and Government




รัฐบาลพม่าเริ่มเปลี่ยนแปลงและได้รับรางวัลจากการเปลี่ยนแปลงนั้น

คล้อยหลังการเดินทางเยือนพม่าครั้งประวัติศาสตร์ของฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อต้นเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว (2011) เธอนับเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ คนแรก ที่เดินทางเยือนพม่าในรอบครึ่งศตวรรษ แต่หลังจากการเยือนครั้งประวัติศาสตร์อันน่าตื่นเต้นครั้งนั้นแล้ว กลับมีแต่ความเงียบเชียบ ไร้การเคลื่อนไหวใดๆ ในพม่า ชวนให้ หลายคนสงสัยว่า ชะรอยกระบวนการปฏิรูปในพม่า ซึ่งริเริ่มโดยประธานาธิบดี Thein Sein ของพม่า ท่าจะคว้าน้ำเหลวเสียแล้วกระมัง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นในพม่าในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ยืนยันว่า การปฏิรูปในพม่ายังคงอยู่ในร่องในรอย

วันที่ 13 มกราคมปีนี้ รัฐบาลพม่าได้ทยอยปล่อยตัวนักโทษการเมืองระลอกใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยทำมา รัฐบาลพม่าระบุว่าได้ปล่อยตัวนักโทษ การเมืองทั้งสิ้น 302 คน ส่วนตัวเลขของหน่วยงานอื่นน้อยกว่านี้ โดยกลุ่ม Assistance Association for Political Prisoners (Burma) ซึ่งตั้งอยู่ในไทยระบุว่า ตัวเลขนักโทษการเมืองพม่าที่ได้รับการปล่อยตัวอยู่ที่ 287 คน กระนั้นก็ยังถือว่าเป็นจำนวนที่มากอยู่ดี ที่สำคัญคือ นักโทษที่ถูกปล่อยตัวยังรวมถึงบุคคลสำคัญที่สุดของฝ่ายค้านที่เรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า ซึ่งหลายคนติดคุกมานานถึง 20 ปีด้วย อันเป็นโทษทัณฑ์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมการลุกฮือครั้งแรกของนักศึกษา พม่า เพื่อต่อต้านรัฐบาลทหาร เมื่อปี 1988 โดยนักโทษการเมืองคนสำคัญหลายคนที่ได้รับการปล่อยตัวครั้งนี้ รวมถึง Nilar Thein, Min Ko Naing และ Htay Kywe แกนนำขบวนการนักศึกษาพม่าที่มีชื่อว่า “88 Generation movement”

ไม่ได้มีเพียงนักโทษการเมืองที่เป็นนักศึกษาเท่านั้นที่ได้รับอิสรภาพ นักโทษการเมืองที่ถูกปล่อยตัว และสร้างเซอร์ไพรส์มาก ที่สุดคนหนึ่งคือ Khin Nyun อดีตหัวหน้าฝ่ายข่าวกรองของรัฐบาล ทหารพม่า และอดีตนายกรัฐมนตรีพม่า ซึ่งถูกปล่อยตัวจากการถูก กักบริเวณในบ้านพัก ตั้งแต่ที่เขาถูกขับออกจากตำแหน่งในปี 2004 ดูเหมือนว่า รัฐบาลพม่ามีความตั้งใจจริงที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง จากการเป็นเผด็จการทหารนิยม ไปเป็นการเป็นพหุนิยม (pluralism) ด้วยความจริงใจ

การปล่อยตัวนักโทษการเมืองในพม่า เป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดที่สหรัฐฯ กำหนดไว้ ก่อนที่จะยอมพิจารณาฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตกับพม่าอย่างเต็มรูปแบบ ความสัมพันธ์ทุกด้านระหว่าง สหรัฐฯ กับพม่าถูกลดระดับลงในปี 1988 จากนั้นก็เสื่อมทรามลงเรื่อยๆ จนถึงขั้นเรียกได้ว่าแตกหักในช่วงต้นทศวรรษ 1990 สหรัฐฯ ทำเช่นนี้ก็เพื่อเป็นการลงโทษรัฐบาลพม่า ที่ปราบปรามฝ่ายค้านที่เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างโหดร้ายทารุณ แต่ในทำนองเดียวกัน สหรัฐฯ ได้ยืนยันมานานหลายเดือนแล้วว่า หากพม่าทำดีด้วยการปล่อยตัวนักโทษ การเมือง ก็จะต้องได้รับรางวัลเช่นกัน รางวัลนั้นก็คือ การที่สหรัฐฯ จะค่อยๆ ฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับพม่า ซึ่งจะทำให้พม่าไม่ต้องถูกโดดเดี่ยวจากนานาชาติอีกต่อไป อันเป็น สุดยอดปรารถนาของรัฐบาลพม่า ดังนั้นทันทีที่พม่าปล่อยตัวนักโทษการเมือง สหรัฐฯ รีบประกาศฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตกับพม่าอย่าง เต็มรูปแบบทันที เพื่อเป็นการให้รางวัลที่เป็นรูปธรรมต่อความคืบหน้า ที่เป็นรูปธรรมในการปฏิรูปของพม่า

ชาติอื่นๆ ก็เริ่มขยับออกมาให้รางวัลแก่พม่าเช่นเดียวกัน วันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา นอร์เวย์ประกาศยุตินโยบายห้ามการลงทุนในพม่า ออสเตรเลียยกเลิกการห้ามเดินทางเข้าประเทศ และยกเลิกการลงโทษทางการเงิน สำหรับบุคคลสำคัญของพม่าบางคนที่เคยถูกออสเตรเลียใช้มาตรการลงโทษดังกล่าว ที่สำคัญที่สุด เห็นจะเป็นการที่ Alain Juppe รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสประกาศว่า สหภาพยุโรป (European Union: EU) จะให้รางวัลกับพัฒนาการทางการเมืองล่าสุดในพม่า และขณะนี้ EU กำลังทบทวนมาตรการลงโทษพม่า คาดว่า คงจะผ่อนคลายมาตรการเหล่านั้นภายในอีกไม่กี่เดือนนี้

Juppe เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงต่างชาติคนล่าสุดที่พาเหรด เดินทางเยือนพม่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา คล้อยหลัง William Hague รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ เพียงไม่กี่วัน ซึ่งเป็นสัญญาณว่า ความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับชาติต่างๆ เริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ แขกผู้มีเกียรติต่างชาติเหล่านี้ต่างได้รับโอกาสเข้าพบปะพูดคุยตัวต่อตัวกับประธานาธิบดี Thein Sein และต่างก็กลับออกมาด้วยความรู้สึกประทับใจว่า รัฐบาลพม่ามีความตั้งใจจริงที่จะเปลี่ยน แปลงตัวเอง ถึงแม้ว่าหนทางนี้ยังจะต้องเดินไปอีกยาวไกลก็ตาม แม้กระทั่งคนที่มักตำหนิติเตียนรัฐบาลพม่าอย่างดุเดือดที่สุด อย่างเช่น วุฒิสมาชิก Mitch McConnell ผู้นำวุฒิสมาชิกพรรค Republican ในวุฒิสภาสหรัฐฯ ก็ยังออกปากชื่นชมประธานาธิบดี Thein Sein ว่าเป็น “นักปฏิรูปของแท้” หลังจากที่ McConnell ได้เดินทางมาเยือนพม่าและได้เข้าพบกับประธานาธิบดีพม่าในเดือนมกราคมที่ผ่านมา

บรรดาแขกผู้มีเกียรติจากต่างประเทศเหล่านี้ยังได้เข้าพบกับผู้ที่เป็นประดุจผู้นำฝ่ายค้านโดยพฤตินัยของพม่าด้วยเช่นกัน นั่นคือ อองซาน ซูจี ซึ่งยิ่งส่งเสริมฐานะอันโดดเด่นของเธอ ที่เป็น ผู้นำที่ได้รับความนิยมและความเคารพนับถืออย่างสูงในหมู่ชาวพม่าอยู่แล้ว เพียงเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมานี้เอง ที่แม้แต่ชื่อของอองซาน ซูจี ซึ่งต้องเสียเวลาส่วนใหญ่ของเวลา 20 ปีที่อยู่ในพม่าไปกับการ ถูกลงโทษกักบริเวณตลอดเวลา ยังไม่ได้รับอนุญาตให้กล่าวถึงในสื่อ ของรัฐบาลพม่า

แต่ในวันนี้ ใบหน้ายิ้มละไมของเธอปรากฏอยู่บนปกนิตยสาร ต่างๆ มากมายที่สามารถวางขายได้ทั่วไปในนครย่างกุ้ง

ประธานาธิบดี Thein Sein ตระหนักดีว่า การลงทุนและการเป็นที่ยอมรับจากชาติตะวันตก ที่เป็นยอดปรารถนาของเขานั้น เกือบจะขึ้นอยู่กับคำพูดของซูจี และบททดสอบใหญ่ครั้งต่อไปของ รัฐบาลพม่าว่ามีความจริงใจต่อการปฏิรูปจริงหรือไม่ คือการเลือกตั้ง ซ่อมในต้นเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย พรรคฝ่ายค้านที่มีซูจีเป็นผู้นำพรรค และเคยถูกยุบ พรรค แต่ได้กลับมาเป็นพรรคการเมืองที่ถูกกฎหมายอีกครั้ง จะส่ง ผู้สมัครราว 40 คน แม้แต่ตัวซูจีก็จะลงเลือกตั้งซ่อมด้วยในเขตเลือกตั้งย่านชานเมืองย่างกุ้ง

ถ้าหากว่าการเลือกตั้งซ่อมดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือ และซูจีชนะเลือกตั้งได้เข้าสภา ก็เชื่อแน่ได้เลยว่า รางวัลต่างๆ จากนานาชาติจะหลั่งไหลเข้าสู่พม่าอย่างไม่ขาด สายแน่นอน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพม่ายังต้องแสดงความจริงใจอีกมากในประเด็นนักโทษ การเมือง ถึงแม้จำนวนนักโทษการเมืองที่ได้รับการปล่อยตัวล่าสุด จะมีจำนวนมาก แต่จำนวนที่เหลืออยู่ก็ยังคงไม่น้อยไปกว่าก่อนเกิดการ “ปฏิวัติผ้าเหลือง” (Saffron revolution) และการปราบปรามพระสงฆ์และผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 2007-2008 นอกจากนี้กองทัพพม่าซึ่งเคย ปกครองพม่ามายาวนานตั้งแต่ปี 1962 จนถึงปีที่แล้ว ยังคงมีอำนาจสูงและสามารถทำการ ได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องฟังรัฐบาล ดังกรณีการจัดการกับชนกลุ่มน้อยตามที่กองทัพเห็นสมควร

การต่อสู้ระหว่างรัฐบาลกับชนกลุ่มน้อยต่างๆ ในพม่า เป็น ปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนเสถียรภาพของพม่ามาตลอดประวัติศาสตร์ พม่า อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้ก็มีความคืบหน้าด้วยเช่นกัน ในวันที่ 13 มกราคมปีนี้ รัฐบาลพม่าได้ลงนามข้อตกลงหยุดยิงกับกลุ่มกะเหรี่ยง Karen National Union (KNU) กะเหรี่ยง KNU กลุ่มนี้ สู้รบกับรัฐบาลพม่ามาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ที่พม่าได้เอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 1948 จนถึงทุกวันนี้ ทำให้การสู้รบระหว่างรัฐบาลพม่ากับกะเหรี่ยง KNU ถือว่าเป็นสงครามกลางเมืองที่ยาวนานที่สุด ในโลก หากสามารถสร้างสันติภาพถาวรกับกะเหรี่ยงกลุ่มนี้ได้จริง จึงจะถือเป็นความก้าวหน้าที่แท้จริงในประเด็นของชนกลุ่มน้อย ทุกฝ่ายยอมรับตรงกันว่า หากว่าพม่าจะสามารถฟื้นตัวและกลับมาเจริญรุ่งเรืองมั่งคั่งได้อีกครั้ง ก็จำเป็นต้องทำให้สงครามเล็กๆ กับชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มในพม่าเหล่านี้ยุติลงให้ได้เสียก่อน

แต่นั่นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย ขณะนี้สถานการณ์สู้รบได้เลวร้ายลงในรัฐคะฉิ่นทางเหนือของพม่า ซึ่งเป็นผลจากการที่กองทัพพม่าเปิดฉากรุกกลุ่ม Kachin Independence Army (KIA) ทำให้ชาวบ้าน 50,000 คนต้องอพยพหนีตายพลัดบ้าน และบางส่วนต้อง พลัดเมืองเข้าไปในจีน กลุ่มคะฉิ่น KIA กับรัฐบาลพม่ากำลังเปิดเจรจากันในจีน

ดังนั้น แม้ว่าจะปรากฏสัญญาณแห่งความหวังฉายออกมาหลายอย่าง แต่การจะทำให้พม่ากลายเป็นประเทศที่สงบสุข ก็หาใช่เรื่องที่จะประสบความสำเร็จได้โดยง่ายดาย

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง ดิ อีโคโนมิสต์   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us