"กงล้อประวัติศาสตร์ นั้นหมุนไปข้างหน้าเสมอ
ไม่มีใครสามารถหมุนกงล้อให้ย้อนกลับถอยหลังได้
คงมีเพียงความคิดของคนเท่านั้นที่บางครั้งหยุดนิ่ง บางครั้งก็ถอยหลังเข้าคลอง
แล้วก็ถูกกงล้อประวัติศาสตร์บดขยี้เอาในที่สุด"
ก็อาจจะกล่าวได้ว่าเรื่องของบริษัทมวลชนพัฒนานั้น เป็นเรื่องของความพยายามที่จะหมุนกงล้อประวัติศาสตร์
ให้ย้อนกลับไปสู่อดีตอีกครั้ง
กลับไปสู่ยุคที่ทหารมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับธุรกิจ
เป็นความสัมพันธ์ที่ฝ่ายหนึ่งทำหน้าที่ผู้ปกป้องเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งดำรงสภาพความมีอภิสิทธิ์หรือมีความสะดวก
ปลอดภัยในการดำเนินธุรกิจ ส่วนอีกฝ่ายก็ให้ความเกื้อกูลด้านการเงินเป็นค่าตอบแทนอีกฝ่ายหนึ่ง
และเงินที่ได้จากค่าตอบแทนนี้ ส่วนหนึ่งก็จะถูกแปรสภาพเป็นรากฐานค้ำจุนอำนาจ
เพื่อจะทำหน้าที่ปกป้องได้อย่างยาวนานและสมบูรณ์สืบไป
อย่างเช่นที่จะพบเห็นกันในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และสืบทอดต่อมาจนถึงยุคจอมพลถนอม
จอมพลประภาส
การเกิดขึ้นของบริษัทมวลชนพัฒนานั้น เป็นการเกิดขึ้นภายหลังจากที่สายสัมพันธ์เก่าระหว่างทหารกับธุรกิจได้ขาดสะบั้นไปแล้วเมื่อเกิดเหตุการณ์
14 ตุลาคม 2516 พร้อมๆ กับการพังทลายของรัฐบาลถนอม-ประภาส
แต่บริษัทมวลชนพัฒนาก็เกิดขึ้นมาแล้วในปัจจุบัน
เกิดขึ้นท่ามกลางคำถามว่าทหารกำลังจะทำอะไร?
บริษัทมวลชนพัฒนาจดทะเบียนก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2528
มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท มีผู้ถือหุ้นทั้งสิ้น 20 คน เป็นนายทหารนอกราชการจำนวนหนึ่ง
และอีกจำนวนหนึ่งยังปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งสำคัญๆ ของกองทัพบก มีเพียง
1 จาก 20 คนนี้เท่านั้นที่เป็นพลเรือน
เขาชื่อ ธาตรี ประภาพรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อบ วสุรัตน์
ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นอดีตไปแล้วทั้งคู่
บริษัทมวลชนพัฒนา ตั้งภารกิจของตนไว้ 5 ด้านใหญ่ๆ ด้วยกันคือ
ด้านที่ 1 เพื่อหารายได้มาใช้ในกิจการทหารกองหนุน และทหารผ่านศึก
ด้านที่ 2 เพื่อนำสติปัญญาของเหล่าทหารหาญกองหนุนกลับมารับใช้ชาติ
ด้านที่ 3 เพื่อร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ
ด้านที่ 4 เพื่อร่วมมือกับหน่วยงานรัฐในการผลิตอาวุธยุทธภัณฑ์
และด้านที่ 5 เพื่อป้องกันการผูกขาดทางธุรกิจของพ่อค้าอิทธิพลต่างๆ
โปรดสังเกตภารกิจด้านที่ 5 กันให้ดีๆ
"ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ถ้าเพื่อป้องกันการผูกขาดของกลุ่มพ่อค้าอิทธิพลต่างๆ
นั้น คือการที่บริษัทของทหารแห่งนี้เข้าไปทำการผูกขาดเองหรือเปล่า"
นักธุรกิจในวงการขายส่งผลิตภัณฑ์เครื่องจักรการเกษตรรายหนึ่งตั้งคำถาม
บริษัทมวลชนพัฒนาได้ตั้งเป้าหมายการเข้าไปดำเนินธุรกิจไว้ 4 สาย ได้แก่
สายกิจการขนส่ง สายกิจการอุตสาหกรรม สายกิจการค้าอาวุธ และสายกิจกรรมเกษตรกรรม
และสิ่งแรกที่ลงมือทำก็คือการค้าข้าวให้กับหน่วยงานทหารในกองทัพ
กิจการค้าข้าวเป็นกิจการที่บริษัทมวลชนพัฒนาร่วมมือกับ โอภา ตังพิทักษ์กุล
เจ้าของบริษัทอุดรข้าวหอม ซึ่งบุคคลผู้นี้มีความสัมพันธ์สนิทสนมเป็นอย่างดีกับพลโท
นพ พิณสายแก้ว ประธานบริษัทสุราทิพย์ เพื่อนสนิทของพลเอก มานะ รัตนโกเศศ
ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งของบริษัทมวลชนพัฒนา
ก็ว่ากันว่า โอภา ตังพิทักษ์กุล คนนี้เองที่เป็นแขนขาสำคัญของการทำธุรกิจค้าข้าว
และบริษัทมวลชนพัฒนายังมีแผนงานก้าวต่อไป คือการขยายธุรกิจไปสู่กิจการโรงสี
อาศัยแรงสนับสนุนจากบริษัทไรซ์เอ็นจิเนียริ่ง อีกด้วย
"ก็วางเป้าหมายจะเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องจักรโรงสีข้าวให้กับบริษัทไรซ์เอ็นจิเนียริ่ง
หวังตีตลาดด้านนี้ที่ญี่ปุ่นครองอยู่ ให้พังกันไปข้างหนึ่งทีเดียว…"
แหล่งข่าวคนหนึ่งเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ"
นอกจากนี้กิจการค้าปุ๋ย บริษัทมวลชนพัฒนาก็มีความสนใจไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
"มีนายทหารใหญ่คนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทมวลชนพัฒนา กำลังเอาข้อมูล
เรื่องตลาดปุ๋ยมาศึกษาวิเคราะห์กันอย่างจริงจัง เข้าใจว่าก็จะเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่บริษัททหารแห่งนี้จะเข้าไปมีบทบาท"
แหล่งข่าวคนเดิมเล่าให้ฟัง
ส่วนกิจการสายการขนส่งนั้น สิ่งที่บริษัทมวลชนพัฒนาได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว
ก็คือการทำธุรกิจการคาร์โก้โดยอาศัยความร่วมมือจากบริษัทการบินไทย สายการบินแห่งชาติ
บริษัทรอยัลคาร์โก้ และรัฐวิสาหกิจอีกบางแห่ง ซึ่งก็มีการทดลองส่งหมูชำแหละของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ไปประเทศสิงคโปร์แล้วหลายเที่ยว
ทั้งนี้มีองค์การผลิตอาหารสำเร็จรูปหรือ อสร. เป็นผู้สนับสนุนสำคัญ
"ในเรื่องหมูชำแหละแช่แข็งที่จะส่งออกนี้ มวลชนพัฒนาคงจะเข้ามาคุมเต็มที่
เพราะ อสร. ก็แย้มๆ ออกมาแล้วว่า ถ้าผู้ส่งออกรายใดที่ส่งหมูมาให้ อสร.
ชำแหละเกี่ยวข้องกับมวลชนพัฒนา อสร.ก็จะรับรองคุณภาพให้ แต่ถ้าจะส่งออกกันเองก็แล้วแต่
รับรองคุณภาพให้หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง…" นักธุรกิจในวงการอาหารแช่แข็งพูดกับ
"ผู้จัดการ"
นับเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์เหมือนกันที่บริษัทซึ่งไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรมากมาย
แต่สามารถมีบารมียิ่งเสียกว่าบริษัทคาร์โก้ทั้งหลายเสียอีก !
เพราะฉะนั้น ในเรื่องกิจการค้าอาวุธก็ยิ่งไม่ต้องพูดอะไรกันมาก
ขอให้บริษัทมวลชนพัฒนาก้าวเข้าไปจับจริงๆ เถอะ บรรดาเจ้ายุทธจักรวงการค้าอาวุธ
ย่อมต้องสยบให้ไม่มีปัญหา
"นอกจากจะขายอาวุธ เราอยากจะตั้งโรงงานสร้างอาวุธเองด้วย เพราะคิดว่าอุตสาหกรรมในบ้านเราทำได้ทุกอย่าง
เราจะให้เอกชนเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนป้อนให้แทนที่จะต้องซื้อจากเมืองนอกทั้งหมด"
พลอากาศเอก ประภา เวชปาน กรรมการผู้จัดการบริษัทมวลชนพัฒนา ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง
แต่นั่นก็คงเป็นเรื่องในอนาคตเหมือนๆ กับอีกหลายโครงการที่บริษัทมวลชนพัฒนาตั้งเป้าหมายไว้
ที่ดำเนินการไปแล้วจริงๆ คงมีเพียงการค้าข้าวและการทดลองส่งหมูชำแหละไปสิงคโปร์
น่าจะพูดได้ว่าล้วนเป็นธุรกิจที่ยังไม่สามารถให้ผลตอบแทนได้เป็นกอบเป็นกำ
เพียงพอแก่การบรรลุภารกิจ
แต่มวลชนพัฒนาก็มีรายได้เป็นกอบเป็นกำแล้วในปัจจุบัน
โดยเฉพาะรายได้จากเหล้า ทั้งแม่โขง กวางทอง ของค่ายสุรามหาราษฎร และเหล้าสกุลหงส์ทุกตัวของค่ายสุราทิพย์
ทั้งนี้ก็ด้วยการทำหน้าที่เป็นบริษัทกลางจัดจำหน่ายเหล้าของทั้ง 2 ค่าย
ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ได้ทำหน้าที่จัดจำหน่ายแต่ประการใด เพียงแต่คอยรับรู้ยอดการจัดจำหน่ายและชักค่าหัวคิวเสียมากกว่า
มีคำยืนยันจากหลายทางว่า สำหรับรายได้จากการเป็นผู้ควบคุมการจัดจำหน่ายเหล้าของบริษัทมวลชนพัฒนานั้น
ก็คือขวดละ 50 สตางค์ พอๆ กับที่เหล้าแม่โขงเคยต้องจ่ายให้กับทหารใหญ่บางคน เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว
และยังมีเงินกินเปล่าอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องจ่ายกันทุกเดือน ซึ่งได้กำหนดให้ค่ายสุรามหาราษฎรจ่ายเดือนละ
8 ล้านบาท ค่ายสุราทิพย์เดือนละ 10 ล้านบาท และทั้งหมดนี้ก็ได้มีการจ่ายเป็นทุนดำเนินงานของบริษัทมวลชนพัฒนาไปแล้วมากกว่า
3 เดือน
หรือพูดกันง่ายๆ บริษัทมวลชนพัฒนารับเงินกินเปล่าไปเป็นทุนรองรังแล้วอย่างน้อย
ๆ ก็ 54 ล้านบาทไม่รวมรายได้อีกขวดละ 50 สตางค์ ซึ่งก็คาดว่าจะตกเดือนละ
10 ล้านบาทที่แยกต่างหาก
ก็คงจะหาธุรกิจดีๆ อย่างนี้ไม่มีอีกแล้วในโลก
และจากผลประโยชน์จำนวนมหาศาลของยุทธจักรน้ำเมานี้เอง ที่เป็นจุดกำเนิดของบริษัทมวลชนพัฒนา
จนเมื่อเป็นมวลชนพัฒนาแล้วนั่นแหละ เป้าหมายด้านอื่นๆ จึงได้ตามเข้ามาสมทบ กลายเป็นไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์จากเหล้าอย่างเดียวอีกต่อไป
เหล้านั้นเป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นฐานค้ำจุนอำนาจสำคัญฐานหนึ่งของกลุ่มทหารมาตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์และสืบทอดมาจนถึงยุคถนอม-ประภาส
ซึ่งก็เป็นยุคที่วงการเหล้ายังไม่ได้แตกแยกเป็น 2 ค่ายดังเช่นปัจจุบัน
แต่เมื่อมาถึงจุดที่ต้องแตกแยก โดยค่ายหนึ่งมีกลุ่มเตชะไพบูลย์ในนามบริษัทสุรามหาราษฎรยึดครองการผลิตและจำหน่ายแม่โขงกวางทอง
ส่วนอีกค่ายกลุ่มของเถลิง เหล่าจินดา ก็ได้สิทธิ์ในการผลิตเหล้าผสมตระกูลหงส์
12 ตัวจากโรงเหล้า 12 เขตทั่วราชอาณาจักร
ปัญหาการแข่งขันระหว่างเหล้า 2 ค่าย ก็อุบัติขึ้นพร้อมกับทวีความรุนแรงขึ้นอย่างช่วยไม่ได้
ธุรกิจค้าเหล้าที่ไม่ต้องมีอิทธิพลของ "สี" มายุ่งเกี่ยว ตั้งแต่ขุนศึกคนสุดท้ายคือพลเอก
กฤษณ์
สีวะรา ถึงแก่กรรมไปแล้ว ก็กลายเป็นว่า "สี" จะต้องเข้ามาอีกครั้งด้วยข้ออ้างว่าเข้ามาเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติหรือค่าสิทธิ์ที่ทั้ง
2 ค่ายจะต้องจ่ายให้กับรัฐ ซึ่งอาจจะต้องเสียหายไปเพราะการแข่งขันที่จำเป็นต้องงัดกลยุทธ์ทุกรูปแบบมาใช้ในการหักโค่นกันให้พังไปข้างหนึ่ง
ทั้งนี้ฝ่ายที่พยายามดึง "สี" เข้ามาในวงการเหล้าอีกครั้ง ก็คือฝ่ายสุราทิพย์เจ้าของเหล่าสกุลหงส์
เจตนาจริงๆ ของสุราทิพย์ในการดึง "สี" หรือบริษัทมวลชนพัฒนา
เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการค้าเหล้านั้น เป็นเจตนาที่ต้องการจะให้มวลชนพัฒนาเป็นกลไกในการแยกตลาดแม่โขงกวางทองออกจากตลาดเหล้าผสมตระกูลหงส์
โดยจะให้แม่โขงกวางทองขายในราคาที่แพงกว่า เนื่องจาก "หงส์" จะลดราคาลงมาขายถูก
ๆ ไม่ได้ เพราะเงินที่ทุ่มประมูลโรงเหล้าและใช้สร้างโรงงาน 12 โรงของกรมสรรพสามิตนั้นกลายเป็นต้นทุนที่ค้ำคอ
"หงส์" เสียแล้ว
"คิดว่าวิธีที่ดีที่สุดเพื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายทำธุรกิจของตนไปได้อีกทั้งรัฐก็จะได้ประโยชน์จากค่าสิทธิ์เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็คือ
จะต้องมีการจัดตั้งบริษัทกลางทำหน้าที่รับผิดชอบเรื่องการจัดจำหน่ายเหล้าของทั้ง
2 บริษัท เพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันจากชั้นเชิงการแข่งขัน"
พลโท นพ พิณสายแก้ว อดีตผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายกำลังพล ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการกลุ่มบริษัทสุราทิพย์ แสดงความเห็นไว้ตั้งแต่ต้น
ๆ ปี 2527 อันเป็นช่วงเดียวกับที่การเจรจาเรื่องบริษัทกลางจัดจำหน่าย ระหว่างเจ้าของธุรกิจเหล้า
2 ค่ายกับกลุ่มทหาร ที่ต่อมากลายเป็นส่วนหนึ่งของผู้ก่อตั้งบริษัทมวลชนพัฒนากำลังเริ่มต้นพอดี
โดยมีอบ วสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในช่วงนั้น ให้การสนับสนุนแนวทางนี้อย่างออกหน้าออกตา
ผลสุดท้ายการเจรจาที่ต้องใช้เวลาเกือบ 1 ปี ก็ยุติลงโดยกลุ่มสุรามหาราษฎรต้องยินยอมคล้อยตามเพราะความที่ต้องเห็นแก่
"สี"
บริษัทมวลชนพัฒนาซึ่งมีนายทหารใหญ่ถือหุ้นร่วมกับพลเรือนที่เป็นเลขานุการของ
อบ วสุรัตน์ ก็ก้าวเข้ามาเป็นคนกลางในธุรกิจเหล้าดังที่ทราบๆ กัน
"เราก็หวังว่ารายได้ของบริษัทกลางนี้จะได้นำไปใช้ในกิจการทหารกองหนุนคือ
โครงการกองหนุนเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งจะหวังงบประมาณจากรัฐบาลก็คงจะได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
ก็ต้องอาศัยรายได้จากทางนี้" พลโท นพ พิณสายแก้ว พูดถึงวัตถุประสงค์ของการเข้ามาของบริษัทกลางฯ
โครงการกองหนุนเพื่อความมั่นคงแห่งชาตินี้ ในปัจจุบันผู้ที่รับผิดชอบโครงการก็คือ
พลเอก มานะ รัตนโกเศศ อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ที่เพิ่งเกษียณจากราชการหมาดๆ
ก็เป็นโครงการที่หากจะเรียกกันตามภาษาการเมืองแล้วก็คือ การเข้าไปจัดตั้งมวลชนในกลุ่มที่เคยรับราชการทหารมาก่อน
เพื่อให้กำลังส่วนนี้สามารถเรียกกลับมารับใช้ชาติได้ทุกเวลาเมื่อชาติต้องการ
เป็นงานจัดตั้งที่โดยหลักการกว้างๆ แล้วก็ไม่ต่างจากการจัดตั้งลูกเสือชาวบ้าน
หรือกลุ่ม ทส.ปช. อย่างที่เคยทำกัน
"เป็นงานที่พลเอก มานะ รัตนโกเศศ กับพลเอก จุไท แสงทวีป รองผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบัน
เป็นตัวตั้งตัวตี และว่ากันว่า พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ก็สนับสนุนอย่างมาก"
แหล่งข่าวในแวดวงสีเขียวยืนยัน
พลเอก อาทิตย์ , พลเอก มานะ และพลเอก จุไท นั้น ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเตรียม
ทบ. รุ่น 5 ด้วยกัน และก็สนิทกันเป็นพิเศษ
เมื่อพิจารณากันตามหลักตรรกวิทยาแล้ว หลายฝ่ายจึงเชื่อว่า พลเอก อาทิตย์
กำลังเอก น่าจะรู้เรื่องเกี่ยวกับบริษัทมวลชนพัฒนาเป็นอย่างดี แม้ว่าโดยเปิดเผยพลเอก
อาทิตย์ จะไม่เคยแสดงลักษณะพาดพิงมาถึงบริษัทนี้เลยก็ตาม
"เพราะฉะนั้น ในจำนวนรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัทมวลชนพัฒนา จึงมีผู้ถือหุ้นอยู่
2 ประเภท คือประเภทที่ร่วมรู้เห็นและร่วมกันก่อตั้งบริษัท กับอีกประเภทหนึ่งคือ
ไม่รู้ไม่เห็นเลย แต่กลับต้องถูกเอาชื่อไปใส่เป็นผู้ถือหุ้น เพื่อให้ดูขลัง
อย่างเช่น พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ และพลโท จรวย วงษ์สายัณห์ เป็นต้น"
แหล่งข่าวในแวดวงสีเขียวคนเดิมเล่าต่อ
ก็มีคำถามอยู่ว่า เมื่อถูกเอาชื่อไปใช้โดยที่เจ้าตัวไม่ได้รู้เห็นแล้ว ทำไมจึงยินยอมให้ทำได้โดยไม่โดดออกมาปกป้องตัวเอง
"โธ่…ก็ใครจะไปแน่ใจว่าเรื่องนี้ นายอาทิตย์สั่งหรือไม่ได้สั่ง รับรู้หรือไม่ได้รับรู้
ถ้านายไม่ได้สั่งหรือไม่ได้รับรู้เลย ออกมาปกป้องตัวเองก็คงจะทำได้อยู่ แต่ถ้านายเป็นผู้สั่งหรือนายรับรู้มาตั้งแต่ต้น
ขืนออกมาก็มีแต่จะทำให้นายเหม็นหน้าเสียเปล่าๆ ครั้นจะถามนายให้ชัดเจน เรื่องนี้ก็ต้องดูสภาพเงื่อนไขด้วย"
แหล่งข่าวสีเขียวอีกคนอธิบาย
ที่จริงในเรื่องที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการตั้งบริษัทมวลชนพัฒนานั้น
ยังมีการพูดกันในเชิงวิเคราะห์ต่อไปว่า ไม่น่าจะมีเพียงความต้องการจะหารายได้มาใช้ในโครงการกองหนุนเพื่อความมั่นคงแห่งชาติเพียงอย่างเดียว
หากแต่ตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นฐานทางการเงินสำหรับการก่อตั้ง "พรรคทหาร"
เพื่อเล่นการเมืองในระบบรัฐสภาอีกด้วย
ดูเหมือนการประกาศตัวว่าจะลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งผู้ว่า กทม. ของพลเอก มานะ
รัตนโกเศศ จะเป็นสิ่งที่ทำให้ข้อวิเคราะห์นี้มีสีสันและน้ำหนักมากยิ่งขึ้น
และถึงแม้พลเอก มานะ จะถูก "ไฟแดง" จากพลเอก อาทิตย์ ในเรื่องการลงเลือกตั้งไปแล้ว
ความเชื่อในเรื่อง "บริษัทมวลชนพัฒนาเพื่อพรรคทหาร" ก็หาได้จบลงไปไม่
"ยิ่งถ้าพิจารณาในแง่ที่ทหารใหญ่หลายคนในกองทัพ มีความขัดแย้งอย่างรุนแรง
กับพรรคการเมืองบางพรรคซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลชุดปัจจุบันเสียด้วยแล้ว เรื่องพรรคทหารก็ดูเหมือนจะมีความเป็นไปได้มาก"
นักการเมืองคนหนึ่งวิสัชนา
"ทหารจำเป็นจะต้องมีพรรคการเมืองของตนเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์และแนวความคิดของทหาร
โดยอาศัยรัฐสภาเป็นเวที เพราะมิฉะนั้นแล้ว อำนาจของทหารก็อาจจะถูกลิดรอนไปด้วยเมื่อระบบรัฐสภาเติบโตพร้อมๆ
กับการเติบโตของพรรคการเมือง ซึ่งทหารมองว่าเป็นพรรคของชนชั้นนายทุน เข้ามาเล่นการเมืองเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจ"
นายทหารยศพันเอกคนหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ซึ่งที่จริงทหารก็เคยเข้าไปมีบทบาทในพรรคการเมืองหลายพรรค
หรืออย่างเช่นพรรคปวงชนชาวไทยนั้น ก็เป็นพรรคที่ทหารเป็นผู้ก่อตั้งและใช้ทุนรอนของทหารหนุนหลังโดยผ่านทางพลตรีระวี
วันเพ็ญ ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวสาร กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ. รมน.)
และครั้งหนึ่งเคยถูกขนานนามว่าเป็นหัวขบวนของกลุ่ม "ทหารประชาธิปไตย"
แต่เผอิญพรรคปวงชนชาวไทยเป็นพรรคที่ไม่ประสบความสำเร็จอย่างมากๆ จากการเลือกตั้งทั่วไปในครั้งที่ผ่านมา
พรรคทหารพรรคนี้จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะเสนอความคิดนโยบายของกองทัพเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติและของกองทัพได้อย่างมีศักยภาพ
มีนายทหารหลายคนได้ให้ข้อสรุปว่า "เป็นเพราะยังขาดฐานการเงินที่เข้มแข็ง"
จึงสู้พรรคการเมืองของชนชั้นนายทุนอย่างเช่น กิจสังคม ชาติไทย หรือ ประชาธิปัตย์ไม่ได้
ก็เป็นข้อสรุปบนพื้นฐานความคิดแบบเก่าๆ ที่คิดกันว่า เมื่อจะเล่นการเมืองก็จะต้องมีเงินให้หนา
ๆ เข้าไว้ เรื่องอื่นๆ เป็นปัจจัยย่อย
ผลสุดท้ายแนวความคิดเรื่องการตั้งพรรคทหารแต่ยังขาดเงินหนุนก็เลยมาลงตัวพอดีกับแนวความคิดเรื่องการตั้งบริษัทมวลชนพัฒนาขึ้นมาหาเงิน
สำหรับใช้ในโครงการกองหนุนฯ ซึ่งก็คงเป็นโครงการที่จะใช้เงินเพียง 1 เปอร์เซ็นต์
ของรายได้ที่เข้ามาทั้งหมด
พูดกันเข้าใจง่ายๆ ก็คือ มวลชนพัฒนา ยังมีเงินเหลือพอจะเอาไปทำอย่างอื่นได้อีก
เพียงแต่ก็เหลือไม่มากนัก ถ้าจะมีลำพังรายได้จากเหล้าอย่างเดียว เพราะก็คิดกันว่า
"พรรคทหาร" ถ้าจะตั้งกันแล้วก็จะต้องเป็นพรรคที่พร้อมจะโตได้ทันที
จึงจะต้องมีฐานรายได้ จากธุรกิจแขนงอื่นๆ นอกเหนือจากเหล้า
การก้าวเข้าไปทำธุรกิจค้าข้าว ธุรกิจขนส่ง การค้าอาวุธ และตั้งโรงงานผลิตอาวุธ
จึงต้องคิดวางแผนกันอย่างเร่งด่วน เพื่อจะได้มีฐานการเงินที่โต พอจะสนับสนุนพรรคการเมืองได้อย่างเต็มกำลังต่อไปในอนาคต
ก็เป็นแนวความคิดที่พยายามจะแขวนคอตัวเองแท้ๆ
"ลำพังแต่เข้าไปยุ่งในเรื่องเหล้า ภาพของทหารก็เสียหายมากแล้ว โดยเฉพาะในสายตาประชาชน
นี่ยังจะเข้าไปยุ่งกับธุรกิจอื่นๆ อีกมาก ความไม่พอใจก็มีแต่จะยิ่งขยายกว้างขึ้น
เพราะทหารเข้าไปก็ต้องอาศัยบารมีอิทธิพลที่มี มันก็เหมือนกับไปรังแกธุรกิจที่เขาทำอยู่เดิม
โดยที่เขาไม่มีบารมีหรืออิทธิพล เขาเป็นนักธุรกิจจริงๆ" นักธุรกิจคนหนึ่งวิจารณ์ออกมาตรง
ๆ
การตั้งบริษัทมวลชนพัฒนานั้น โดยชื่อทหารเองก็คงต้องการจะบอกว่า "เพื่อพัฒนามวลชน"
แต่ก่อนที่จะ "พัฒนามวลชน" ทหารใหญ่บางคนน่าจะลองทบทวนสักนิดว่าสมควรหรือไม่ที่จะต้องมีการพัฒนาความคิดของทหารเสียก่อน
อย่างน้อยๆ ก็ความคิดในเรื่องนี้แหละ