ในแวดวงนายแบงก์ไทย นอกจากบุญชู โรจนเสถียร ก็เห็นจะมี ชนะ รุ่งแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่
ของธนาคารกสิกรไทยนี่แหละที่ให้ความสนใจด้านการเมืองมาตลอด และจะว่าไปเข้ามาขลุกกับการเมืองถึงขั้นลาออกจากแบงก์ก่อนบุญชู
โรจนเสถียร เสียด้วยซ้ำ
ชนะ รุ่งแสง ลาออกจากธนาคารกสิกรไทยครั้งแรก เมื่อปี 2511 โดยเข้าสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล
กรุงเทพฯ ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งก็ได้รับเลือกตั้ง รวมทั้งได้ดำรงตำแหน่งเทศมนตรีเทศบาลนครกรุงเทพฯ อีกด้วย
ลาออกครั้งที่ 2 เมื่อสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส. กรุงเทพฯ เขต 8 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์เจ้าเก่า เมื่อปี
2519 ก็ได้รับการเลือกตั้งสมใจนึก แต่เป็น ส.ส. ได้ไม่กี่วัน เกิดเหตุการณ์
6 ตุลาคม และรัฐประหาร โดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า คณะปฏิรูป จึงหมดสภาพการเป็น
ส.ส. ไปโดยปริยาย
ลาออกครั้งที่ 3 ปีนี้ เพื่อลงเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์เหมือนเคย
โดยจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้
บางคนอาจจะข้องใจว่า เอ๊ะ…ลาออกจากธนาคารแบบนี้ ทำไมกลับเข้าไปทำงานได้อีกเรื่อยๆ
ก็คงอธิบายสั้นๆ ว่า ผู้ใหญ่ในแบงก์อนุญาตให้ลาออกได้ โดยมีเงื่อนไขว่าหากได้รับการเลือกตั้งจนกระทั่งหมดภาระหน้าที่ในฐานะนักการเมืองหรือ
"สอบตก" ให้กลับเข้ามาทำงานที่แบงก์ใหม่นะ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชนะ รุ่งแสง เป็นเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงของธนาคารกสิกรไทย
ที่เพิ่งจะเซ็นสัญญา 10 ปีกับธนาคารไปหมาดๆ สัญญานี้ระบุว่า ชนะ รุ่งแสง
มีอายุงานเหลือในธนาคารกสิกรไทยไปจนถึงปี 2538 หรือเมื่อมีอายุได้ 65 ปี
โดยมีรายได้และสิทธิประโยชน์ที่ไม่สามารถเรียกได้ว่าเงินเดือน สูงสมฝีมือ
สมศักดิ์ศรี
ทีนี้ถ้ามาดูประวัติการกระโจนเข้าสู่แวดวงการเมือง ถือได้ว่า ชนะ รุ่งแสง
รักเดียวใจเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์มาตลอด และ 2 ครั้งที่ผ่านมา ต่างก็ประสบความสำเร็จ คือ
ได้รับเลือกตั้ง รวมทั้งก็ไม่ได้เป็นนักการเมืองที่ลงสมัครอย่างพร่ำเพรื่อ
จึงพออ่านออกว่างานนี้ นักบัญชีอย่างชนะ รุ่งแสง คงคำนวณแล้วว่าโอกาสพลาดยาก
เพราะเสียงสนับสนุนจากผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์เต็มที่ แม้กระทั่ง "พี่หาญ"
พลเอกหาญ ลีนานนท์ ที่ขยับท่าว่าจะลงเลือกตั้งครั้งนี้แน่ ยังถอยฉากให้ "น้องชนะ"
เลย
เสียดายวันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม "ผู้จัดการ" ไปนั่งเฝ้าที่ศูนย์การค้าบางซื่อ
เพราะอยากฟังฝีปากนายแบงก์อาชีพที่พิสมัยการเมืองท่านนี้ ก็บังเอิญหลอดเสียงท่านเกิดอักเสบ
จึงขึ้นมาพูดได้ไม่กี่คำ แต่ก็พอสรุปได้ว่าลีลาการพูด การให้น้ำหนักในเรื่องราวที่สำคัญชัดเจน
และที่ดีที่สุดไม่มีการพูดโจมตีคู่แข่งเลย
"นโยบายของผมในการที่จะบริหารกรุงเทพมหานครก็ขึ้นอยู่กับ 6 เป้าหมาย
4 แนวทางและ 10 มาตรการ ซึ่งผมเชื่อว่าสามารถทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนกรุงเทพฯ
ดีกว่านี้" ชนะ รุ่งแสง พูดเน้น แต่ไม่แจงว่าเจ้า 6-4-10 ที่ว่านั้น
คืออะไร ที่จริง "ผู้จัดการ" มี…เผอิญเนื้อที่ไม่พอ
คงต้องรอจนถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2528 นี้ จึงจะรู้ได้ว่านายแบงก์ผู้มีสโลแกนในการเลือกตั้งว่า
"เลือกชนะ เพื่อชัยชนะของประชาชน" หมายเลข 4 พรรคประชาธิปัตย์
จะได้รับการเลือกตั้งให้ได้ดั่งหวัง… ให้สมตั้งใจ… ให้คลายหมองหม่น หรือเปล่า
เพราะคู่แข่งน่ากลัวไม่น้อย
โชคดีครับ