Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์16 กุมภาพันธ์ 2555
“ศิริราช”เอฟเฟกต์ รพ.ไทยปรับตัวดัน “เฮลท์ฮับ”             
 


   
search resources

Hospital
โรงพยาบาลศิริราช




การประกาศตัวให้บริการในรูปแบบเอกชนอย่างเต็มตัวของโรงพยาบาลศิริราช ถือเป็นการสร้างจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของธุรกิจโรงพยาบาลในเมืองไทย และกลายเป็นโมเดลที่ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนเฝ้าติดตาม

เพราะหากพูดถึงการให้บริการ ร.พ.รัฐ ต้องยอมรับว่า แทบไม่ต้องนึกถึงเทคโนโลยีการรักษาใหม่ๆ เพราะเอาแค่บริการคนเจ็บป่วยให้ทันและเพียงพอ ก็นับว่าเจ๋งสุดยอดแล้ว การประกาศตัวของ ร.พ.ศิริราช ในการให้บริการแบบเอกชน จึงเท่ากับเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมต่อวงการแพทย์เมืองไทยอย่างมาก

ลำพังชื่อเสียงของ “ศิริราช” นั้นก็เรียกได้ว่ามีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว การันตีคุณภาพเต็มร้อย ยิ่งเมื่อผนวกกับอัตราค่าบริการที่เบื้องต้นว่ากันว่าอาจจะย่อมเยากว่าเอกชนราว 20-30% งานนี้ก็ทำให้หลายคนในวงการมองว่าเป็นการจุดปะทุให้การแข่งขันในธุรกิจ ร.พ.เอกชนเดือดพล่านยิ่งขึ้นไปอีก เพราะนั่นเท่ากับว่า ร.พ.เอกชนน้องใหม่รายนี้จะเข้ามาร่วมเอี่ยวเค้กที่มีมูลค่าเกือบแสนล้าน

“ถือเป็นมิติใหม่ของการก้าวสู่การเปลี่ยนแปลง แต่อย่ามองว่าศิริราชจะเข้ามาแข่งกับเอกชน ตรงข้ามเป็นการเตรียมตัวเพื่อรองรับการแข่งขันในอนาคต โดยเฉพาะ AEC ที่จะเกิดขึ้นปี 2015 มากกว่า”

วิชัย ทองแตง ประธานกรรรมการ เครือโรงพยาบาลพญาไท และเปาโล เมโมเรียล กล่าว และยอมรับว่า แม้ผลพวงจากการขยับของศิริราชสู่เส้นทางธุรกิจ ร.พ.เอกชนในวันนี้ อาจจะเข้ามาแย่งมาร์จิ้นไปส่วนหนึ่ง โดยสะท้อนได้จากราคาในตลาดหุ้นช่วงนี้ แต่โดยภาพรวมไม่กระทบมาก อีกทั้งยังจะช่วยยกระดับและเพิ่มทางเลือกในวงกว้างขึ้น และเชื่อว่าจะส่งผลให้ธุรกิจสุขภาพจากนี้ไปเติบโตอย่างเด่นชัด

สิ่งที่ต้องจับตามองต่อไปจากก้าวย่างของศิริราชในครั้งนี้ คือ จะกระตุ้นให้โรงเรียนแพทย์ และ ร.พ.เอกชนต้องปรับตัวจากนี้ไป โดยเห็นว่า ร.พ.เอกชนควรจะหันมาผนึกกำลังกันเพื่อสร้างความแข็งแกร่งมากขึ้น และไม่อยากให้โฟกัสเฉพาะการแข่งขันในประเทศ ต้องมองไปถึงการแข่งขันระดับภูมิภาคและระดับโลก

เนื่องจากในอีก 3 ปีข้างหน้า AEC จะเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ จำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้นจาก 70 ล้านคน เป็น 600 ล้านคน ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงต้องเร่งปรับตัวรับมือสิ่งเหล่านี้ให้ทัน

ดังเช่น การควบรวมกิจการของเครือ ร.พ.พญาไท เข้ากับเปาโล เมโมเรียล และกรุงเทพดุสิตเวชการ ในปีที่ผ่านมา วิชัย บอกว่า เป็นทั้งการปรับตัวและการขับเคลื่อน เพื่อเตรียมพร้อมกับการแข่งขันในสนามรบที่กว้างขึ้น เพื่อรองรับสเต็กมูลค่ามหาศาล และถือเป็นโมเดลที่ทุกประเทศในเอเชียแปซิฟิกกำลังจับตามอง เนื่องจากสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ ร.พ.ในเมืองไทย จะเห็นได้จากนักลงทุนหันมาสนใจซื้อหุ้นกลุ่มนี้มากขึ้น จนทำให้มาร์เกตแคปทะลุหุ้นของออสเตรเลียไปแล้ว

วิชัย ยังเชื่อว่า อนาคตจะเห็น ร.ร.แพทย์และ ร.พ.รัฐ ปรับตัวลงมาให้บริการโมเดลเดียวกับศิริราชมากขึ้น ส่วน ร.พ.เอกชน นอกจากแนวทางการควบรวมแล้ว ยังต้องมองหาแนวทางเสริมศักยภาพเฉพาะของตนเองให้เด่นชัดด้วย อย่างการเป็นสเปเชียลลิสต์เฉพาะด้านต่างๆ เช่น ร.พ.ตา หรือหูคอจมูก เป็นต้น หรือการปรับตัวสู่การแพทย์ทางเลือก (Alternative Medicine) ก็เป็นสิ่งที่สามารถจะทำได้และเกิดได้เร็ว

“แม้การเคลื่อนไหวของศิริราชครั้งนี้ จะสร้างแรงกระเพื่อมบ้าง แต่ปีนี้เครือ ร.พ.พญาไทและเปาโล เมโมเรียล ยังคงตั้งเป้าเติบโตเป็น 2 หลักแน่นอน ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากแนวทางการควบรวมที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ”

วิชัย ยืนยัน และบอกว่า แผนหลังรวมตัวจากนี้ นอกจากจะทำให้เกิดความเข้มแข็งจนกลายเป็นเครือ ร.พ.กลุ่มใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแล้ว ความแข็งแกร่งนี้ยังช่วยให้มีศักยภาพมากพอที่จะเข้าไปซื้อธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพเพิ่มทั้งในและต่างประเทศ แต่เบื้องต้นยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ในตอนนี้

ในส่วนของ AEC ที่ประเทศไทยวางไว้ว่าจะโฟกัสในธุรกิจท่องเที่ยว และการบิน ส่วนสิงคโปร์ วางตัวเป็นเมดิคัลฮับ (Medical Hub) และไอทีนั้น ส่วนตัวไม่ค่อยเห็นด้วยกับการวางจุดยืนเช่นนี้ เพราะเป็นการกำหนดจุดยืนไม่ค่อยตรงกับศักยภาพของประเทศ

“เรื่องท่องเที่ยวถือว่าถูกทาง แต่เมดิคัลฮับ เมืองไทยก็น่าจะเป็นหนึ่งเช่นกัน”

วิชัย กล่าวว่า แม้นโยบายจะกำหนดจุดยืนเช่นนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเมืองไทยจะเดินไปสู่จุดนั้นไม่ได้ ไทยสามารถจะก้าวสู่การเป็น wellness of Asia ได้ โดยวันนี้ต้องเริ่มเปลี่ยนมาใช้คำว่า Health Hub แทน เพราะเป็นมากกว่าเมดิคัลฮับ พร้อมกันนี้ยังต้องสร้างสิ่งแวดล้อมใหม่สู่ทิศทางของสุขภาพ เช่น หันมาสู่ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น

“ธุรกิจโรงพยาบาลต้องเปิดแนวรบใหม่ ขายสิ่งที่รวมความเป็นไทย เพราะเป็นสิ่งที่เรามีเต็มร้อย ทั้งน้ำใจ โอบอ้อมอารี แต่เราไม่ได้เอามาสร้างเป็นจุดแข็ง เพื่อสร้างความโดดเด่นขึ้นมา”

วิชัย เชื่อว่า หากเมืองไทยเข้ามาเล่นบนเกมนี้ จะช่วยดึงดูดเม็ดเงินได้มหาศาล โดยคาดว่าเม็ดเงินอุตสาหกรรม ร.พ.หลังเปิด AEC น่าจะทะลุ 100,000 ล้านบาท จากปัจจุบันเม็ดเงินอยู่ประมาณเกือบแสนล้านบาท

ส่วนเรื่องการโอนหุ้นนั้น วิชัย บอกว่า เป็นการโอนให้ลูกทั้ง 4 คน จากเดิมถือคนละ 8 ล้านหุ้น เป็น 12.5 ล้านหุ้นต่อคน รวมเป็น 50 ล้านหุ้น เหตุผลในการโอนไม่มี และไม่ใช่ของขวัญ เป็นสิ่งที่พ่อให้ลูก และจะทยอยให้ต่อเนื่องเรื่อยๆ
“ผมอายุ 65 แล้ว ถ้าไม่ทยอยโอนให้วันนี้ แล้วจะให้วันไหน”

ขณะที่ นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริหารกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี ให้มุมมองกับสื่อในเรื่อง ร.พ.ศิริราช ว่าถือเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค และไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของ ร.พ.เอกชน เพราะปัจจุบันฐานลูกค้า ร.พ.เอกชนก็รับไม่ไหวอยู่แล้ว เพราะการเลือกใช้บริการโรงพยาบาลมีหลายวิธี ลูกค้าบางคนติดแพทย์ บางคนเลือกที่การให้บริการ ซึ่งขึ้นอยู่กับความพึงพอใจ ขณะเดียวกันภาคเอกชนต้องปรับตัวรับมือกับการแข่งขันด้วย

อย่างไรก็ตาม พลันที่มีการเปิดตัว ร.พ.เอกชนของศิริราชนั้น ได้ส่งผลทางด้านจิตวิทยาต่อหุ้นของ ร.พ.เอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทันที เนื่องจากการเปิดให้บริการในรูปแบบ ร.พ.เอกชน ของศิริราช ซึ่งมีจุดแข็งด้านบุคลากรแพทย์ จะสร้างความกังวลให้กับ ร.พ.เอกชน เนื่องจากเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ป่วยและมีโอกาสถูกแย่งฐานลูกค้าเงินสดบางส่วน

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์หลักทรัพย์มองว่าต้องรอดูผลตอบรับของลูกค้าที่มาใช้บริการเนื่องจากจุดเด่นของ ร.พ.เอกชน คือการให้บริการสะดวก-รวดเร็ว ทั้งนี้ แม้ SiPH จะมีอัตราค่ารักษาต่ำกว่า แต่ถ้าไม่สามารถตอบโจทย์ความรวดเร็วในการให้บริการได้มองว่าไม่น่ากระทบ ร.พ.เอกชนระดับบน (Premium Hospital) เนื่องจากลูกค้าของ ร.พ.เอกชนระดับบน เน้นบริการมีคุณภาพสูงและสะดวกรวดเร็ว

SiPH สร้างเซกเมนต์ใหม่

การเปิดตัวของ “โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์” (หรือ SiPH) โรงพยาบาลแห่งใหม่ในสังกัดคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งกำลังเป็นน้องใหม่ในธุรกิจโรงพยาบาล แม้จะเป็นน้องใหม่แต่ได้พ่อใหญ่อย่าง “โรงพยาบาลศิริราช” มาช่วยดูแลทุกอย่างก็ดูเหมือนจะง่ายกว่าที่คิด

นอกจากนี้ การได้ “รศ.นพ.ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน” มาเป็นผู้อำนวยการ “SiPH” ทุกอย่างยิ่งดูง่ายใหญ่ ด้วยประสบการณ์ของ “รศ.นพ.ประดิษฐ์” ในการเข้าบริการ “The Heart by Siriraj” หรือศูนย์ตรวจรักษาโรคหัวใจ ซึ่งศูนย์นี้จะทำหน้าที่ตรวจรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจขั้นสูง ในรูปแบบการให้บริการที่ไม่ได้แตกต่างจาก ร.พ.เอกชนเลยทีเดียว

เรียกได้ว่า “The Heart by Siriraj” คือ ศูนย์ต้นแบบในการบริหารงานของ “SiPH”

รศ.นพ.ประดิษฐ์ วาง “SiPH” ให้เป็นทางเลือกใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยในปัจจุบัน โดยเน้นการบริหารที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่ “SiPH” ได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็วเช่นเดียวกับบริการของ ร.พ.เอกชน

ด้วยทำเลที่ตั้งซึ่งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถัดจาก ร.พ.ศิริราช ทำให้มีภูมิทัศน์ที่งดงาม ระบบการคมนาคมสะดวกสบาย อาคารมีความสูง 14 ชั้น มีพื้นที่จอดรถมากกว่า 1,000 คัน ภายในอาคารประกอบด้วยห้องบริการผู้ป่วยนอก 177 ห้อง ห้องผ่าตัด 17 ห้อง ห้องพักผู้ป่วย 284 ห้อง หอผู้ป่วยวิกฤต 61 ห้อง พื้นที่รวม 165,270 ตารางเมตร ใช้งบประมาณ 4,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีความพร้อมในเรื่องเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูง ทั้งเครื่องตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI), เครื่องเร่งอนุภาค (LINAC) หรือเครื่องฉายรังสีรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและแม่นยำมากที่สุดในปัจจุบัน รวมทั้งยังมีศูนย์รักษาโรคครบวงจร เช่น ศูนย์อายุรกรรม ศูนย์ศัลยกรรม ศูนย์โรคหัวใจ ศูนย์มะเร็ง ศูนย์รังสีรักษา ศูนย์รังสีวินิจฉัย ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ ศูนย์ไตเทียม ฯลฯ

“SiPH” ยังเป็นศูนย์กลางในการรักษาโรคซับซ้อนที่รักษายาก เนื่องจาก ร.พ.มีบุคลากรที่มีความสามารถและประสบการณ์สูง รวมทั้งเป็นหนึ่งในศูนย์วิจัยด้านการแพทย์ที่สำคัญของประเทศ “SiPH” จึงพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ และรับผู้ป่วยโรคซับซ้อนที่รักษายากซึ่งถูกส่งตัวมาจากโรงพยาบาลอื่นๆ อีกด้วย

“ถ้าที่ศิริราชมีเครื่องไม้เครื่องมือไม่พอก็สามารถมาใช้บริการที่นี่ได้ หรือคนไข้ของเราต้องใช้เครื่องมือที่มีอยู่ที่ศิริราช ก็ไปใช้บริการกับศิริราชและจ่ายค่าบริการให้”

ด้านมาตรฐานการรักษา ถือเป็นมาตรฐานเดียวกันกับ ร.พ.ศิริราชในอัตราค่าบริการที่แตกต่างจาก ร.พ.ศิริราช แต่ถูกกว่า ร.พ.เอกชน แต่ในบางบริการก็อาจจะเท่ากันหรือแพงกว่า อย่าง ร.พ.เอกชน คิด 100 บาท “SiPH” คิด 75-80 บาท

“ทีมแพทย์เราเป็นอาจารย์แพทย์ที่ทำงานกับศิริราช แต่เราไม่รับเข้ามาทำงานแบบเต็มเวลา จะมาทำได้แค่เป็นพาร์ตไทม์ คือ ช่วงเย็น หรือเสาร์ อาทิตย์ แต่ถ้าเป็นเวลาราชการเราให้มาทำงานที่นี่ได้ไม่เกินสัปดาห์ละ 5 ชั่วโมง แต่งานสอน งานตรวจ จะต้องไม่เสีย คนที่จะลาออกเพื่อมาทำที่นี่เราก็ไม่รับ เราเชื่อว่าจะลดปัญหาแพทย์ไปวิ่งทำงาน ร.พ.เอกชนได้”

ในส่วนรายได้ของ “SiPH” จะนำมาเลี้ยงตัว และช่วยผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ใน 4 ด้าน คือ การบริการผู้ป่วยโดยรวม การศึกษาของแพทย์ การวิจัย และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ภายใต้คอนเซ็ปต์ที่ว่า ผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการที่นี่จึงจะเป็นทั้ง “ผู้รับ” การรักษา และเป็น “ผู้ให้” ในเวลาเดียวกัน

ปีนี้ “SiPH” พร้อมเปิดให้บริการในเฟสแรก 30% ของพื้นที่อาคารทั้งหมดปลายเดือนเมษายนนี้ โดยจะให้บริการในสาขาอายุรกรรม และศัลยกรรม และโรคเฉพาะทางในกลุ่มโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคสมองและประสาท เบาหวาน ไต กระดูกและข้อ ทางเดินอาหารและตับ ทางเดินปัสสาวะ ส่วนเฟส 2 เปิดบริการ 50% ภายในปี 2556 และระยะสุดท้ายเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายในปี 2558

นอกจากเป้าหมายในเรื่องของการรักษาโรคและการบริหารแล้ว ยังตั้งเป้าที่จะให้ “SiPH” เป็น ร.พ.ที่น่ายกย่องชื่นชมมากที่สุดในประเทศในปี 2559 ให้ได้

คงต้องดูกันว่าภารกิจที่ “รศ.นพ.ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน” ได้รับจะไปถึงฝั่งฝันไกลถึงการเป็นเมดิคัลฮับอย่างที่วางไว้หรือไม่ แต่เชื่อว่าจากนี้ไป ร.พ.เอกชนคงต้องปรับตัวกันยกใหญ่ ทั้งในเรื่องแพทย์ที่อาจจะหายากขึ้น และคนไข้ที่คงหันไปใช้บริการที่นี่จำนวนไม่น้อย   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us