กสิกรฯตั้งเป้าธุรกิจแบงก์แอสชัวรันส์เติบโต 45% หรือคิดเป็นเบี้ยประกันรับรวม 5 พันล้าน เน้นครอบแชมป์ด้านประกันชีวิต เผยภาพรวมปีนี้ผู้ทำประกันต้องรับภาระเบี้ยเพิ่ม ระบุกองทุนภัยพิบัติแค่ช่วยผู้ประกอบการเบื้องต้น
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)(KBANK) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ตั้งเป้าเบี้ยประะกันภัยสำหรับลูกค้าธุรกิจในปี 2555 เติบโต 45% หรือคิดเป็นเบี้ยประกันภัยรับรวม ประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยจะเน้นรักษาความเป็นผู้นำด้านประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อธุรกิจ (Credit Life Insurance) พัฒนาสิทธิประโยชน์เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าเพิ่มเติม อาทิ การรวมค่าเบี้ยประกันในวงเงินสินเชื่อ (Top Up Loan) ทำให้ลดภาระการจ่ายค่าเบี้ยประกัน การเพิ่มความคุ้มครองโรคร้ายแรง ตลอดจนการพัฒนาแบบประกันประเภทออมทรัพย์ นอกจากนี้ยังรุกตลาดประกันวินาศภัย (Non-Life Insurance) เพิ่มขึ้น ด้วยการเพิ่มพันธมิตรบริษัทประกันภัย เพื่อให้สามารถรองรับงานที่มีความเสี่ยงหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะประกันภัยธรรมชาติที่คาดว่าเบี้ยประกันภัยจะเพิ่มขึ้นและมีการจำกัดความคุ้มครอง (Sublimit) 10-30% ของทุนประกัน สูงสุด 50 ล้านบาท
นอกจากนี้ ธนาคารยังคงมุ่งเน้นการประกันภัยลูกหนี้ทางการค้า (Trade Credit Insurance) ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ประกอบการเริ่มเห็นความสำคัญของการซื้อความคุ้มครองที่เกิดจากลูกหนี้ทางการค้าไม่ชำระหนี้ หรือลูกหนี้ล้มละลาย โดยตั้งเป้าส่วนแบ่งการตลาดไว้ 21% หรือคิดเป็นมูลค่า 30,000 ล้านบาท และการประกันการขนส่งสินค้า (Marine Cargo Insurance) ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง ยางพารา และเหล็ก โดยในปี 54 มีการเติบโตกว่า 400% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
สำหรับในปี 2555 ตลาดประกันธุรกิจโดยรวมยังมีแนวโน้มที่เติบโตขึ้น เนื่องจากเป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรเทาความเสียหายจากผลกระทบที่เกิดขึ้น ประกอบกับมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจหลังน้ำท่วม อัตราดอกเบี้ยทรงตัว ทำให้บริษัทต่าง ๆ จะหันมาทำประกันภัยเพิ่ม ซึ่งส่งผลให้การประกันภัยทั้งระบบในประเทศไทยคาดว่าเติบโตไม่ต่ำกว่า 10%
นายทรงพลกล่าวอีกว่า การทำประกันภัยในปีนี้ลูกค้าจะต้องเผชิญกับการจำกัดการคุ้มครองและเบี้ยประกันที่คาดว่าจะสูงขึ้น เนื่องจากมหันตภัยที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศทั่วโลกส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัยที่ต้องจ่ายชดเชยความเสียหายเป็นจำนวนมาก รวมถึงประเทศไทยที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้ต้องมีการพิจารณาทบทวนกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองภัยธรรมชาติ ส่งผลให้ประกันภัยน้ำท่วมเป็นที่ต้องการของลูกค้าสูงเกินกว่าที่ตลาดจะรองรับได้ ขณะที่บริษัทประกันภัยและบริษัทรับประกันภัยต่อ หรือ รีอินชัวเรอร์ มีการจำกัดการขาย
"จากภาวะน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมา ธุรกิจประกันในการชดเชยสูงกว่า 8,000-10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งสูงเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากภัยสึนามิในญี่ปุ่นและแผ่นดินไหวในนิวซีแลนด์ ส่งผลให้บริษัทประกันชะลอการขายกรมธรรม์ประกันภัยที่คุ้มครองภัยธรรมชาติ ทำให้บริษัทรับประกันภัยต่อต้องจำกัดวงเงินที่จะรับประกัน"
สำหรับการจัดตั้งกองทุนประกันภัยของรัฐบาล ซึ่งกำหนดทุนประเดิม 5 หมื่นล้านบาทนั้น อาจไม่ได้ช่วยให้เบี้ยประกันของไทยโดยรวมลดลงในทันที แต่จะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการถูกบริษัทรับประกันไม่รับต่อสัญญาในเบื้องต้น ซึ่งวงเงินทุนประเดิมที่กำหนดหากประเมินจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากวิกฤตอุทกภัยในปี 2554 ก็ไม่แน่ว่าจะเพียงพอต่อการคุ้มครองความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่